กัมพูชาพบอาวุธสงครามใกล้ชายแดนไทย คาดลักลอบขนไปเมียนมา

จับผู้ต้องสงสัยนำเข้าอาวุธสงครามผิดกฎหมายที่ถูกซ่อนไว้ใกล้ชายแดนไทย พบเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ด่าน บ.ตวง อ.กร็อมเรียง จ.พระตะบอง ตรงกับด่าน บ.แหลม อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี รองนายกกัมพูชาคาดอาวุธเหล่านี้อาจถูกลักลอบส่งไปเมียนมา

17 พ.ย. 2564 ขแมร์ไทม์ส (Khmer Times) รายงานว่า กรมต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ กระทรวงมหาดไทย และตำรวจ จ.พระตะบอง ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยที่เป็นเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ทำงานที่จุดผ่านแดนไทย-กัมพูชา ด่าน บ.ตวง อ.กร็อมเรียง จ.พระตะบอง ตรงกับด่าน บ.แหลม อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี ในฝั่งไทย เพื่อสอบปากคำในข้อหาลักลอบนำเข้าและซ่อนอาวุธมากกว่า 50 ชิ้น

คดีนี้ ขแมร์ไทม์สรายงานเมื่อ 14 ต.ค. 2564 ว่า Sar Kheng รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมหาดไทยของกัมพูชา สั่งให้เจ้าหน้าที่เร่งตามตัวเจ้าของอาวุธสงครามผิดกฎหมายเพื่อนำตัวมาสอบสวน โดยอาวุธสงครามเหล่านี้ตำรวจพบว่าถูกซ่อนอยู่ในพื้นที่ของ บ.โอลำดวน อ.พนมปรึก จ.พระตะบอง ซึ่งมีชายแดนติดกับ จ.จันทบุรี ของไทย

สำหรับคำสั่งดังกล่าวของรองนายกรัฐมนตรี มาจากคำบอกเล่าของ Khieu Sopheak โฆษกกระทรวงมหาดไทยของกัมพูชา

“เรามองเห็นความเป็นไปได้ 3 แบบ แบบแรก เราเชื่อว่าอาวุธเหล่านี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของการลักลอบค้าอาวุธไปยังเมียนมาเนื่องจากประเทศกำลังอยู่ในความวุ่นวาย แบบที่สอง อาวุธเหล่านี้ถูกสะสมไว้เพื่อการลุกฮือในท้องถิ่น แต่นี่เป็นความเป็นไปได้ที่ห่างไกลมาก แบบสุดท้าย อาวุธเหล่านี้อาจเป็นของโจรปล้นชิงทรัพย์ที่มีการติดอาวุธ ในสามความเป็นไปได้นี้ เราเชื่อว่าความเป็นไปได้แบบแรกมีแนวโน้มมากที่สุด” Khieu Sopheak กล่าว

พล.ต.ท. Chhay Kim Khoeun โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติของกัมพูชา ให้ข้อมูลว่า ตำรวจพบไรเฟิลจำนวน 33 กระบอก แบ่งเป็นปืน AK-47 30 กระบอก ปืนยิงลูกระเบิด M79 3 กระบอก และซองกระสุนอีก 40 ซอง โดยอาวุธสงครามเหล่านี้ ชาวบ้านใน บ.โอลำดวน อ.พนมปรึก จ.พระตะบอง เป็นผู้ค้นพบและแจ้งตำรวจเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2564 ขณะนี้อาวุธผิดกฎหมายถูกส่งให้กับหน่วยสอบสวนตำรวจ อ.พนมปรึก เพื่อสืบหาตัวเจ้าของแล้ว

สำหรับ บ.โอลำดวน จ.พระตะบอง อยู่ตรงข้ามกับ ต.ทุ่งขนาน อ.สอยดาว จ.จันทบุรี ซึ่งเป็นชายแดนของไทย ก่อนหน้านี้เคยมีรายงานการลักลอบขนอาวุธจาก จ.พระตะบอง โดยพนมเปญโพสต์รายงานว่าเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2564 เจ้าหน้าที่ทหารลาดตระเวนร่วมตรวจพบอาวุธผิดกฎหมายที่ อ.กร็อมเรียง จ.พระตะบอง เป็นกระสุนไรเฟิล 42 ซองและกระสุน 508 นัด โดยพื้นที่ดังกล่าวอยู่ติดกับ บ.แหลม อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี ของไทย

ไทยว่าอย่างไรเรื่องการลักลอบค้าอาวุธ

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รัฐบาลไทยยังไม่ได้แสดงความเห็นต่อกรณีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหมเคยเปิดเผยกับไทยโพสต์เมื่อ ก.ย. ว่าการสู้รบในพม่าส่งผลให้ขบวนการค้าอาวุธตามชายแดนไทย-พม่า กลับมาเคลื่อนไหวถี่ขึ้น และอาจเป็นปัญหานำไปสู่ความรุนแรงมากขึ้นหลังสิ้นฤดูฝน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้สั่งกำชับให้เฝ้าระวังและติดตามขบวนการลักลอบค้าอาวุธสงครามมากขึ้น

ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมออกมาเคลื่อนไหวหลังจากที่มีการจับกุมดนุพล ยมพงษ์ หรือ “เบล 100 กระบอก” ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านแสมสารได้ที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ในข้อหาส่งออกอาวุธโดยไม่ได้รับอนุญาติ หลังศุลกากรตรวจพบอาวุธผิดกฎหมายที่ จ.หนองคาย จากการตรวจค้นที่พักดนุพลพบปืนสั้น 30 กระบอกและปืนยาว 16 กระบอก พล.ท.คงชีพ กล่าวว่าการสืบสวนทำให้พบความเชื่อมโยงกับบุคคลในหลายวงการ รวมถึงมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง ขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบสวนขยายผลและดำเนินการตามกฎหมาย

เมื่อ ส.ค. ไทยรัฐออนไลน์เคยรายงานว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐอเมริกาสามารถจับกุมชายชาวพม่า 2 รายได้ที่นิวยอร์ก ได้แก่ เปียว เฮียน ฮัต อายุ 28 ปี และยี เฮียน ซอว์ อายุ 20 ปี ทั้งสองตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าวางแผนลอบสังหารหรือลอบทำร้ายจอ โม ตุน เอกอัครราชทูตพม่าประจำสหประชาชาติที่ชูสามนิ้วต่อต้านการรัฐประหาร เจ้าหน้าที่เปิดเผยว่าผู้ต้องสงสัยทั้งสองวางแผนร่วมกับนายหน้าค้าอาวุธในประเทศไทยที่ขายอาวุธให้แก่กองทัพพม่า

มี.ค. 2564 ไทยรัฐออนไลน์เคยรายงานว่าตำรวจแม่สายสามารถตรวจยึดระเบิดขว้างสังหารรุ่น K75 จำนวน 112 ลูกและกระสุนปืนอาวุธสงคราม 6,000 นัด บรรจุอยู่ในกล่องพัสดุ โดยบริษัทเคอรี่กำลังจะจัดส่งจากชลบุรีข้ามไป จ.ท่าขี้เหล็กของพม่า พนักงานรับฝากเห็นผิดสังเกตเนื่องจากกล่องพัสดุน้ำหนักมากผิดปกติจึงแจ้งตำรวจ สำหรับผู้ส่งตำรวจระบุว่าเป็นคนในเครื่องแบบ

หลังการรัฐประหารพม่าในเดือน ก.พ. สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติลงมติเห็นชอบให้ประนามและห้ามค้าขายอาวุธสงครามกลับพม่าในเดือน มิ.ย. มติดังกล่าวมีประเทศลงคะแนนเห็นด้วยทั้งหมด 119 ประเทศ มีเพียงประเทศเดียวที่ลงคะแนนไม่เห็นด้วยคือเบลารุส อีก 36 ประเทศงดออกเสียงประกอบด้วยรัสเซียและจีนที่เป็นคู่ค้าอาวุธรายใหญ่ของพม่า และในจำนวนนี้รัฐบาลไทยลงคะแนนงดออกเสียงเช่นกัน

หลังลงคะแนนงดออกเสียง กระทรวงต่างประเทศออกมาชี้แจงว่า เป็นเพราะเมียนมามีพรมแดนติดกับไทยกว่า 2,400 กิโลเมตร การกระทำทุกอย่างจึงต้องทำอย่างรอบคอบและคำนึงถึงผลที่ตามมา ทั้งนี้ รัฐบาลไทยต้องการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกฝ่ายเข้ามาสู่กระบวนการเจรจาสันติภาพ หลังจากนั้นไม่นานนัก คำชี้แจงดังกล่าวก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางโดยผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในสื่อสังคมออนไลน์

แปลและเรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท