Skip to main content
sharethis

สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือเตรียมจัดรำลึก 47 ปี สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ที่ 19 พ.ย. นี้ เชียงใหม่ ย้ำปัญหาที่ดินกระจุกตัว กลุ่มทุน-ศักดินายังผูกขาดที่ดิน ดึงบทบาทคนรุ่นใหม่สานต่อเจตนารมณ์กระจายถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม

วานนี้ (16 พ.ย. 2564) สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมผ่านเพจเฟซบุ๊กใช้ชื่อกิจกรรมว่า 47 ปี รำลึกถึงสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ “จากคุณูปการการต่อสู้ สู่เสรีภาพในการจัดการที่ดินใหม่” ล้มล้างการผูกขาด การจัดการที่ดินไทย เนื่องในวันครบรอบ 47 ปีการก่อตั้งสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 19 พ.ย. 2564 ณ สวนอัญญา จ.เชียงใหม่ 

สกน. ระบุว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่แห่งการเดินหน้าต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการจัดการที่ดิน หลังบรรพบุรุษสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 47 ปีที่แล้ว ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่พี่น้องแรงงานและนักศึกษา ที่เรียกว่าขบวนการ 3 ประสาน ต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการจนถูกลอบสังหารไม่ต่ำกว่า 33 คน โดยกิจกรรมจะประกอบด้วยตลาดนัดชุมชน คำกล่าวรายงานสถานการณ์ที่ดินป่าไม้จากอดีตถึงปัจจุบัน พิธีกรรมรำลึกถึงบรรพบุรุษชาวนาผู้ถูกลอบสังหาร 33 ศพ การแสดงดนตรีโดยลำพูนปลดแอกและสุดสะแนน การแสดง Performance Art โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ เวทีเสวนาขบวนการ 3 ประสาน นักศึกษา ชาวนา แรงงาน และคำกล่าวมุมมองคนรุ่นใหม่ สู่การสร้างสังคม 

นอกจากนั้นยังมีเวทีเสวนา “ชำระประวัติศาสตร์ สู่จินตภาพใหม่ในที่ดิน” ร่วมเสวนา โดย   รศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ  อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์ ดร. ชัยพงษ์ สำเนียง ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และทนายสุมิตรชัย หัตถสาร ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น

รังสรรค์ แสนสองแคว ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ในฐานะนักศึกษาปฏิบัติการโครงการชาวนาร่วมสมัย กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้จะไม่เน้นหนักไปที่การรำลึกถึงผู้เสียชีวิตมากนัก เนื่องจากพวกเขาได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่จะเป็นการกลับมาออกแบบอนาคตร่วมกับคนรุ่นใหม่ เนื่องจากปัจจุบันยังมีปัญหาการกระจุกตัวของที่ดินอยู่ที่กลุ่มทุนและชนชั้นศักดินา

“ตอนนั้นการต่อสู้ของสหพันธ์ฯ พูดเรื่องค่าเช่านา การกระจายการถือครองที่ดิน แต่ปัจจุบันขบวนการที่จะสานต่อก็ยังไม่ได้แข็งแกร่งพอ ยังไม่เป็นเอกภาพ เมื่อได้ที่ดินมาแล้ว เกิดการกระจายการถือครองที่ดินแล้ว หากยังมีแต่ระบบเอกสารสิทธิ์ก็จะยังเป็นข้อถกเถียงต่อไป ที่ดินก็จะกลายเป็นสินค้าเช่นเดิม ปล่อยให้กลุ่มทุนเข้ามาผูกขาดที่ดินได้อีกในวันข้างหน้าและตลอดไป แม้กระทั่งชนชั้นศักดินาเองก็กลายเป็นกลุ่มทุนผูกขาดที่ดินเองด้วย” รังสรรค์กล่าว 

แฟ้มภาพ

นอกจากนั้นรังสรรค์ยังมองว่า ขณะนี้เป็นโจทย์ใหญ่ในสังคมว่าอนาคตต่อไปจะทำอย่างไรต่อ โดยคิดว่าคนรุ่นใหม่ต้องมีบทบาทเรื่องการสานต่อเจตนารมณ์การต่อสู้ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย เนื่องจากในอนาคตปัญหาเรื่องที่ดินไม่ใช่เป็นปัญหาของชาวนาและเกษตรกรอย่างเดียวแล้ว แต่เป็นปัญหาของคนในสังคม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ พวกเขากำลังจะไร้ที่ดิน ถ้าที่ดินถูกจัดการด้วยกลุ่มทุนผูกขาด 

“คนรุ่นใหม่เขาเป็นอนาคต ในอนาคตเขาก็ต้องมีที่ดินอยู่เหมือนกัน เขาก็ต้องต่อสู้เพื่ออนาคตของตัวเองเหมือนกัน แค่มีงานทำแล้วจบไม่ได้ คุณทำงานได้แค่วัยเกษียณ สุดท้ายคุณต้องมีที่อยู่อาศัยเป็นอย่างน้อย เป็นที่อยู่อาศัยให้กับลูกหลาน สมมติว่าคุณไม่อยู่ภาคเกษตรคุณก็ต้องมีที่ดินเหมือนกัน” นักศึกษาปฏิบัติการโครงการชาวนาร่วมสมัยย้ำ

นับตั้งแต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวนาชาวไร่ร่วมกับนักศึกษาในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 จนถึงการก่อตั้งเป็น “สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย” อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2517 ซึ่งเคยมีสมาชิกชาวนาชาวไร่กว่า 1 ล้าน 5 แสนคน จากประชากร 30 ล้านคนในขณะนั้น เป็นการต่อสู้ในฐานะ “ประชาชน ชาวนา ชาวไร่ ผู้หล่อเลี้ยงชาวโลก” จนเกิดเป็นพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่านา พ.ศ. 2517 และพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 อย่างไรก็ตามในปัจจุบันพบว่าที่ดินยังคงกระจุกตัว 

กลุ่มเกษตรกร คนจน ปลดแอก เปิดเผยตัวเลขการถือครองที่ดินมากที่สุด 5 อันดับแรก อันดับหนึ่งได้แก่ “ตระกูลสิริวัฒนาภักดี” ถือครองที่ดิน 630,000 ไร่ อันดับสองได้แก่ “ตระกูลเจียรวานนท์” ถือครองที่ดินไม่ต่ำกว่า 200,000 ไร่ อันดับสามได้แก่ “บริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน)” ถือครองที่ดิน 44,400 ไร่ อันดับสี่ได้แก่ “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” ถือครองที่ดิน 30,000 ไร่ และอันดับห้าได้แก่ “บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)” ถือครองที่ดิน 17,000 ไร่ ในขณะที่ประชาชนร้อยละ 76 ของประเทศ คือประมาณ 50 ล้านคน ไม่สามารถเข้าถึงที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ได้เลยแม้เพียงงานเดียว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net