Skip to main content
sharethis

ธปท.เร่งตรวจสอบธนาคารพาณิชย์บังคับพนักงานขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยใช้ยอดขายประกันเป็นตัวชี้วัด KPI

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยกรณีที่มีข่าวพนักงานสาขาธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง ถูกกดดันให้ขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยว่า ธปท.ขอย้ำว่า ให้ความสำคัญและส่งเสริมให้ผู้ให้บริการทางการเงิน (ผู้ให้บริการ) ทุกแห่ง ในการยกระดับธรรมาภิบาลของการเสนอขายผลิตภัณฑ์และการให้บริการแก่ลูกค้า โดยเฉพาะการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย ซึ่ง ธปท. ได้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ดังนี้

ธปท. กำหนดหลักเกณฑ์การบริหารจัดการด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (market conduct) และกำกับดูแลเข้มข้นตั้งแต่ปี 2561 โดยเฉพาะเรื่องการจ่ายค่าตอบแทน ที่ผู้ให้บริการต้องไม่กำหนดตัวชี้วัดผลงาน (KPI) ที่ให้น้ำหนักกับเป้าการขายผลิตภัณฑ์หรือกดดันพนักงาน จนนำไปสู่การเสนอขายที่ขาดคุณภาพและขาดความรับผิดชอบต่อลูกค้า รวมทั้งต้องนำข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการบังคับขายมาเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาค่าตอบแทนด้วย

นอกจากนี้ หลักเกณฑ์ด้านกระบวนการขาย ยังกำหนดเรื่องการให้ข้อมูลครบถ้วน ถูกต้อง ชัดเจน ไม่บิดเบือน และไม่รบกวนลูกค้า รวมทั้งมีกระบวนการตรวจสอบคุณภาพการขาย เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการหลอก บังคับ เอาเปรียบลูกค้า และไม่บังคับขายผลิตภัณฑ์พ่วงเป็นเงื่อนไขในการใช้ผลิตภัณฑ์หลัก

ธปท. ได้ติดตามและประเมินการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเข้มงวด และเปรียบเทียบปรับผู้ให้บริการที่บังคับขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย โดยที่ผ่านมา ธปท. ได้เน้นตรวจสอบและประเมินการให้บริการแก่ลูกค้ารายย่อย และได้ลงโทษอย่างจริงจัง โดยได้เปรียบเทียบปรับผู้ให้บริการที่บังคับขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยจำนวน 2 แห่ง ในปี 2561

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในการกำกับดูแลการขายผลิตภัณฑ์หลักทรัพย์และประกันภัยผ่านธนาคารพาณิชย์ (cross selling) แบบองค์รวมและสอดคล้องกัน ส่งผลให้ผู้ให้บริการตระหนักและควบคุมการเสนอขายผลิตภัณฑ์อย่างเคร่งครัด ทำให้เรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับการบังคับขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2562 - 2564 (9 เดือนแรก)

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 พบว่ามีผู้ให้บริการบางแห่งเริ่มกลับมาเน้นการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยมากขึ้น โดยกำหนดเป้าหมายการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยเชิงรุก หรือขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยพ่วงกับการให้สินเชื่อเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง ธปท. ได้กำชับผู้ให้บริการในทันที และเน้นย้ำให้ควบคุมดูแลคุณภาพการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยอย่างเคร่งครัดและจริงจัง โดยเฉพาะการเร่งทำเป้าการขายในช่วงระยะเวลาใกล้ปิดรอบการประเมินผลงาน ทั้งนี้ ธปท. จะติดตามตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวอย่างเข้มงวดต่อเนื่อง และพร้อมดำเนินการตามมาตรการกำกับดูแลที่มีความเข้มข้นขึ้นต่อไป

ที่มา: TNN, 18/11/2564

กสร. ชี้พนักงาน รปภ.ทำงานเกิน 8 ชั่วโมง ส่วนที่เกินถือเป็นการทำงานล่วงเวลา มีสิทธิได้ค่าตอบแทน 1 เท่า

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ชี้แจงว่า กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดให้ลูกจ้างทำงานวันละไม่เกิน 8 ชั่วโมง หรือสัปดาห์หนึ่งไม่เกิน 48 ชั่วโมง เนื่องจากมีความมุ่งหมายให้ลูกจ้างได้พักผ่อน ใช้เวลากับครอบครัวรวมถึงพัฒนาตนเองตามหลัก 8:8:8 หากนายจ้างประสงค์ให้ลูกจ้างทำงานเกินเวลาปกติหรือทำงานล่วงเวลา ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างเป็นคราว ๆ ไป โดยอาจทำเป็นหนังสือก็ได้ ด้วยวาจาก็ได้ หรือทำติดต่อกันไปหากลักษณะงานนั้นถ้าหยุดจะเสียหายแก่งานหรือเป็นงานฉุกเฉิน กรณีนี้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาในอัตรา 1.5 เท่า สำหรับวันทำงานปกติ หรือ 3 เท่า สำหรับการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด ส่วนกรณีงานอยู่เวรเฝ้าดูแลสถานที่หรือทรัพย์สิน หรืองานรักษาความปลอดภัย ทั้งนายจ้างและลูกจ้างต่างเข้าใจว่าเวลาทำงานปกติของงานรักษาความปลอดภัยจะต้องทำงานวันละ 12 ชั่วโมง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ในความเป็นจริงแล้วเป็นการทำงานเวลาทำงานปกติวันละ 8 ชั่วโมง และทำงานล่วงเวลาวันละ 4 ชั่วโมง หากนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างเป็นคราว ๆ ไป การตกลงในสัญญาจ้างตั้งแต่แรกที่เข้าทำงานว่าลูกจ้างต้องยินยอมทำงานล่วงเวลา ไม่ถือว่าเป็นการให้ความยินยอมตลอดไป ทั้งนี้ ลักษณะงานรักษาความปลอดภัยโดยทั่วไปไม่ใช่งานในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจหลักของสถานประกอบกิจการ มีลักษณะเป็นงานเบา (Light Work) หรืองานที่ไม่ได้ทำต่อเนื่องกันตลอดเวลา กฎหมายจึงกำหนดข้อยกเว้นเรื่องอัตราค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาแตกต่างจากงานทั่วไป งานประเภทนี้ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุด แต่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน 1 เท่า ตามกฎกระทรวงกำหนดงานที่ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุด พ.ศ. 2552 ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่สถานประกอบกิจการหรือนายจ้าง อย่างไรก็ดีหากนายจ้างตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาสูงกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดก็สามารถทำได้ หรือลูกจ้างอาจดำเนินการยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างจนมีข้อตกลงเกี่ยวกับการจ่ายค่าล่วงเวลาอัตราสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดก็สามารถทำได้

อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อเสนอของกลุ่มลูกจ้างในงานรักษาความปลอดภัยที่ต้องการแก้กฎหมายให้มีการจ่ายค่าล่วงเวลาในอัตรา 1.5 เท่า ของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง เช่นเดียวกันกับลูกจ้างซึ่งทำงานในงานทั่วไปนั้น กรมจะได้ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อประกอบการพิจารณาแก้ไขกฎหมายต่อไป

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 17/11/2564

ก.แรงงาน เตือนภัยนายหน้าเถื่อนระบาด หลอกทำงาน ตปท. เช็กรายชื่อบริษัทก่อนโอนเงิน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้มีสายนายหน้าเถื่อนอ้างตนเป็นบริษัทจัดหางาน ประกาศรับสมัครคนไทยไปทำงานในต่างประเทศ ผ่านเพจ Facebook จำนวนมาก ล่าสุดจัดหางานจังหวัดอุดรธานี ร่วมกับตำรวจชุดสืบสวนภูธรจังหวัดอุดรธานี กองกำกับการสายตรวจ กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ ร่วมจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดอุดรธานี หลังแอบอ้างว่าสามารถจัดส่งคนหางานไปทำงานในประเทศออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ได้ ก่อนเชิดเงินที่อ้างว่าเป็นค่าลงทะเบียนและค่าดำเนินการหนี รวมมูลค่าความเสียหาย 2,355,000 บาท เบื้องต้นมีผู้เสียหายถึง 28 ราย

“ผมขอฝากความห่วงใยถึงคนหางานทุกท่าน ขออย่าหลงเชื่อคำชักชวนและโอนเงินโดยง่าย ให้ตรวจสอบบริษัทจัดหางานว่าเป็นบริษัทที่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางานจริงหรือไม่เสียก่อน โดยตรวจสอบที่เว็บไซต์ของกองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน www.doe.go.th/ipd ผมได้รับรายงานเรื่องนี้หลายครั้ง บางรายหลอกให้ใช้วีซ่าท่องเที่ยว เข้าเมืองเค้าอย่างผิดกฎหมายเพื่อลักลอบทำงาน สุดท้ายไม่ได้งานตามที่โฆษณาไว้ และยังถูกดำเนินคดีตามกฎหมายประเทศนั้นๆอีก ในเรื่องนี้รัฐบาลโดยการนำของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ต่างย้ำถึงความสำคัญของการเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายมาโดยตลอด ทุกประเทศมีกฎหมายของตัวเอง ไปทำงานประเทศเขาต้องเคารพกติกาของเขา ไปทำงานประเทศใดก็ต้องเคารพกติกาประเทศนั้น”

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า การคุ้มครอง ดูแล และช่วยเหลือคนหางานที่ทำงานทั้งในและต่างประเทศให้เข้าสู่การจ้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ได้รับค่าจ้าง และสวัสดิการที่เหมาะสม เป็นภารกิจหนึ่งของกรมการจัดหางาน ที่เรามีการตรวจสอบเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อรู้เท่าทันกลวิธีและป้องกันปัญหาการหลอกลวงคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ และเฝ้าระวังพฤติการณ์ของขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งปัจจุบันสาย/นายหน้าเถื่อนเหล่านี้มักใช้เพจ Facebook เป็นช่องทางการโฆษณา เหยื่อมีทั้งถูกหลอกให้จ่ายเงินค่าดำเนินการ โดยจ่ายเงินแล้วถูกผัดผ่อนกำหนดเดินทางออกไปเรื่อยๆ จนคนหางานไม่ได้เดินทางไปทำงานต่างประเทศตามที่กล่าวอ้าง หรือพาคนหางานเดินทางไปทำงานต่างประเทศในรูปแบบนักท่องเที่ยว โดยอ้างว่าเมื่อไปถึงจะดำเนินการขอวีซ่าให้ทำงานอย่างถูกต้องภายหลัง สุดท้ายถูกหลอกไปค้าประเวณีหรือทำงานในธุรกิจผิดกฎหมาย ซึ่งแรงงานไทยส่วนใหญ่รู้ดีว่าตนลักลอบไปทำงานผิดกฎหมาย ทำให้ไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ทำให้ได้รับความลำบากอย่างมาก โดยนายหน้าเถื่อนเหล่านี้มักโพสต์วิดีโอส่งคนขึ้นเครื่องบินที่สนามบิน ภาพถ่ายรวมหมู่ของบุคคลที่อ้างว่าเป็นคนหางานที่จะเดินทางไปทำงาน หรือภาพถ่ายการทำงานที่ต่างประเทศมาประกอบ บางแห่งมีการเช่าอาคารสำนักงาน และปลอมแปลงเอกสารราชการเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือด้วย

โดยปีงบประมาณ พ.ศ.2565 (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 – 17 พฤศจิกายน 2564) มีการดำเนินคดีสาย-นายหน้าเถื่อนแล้ว 4 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย จำนวน 467,000 บาท ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 – 30 กันยายน 2564) มีการดำเนินคดีสาย นายหน้าเถื่อน 105 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย จำนวน 18,129,797 บาท และปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 – 30 กันยายน 2563) มีการดำเนินคดีสาย นายหน้าเถื่อน 78 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย จำนวน 16,454,698 บาท

สำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศสามารถขอรับคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 และตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/ipd ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทฯ ที่ได้รับอนุญาต จำนวน 124 บริษัท ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงมหานคร 85 บริษัท และกระจายอยู่ในจังหวัดอื่นๆทั่วประเทศ 39 บริษัท หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

ที่มา: สยามรัฐ, 17/11/2564

ระดมฉีดวัคซีนให้แรงงานเมียนมา ภาคเกษตร 16 หมู่บ้าน ในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก กว่า 3 พันคน

17 พ.ย. 2564 นายเฉลิม กล่อมเกลี้ยง สาธารณสุขอำเภอแม่สอด จ.ตาก พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอแม่สอ,เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแม่สอด,เจ้าหน้าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่กาษา และเจ้าหน้าที่ อสม.ประจำหมู่บ้าน16 หมู่บ้านในพื้นที่ตำบลแม่กาษา ได้บริการฉีดวัคซีนซิโนแวค เข็มที่1 ให้กับแรงงานต่างด้าว สัญชาติเมียนมาที่รับจ้างทำงานภาคเกษตรจากพื้นที่ 16 หมู่บ้านในพื้นที่ตำบลแม่กาษา รวมจำนวนทั้งสิ้น 3,077 คน ณ อาคารอเนกประสงค์องค์การบริหารส่วนตำบลแม่กาษา หมู่ 2 ต.แม่กาษา โดยมีแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก ต่างเข้าคิวไปรอรับวัคซีนกันแต่เช้า สำหรับยอดผู้ฉีดวัคซีนในพื้นที่ จ.ตาก ช่วงระหว่างวันที่ 2 มีนาคม 64 จนถึงวันที่ 15 พ.ย.64 มีจำนวน 583,928 คน รวมทั้ง 3 เข็ม บางคนเข็มแรก บางคนเข็มที่ 2 และบางคนเข็มที่ 3

อย่างไรก็ดีมีแรงงานหญิงชาวเมียนมาบางคนเกิดอาการกลัวเข็มขณะฉีดวัคซีน ต้องหันหน้าไปทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และขอกอดเจ้าหน้าที่จนฉีดยาเสร็จ แล้วจึงยกมือไหว้เจ้าหน้าที่

ที่มา: ข่าวช่อง 7HD, 17/11/2564

'ซีพี' จัดสัมนาแรงงานข้ามชาติ ส่งเสริมการจ้างที่มีจริยธรรมและเท่าเทียม

16 พ.ย. 2564 เครือซีพีเปิดเผยถึงงานอบรมออนไลน์ เรื่องการส่งเสริมการจ้างงานอย่างมีจริยธรรม (C.P. Group Ethical Recruitment) ให้แก่บริษัทจัดหาแรงงานข้ามชาติจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และกัมพูชา ตามกระบวนสรรหาที่เป็นธรรมและเปิดเผย (Open Tender Process) เพื่อยกระดับการสรรหาและคัดเลือกบริษัทจัดหาแรงงานที่ให้บริการกับบริษัทในเครือฯ

ซึ่งงานนี้มีบริษัทจัดหางานเข้ารับฟังการบรรยายร่วมกว่า 50 บริษัท และได้รับเกียรติจาก นางสาวชลธิชา ตั้งวรมงคล ผู้แทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO (International Labour Organization) ให้ความรู้เรื่องเกี่ยวกับหลักการและแนวทางการสรรหาแรงงานที่เป็นธรรม และนายแอนดี้ ฮอลล์ ที่ปรึกษาเครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมแสดงข้อคิดเห็นต่อการยกระดับแนวปฏิบัติด้านการจ้างงานอย่างมีจริยธรรมของเครือฯ

ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักความร่วมมือระหว่างประเทศด้านความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์มีเจตนารมณ์ในการกำหนดแนวทางที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดการกระทำ หรือการสนับสนุนการใช้แรงงานบังคับในทุกรูปแบบ ตามนโยบายและแนวปฏิบัติด้านการจ้างแรงงานข้ามชาติของเครือฯ ที่สอดคล้องกับกฎหมายแรงงานของแต่ละประเทศและมาตรฐานระหว่างประเทศ ได้แก่ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน, หลักการชี้แนะสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน, หลักการสากลของ UN Global Compact และปฏิญญาว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

ซึ่งมีผลบังคับใช้และดำเนินการอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดการใช้แรงงานข้ามชาติอย่างผิดกฎหมาย รวมถึงต่อต้านการแสวงหาประโยชน์ การใช้อำนาจในทางมิชอบ อันเป็นที่มาของโครงการส่งเสริมการจ้างงานอย่างมีจริยธรรมอย่างเป็นรูปธรรมในครั้งนี้

นางสาวปรมินทร วงศ์ไตรรัตน์ ผู้จัดการแผนกสำนักความร่วมมือระหว่างประเทศด้านความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด อธิบายว่า นโยบายและแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติด้านแรงงาน และนโยบายและแนวปฏิบัติในการจ้างแรงงานต่างด้าว รวมถึงกระบวนการประเมินคุณสมบัติของบริษัทจัดหางาน ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้พัฒนาขึ้น เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน

“เครือเจริญโภคภัณฑ์มุ่งเน้นเรื่องการดูแลพนักงานทุกคนให้ได้รับความเท่าเทียม ส่งเสริมความแตกต่าง เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้ยอมรับในความหลากหลายต่าง ๆ เช่น อายุ เพศสภาพ วัฒนธรรม และศาสนา ซึ่งบริษัทภายในเครือฯ ได้จัดพื้นที่ที่หลากหลายและเหมาะสมเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่พนักงานทุกคน เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกความแตกต่างหลากหลายสามารถเลือกพื้นที่ที่ตนรู้สึกปลอดภัย และสบายใจในการใช้สอย เช่น การจัดทำห้องน้ำเสมอภาค หรือ universal design

โดยมีการนำร่องที่ ทรู คอร์ปอเรชั่น สำนักงานใหญ่ เพื่อให้พนักงานโดยเฉพาะกลุ่มเพศทางเลือกรู้สึกปลอดภัยในการใช้พื้นที่สาธารณะในที่ทำงาน และห้องประกอบศาสนกิจ (ห้องละหมาด) ที่ ทรู ดิจิทัล พาร์ค เพื่ออำนวยความสะดวกแก่พนักงานมุสลิม เป็นต้น”

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 16/11/2564

เชียงใหม่ ขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับเข้าสู่ตลาด "แรงงานมีฝีมือ"

นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 1/2564 ณ ห้องประชุมสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่โดยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ จากหน่วยงานบูรณาการในการดำเนินงาน ได้แก่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 1 - 6 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงใหม่ ท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดเชียงใหม่ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ สันนิบาตเทศบาลจังหวัดเชียงใหม่ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ และมีสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ เป็นเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ

นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่าจังหวัดเชียงใหม่จัดการประชุมในวันนี้เพื่อชี้แจงบทบาทหน้าที่ตามคำสั่งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ จังหวัดเชียงใหม่ และเพื่อพิจารณากำหนดหลักสูตรที่จะเปิดทำการฝึก เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยและตรงกับตำแหน่งงานว่าง ซึ่งจากข้อมูลความต้องการของตลาดแรงงาน สาขาอาชีพผู้ประกอบอาหาร การทำขนมอบ(เบเกอรี่) ช่างเย็บจักรอุตสาหกรรม(ผ้า) และช่างเครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก เป็นสาขาอาชีพพื้นฐานที่ตลาดแรงงานมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการจึงได้พิจารณาให้เป็นหลักสูตรที่ใช้ดำเนินการฝึกทักษะให้แก่เด็กนักเรียน ในโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ จังหวัดเชียงใหม่ ในปีงบประมาณ 2565 นี้ โดยกำหนดเปิดฝึกอบรมในวันที่ 27 เมษายน 2565 เป้าหมายดำเนินการจำนวน 20 คน โดยจะฝึกอบรมทั้งความรู้และทักษะฝีมือ ในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ จำนวน 2 เดือน ส่งฝากฝึกงานในสถานประกอบกิจการ จำนวน 1 เดือน สำเร็จกระบวนการฝึกอบรมในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2565 สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ จะเป็นหน่วยงานที่จัดเตรียมตำแหน่งงานและสถานประกอบกิจการที่เหมาะสมให้ต่อไป

นางณฐมน ปัทมะสุคนธ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ กล่าวว่า สำหรับโครงการฯ ในปี 2565 สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ ได้เตรียมความพร้อมทางด้านหลักสูตร บุคลากร และสถานที่เพื่อรองรับเรียบร้อยแล้ว ซึ่งการดำเนินการหลังจากวันนี้ จะได้ร่วมกับสำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ กำหนดประชุมชี้แจงผู้อำนวยการโรงเรียนและครูแนะแนว เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ขั้นตอน ปฏิทินการดำเนินโครงการเพิ่มทักษะด้านวิชาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้ศึกษาต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ ร่วมกับโครงการเตรียมความพร้อมแก่กำลังแรงงาน สำรวจและจำแนกนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย เพื่อจัดการสนับสนุนเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและไร้ที่พึ่ง และเงินสงเคราะห์กองทุนคุ้มครองเด็ก และเงินทุนเพื่อการประกอบอาชีพโดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ และกำหนดวันศึกษาดูงาน โดยภาคส่วนการศึกษาจะนำนักเรียนกลุ่มเป้าหมายเข้าศึกษาดูงานกิจกรรมการฝึกอบรมที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองและนักเรียนได้เห็นและสัมผัสกิจกรรมการฝึกที่แท้จริง เพื่อจะได้ใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกสาขาอาชีพที่ตนชอบและถนัดมากที่สุด ในการเข้ารับการฝึกทักษะตนเองให้มีความพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะ "แรงงานมีฝีมือ" อันจะส่งผลทำให้มีรายได้สูงขึ้น สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ช่วยลดปัญหาครอบครัว และสังคมซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้นักเรียนในจังหวัดเชียงใหม่ที่ขาดโอกาส ได้รับโอกาสพัฒนาทักษะอาชีพและชีวิตต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 16/11/2564

ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานชี้เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น

14 พ.ย. 2564 นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์ด้านแรงงานภายหลังรัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศว่า โดยภาพรวมมองว่าเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น

โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการที่ก่อนหน้านี้ซบเซา เริ่มฟื้นตัวขึ้น เห็นได้จากร้านค้า ร้านอาหารเริ่มกลับมาเปิดบริการตามปกติ และโรงแรมรีสอร์ทในเมืองท่องเที่ยวหลายแห่งห้องพักถูกจองเต็ม แสดงให้เห็นว่าเป็นผลพวงจากมาตรการเปิดประเทศ แม้เพียงในระยะเวลาสั้นๆ ก็ตามถือว่าเป็นสัญญาณบวก ส่วนภาพรวมของธุรกิจส่งออก

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์การแพทย์ และอาหาร แช่แข็ง เนื่องจากกิจการเหล่านี้ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และมีคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาเป็นจำนวนมาก จึงทำให้กิจการไม่หยุดชะงัก เนื่องจากโรงงานต่างๆ สามารถผลิตและส่งออกได้

นอกจากนี้ เป็นผลพวงจากโครงการแฟคทอรี่แซนด์บอกซ์ ที่รัฐบาลและกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับภาคแรงงานและผู้ประกอบการ ในการตรวจโควิดแก่แรงงานในโรงงาน หากพบเชื้อนำตัวเข้ารักษาได้ทันที

ส่วนผู้ที่ไม่พบเชื้อนำเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่แก่แรงงานในสถานประกอบการให้ได้ตรวจรักษา ดูแล และควบคุม สร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนและผู้ประกอบการ ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวโดยเร็ว จะเห็นได้จากลูกจ้างในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้พนักงานได้รับโบนัสในรอบ 5 เดือนสูงถึงเท่าตัว

อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมยังมีความต้องการแรงงานในภาคการผลิตอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงานไทย ซึ่งเป็นแรงงานที่มีทักษะฝีมือที่ผู้ประกอบการและตลาดแรงงานต้องการอีกด้วย

ที่มา: คมชัดลึก, 15/11/2564

นักวิชาการแนะรัฐต้องทำยุทธศาสตร์แรงงานข้ามชาติ อย่าทำแค่มติ ครม. เป็นครั้งคราว

ในการจัดงานเสวนาออนไลน์เรื่อง “ปัญหาแรงงานข้ามชาติซับซ้อน หรือซ้ำซาก” ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ผศ.ดร. กิริยา กุลกลการ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดิศร เกิดมงคล เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ พิเชษฐ์ ทองพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย และดำเนินรายการโดย ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters

สุชาติ กล่าวว่าเราต้องดูแลแรงงานข้ามชาติเหมือนคนไทย ทั้งเรื่องสุขภาพและสาธารณสุข ขณะนี้เราฉีดวัคซีนไปให้พวกเขาแล้วเกือบ 5 แสนโดส การที่แรงงานทะลักตามแนวชายแดน ด้านหนึ่งก็เป็นภาพบวกของสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจเพราะมีการเปิดประเทศและมีความต้องการแรงงาน จริงๆ แล้วเราได้ทำแผนและเตรียมนำเข้าแรงงานตั้งแต่เดือนสิงหาคมแล้ว แต่ตอนนั้นสถานการณ์โควิดในประเทศพุ่งสูงถึง 2 หมื่นคน ขณะที่แรงงานต่างด้าวเป็นจำเลยของสังคม เพราะการแพร่ระบาดใครๆ ก็มาลงที่แรงงานต่างด้าว อย่างไรก็ตามเมื่อประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนและมีการเปิดประเทศ เราจึงได้มีการหารือเรื่องการนำเข้าครั้งใหม่โดยตนได้ขอให้กระทรวงสาธารณะสุขเก็บวัคซีนไว้ 5 แสนโดส สำหรับการนำแรงงานต่างด้าวที่จะนำเข้า เราพยายามแก้ปัญหาที่ต้นทาง

“อยากเชิญทุกคนมาช่วยคิดเพื่อแก้ปัญหาแรงงานระยะยาว เราไม่อยากแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เราต้องการวางแผนระยะยาว ผมเองไม่ได้รอบรู้หมดทุกอย่าง”สุชาติ กล่าว

สุธาสินี กล่าวว่าก่อนระบาดของโควิด แรงงานข้ามชาติจำนวนหนึ่งที่หนังสือเดินทางหมดอายุและต้องกลับไปทำหนังสือเดินทางในประเทศต้นทาง ซึ่งระหว่างนั้นได้เกิดการแพร่ระบาด ทำให้แรงงานที่ไม่สามารถกลับเข้ามาได้เพราะประเทศไทยปิดพรมแดน ขณะที่แรงงานอีกจำนวนมากในเวลานั้นได้ถูกครอบครัวเรียกตัวกลับบ้าน ทำให้แรงงานจำนวนมากหนีกลับประเทศ ทำให้เกิดสถานการณ์การขาดแคลนแรงงานกลายเป็นโอกาสของนายหน้าค้าแรงงานโดยอ้างว่าเข้ามาง่ายและเข้ามาทำเอกสารในประเทศไทยโดยต้องจ่ายค่าหัว ซึ่งขณะนี้มีแรงงานพม่าเข้ามามากที่สุดเพราะมีสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดและความไม่สงบภายในพม่า โดยแรงงานหนีความเดือดร้อนและความยากจน

“ไม่แตกต่างจากที่คนอีสานบ้านเราที่หนีไปทำงานต่างประเทศเพื่อหาเงินจุนเจือครอบครัว จึงตกเป็นเหยื่อของนายหน้าค้าแรงงาน ยิ่งประเทศไทยไม่ได้เปิดชายแดนให้เข้ามา เขาจึงต้องมากับนายหน้า และเลือกผ่านจุดที่มีด่านน้อยที่สุดคือแถวจังหวัดกาญจนบุรี ถ้าเป็นแม่สอดต้องผ่านถึง 4 ด่าน ในจำนวนนี้มีทั้งแรงงานเก่าที่เคยเข้ามาทำงานและแรงงานใหม่ เราได้รับการติดต่อจากคนงานว่าเข้ามาได้หรือไม่ บางส่วนซ่อนตัวมากับถังน้ำมัน 200 ลิตร เราจึงบอกว่ายังไม่ต้องเข้ามา ควรรอให้ทางการไทยเปิดรับก่อน” สุธาสินี กล่าว

สุธาสินี กล่าวย้ำว่า การนำเข้าแรงงานไม่ได้ง่ายว่าการทำหนังสือเดินทางของพม่า ซึ่งต้องใช้เวลา 7-10 วันและมีขั้นตอนการส่งเอกสารและขออนุญาตออกนอกประเทศอย่างน้อยใช้เวลา 45-60 วันที่จะนำแรงงานออกจากประเทศได้ ขณะที่ขั้นตอนในประเทศไทย ต้องเสียค่าตรวจโควิด ใบอนุญาตแรงงาน สิทธิในการรักษา ค่ากักตัวสูง รวมแล้วค่าใช้จ่าย 2 หมื่นกว่าต่อคน ถ้าแพงขนาดนี้ กิจการขนาดใหญ่อาจไม่มีปัญหาแต่ขนาดกลางและเล็กรับได้หรือไม่และมีการผลักภาระไปให้คนงานหรือไม่

พจน์ กล่าวด้วยว่า สถานประกอบการมีความต้องการแรงงานสูงมาก โดยคนงานต้องหนีตายและหนีการอดตายจากพม่า เพราะช่วงหลังพม่าพึ่งพาการส่งออก แต่เมื่อพม่าปิดประเทศและมาเจอกับปัญหาการเมืองภายในอีกทำให้ต้องลักลอบเข้าประเทศไทยโดยเฉพาะเข้ามาในชุมชนที่มีญาติ เช่น มหาชัย ทำให้เกิดการแพร่ระบาดในระลอกที่ 2 อย่างไรก็ตามเมื่อประเทศไทยเริ่มฟื้นตัวและภาคการส่งออกเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ต้นปี ทำให้ภาคการผลิตขาดแคลนแรงงาน

พจน์ เห็นว่า ความต้องการแรงงานมี 4 ประเภท คืออุตสาหกรรม ก่อสร้าง เกษตรกรรม และภาคบริการ โดยแรงงานอุตสาหกรรมต้องการมากและมีการจ้างงานอย่างเป็นระบบ ขณะที่ภาคการก่อสร้างยังที่มีโครงการก่อสร้างที่ค้างไว้จำนวนมากจึงต้องการแรงงานมากโดยเฉพาะชาวกัมพูชา ส่วนภาคเกษตรเป็นความต้องการแรงงานในฤดูกาลเก็บเกี่ยว ส่วนภาคบริการนั้น มีความต้องการมากหลังจากเปิดประเทศโดยมีตัวเลขของกระทรวงแรงงานบอกความต้องการประมาณ 5 แสน แต่ตนคิดว่ามากกว่านั้น จึงอยากให้มีการสำรวจชัดเจน ตนคิดว่าความต้องการแรงงานเบ็ดเสร็จสูงถึง 1 ล้านคน

ด้านอดิศร กล่าวว่าแรงงานข้ามชาติที่อพยพกลับประเทศตั้งแต่ก่อนการแพร่ระบาดของโควิดและเมื่อมีการแพร่ระบาดแล้วมีประมาณ 1 แสนคน และเริ่มไหลกลับเข้ามาตั้งแต่สิงหาคมปีที่แล้ว แต่อาจไม่เยอะเหมือนปัจจุบัน และหลังเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งเกิดรัฐประหารในพม่าได้กลับเข้ามาจำนวนมาก อย่างไรก็ตามการนำเข้าแรงงานยังเพื่อกิจการขนาดใหญ่ แต่ไม่ให้ความสำคัญกับกิจการขนาดกลางและขนาดเล็กซึ่งเป็นกิจการที่ต้องการแรงงานสูง ทำให้เกิดการนำแรงงานในสถานประกอบการขนาดกลางและเล็กมักไม่ถูกกฎหมาย ทำให้เกิดปัญหาซ้ำซาก

“เราต้องคุยกันให้ชัดว่าเราต้องการเอา MOU เป็นการนำเข้าหลักหรือไม่ หากใช่ก็ต้องเจรจากับประเทศนั้นๆอย่างไร อย่างไรก็ตามปัญหาคือเราไม่มียุทธศาสตร์และการตัดสินใจอยู่กับคนไม่กี่คน เช่น กิจการขนาดเล็กไม่มีโอกาสเสนอ” อดิศร กล่าว

ผศ.ดร.กิริยา กล่าวว่า จริงๆปัญหาแรงงานข้ามชาติทั้งซ้ำซากและซับซ้อนเพราะเราจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติมา 29 ปีแล้วแต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องส่วยและการลักลอบน้ำเข้าจนถึงปัจจุบัน ครั้งนี้ที่มีการลักลอบมากเพราะขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก สิ่งที่กระทรวงแรงงานทำคือพยายามเอาแรงานจากใต้ดินในประเทศก่อน แต่ไม่เพียงพอจึงต้องนำเข้า แต่เมื่อเปิดรับยิ่งทำให้แรงงานยิ่งอยากเข้ามา ดังนั้นเราควรทำไปพร้อมกันคือทั้งใช้แรงงานใต้ดินในประเทศมาไว้บนดินและการเปิดรับจากข้างนอก ซึ่งกระทรวงแรงงานอาจทำไปแล้วแต่ช้าเกินไป ขณะเดียกันรัฐบาลพยายามปิดและป้องกันพรมแดน แต่ถึงอย่างไรก็ป้องกันการลักลอบไม่ได้

ผศ.ดร.กิริยา กล่าวว่า เราพึ่งพาแรงงานข้ามชาติมากเกินไปหรือไม่ บางกิจการไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานไร้ฝีมือและสามารถพัฒนาคนเพื่อใช้แรงงานฝีมือได้ ดังนั้นเราควรมองเป็นยุทธศาสตร์ไม่ใช่แค่มติคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งๆไป

พิเชษฐ์กล่าวว่า จากการสำรวจมีความต้องการแรงงานข้ามชาติล่าสุดประมาณ 4 แสนคน แต่อาจมากกว่านั้น การทะลักเข้ามาอาจเป็นเพราะแรงงานต่างชาติอาจเข้าใจผิดว่าเมื่อเข้ามาจะขึ้นทะเบียนได้ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่เพราะต้องเข้ามาก่อนหน้านั้น อย่างไรก็ตามล่าสุดเตรียมน้ำเข้าแบบ MOU ซึ่งเราอยากได้แรงงานข้ามชาติแต่ต้องไม่ให้เกิดปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด

พิเชษฐ์กล่าวว่า การนำเข้า MOU นั้น ขั้นตอนเริ่มต้นจากผู้ประกอบการแจ้งความต้องการที่สำนักงานจัดหางานโดยต้องระบุให้ทราบว่าจะตรวจโควิดที่ไหน หากมีกรณีติดเชื้อใช้ประกันสุขภาพอะไร เมื่อมีการตรวจสอบปริมาณความต้องการแล้วเสร็จ เราก็ส่งเรื่องไปที่ประเทศต้นทางเพื่อให้เขารับสมัครและส่งกลับมาประเทศไทย หลังจากนั้นเราจะส่งต่อให้นายจ้างเพื่อทำการขออนุญาตการทำงานของคนต่างด้าวและมีประกันชีวิตเพื่อไม่ได้เป็นภาระของไทย หลังจากนั้นจะส่งหนังสือไปยังสถานทูตเพื่อให้นำคนต่างด้าวเข้ามา

ที่มา: Voice online, 13/11/2564

ศบค.ไฟเขียวแรงงาน 3 ชาติ เมียนมา-ลาว-กัมพูชา เข้าไทยมาทำงานได้ แต่มีเงื่อนไข

12 พ.ย. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยหลังประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการนำแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้แก่ เมียนมา ลาว และกัมพูชา เข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ซึ่งกระทรวงจะเปิดให้นำเข้าแรงงานตามบันทึกความเข้าใจภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

โดยมีเงื่อนไขให้แรงงานต่างด้าวที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย ต้องเข้ารับการกักตัว และตรวจหาเชื้อโควิด-19 ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับแรงงานต่างด้าวที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ต้องกักตัว 7 วัน หากฉีด 1 เข็ม หรือยังไม่เคยรับวัคซีน ต้องกักตัว 14 วัน ระหว่างกักตัวจะมีการตรวจหาเชื้อโควิด ด้วยวิธี RT – PCR จำนวน 2 ครั้ง

ทั้งนี้ ให้นายจ้าง/สถานประกอบการ รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ประกอบด้วยค่าสถานที่กักกัน วันละ 500-1,000 บาท และค่าตรวจหาเชื้อโควิด 2 ครั้ง รวม 2,600 บาท กรณีคนต่างด้าวติดเชื้อ นายจ้างหรือบริษัทประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษา ซึ่งวันสุดท้ายของการกักตัวแรงงานต่างด้าวที่ยังรับวัคซีนไม่ครบเกณฑ์ จะได้รับการฉีดวัคซีนโดยกระทรวงแรงงานเป็นผู้จัดหาให้ ในส่วนของเข็มที่ 2 กระทรวงแรงงานจะประสานสาธารณสุขจังหวัดปลายทางเพื่อนัดหมายฉีดวัคซีนให้แก่แรงงานต่างด้าวตามกำหนด นายจ้างจ่ายแค่ค่าบริการทางการแพทย์

“กระทรวงแรงงานได้รับข้อสั่งการจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ให้เตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าวล่วงหน้า เพื่อให้นายจ้าง และสถานประกอบการมีแรงงานที่เพียงพอในการขับเคลื่อนกิจการตลอดจนเศรษฐกิจของประเทศ แก้ไขปัญหาการลักลอบเข้าเมือง สามารถควบคุม ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างเป็นระบบ และเพื่อให้แรงงานต่างด้าวได้เข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกกฎหมาย เกิดประโยชน์แก่ประเทศไทยทั้งด้านเศรษฐกิจ สาธารณสุข ความมั่นคง และระบบการจ้างงานของประเทศ”

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่าการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตามบันทึกความเข้าใจ มีค่าใช้จ่ายรวมในการนำเข้าระหว่าง 11,490-22,040 บาทต่อคนต่างด้าว 1 คน ประกอบด้วยค่าตรวจโควิด 2 ครั้ง 2,600 บาท ตรวจลงตราวีซ่า (2 ปี) 2,000 บาท ใบอนุญาตทำงาน (2 ปี) 1,900 บาท ตรวจสุขภาพ 6 โรค 500 บาท ค่าประกันสุภาพรวมโรคโควิด-19 (บริษัทประกันภัยเอกชน (4 เดือน)) 990 บาท ค่าบริการทางการแพทย์ (ฉีดวัคซีน) 50 บาท และค่าสถานที่กักตัว (วันละ 500-1,000 บาท) กักตัว 7 วัน 3,500-7,000 บาท และกักตัว 14 วัน 7,000-14,000 บาท

โดยมีแนวทางการดำเนินการ 7 ขั้นตอน ดังนี้ 1.นายจ้างยื่นแบบคำร้องกับสำนักงานจัดหางานในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐาน โดยนายจ้างต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ในการกักตัวคนต่างด้าว ได้แก่ ค่าสถานที่กักตัว ค่าตรวจโรคโควิด-19 ค่าบริการทางการแพทย์ ค่ารักษาพยาบาลกรณีติดเชื้อโรคโควิด-19 หรือซื้อประกันที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล

2.ประเทศต้นทางดำเนินการรับสมัคร คัดเลือก ทำสัญญา และจัดทำบัญชีรายชื่อคนงานต่างด้าว (Name List) ส่งให้กรมการจัดหางาน และกรมการจัดหางานส่งให้นายจ้าง 3.นายจ้างหรือผู้รับอนุญาตฯ ที่ได้รับบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว (Name List) แล้วยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว พร้อมด้วยเอกสารที่เกี่ยวข้อง

4.กรมการจัดหางานมีทำหนังสือถึงสถานทูตไทย ณ ประเทศต้นทางของคนต่างด้าวเพื่อพิจารณาออกวีซ่า (Non – Immigrant L-A) ให้แก่คนต่างด้าวตามบัญชีรายชื่อ และหนังสือแจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่ออนุญาตให้คนต่างด้าวเดินทางเข้าประเทศผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองตามที่นายจ้างได้แจ้งไว้

5. เมื่อคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรต้องแสดงหนังสือยืนยันการอนุญาตให้เข้ามาทำงาน ผลตรวจโควิด – 19 และหลักฐานการได้รับวัคซีน(ถ้ามี) สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะตรวจลงตราอนุญาตวีซ่า (Non-Immigrant L-A) เป็นระยะเวลา 2 ปี จากนั้นจึงเดินทางไปยังสถานที่กักตัว โดยยานพาหนะที่นายจ้างแจ้งไว้เท่านั้น และต้องเดินทางตามเส้นทางที่กำหนด ห้ามแวะสถานที่ใดๆ ก่อนถึงสถานที่กักตัว

6.คนต่างด้าวต้องเข้ารับตรวจสุขภาพ 6 โรค กักตัว และตรวจหาเชื้อโควิด – 19 ด้วยวิธี RT-PCR ดังนี้ 1.คนต่างด้าวที่ฉีดวัคซีนมาจากประเทศต้นทางครบแล้วเข้ารับการตรวจสุขภาพ 6 โรค หากตรวจผ่าน กักตัวอย่างน้อย 7 วัน และตรวจหาเชื้อโควิด-19 จำนวน 2 ครั้ง 2.คนต่างด้าวที่ยังไม่ฉีดวัคซีนหรือฉีดวัคซีนแล้วแต่ยังไม่ครบเข้ารับการตรวจสุขภาพ 6 โรค หากตรวจผ่าน กักตัวอย่างน้อย 14 วัน และตรวจหาเชื้อโควิด- 19 จำนวน 2 ครั้ง โดยกระทรวงแรงงานจะสนับสนุนวัคซีนเพื่อดำเนินการฉีดให้แก่คนต่างด้าว ทั้งนี้ กรณีตรวจพบเชื้อโควิด-19 ให้เข้ารับการรักษา โดยนายจ้างหรือประกันสุขภาพที่นายจ้างซื้อไว้ให้เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษา

7.คนต่างด้าวรับการอบรมผ่านระบบ Video Conference ณ สถานประกอบการ เมื่อผ่านการอบรมแล้ว คนต่างด้าวรับใบอนุญาตทำงาน โดยการอนุญาตให้ทำงานจะเริ่มจากวันที่คนต่างด้าวได้รับการตรวจลงตรา (วีซ่า) ให้เดินทางเข้ามาในประเทศ

ที่มา: ข่าวสด, 12/11/2564

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net