Skip to main content
sharethis

17 พ.ย. 2564 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เผยแพร่แถลงการณ์ ระบุว่า มีความห่วงใยว่าความรุนแรงอาจขยายตัว เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การปราศรัย 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พร้อมเรียกร้องรัฐสภา และ ครม. เปิดเวทีคลี่คลายความขัดแย้ง

แถลงการณ์คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ฉบับที่ 9/2564

สืบเนื่องจากคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ซึ่งมีนายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เป็นผู้ปราศรัย เป็นการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) มีความห่วงใยต่อความขัดแย้งที่จะขยายตัวจนเกิดความรุนแรงในอนาคตจากผลพวงของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่เสมือนออกแบบมาเพื่อสร้างความขัดแย้งต่อไปในอนาคต แทนที่จะวินิจฉัยเพื่อสิ้นข้อสงสัยและคลี่คลายความขัดแย้งของทุกฝ่าย แม้ว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 49 กำหนดให้การดำเนินการตามมาตราดังกล่าวไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำการก็ตาม แต่ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 211 และคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวงตามมาตรา 212 สำหรับคดีอาญาที่ยังไม่สิ้นสุด

ครป.จึงกังวลว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นความเห็นไปในทางรัฐศาสตร์แบบแบ่งขั้ว (Political Polarization) ซึ่งเปิดโอกาสนำไปสู่ความเห็นทางการเมืองที่ขัดแย้งกันมากขึ้น สังคมจะเกิดความรุนแรงมายิ่งขึ้นไม่ต่างจากการเติมน้ำมันเข้าไปในกองไฟ  มิพักต้องกล่าวถึงการตีความในรัฐธรรมนูญมาตราเดียวกันที่ไปรอนสิทธิ์และขัดกับมาตราอื่นๆ ที่เป็นหลักสิทธิเสรีภาพของพลเมืองจนเสมือนไม่อาจถูกบังคับใช้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้เสมือนหนึ่งเป็นการถอยหลังประชาธิปไตยจนเกิดประชาธิปไตยที่ถดถอย

การวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้องใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสั่งการให้ผู้ถูกร้องรวมทั้งองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วยนั้น ศาลไม่ได้พิจารณาเลยว่าข้อเสนอทั้ง 10 ข้อนั้นมีข้อใดบ้างที่เป็นการล้มล้าง ข้อเสนอใดบ้างที่เป็นการปฏิรูป และไปขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตราอื่นหรือไม่อย่างไร แต่ไปพิจารณาพฤติกรรมการปราศรัยว่า มีเนื้อหาบิดเบือนจาบจ้วง ล้อเลียน หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นการกระทำที่มีเจตนาล้มล้างการปกครอง ซึ่งข้อหาเหล่านั้นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอาญาทั่วไปอยู่แล้ว 

ครป.เห็นว่า เนื่องจากรัฐบาลเป็นคู่ความขัดแย้งกับประชาชนโดยตรง บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นกลางทางการเมือง เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองเนื่องจากประชาชนเป็นผู้มีอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ มิใช่ให้คำวินิจฉัยกลายเป็นใบอนุญาตฆ่าและหรือสร้างความเกลียดชังด้วยการถูกตั้งข้อหาล้มล้างการปกครองเพียงเพราะสิทธิในการพูดและแสดงความเห็นต่อสาธารณะโดยปราศจากอาวุธ การตั้งใจขีดวงเพื่อนำไปสู่กระบวนการทางกฎหมายในการจับกุมคุมขังประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาล อาจนำไปสู่การล้อมปราบเข่นฆ่าประชาชนแบบเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ได้ ที่หน่วยงานของรัฐใส่ร้ายป้ายสีนักศึกษาประชาชนให้เป็นอื่น

ครป.จึงขอเรียกร้องต่อรัฐสภา ดังนี้

1. รัฐสภาในฐานะหนึ่งในสามอำนาจอธิปไตยต้องเป็นหลักในการรักษาดุลยภาพของอำนาจอธิปไตยเพื่อมิให้เกิดอำนาจที่สี่ โดยองค์อิสระทางการเมืองและถูกการเมืองของการแบ่งขั้วนำไปใช้ทำลายล้างคู่ตรงข้าม ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงความขัดแย้งในโลกปัจจุบันทั้งสองฝ่ายต้องอยู่ด้วยกันได้ ไม่ใช่ให้เห็นแย้งน้อยลงแต่เห็นแย้งในทางที่ดีขึ้นและอยู่ด้วยกันได้

2. รัฐสภาในฐานะตัวแทนประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยจึงควรเป็นเสาหลักในการคลี่คลายสถานการณ์ในเชิงข้อตกลงการแบ่งสันปันอำนาจเพื่อพัฒนาสู่ประชาธิปไตยแบบร่วมมือ เพื่อทำลายทางตันและหลุมดำทางการเมือง โดยรัฐสภาต้องเป็นคนกลางในการเจรจาพูดคุยกัน หาทางออกที่แต่ละฝ่ายยอมรับได้ เกิดจุดร่วมที่สามารถตกลงกันได้เป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ก่อนที่สังคมจะประสบความเสียหายมากไปกว่านี้

นอกจากนี้ ฝ่ายบริหารโดยนายกรัฐมนตรีและฝ่ายนิติบัญญัติ โดยประธานรัฐสภา ควรร่วมกันเปิดเวทีให้มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งร่วมกัน

17 ตุลาคม 2564

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net