สุรพศ ทวีศักดิ์: ปรัชญากับอาชีพนักบวชและกษัตริย์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในหนังสือ “Philosophy: A Very Short Introduction” ของ Edward Craing หน้า 105-109 พูดถึง “นักบวช” ไว้อย่างน่าสนใจ สรุปใจความสำคัญได้ว่า อำนาจของนักบวชมาจากปรัชญา หมายถึง สิ่งที่คน “คิด” เกี่ยวกับนักบวช ซึ่งเกิดจากศรัทธาหรือความเชื่อที่นักบวชบอกให้เชื่อ มีการสร้างเรื่องเล่าและการให้เหตุผลในคัมภีร์ศาสนามากมายเพื่อรักษาสถานภาพและอำนาจของนักบวช ซึ่งมีความคิดเชิงปรัชญาบางอย่างรองรับ

ในสังคมไทย เราไม่คุ้นเคยกับการคิดถึงนักบวชว่าเป็น “อาชีพ” แบบหนึ่ง แต่ในคัมภีร์ธรรมศาสตร์และอุปนิษัทของฮินดูที่แบ่งคนออกเป็น 4 วรรณะ ให้มีอาชีพประจำวรรณะของตนเอง วรรณะพราหมณ์จัดเป็นนักบวชประเภทหนึ่งที่มีอาชีพประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และรับ “ค่าตอบแทน” ทำไมคนทุกวรรณะจึง “ซื้อบริการพิธีกรรม” จากพวกพราหมณ์ ก็เพราะถูกพวกพราหมณ์สอนให้เชื่อว่า พิธีกรรมศาสนาจำเป็นต่อชีวิตและรัฐหรือบ้านเมืองอย่างไรบ้าง และการประกอบพิธีกรรมก็ต้องกระทำอย่างถูกต้องทุกขั้นตอนจึงจะได้รับผลตามความเชื่อทางศาสนา ซึ่งจำเป็นต้องอาศัย “ผู้เชี่ยวชาญพิธีกรรม” คือพวกพราหมณ์เท่านั้นที่เป็นชนชั้นสืบทอดอาชีพนี้ทางสายเลือด

นักบวชพุทธปรากฏตัวขึ้นในสังคมอินเดียโบราณในฐานะ “คู่แข่ง” ของพวกพราหมณ์และนักบวชในศาสนาอื่นๆ ซึ่งนักบวชพุทธเรียกพวกเขาเหล่านั้นว่า “พวกเดียรถีย์” นักบวชพุทธไม่ได้สืบทอดทางสายเลือด แต่พวกเขาทิ้งชีวิตครอบครัวออกมาก่อตั้งชุมชนนักบวชที่เรียกว่า “สังฆะ” บนเรื่องเล่าที่ว่า สังฆะเป็นชุมชนของผู้ฝึกตนเพื่อบรรลุความหลุดพ้นหรือนิพพาน 

นักบวชอินเดียโบราณมีหลายแบบ มีทั้งแบบมีเมียได้และถือพรหมจรรย์ นักบวชพุทธคือพวกถือพรหมจรรย์ อำนาจของนักบวชพุทธเกิดจากเรื่องเล่าที่ว่า พวกเขาคือกลุ่มคนผู้ละทางโลก ดำเนินชีวิตพรหมจรรย์อันเป็น “วิถีชีวิตประเสริฐ” สะอาด หมดจด เพื่อเข้าถึงนิพพาน ดูเหมือนว่านักบวชประเภทนี้มีภาพลักษณ์ของผู้ไม่มีอาชีพ แต่ที่จริงแล้วอาชีพของพวกเขาคือการเป็น “ผู้ขอ” ดังคำเรียกตนเองว่า “ภิกษุ” ที่แปลว่า “ผู้ขอ” หรือผู้มี “อาชีพภิกขาจาร” หรือเที่ยวขอปัจจัยสี่จากคนอื่นเพื่อการดำรงชีพของตนเอง

แน่นอนว่านักบวชพุทธไม่ใช่ “ขอทาน” แบบที่มีดาษดื่นในอินเดียโบราณ เพราะการเป็นผู้ขอของพวกเขาถูกอธิบายว่า ไม่ใช่ผู้ต่ำตอยมาขอรับเมตตาจากจากผู้ที่สูงส่งกว่า หากแต่เป็นการขอจากผู้ที่สูงส่งกว่าทางศีลธรรมจากผู้ที่ต่ำกว่า การเดินบิณฑบาตหรือภิกขาจารจึงไม่ใช่การขอทาน แต่ถูกทำให้เชื่อว่าเป็นการ “โปรดสัตว์” ให้ได้ทำบุญกุศล และจะเป็นการดียิ่งขึ้นหากบรรดาผู้ให้ทานแก่นักบวชพุทธจะหันมาสนใจฟังธรรม ถือศีล และเจริญภาวนาตามที่นักบวชสอน ซึ่งบรรดานักบวชบอกให้ผู้คนเชื่อว่าคำสอนศาสนาของพวกเขาคือการตอบแทนแก่ผู้บริจาคอาหารและปัจจัยดำรงชีพอื่นๆ เพราะวิถีชีวิตผู้บริสุทธิ์สะอาดอย่างนักบวชไม่อาจประกอบอาชีพต่างๆ แบบฆราวาสได้

อำนาจชอบธรรมของนักบวชในอินเดียโบราณที่ครอบครองศรัทธาของผู้คน เป็นอำนาจชอบธรรมที่อิงปรัชญา “ความเป็นผู้ประเสริฐ” จากอภิปรัชญาแบบฮินดูที่ว่าพระเจ้าสร้างโลก สร้างมนุษย์ กำหนดให้สังคมมนุษย์มี 4 วรรณะ และกำหนดให้วรรณะพราหมณ์เป็นวรรณะประเสริฐที่สุด แต่เนื่องจากวรรณะสืบทอดทางสายเลือด ชาตินี้จึงไม่มีใครสามารถเลื่อนระดับชนชั้นวรรณะได้ แต่พวกพราหมณ์สอนปรัชญากฎแห่งกรรมว่า การเกิดมาในวรรณะต่างๆ เป็นผลของกรรมเก่า ดังนั้น หากชาตินี้ทำกรรมดีหรือทำหน้าที่ตามวรรณะของตนเองได้ดี ชาติหน้าก็ย่อมได้เกิดในวรรณะที่สูงขึ้น

อรุณธตี รอยตั้งข้อสังเกตว่า ดูเหมือนคนทุกวรรณะในอินเดียจะมี “วิธีคิดแบบพราหมณ์” คือพวกพราหมณ์ถือว่า พวกตนประเสริฐกว่าวรรณะอื่นๆ วรรณะต่ำลงมาก็คิดว่าพวกตนประเสริฐกว่าวรรณะที่ต่ำกว่า พวกศูทรก็เชื่อว่าพวกตนประเสริฐกว่าคนนอกวรรณะอย่างจัณฑาล ขณะที่พวกคนนอกวรรณะ เช่นพวกจัณฑาลที่มีการแยกลุ่มย่อยๆ ไปอีกมากมาย ต่างคิดว่าพวกตนประเสริฐกว่าพวกนอกวรรณะกลุ่มอื่นๆ

ในคัมภีร์พุทธศาสนา เช่น “อัคคัญญสูตร” เล่าว่าพวกพราหมณ์เหยียดนักบวชพุทธว่าเป็นพวกนอกวรรณะชั้นต่ำที่ดำรงชีพด้วยการขอทาน ขณะที่พุทธะเองปฏิเสธอภิปรัชญาที่ว่าพระเจ้าสร้างโลกและสร้างระบบวรรณะ ยืนยันว่าระบบวรรณะเป็นผลผลิตของสังคมมนุษย์ และว่าที่จริงแล้วในระบบวรรณะกษัตริย์เป็นผู้ประสริฐที่สุด แต่ในทางศีลธรรมแล้วผู้สมบูรณ์พร้อมด้วยปัญญาและมีความประพฤติถูกต้องตามหลักอริยมรรคเป็นผู้ประสริฐที่สุดในหมู่มนุษย์และทวยเทพ

จะเห็นว่าพุทธะก็คิดแบบพวกพราหมณ์ในแง่ที่ยืนยันว่า พุทธะเองและบรรดาพระอริยสาวกเป็นผู้ประเสริฐกว่าคนทุกวรรณะ หรือประเสริฐที่สุดในหมู่มนุษย์และทวยเทพ ต่างแต่ว่าความเป็นผู้ประเสริฐไม่ได้อิงอภิปรัชญาแบบฮินดู แต่อิงอภิปรัชญาแห่งนิพพานหรือความหลุดพ้นที่เกิดจากการเดินบนเส้นทางอริยมรรค แต่อริยมรรคก็ไม่ใช่หลักศีลธรรมพื้นๆ เพราะได้มาจากการ “ตรัสรู้” ของพุทธะที่ผ่านการบำเพ็ญเพียรอย่างหนักในชาตินี้ และผ่านการบำเพ็ญบารมีในฐานะ “โพธิสัตว์” มายาวนานนับภพชาติไม่ถ้วน 

ดังนั้น การบรรลุนิพพานจึงสัมพันธ์กับความเชื่อเกี่ยวกับอภิปรัชญาว่าด้วยการบำเพ็ญบารมีข้ามภพชาติ ซึ่งเป็นไปตามกฎแห่งกรรม คือกฎที่อธิบายว่าการจะบรรลุนิพพานในชาตินี้หรือชาติหน้า หรือการจะตรัสรู้เป็นพุทธะ เป็นพระอริยะผู้ประสริฐที่สุดในหมู่มนุษย์และทวยเทพขึ้นอยู่กับการบำเพ็ญบารมีมาอย่างไรด้วย ขึ้นอยู่กับความเพียรในชาติปัจจุบันด้วย และการเกิดในวรรณะสูง ต่ำ รวย จน เป็นต้น ก็ขึ้นอยู่กับกรรมดี กรรมชั่วที่ทำมาแต่ชาติปางก่อนด้วยเช่นกัน

ขณะที่พวกพราหมณ์แต่งคัมภีร์ศาสนาที่มีแนวคิดปรัชญาการเมืองรองรับ “รัฐศาสนาแบบฮินดู” คือแนวคิดระบบวรรณะสี่ ที่กำหนดว่าวรรณะกษัตริย์และพราหมณ์เป็นชนชั้ปกครอง โดยกษัตริย์เป็นนักรบ ผู้ปกครองอาณาจักร พวกพราหมณ์เป็นฝ่ายศาสนจักร ทำหน้าที่ปุโรหิต บัญญัติกฎหมายหรือกำหนดระเบียบแบบแผนของสังคมให้เป็นไปตามระบบวรรณะที่บัญญัติไว้ในคัมภีร์ธรรมศาสตร์ ส่วนนักบวชพุทธมีคัมภีร์ที่มีแนวคิดปรัชญาการเมืองรองรับ “รัฐพุทธศาสนา” ที่ยึดหลักการปกครองโดยธรรม โดยมีธรรมราชาในอุดมคติ 2 ประเภท ทำหน้าที่สนับสนุนกันและกัน คือจักรพรรดิธรรมราชาปกครองอาณาจักรโดยธรรม และพุทธธรรมราชาปกครองจิตวิญญาณของชาชน ด้วยการสอนธรรมให้ประชาชนประพฤติดีทางกาย วาจา ใจ อันเป็นการสนับสนุนให้บ้านเมืองสงบสุข

เมื่อเกิดรัฐพุทธศาสนาในสยาม นักบวชพุทธยกให้กษัตริย์เป็นทั้งธรรมราชา สมมติเทพ โพธิสัตว์ และพระพุทธเจ้าอยู่หัว อันที่จริงเชื้อสายกษัตริย์เป็น “หน่อพระพุทธเจ้า” ตั้งแต่อยู่ในครรภ์เลยทีเดียว บางยุคสมัยเมื่อเมียกษัตริย์คลอดลูกชายจะมีพิธีกรรมศาสนาเวียนเทียนรอบตำหนัก 3 รอบ เป็นการแสดงความเคารพต่อหน่อพระพุทธเจ้า ส่วนพวกนักบวชก็ได้รับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชและศักดินาพระชั้นยศต่างๆ ได้รับบริจาคที่ดิน ข้าทาส และเบี้ยหวัดเงินเดือนเป็นการตอบแทนจากกษัตริย์ ถึงตอนนี้นักบวชพุทธก็ยังไม่ได้ถูกมองว่าเป็น “อาชีพ” เหมือนพวกพราหมณ์ เพราะผู้คนต่างเชื่อเรื่องเล่าที่ถูกปลูกฝังมาว่าพวกนักบวชพุทธคือผู้สละทางโลก มุ่งละกิเลส มุ่งนิพพาน

ส่วนความเชื่อเกี่ยวกับอภิปรัชญาเรื่องบุญบารมีและการเวียนว่ายตายเกิดที่สัมพันธ์กับความสามารถในการบรรลุธรรมเป็นพุทธะและพระอริยะเจ้า “ผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่มนุษย์และทวยเทพ” และความเชื่อที่ว่าคนเกิดมาในวรรณะสูง ต่ำ รวย จน เพราะผลกรรมดี ชั่วที่เคยทำมาอันเป็นเรื่องเล่าในคัมภีร์ไตรปิฏกและอรรถกถาย่อมถูกนำมาใช้สนับสนุน “ระบบศักดินาไทย” ได้อย่างลงตัวว่า คนที่เกิดมาเป็นหน่อพระพุทธเจ้าและกลายมาเป็นกษัตริย์ธรรมราชา สมมติเทพ โพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าอยู่หัวย่อมเป็นผู้บำเพ็ญบุญบารมีมามากกว่าและเป็นผู้ประเสริฐสูงส่งที่สุด ส่วนบรรดาเครือข่ายชนชั้นปกครองคือเชื้อพระวงศ์ ขุนนาง และนักบวช ย่อมเป็นชนชั้นสูงส่งในลำดับถัดลงมา ขณะที่ชนชั้นผู้ใต้ปกครอซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่คือไพร่ ทาส คือผู้ทำบุญมาน้อยก็สมควรแล้วที่ต้องเชื่อฟังหรือยู่ใต้อำนาจของชนชั้นบนผู้มีบุญญาธิการเหนือหัว

เป็นอันว่า นักบวชพุทธได้ใช้ปรัชญาการเมืองแบบพุทธและอภิปรัชญาพุทธสถาปนาสถานะและอำนาจชอบธรรมของกษัตริย์ให้มี “ความเป็นศาสนา” คือ มีความประเสริฐสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์เหนือกว่าสถานะของบรรดานักบวชเสียอีก และกษัตริย์ก็มีอำนาจเด็ดขาดปกครองทั้งอาณาจักรและศาสนจักร แต่งตั้ง ถอดถอนยศนักบวชได้ อุปถัมภ์ส่งเสริมการเผยแพร่คำสอนพุทธศาสนา ชำระปรับปรุงคัมภีร์พุทธศาสนา จัดการเรียนการสอน การสอบความรู้ตามคัมภีร์พุทธศาสนาแก่นักบวช และออกกฎหมายลงโทษนักบวชที่ประพฤติผิดธรรมวินัยได้ เป็นต้น

น่าสังเกตว่า งานด้านพุทธปรัชญาปัจจุบัน เช่นงานเชื่อ “An Essay Concerning Buddhist Ethics” เขียนโดย Somparn Promta แม้จะมีการอภิปรายเปรียบเทียบพุทธปรัชญากับความคิดนักปรัชญาสมัยใหม่ไว้น่าสนใจ เช่น แนวคิดของคานท์, มิลล์, รอลส์, ซาตร์, มาร์กซ์ เป็นต้น แต่ตอนท้ายของหนังสือเล่มนี้กลับยืนยันว่า รัฐที่ดีในทัศนะพุทธศาสนาเป็น “รัฐพ่อปกครองลูก” รัฐมีหน้าที่สอนศีลธรรมแก่ประชาชน และผู้ปกครองไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ นายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดีและอื่นๆ ต้องมีศีลธรรมสูงกว่าประชาชน และเป็นแบบอย่างทางศีลธรรมแก่ประชาชน ข้อเสนอเช่นนี้ย่อมสอดคล้องกับประวัติศาสตร์รัฐพุทธศาสนาตามที่พวกนักบวชพุทธร่วมกับชนชั้นปกครองสถาปนาขึ้น

แต่รัฐพุทธศาสนาที่ปกครองโดยธรรม รัฐทำหน้าที่สอนศีลธรรม ผู้ปกครองมีศีลธรรมสูงส่งกว่าประชาชน และเป็นแบบอย่างทางศีลธรรมของประชาชน ตามความจริงทางประวัติศาสตร์แล้ว ก็เป็นเพียง “รัฐพุทธศักดินา” ที่กดขี่ไพร่ ทาส หรือ “รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบพุทธ” ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเสรีภาพและประชาธิปไตย ผู้ปกครองที่ว่ามีศีลธรรมสูงส่งกว่าและเป็นแบบอย่างทางศีลธรรม ก็เป็นได้เพียง “ผู้ปกครองแบบมาคิอาเวลเลี่ยน” คือ ผู้ปกครองที่สอนศีลธรรมแก่ประชาชน และแสดงภาพลักษณ์ว่าทรงคุณธรรม แต่หากทำตรงข้ามกับภาพลักษณ์ที่ “แสดง” นั้น ประชาชนก็ตั้งคำถาม วิจารณ์ตรวจสอบใดๆ ไม่ได้เลย

หากคิดจากมุมมองปรัชญาการเมืองแบบเสรีนิยม (liberalism) และโลกวิสัย (secularism) ย่อมปฏิเสธรัฐพ่อปกครองลูกแบบพุทธ (หรือแบบใดๆ) โดยสิ้นเชิง เพราะปรัชญาเสรีนิยมโลกวิสัยถือว่ารัฐต้องเป็นกลางทางความเชื่อ ศาสนา คุณค่างทางศีลธรรมที่แตกต่างหลากหลาย ประชาชนทุกคนคือพลเมืองเสรีและเสมอภาค ทุกคนคือปัจเจกบุคคลที่มีอิสรภาพปกครองตนเองได้ในทางศีลธรรม ประชาชนไม่ได้เลือกนายกฯ, ประธานาธิบดีมาเป็นแบบอย่างทางศีลธรรม หากแต่เลือกมาทำหน้าที่รับใช้ประชาชน ทำหน้าที่ปกป้องเสรีภาพของปัจเจกบุคคลและเสรีภาพทางการเมืองของประชาชน และอยู่ภายใต้การกำกับตรวจสอบของประชาชน กษัตริยที่เป็นประมุขของรัฐก็ไม่ใช่ “พ่อ” ของประชาชน ไม่ใช่ “เทพ” แต่คือ “คนเหมือนกัน” ที่ทำหน้าที่ประมุขภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ และถูกตรวจสอบโดยประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

โดยนัยดังกล่าวข้าบน ข้อเรียกร้อง “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย ก็คือข้อเรียกร้องตามแนวคิดเสรีนิยมและโลกวิสัยที่ปฏิเสธความเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ปกครองโดยธรรมแบบพุทธ ซึ่งไม่ใช่การล้มล้าง “ระบอบประชาธิปไตย” แต่เป็นข้อเสนอเพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยให้เป็นจริงได้ ด้วยการยกเลิกสถานะและอำนาจกษัตริย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย

ถึงที่สุดแล้ว ส่วนสำคัญหนึ่งของการจะปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ได้จริง จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงในเชิงความคิดและอุดมการณ์ปรัชญาการเมืองแบบพุทธ ที่สร้างขึ้นโดยพวกนักบวช นักปราชญ์ราชบัณฑิต นักปรัชญาพุทธ ที่ส่วนใหญ่แล้วก็มีพื้นเพมาจากไพร่ หากถูกศาสนายกระดับชนชั้นให้กลายเป็นผู้ประเสริฐสูงส่งกว่าคนทั่วไป และถูกระบบการศึกษาของศาสนจักรพุทธราชาชาตินิยมกล่อมเกลาให้มีสำนึกรับใช้ศักดินา ทั้งโดยตรงและโดยปริยายมายาวนาน 
 

ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/PoliticsKalaland/photos/a.442068742664991/1784578375080681

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท