Skip to main content
sharethis
  • ประธาน PerMAS คนสุดท้าย เผยองค์กรสมาชิกมีมติให้ ‘PerMAS’ ยุติบทบาท เหตุยังคงติดกรอบที่พูดแค่ประเด็นการกำหนดชะตากรรมตนเอง อาจไม่สามารถที่จะนำเอาหลักอุดมการณ์ทางเมืองและความคิดของประชาชนทั้งหมดมาผลักดันได้
  • นักวิชาการรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี เล่าถึงบทบาทและพลวัตของ PerMAS ในฐานะตัวละครหลักทางการเมืองในพื้นที่
  • รวมทั้งย้อนดูประวัติศาสตร์ลำดับเหตุการณ์สำคัญโดยย่อของ PerMAS และความเคลื่อนไหวของขบวนการเยาวชนปาตานีตั้งแต่ปี 50

PerMAS ออกแถลงการณ์ยุติบทบาทองค์กร เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2564

จากเมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมา สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี  (The Federation of Patani Students and Youth) หรือ PerMAS ซึ่งเป็นองค์กรรวมกลุ่มของนักศึกษาชายแดนภาคใต้หรือปาตานีที่ก่อตั้งและเคลื่อนไหวประเด็นการกำหนดชะตากรรมตนเองมาตั้งแต่ปี 2550 เผยแพร่แถลงการณ์ยุติบทบาทองค์กร

อย่างไรก็ตามแถลงการณ์ดังกล่าวไม่ระบุเหตุผลไว้ชัดเจน ในโอกาสนี้ จึงพูดคุยกับ ซูกริฟฟี ลาเตะ ในฐานะประธาน PerMAS คนสุดท้าย ซึ่งดำรงตำแหน่งร่วม 2 ปี เพื่อทำความเข้าใจถึงเหตุผลรวมทั้งทำความเข้าใจ PerMAS โดยเข้าชี้ว่าเนื่องจากองค์กรสมาชิกมีมติให้ยุติบทบาท เพราะ PerMAS ยังคงติดกรอบที่พูดจะถึงแค่ประเด็นการกำหนดชะตากรรมตนเองเท่านั้น ซึ่งอาจจะไม่สามารถที่จะนำเอาหลักอุดมการณ์ทางเมืองและความคิดของประชาชนทั้งหมดมาผลักดันได้

อีกทั้งได้พูดคุยกับนักวิชาการต่อประเด็นบทบาทขององค์กรและความเห็นต่อการยุติบทบาทของ PerMAS  ในโอกาสนี้จึงพาผู้อ่านย้อนรอยถึงพลวัตและพัฒนาการการก่อเกิด รวมถึงบทบาทในอดีตนับตั้งแต่ปี 2550 จวบจนถึงปี 2564 ปีของการสิ้นสุดและการยุติบทบาทขององค์กร PerMAS

เหตุผลของยุติบทบาทของ PerMAS กับ อนาคตขบวนนักศึกษาปาตานี 

ประธาน PerMAS กล่าวว่า PerMAS เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองว่าด้วยเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน พร้อมทั้งเกิดขึ้นท่ามกลางการนำเสนอประเด็นหรือหลักการ “Right to Self Determination” หรือสิทธิการกำหนดชะตากรรมตนเอง (RSD) ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธ์ศาสตร์ทางการเมืองของ PerMAS และที่สำคัญที่สุดคือการพูดถึงสิทธิเสรีภาพทางการเมืองทางด้านการแสดงออกของประชาชนในพื้นที่ความขัดแย้งชายแดนใต้/ปาตานี ซึ่งสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือในพื้นที่ความขัดแย้งนี้นั้นมีความคิดความเชื่อและอุดมการณ์ทางการเมืองที่หลากหลาย มีทั้งกลุ่มคนที่ต้องการเอกราชหรือไม่ต้องการเอกราชหรือความเป็นอนุรักษนิยมและความเป็นสมัยใหม่บนหลักการความเป็นประชาธิปไตย จนถึงมีข้อเสนอและหลักการวิธีคิดอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งวิธีการที่สำคัญที่เราพยายามนำเสนอนั้นก็คือ การถามความเห็นและสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงในพื้นที่ว่า ประชาชนจะคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งในพื้นนี้ยังไง

ซูกริฟฟี ลาเตะ ในฐานะประธาน PerMAS คนสุดท้าย

การเกิดขึ้นของขบวนการนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานีเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของกลุ่มองค์กรกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นองค์กรและจัดทำองค์กรที่ชื่อว่าสหพันธ์นี้ขึ้นมา มีการเลือกประธาน มีการวางรากฐานกฎเกณฑ์ และวางมาตรฐาน สร้างระเบียบบริหารหรือแม้กระทั่งการจัดวางอำนาจสูงสุดขององค์กร ฉะนั้นเมื่อกระบวนการเกิดขึ้นแบบนี้ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าอำนาจสูงสุดขององค์กรไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวประธานแต่ขึ้นอยู่กับที่ประชุมสูงสุดที่มีองค์กรสมาชิกที่ร่วมก่อตั้งร่วมกัน ที่นี้สิ่งที่เรา PerMAS ตกผลึกร่วมกันคือเมื่อระยะเวลาและยุคสมัยเริ่มเปลี่ยนไป บริบททางการเมืองเริ่มเปลี่ยนไปและแตกต่างไปจากเดิม อย่างเช่นที่กรุงเทพฯ เริ่มมีการพูดถึงประเด็นที่แหลมคมและเพดานที่สูงขึ้นไปจากเดิม มีการพูดถึงประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เฉกเช่นเดียวกันในปาตานีเองก็มีพลวัตการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากเช่นกัน

ซูกริฟฟี กล่าวต่อว่า ในปาตานีเริ่มมีองค์กรมวลชนที่ขับเคลื่อนประเด็นทางการเมืองโดยการชูประเด็นการกำหนดชะตากรรมตนเอง ที่ชัดมากยิ่งขึ้นอย่างองค์กร The Patani และมีองค์กรที่จะเข้าไปมีบทบาทในกลไกรัฐสภาอย่างองค์กร Patani Baru รวมทั้งมีการก่อเกิดองค์กรภาคประชาสังคมอีกหลายๆ องค์กร รวมถึงพรรคการเมืองอย่างประชาชาติ ที่ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์สูงสุดทางการเมืองแก่ประชาชนในปาตานี เมื่อบริบททางการเมืองเริ่มเปลี่ยนไปจึงนำไปสู่การถกเถียงกันภายในว่ารูปแบบขบวนองค์กรอย่าง PerMAS นั้นจะยังคงตอบโจทย์ต่อการกำหนดทิศทางชะตากรรมของปาตานีอีกหรือไม่ อีกทั้งสิ่งที่เห็นได้ชัดมากที่สุดก็คือพลังการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มเยาวชนและนักศึกษา ซึ่งตนมองว่ากลุ่มคนเหล่านี่แม้จะอยู่ตรงไหนของสังคมก็จะยังคงมีพลังในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในฐานะของคนรุ่นใหม่อยู่เสมอ 

เมื่อกระบวนการการถกเถียงต่อประเด็นที่ว่า PerMAS นั้นจะยังคงตอบโจทย์ต่ออนาคตทางการเมืองของปาตานีอีกหรือไม่ มาถึงวันนี้ปรากฏว่าองค์กรสมาชิกในฐานะเจ้าของอำนาจสูงสุดขององค์กรจึงได้ทำการประชามติเพื่อยุติบทบาทของ PerMAS ลง จากการถกเถียงข้างต้น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติเป็นเรื่องของพลวัตทิศทางการเกิดขึ้นขององค์กรจนนำไปสู่การล้มหายตายจากไปเมื่อมันไม่สามารถที่จะตอบโจทย์ต่ออุดมการณ์ทางการเมืองที่ก้าวหน้าของประชาชน จากความหลากหลายของประชาชนที่ว่ามีกลุ่มคนที่อาจจะต้องการพูดถึงประเด็นเอกราช พูดถึงประเด็นเรื่องความเป็นชาติ ซึ่งประเด็นเหล่าถือเป็นประเด็นที่ยังไม่ได้ถูกทำให้ถูกพูดถึงอย่างเป็นสาธารณะมากเท่าที่ควรในพื้นที่ หากมองมาย้อนดูความเป็น PerMAS ยังคงติดกรอบที่พูดจะถึงแค่ประเด็นการกำหนดชะตากรรมตนเองก็เท่านั้น ซึ่งอาจจะไม่สามารถที่จะนำเอาหลักอุดมการณ์ทางเมืองและความคิดของประชาชนทั้งหมดมาผลักดันได้

'PerMAS' จัดปล่อยลูกโป่งขาว ที่ ม.อ.ปัตตานี เนื่องในวันสันติภาพสากล 21 ก.ย.2561

ประธาน PerMAS มองว่าการหายไปหรือการยุติบทบาทขององค์กร PerMAS นี้ไม่ได้เท่ากับว่าจิตวิญญาณการต่อสู้ของคนปาตานีหายไป ย้อนไปอีกนิดก่อนที่จะมาเป็นองค์กร PerMAS ในวันนี้ขบวนการนักศึกษานักเรียนและเยาวชนที่เคลื่อนไหวประเด็นทางการเมืองในพื้นที่ปาตานี มีพลวัตการเปลี่ยนแปลงอยู่มาโดยตลอด ทั้งในแง่ประเด็นทางยุทธศาสตร์ หรือประเด็นที่เคลื่อนไหว หรือแม้กระทั่งรูปแบบขององค์กร ฉะนั้นตนจึงมองว่าการยุติบทบาทของ PerMAS ในวันนี้อาจจะนำไปสู่การมีองค์กรใหม่ที่มีบทบาทและผลักดันประเด็นทางการเมืองที่สามารถที่จะตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนปาตานีได้อย่างครอบคลุมภายใต้บทบาทแห่งที่ใหม่ ซึ่งตนยังคงยืนยันว่าแม้วันนี้ PerMAS ได้ยุติบทบาทองค์กรอย่างสมบูรณ์และถือว่าวาระหลักที่ PerMAS เคยขับเคลื่อนจะเป็นวาระหลักที่คนปาตานีนั้นเป็นเจ้าของร่วมกัน การกำหนดชะตากรรมตนเองนั้นคือวาระของคนปาตานีทุกคน 

“แม้ PerMAS จะหายไปแต่พลังของคนหนุ่มสาวยังคงอยู่ไม่ได้หายไปไหน เราไม่ได้ล้มเหลวจนนำไปสู่การยุติบทบาท เรายุติบทบาทโดยผ่านการประเมินสถานการณ์ทางการเมืองทางสังคมแล้ว เราเห็นถึงการเติบโตทางความคิดของคนหนุ่มสาว เราเห็นถึงความกล้าที่จะแสดงออกถึงเจตจำนงค์ทางการเมืองของประชาชนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นแม้ในเวลานี้จะไม่มี PerMAS อยู่ แต่ความคิดความเชื่อและจิตวิญญานต่ออุดมการณ์ในแบบที่เราสู้ยังคงอยู่ไม่ได้หายไปไหนและเราเชื่อเสมอว่าพลังของคนหนุ่มสาวและเหล่าเยาวชนปาตานีจะยังคงมีพลังแม้ไม่มีเราอยู่” ซูกริฟฟี กล่าว

ภาพเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2561 นักศึกษา ม.อ.ปัตตานี จัด "ชวนเพื่อนๆ ไปเช็คอินหนองจิก" ระบุที่ผ่านมามันพิสูจน์แล้วว่า กฎอัยการศึก ไม่สามารถแก้ไขปัญหา แนะเปิดพื้นที่ทางการเมือง ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก หลังพื้นที่ ต.บางเขา และ ต.ท่ากำชำ อ.หนองจิก ถูกประกาศควบคุมพื้นที่พิเศษล่ามือยิงทหารพราน (ภาพจากแฟนเพจ 'Free Voice' )

บทบาทและพลวัตของ PerMAS ในฐานะตัวละครหลักทางการเมืองในพื้นที่

อสมา มังกรชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) มองว่า PerMAS มีบทบาทสำคัญในฐานะตัวละครหลักทางการเมืองในพื้นที่และเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวภาคประชาชนที่มีอิทธิพลและบทบาทที่สำคัญต่อประเด็นปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ขัดกันด้วยอาวุธในพื้นที่ปาตานี เนื่องด้วยที่ผ่านมาจุดเริ่มต้นของการก่อตัวของขบวนการนักศึกษาในปาตานีนั้นเริ่มขึ้นในช่วงที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงและความสูญเสียหลังจากเหตุการณ์การปะทุขึ้นระลอกใหม่ของความขัดแย้งในปี 2547 จึงทำให้งานหลักของขบวนการนักศึกษาในปาตานีในช่วงนั้นจึงมุ่งเน้นไปยังงานทางด้านมนุษยธรรม งานที่ต้องเน้นการแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านพร้อมทั้งช่วยเหลือชาวบ้านจากผลกระทบของเหตุการณ์ความรุนแรง ฉะนั้นจึงมีความใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่าใครๆ และกลุ่มใดๆ ในพื้นที่

อสมา มังกรชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี

ซึ่งตนมองว่า PerMAS เป็นกลุ่มการเมืองภาคประชาชนที่มีพลวัตการเปลี่ยนแปลงและมีการเติบโตที่สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบททางการเมืองในพื้นที่ชายแดนใต้หรือปาตานีมาโดยตลอด ซึ่งยอมรับว่า PerMAS นั้นมีบทบาทอย่างมากในการเป็นกระบอกเสียงของประชาชนในพื้นที่ในการสะท้อนถึงปัญหาต่าง ๆ และผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมทั้งไปถึงการที่กลุ่ม PerMAS นั้นเคยวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มขบวนการติดอาวุธในพื้นที่อยู่บ่อยครั้ง แม้ในสังคมอาจจะมีการให้ความหมายต่อ PerMAS ว่าเป็นภาพตัวแทนทางการเมืองของกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่ แต่หลายต่อหลายครั้งก็เคยวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มขบวนการติดอาวุธอยู่บ่อยครั้งอย่างเข้มข้น ซึ่งถือว่าเป็นข้อพิสูจน์ได้บ้างว่า PerMAS ไม่ได้เป็นหนึ่งในปีกทางการเมืองของกลุ่มขบวนการติดอาวุธแต่อย่างใด

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า การที่ PerMAS นั้นเข้าไปมีบทบาทและมีส่วนร่วมต่อกระบวนการเจรจาสันติภาพที่เป็นไปอย่างสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นทั้งในแง่การตั้งคำถามต่อกระบวนการเจรจาสันติภาพ การระดมความเห็นจากประชาชนในพื้นที่ผ่านการทำกิจกรรม “Bicara Patani” ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างพื้นที่ทางการเมืองในการมีส่วนร่วมของประชาชนและสะท้อนเสียงของประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้ดีมากๆ ซึ่งเปรียบเสมือนการสร้างกระบวนการเจรจาสันติภาพคู่ขนาน อีกทั้งยังรู้สึกว่ามันมีพลังมากกว่าและรับฟังเสียงของประชาชนได้ดีกว่ากระบวนการเจรจาสันติภาพที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐไทยและกลุ่มขบวนการติดอาวุธด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นโดยส่วนตัวจึงมองว่า PerMAS นั้นคือกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชนที่เข้มแข็งและน่าสนใจ

คำนิยามต่อ 'PerMAS' นั้น อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี มองว่าพวกเขานั้นเป็นคนใน ซึ่งมีความเข้าใจต่อสถานการณ์และบริบทในพื้นที่ที่ดี อีกทั้งยังรวมถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งพวกเขาในฐานะเจ้าของพื้นที่จึงมีความใจมากกว่าคนข้างนอกหรือมากกว่านักสังคมสงเคราะห์หรือ NGO ที่พยายามที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความขัดแย้งรวมถึงปัญหาอื่น ๆ หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ให้ดีขึ้น

“อีกทั้งตนมองว่า PerMAS นั้นเปรียบเสมือนข้อต่อของภาพทางการระหว่างการเมืองในระบบและการเมืองนอกระบบ เป็นทั้งข้อต่อระหว่างประชาชนกับ NGO สื่อมวลชน นักวิจัยหรือใครต่อใครที่สนใจจะเข้าใจปัญหาและพยายามที่จะเข้ามามีส่วนร่วมต่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี และที่สำคัญคือการเป็นข้อต่อของการเมืองระดับชาติในแง่ของกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นเกือบทั่วทุกพื้นที่ในปัจจุบัน” อสมา กล่าว 

ประเด็นความเห็นต่อการยุติบทบาทองค์กรของ PerMAS นั้น อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี มองว่าองค์กรนี้ได้ยุติบทบาทในฐานะองค์กรที่เป็นองค์กรร่มที่ยึดโยงเครือข่ายองค์กรนักศึกษาหรือกลุ่มเยาวชนที่ทำงานในพื้นที่ ซึ่งหากมองตามการนิยามหรือการให้ความหมายต่อความเป็น PerMAS  ตามความเข้าใจของตนอย่างที่ได้ระบุมาแล้วข้างต้นนั้น ตนมองว่าองค์กร PerMAS หายไปแค่ชื่อหรือสรรพนามเรียกและการจัดรูปขบวนแบบเดิมขององค์กรก็เท่านั้น แต่เอาเข้าจริงความเป็นนักศึกษา ความเป็นเยาวชนรวมทั้งความเป็น PerMAS ยังคงอยู่ไม่ได้หายไปไหน และจะยังคงมีพลังในการที่จะขับเคลื่อนประเด็นทางการเมืองอยู่

หากมองต่อถึงปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงหรือการยุติบทบาทองค์กรของ PerMAS ในครั้งนี้ส่วนตัวมองว่า ตนอาจจะตอบได้ไม่ดีเท่ากับคนที่อยู่ใน PerMAS หรือมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับองค์กรหากตอบในฐานะคนนอกหรือคนที่สนใจเกี่ยวกับตัวองค์กร PerMAS หรือขบวนการเคลื่อนไหวของเยาวชนแล้วนั้น หากอ้างอิงจากงานวิจัยของตนที่ชื่อ “ให้มันจบที่รุ่นเรา”: ขบวนการเยาวชนไทยในบริบทสังคมและการเมืองร่วมสมัย ตนมองว่าไม่แน่ใจว่าจะเป็นเรื่องที่น่าดีใจหรือน่าเสียใจกันแน่ อันเป็นผลจากงานวิจัยดังกล่าวของตนนั้น พบว่าปัจจัยแรกที่อาจจะมีผลหรืออิทธิพลต่อการยุติบทบาทขององค์กร PerMAS นั้น คือภายใต้บรรยากาศทางการเมืองในยุคที่เป็นรัฐบาลเผด็จการทหารหลังจากเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในขณะนั้นทำให้ประเทศไทยนั้นเป็นอันหนึ่งเดียวกัน ซึ่งหมายถึงการรวมกลุ่มของขบวนการเคลื่อนไหวของเยาวชนในหลายๆ พื้นที่ในแต่ล่ะภูมิภาคนั้นหันมาขับเคลื่อนประเด็นร่วมโดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ซึ่งหากมอง PerMAS ในยุคก่อนๆ จากงานวิจัยนั้นพบว่า PerMAS นั้นแยกส่วนปัญหาระหว่างปัญหาในพื้นที่ปาตานี ออกจากปัญหาทางการเมืองส่วนกลาง มองว่าเป็นปัญหาที่ไม่ได้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างเดียวกัน ซึ่งแตกต่างจากยุคสมัยในปัจจุบันโดยสิ้นเชิง

 ซูกริฟฟี ลาเตะ ตัวแทนจาก PerMAS ขึ้นปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กล่าวว่าตัวเองมาจาก"ปาตานี" และอธิบายว่าเหมือนกับการที่คนเชียงใหม่เรียกตัวเองเป็นคนล้านนา 16 ส.ค. 2563

อสมา มองว่า บรรยากาศทางการเมืองในแบบที่เป็นอยู่สังคมไทยในปัจจุบันนำไปสู่การเป็นหนึ่งเดียวกันของเยาวชนในประเทศไทย อาทิ ในกรณีเหตุการณ์ 16 ส.ค. 2563 การชุมนุมคณะประชาชนปลดแอก ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นั้น PerMAS เองมีส่วนร่วมในการเข้าไปมีบทบาทในฐานะกระบอกเสียงของประชาชนในพื้นที่ผ่านการปราศัยและอธิบายเรื่องราวเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ ความอยุติธรรม จนนำไปสู่การสร้างความเข้าใจร่วมของเยาวชนในประเทศต่อประเด็นปาตานี ปัจจัยต่อมาจากงานวิจัยของตนที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น มองว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนในปัจจุบันนั้นเป็นไปในรูปแบบแกนนอนมากยิ่งขึ้น ไม่ได้มีลักษณะของการจัดรูปแบบขบวนในแบบเดิม มีการจัดรูปองค์กรในรูปแบบเดิมที่น้อยมากทั้งต่อการเคลื่อนไหว ทั้งต่อการระดมทรัพยากรที่ใช้ในการเคลื่อนไหวและการสื่อสาร ซึ่งเปลี่ยนไปจากรูปแบบเดิมพร้อมทั้งมีความยืดหยุ่นและการเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้น ซึ่งตนมองว่ามันเรื่องของพลวัต 

“ถ้าหากถามว่าตนเห็นอะไรจากปรากฎการณ์การยุติบทบาทของ PerMAS นี้ อันดับแรกเลย เห็นถึงความเชื่อมั่น ในเมื่อ PerMAS กล้าที่จะยุติบทบาทขององค์กร ความกล้านี้นำไปสู่ความเชื่อมั่นที่ว่าขบวนการนักศึกษาและเยาวชนในปาตานี นั้นจะยังไม่ล้มหายตายจากไปไหนมันเป็นเพียงแค่ว่ามันไม่มีองค์กรร่มที่เป็นดั่งรอยหรือจุดรวมกลุ่มของกลุ่มเยาวชนและนักศึกษาอื่นๆ แต่ยังคงเชื่อว่าอุดมการณ์ทางการเมืองยังคงมีอยู่และไม่ได้หายไปไหน” อสมา กล่าว

ภาพกิจกรรมวันมนุษยธรรมปาตานี หรือ PATANI Humanitarian Day ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา เมื่อวันที่ 3 ก.พ.61 ซึ่ง PerMAS จัดต่อเนื่องหลายปีที่ผ่านมา วันดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อรำลึกเหตุบุกยิงครอบครัวมะมัน ที่ บ.ปะลุกาแปเราะ จ.นราธิวาส ทำให้ลูกของเขาเสียชีวิต 3 คน PerMAS จึงสถาปนาวันที่ 3 ก.พ. ขึ้นมาเป็น 'วันมนุษยธรรมปาตานี' เพื่อให้คู่ขัดแย้งหลักระหว่างรัฐกับขบวนการทำสงครามตามกรอบกติกาสากล 

ประวัติศาสตร์โดยย่อของ PerMAS

จุดเริ่มต้นขององค์กรหรือกลุ่มขบวนการนักศึกษาที่เคลื่อนไหวประเด็นทางการเมืองในปาตานีเริ่มขึ้นมาสืบเนื่องจากเหตุการณ์ 31 พ.ค. 2550 การชุมนุมใหญ่ที่มัสยิดกลาง จ.ปัตตานี ซึ่งนำโดยเครือข่ายนักศึกษาพิทักษ์ประชาชน (คพช.) จากกรณีทหารพรานข่มขืนแล้วฆ่าหญิงสาวที่บาซาลาแป อ.ยะหา จ.ยะลา จึงนำไปสู่การมีนักศึกษานักเรียนและเยาวชนรวมทั้งประชาชนปาตานีนับหมื่นคนมุ่งหน้าไปชุมนุมอย่างสันติและเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐบาล แม้ว่าข้อเสนอจะถูกปฏิเสธไปอย่างไม่ใยดีแต่เหตุการณ์การชุมนุมในครั้งนั้นถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่นำโดยนักศึกษาในพื้นที่ ซึ่งช่วงเวลาในขณะนั้นสถานการณ์และบริบทในพื้นที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งการละเมิดสิทธิจากเจ้าหน้าที่รัฐต่อประชาชนก็ทวีมากยิ่งขึ้นไม่แพ้กัน อีกทั้งความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายพิเศษจากหน่วยงานความมั่นคงก็ถูกบังคับใช้ในหลายพื้นที่ในปาตานี

ภาพ การชุมนุมที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เมื่อ 31 พฤษภาคม ถึง 4 มิถุนายน ปีพ.ศ.2550 ที่มาภาพ pataniforum.com

หลังจากเหตุการณ์ 31 พ.ค. 2550 การชุมนุมใหญ่ที่มัสยิดกลาง จ.ปัตตานี ได้ไม่นานก็ได้มีการรวมกลุ่มนักศึกษาและเยาวชนจากหลายพื้นที่ซึ่งนำโดยแกนนำหลักจากการชุมนุมครั้งก่อนทำฉันทมติร่วมในการจัดตั้งองค์กรนักศึกษาที่จะคอยขับเคลื่อนประเด็นทางการเมืองและสิทธิมนุษยชนพร้อมทั้งเป็นกระบอกเสียงในการสะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จนนำไปสู่การก่อเกิดขบวนการนักศึกษาขึ้นอย่างเป็นทางการภายใต้ชื่อ สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดยะลา (ส.น.ย) สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดปัตตานี (ส.น.ป)  และสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดสงขลา (ส.น.ส) ซึ่งได้แบ่งออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ๆ โดยใช้วิธีการแบ่งตามจังหวัดทั้งสามจังหวัดชายแดนใต้ หลังจากนั้นอีกไม่นานราวปลายปี 2552 ได้มีการจัดสมัชชาใหญ่ขึ้นอีกครั้งและได้มีการปรับรูปแบบขบวนองค์กรใหม่โดยการรวมกลุ่มองค์กรนักศึกษาที่รวมทั้งสามจังหวัดให้เป็นกลุ่มเดียวกันภายใต้ชื่อ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ (สนน.จชต.) โดยมีภารกิจหลักในการนำเสนอผลกระทบของประชาชนจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษและเน้นการช่วยเหลืองานด้านมนุษยธรรม ในขณะนั้นการนำเสนอประเด็นปัญหาทางการเมืองว่าด้วยเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนยังไม่ค่อยเข้มข้นมากเท่าไหร่และมักจะมุ่งเน้นประเด็นการแก้ปัญหาและช่วยเหลือประชาชนเป็นส่วนใหญ่

ซึ่งขบวนการนักศึกษาภายใต้ชื่อ สนน.จชต. นั้นมีบทบาทอย่างมากในพื้นที่ปาตานี ในช่วง ปี 2552-2555 หลังจากนั้นได้มีการจัดสมัชชาใหญ่ขึ้นอีกครั้งในต้นปี 2556 ซึ่งในปีดังกล่าวถือเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของขบวนการนักศึกษาปาตานีทั้งในแง่ยุทธ์ศาสตร์และพันธกิจที่เพิ่มมิติและประเด็นการขับเคลื่อนพร้อมกับการยกระดับเพดานต่อประเด็นทางการเมืองที่สูงขึ้นมากกว่าเดิมรวมทั้งการปรับเปลี่ยนชื่อขององค์กรด้วย ปรับเปลี่ยนจาก สนน.จชต. เปลี่ยนไปเป็นสหพันธนิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี PerMAS ซึ่งในปี 2556 ได้ปรับเปลี่ยนยุทธ์ศาสตร์และสร้างระเบียบภายในรวมทั้งโครงสร้างขององค์กรรวมทั้งการสร้างจุดร่วมหรือคุณค่าร่วมใหม่เกือบทั้งหมดโดยมุ่งเน้นที่จะยกประเด็นการขับเคลื่อนในประเด็น “Right to Self Determination” และการสร้างเอกภาพภายในของประชาชนปาตานี (Satu Patani) ซึ่งถือว่าเป็น 2 ยุทธ์ศาสตร์หลักขององค์กร ซึ่งในขณะนั้นสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มผลิบานและถูกเปิดกว้างมากยิ่งขึ้นทั้งในแง่ของการเริ่มพูดถึงประเด็นความเป็นตัวตนของคนปาตานี มีการใช้คำเรียกคนปาตานีแทนคำว่าคนสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งถูกยกระดับทำให้เป็นที่รู้จักและความกล้าแสดงออกต่อความเป็นตัวตนทางด้านชาติพันธ์ในสังคมปาตานี

สุไฮมี ดูละสะ อดีตประธาน PerMAS

สุไฮมี ดูละสะ ประธาน PerMAS ในขณะนั้นกล่าวว่า การยกระดับความกล้าที่จะพูดและนำเสนอประเด็นความเป็นปาตานีมากยิ่งขึ้นในสังคมนั้นส่งผลต่อประชาชนในพื้นที่อย่างมากหากเทียบกับหลายๆ ปีที่ผ่านมาความกล้าที่จะบอกว่าเรานั้นเป็นคนปาตานีในพื้นที่สาธารณะนั้นแทบจะไม่มีให้เห็นในพื้นที่ ซึ่งสิ่งที่เราต้องการก็คือเราต้องกล้าพอที่จะบอกว่าเรานั้นเป็นคนปาตานี

PerMAS จัดงานเสวนา 9 ปีตากใบ "ไร้ซึ่งสันติภาพ ตราบใดที่เสรีภาพและความเป็นธรรมยังไม่เห็น" ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี 25 ตุลาคม 2556

ปี 2556 ในขณะนั้น PerMAS มุ่งเน้นการนำเสนอประเด็น “Right to Self Determination” หรือ RSD ซึ่งเป้าหมายหลักของการนำเสนอประเด็น RSD นั้น คือการสร้างกระบวนการสร้างสันติภาพปาตานีที่ยึดโยงกับประชาชน โดยการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้ประชาชาชนสามารถที่จะออกแบบสันติภาพที่ตนต้องการได้ ผ่านการจัดกิจกรรมเสวนาพูดคุยโดยการรับฟังเสียงของประชาชนและสะท้อนเพื่อให้คู่ขัดแย้งหลักระหว่างรัฐไทยและกลุ่มขบวนการติดอาวุธที่ต่อสู้เพื่อเอกราชทราบถึงเจตจำนงค์ทางการเมืองของประชาชนชาวปาตานีในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง ซึ่งการจัดกิจกรรมเพื่อให้ประชาชนสามารถที่จะแสดงออกถึงความต้องการและสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเองนั้นเกิดขึ้นสืบเนื่องจากเหตุการณ์ 13 มิ.ย.2556 การพูดคุยเจรจาสันติภาพระหว่างกลุ่ม Barisan Revolusi Nasional – BRN กับรัฐไทยซึ่งในฐานะคู่ขัดแย้งหลักในพื้นที่ ซึ่งการพูดคุยในครั้งนั้นนำไปสู่การจัดกิจกรรมเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งหลักนั้นทราบถึงความต้องการและเจตจำนงค์ทางการเมืองของประชาชน และในขณะเดียวกันสถานการณ์บริบททางการเมืองภาพรวมของประเทศไทยก็เริ่มที่จะเข้าสู่สภาวะตึงเครียดจนย่างเข้าสู่ปี 2557 สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มไปในทิศทางที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดทำกิจกรรมสืบเนื่องจากเหตุการณ์ รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ซึ่งนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้นเริ่มที่จะไม่ค่อยเอื้อในการจัดกิจกรรมเท่าที่ควร พื้นที่ทางการเมืองเริ่มถูกปิด มีการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก พร้อมทั้งมีการจับกุมแกนนำนักศึกษาในพื้นที่หลายต่อหลายครั้ง จึงทำให้ขบวนนักศึกษาเริ่มที่จะถูกลดบทบาทในการแสดงออกมากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม เมื่อสถานการณ์ไม่เอื้อที่จะมุ่งเน้นไปในงานเคลื่อนไหว PerMAS จึงมุ่งเน้นไปในงานจัดตั้งร้อยขบวนต่อองค์กรสมาชิกต่างๆ ทั้งองค์กรนักศึกษาอย่างพรรคการเมืองนักศึกษาที่หรือองค์กรกิจกรรมต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัยทั้งสามจังหวัดรวมไปถึงองค์กรเยาวชนและนักเรียนทั่วพื้นที่ จนมีองค์กรสมาชิกร่วม 45 องค์กรภายใต้องค์กรร่มอย่าง PerMAS

อารีฟีน โสะ (ขวามือ) อดีตประธาน PerMAS ภาพขณะเข้ารับทราบข้อกล่าวหา คดี 'คาร์ม็อบยะลา' เมื่อวันที่ 13 ส.ค.64

หลังจากหมดวาระลงของ สุไฮมี ในฐานะประธาน PerMAS จึงได้มีการทำสมัชชาใหญ่ขึ้นอีกครั้งเพื่อทำการเลือกประธานคนใหม่ ในปี 2558 และ อารีฟีน โสะ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธาน PerMAS คนใหม่จากการทำประมติจากองค์กรสมาชิกทั้ง 45 องค์กร ซึ่งในปีนั้น PerMAS ยังคงไว้ซึ่งเป้าหายและยุทธ์ศาสตร์เดิมซึ่งไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนไปจากเดิมแต่มุ่งเน้นงานเคลื่อนไหวขึ้นอีกครั้งแม้จะอยู่ในสถานการณ์บริบททางการเมืองที่ยังคงอยู่ในสภาวะการปกครองแบบเผด็จการทหารที่ยังถูกนำโดย คสช. แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เอื้อแต่ความจำเป็นที่ต้องเคลื่อนไหวก็นำไปสู่การยกประเด็นทางการเมืองที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น แม้จะมีการจับกุมแกนนำนักศึกษาหรือนักกิจกรรมทางการเมืองในพื้นที่อยู่บ่อยครั้ง อาทิเหตุการณ์ 5 ม.ค. 2559  การจับกุมตัวนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งสภาวะและบริบททางสังคมดังกล่าวยิ่งตอกย้ำให้ PerMAS จำเป็นที่จะต้องเคลื่อนไหวประเด็นทางการเมืองเพื่อเปิดพื้นที่ทางการเมืองอย่างปลอดภัยพร้อมทั้งการประสานงานเคลื่อนไหวกับกลุ่มนักศึกษาจากพื้นที่อื่นๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และพื้นที่อื่นๆ เพื่อต้องการย้ำถึงสิทธิการแสดงออกทางการเมืองและการนำประเทศไทยกลับไปสู่สภาวะทางการเมืองที่ปกครองโดยระบอกประชาธิปไตยจริงๆ อย่างที่ควรจะเป็น อีกทั้งประเด็นที่สำคัญและถือว่ามีบทบาทมากในยุคนี้ก็คือการพยายามนำเสนอประเด็น RSD ต่อสังคมภาครวมของไทยและในปาตานี ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นที่สามารถยกระดับได้มากจนนำไปสู่การมีพื้นที่ที่ถกเถียงประเด็นดังกล่าวอย่างเป็นสาธารณะอย่างกว้างขวางภายในสังคม

หลังจากการดำรงตำแหน่งของ อาริฟิน และหมดได้วาระไป รวมระยะเวลา 2 ปี ในปี 2559 ได้มีการจัดสมัชชาขึ้นอีกครั้งเพื่อสรรหาประธานคนใหม่ ซึ่ง ฮาฟิส ยะโกะ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธาน PerMAS คนใหม่ ซึ่งยุทธ์ศาสตร์และพันธ์กิจรวมถึงระเบียบแบบแผนขององค์กรที่ถูกส่งต่อมาก็ยังคงไว้ซึ่งในรูปแบบเดิม แม้สถานการณ์และบริบททางการเมืองยังคงอยู่ในรูปแบบเดิมแต่กระบวนการเคลื่อนไหวของ PerMAS ก็ยังคงมีอย่างมากต่อในพื้นที่ปาตานี แม้จะยังอยู่ในสถานการณ์ที่พื้นที่ทางการเมืองยังคงถูกปิดไว้และไม่ได้มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองมากเท่าที่ควรภายใต้การบริหารบ้านเมืองของ คสช. ซึ่งประเด็นงานเคลื่อนยังคงไปในรูปแบบเดิม มีการรณรงค์วันสำคัญๆ อาทิ 21 ก.ย. วันสันติภาพสากล, 28 ก.พ. วันเจรจาสันติภาพ, 3 ก.พ. วันมนุษยธรรมปาตานี เป็นต้น

ภาพกิจกรรมวันมนุษยธรรมปาตานี ที่หน้าอาคารเรียนรวม ม.อ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 3 ก.พ.64

ปี 2561 ได้มีการจัดสมัชชาใหญ่ขึ้นอีกครั้งและได้มีการเลือกประธานคนใหม่ซึ่ง ซูกริฟฟี ลาเตะ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานจากการลงมติขององค์กรสมาชิกของ PerMAS ซึ่งยุทธศาสตร์หรือพันธกิจขององค์กรก็ยังคงไว้ซึ่งในรูปแบบเดิม แต่สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่องและ PerMAS ยังคงไว้ซึ่งวิธีการและแนวทางการเคลื่อนไหนต่อประเด็นหลักขององค์กรอย่างต่อเนื่องเช่นกัน 

สถานการณ์ทางการเมืองภาพรวมของประเทศไทยในขณะนั้นถูกเปิดกว้างมากยิ่งขึ้นและดูเหมือนจะคลี่คลายลงสืบเนื่องจากการมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ 24 ม.ค. 2562 เพื่อเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งว่านับเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังการรัฐประหารในปี 2557 และจะดูเหมือนว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะเริ่มมาสู่สภาวะปกติภายหลังการเลือกตั้ง แม้จะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชานแล้วแต่ดูเหมือนว่าบรรยากาศภาครวมและความเป็นประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกก็ยังคงอยู่ในสภาวะที่ไม่ต่างเท่าไหร่จากการอยู่ในช่วงเวลาของการอยู่ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหาร

พื้นที่ปาตานี กระแสของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เริ่มตั้งคำถามและออกมาเคลื่อนไหวประเด็นทางการเมืองมากยิ่งขึ้นจนนำไปสู่การก่อเกิดขบวนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่มากมายอย่างล้นหลามเพื่อเรียกร้องหลักการความเป็นประชาธิปไตยให้กลับมาอยู่ในระบอบการปกครองของประเทศไทยอีกครั้งอย่างเต็มใบ การเรียกร้องของคนรุ่นใหม่นั้นเริ่มมีพลังและสร้างความรู้สึกร่วมต่อเยาวชนทั้งประเทศได้เป็นอย่างมาก และด้วยสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มถูกเปิดจากการเคลื่อนไหวของเยาวชน จนนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเด็นประชาธิปไตยของ PerMAS ต่อสังคมภาพรวมของประเทศไทย ซึ่งยังคงยืนยันบนหลักการเดิมว่าความเป็นประชาธิปไตยไทยจะนำไปสู่สันติภาพปาตานี

“การทำให้สังคมไทยเข้าใจประเด็นปัญหาความขัดแย้งปาตานีนั้นสำคัญและการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไทยจะนำไปสู่การเกิดสันติภาพในปาตานีและเราขอยืนยันต่อชาวปาตานีและประชาชนชาวไทยอีกครั้งว่า สันติภาพปาตานีไม่มีวันเกิดขึ้น ตราบที่ประเทศไทยยังคงปกครองโดยระบอบเผด็จการทหาร เราจะสู้จนกว่าประเทศนี้จะเป็นประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน” ซูกริฟฟี กล่าว

หลังจากหมดวาระลงของ ซูกริฟฟี ในฐานะประธาน PerMAS ซึ่งดำรงตำแหน่งรวม 2 ปี เมื่อเข้าสู่ปี 2564 ก็ได้มีการทำประชามติจากองค์กรสมาชิกเพื่อทำการยุติบทบาทของ PerMAS ลงใน วันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา 

สำหรับ มูฮัมหมัดอานัส หลงเดวา ผู้เขียนรายงานชิ้นนี้ เป็นนักศึกษาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.อ. ปัตตานี ปัจจุบันร่วมฝึกงานกับกองบรรณาธิการประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net