Skip to main content
sharethis

19 พ.ย. 2564 ศบค. เผยองค์การอนามัยโลกเตือนสถานการณ์โควิดน่ากังวล ย้ำหน่วยงานในพื้นที่หากลยุทธ์ฉีดวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ตั้งครรภ์ คาดเปิดสถานบันเทิง 16 ม.ค. 2565 ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความพร้อมของผู้ประกอบการ พร้อมเชิญสถานประกอบการเข้ารับการประเมินเพื่อยกระดับมาตรฐานเป็น SHA+ 

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โควิด-19 วันที่ 19 พ.ย. 2564 ว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในทวีปยุโรปขณะนี้มีความน่าเป็นห่วง ทำให้หลายประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ ประกาศปิดเมืองเป็นเวลา 3 สัปดาห์ ตั้งแต่ 13 พ.ย. 2564 แม้จะมีประชาชนฉีดวัคซีนครบโดสเกิน 73% ของประชากร

เช่นเดียวกับเดนมาร์กที่เสนอให้รัฐบาลทบทวนมาตรการสวมหน้ากากอนามัย หลังอัตราการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อทั้งในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรก็เพิ่มสูงขึ้น ทั้งที่สัดส่วนการฉีดวัคซีนครบโดสต่อประชากรในประเทศเหล่านี้ค่อนข้างสูงแสดงให้เห็นว่าแม้จะฉีดวัคซีนครบโดส การแพร่ระบาดก็อาจกลับมารุนแรงได้ เพราะผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้วสามารถแพร่เชื้อได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนจะมีอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิตสูงกว่า

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ในประเทศต่อว่า พบผู้ป่วยรายใหม่ 6,855 คน ในจำนวนนี้ติดเชื้อจากในประเทศ 6,619 คน ติดเชื้อจากต่างประเทศ 12 คน ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 224 คน ผู้ยืนยันป่วยสะสมทั้งหมด 2,050,980 คน ขณะที่กรมควบคุมโรครายงานจำนวนผู้ติดเชื้อเข้าข่ายจากการตรวจด้วยแอนติเจนเทสต์คิต (Antigen Test Kit: ATK) เป็นบวกอีก 2,606 คน โดยจำนวนนี้ไม่ถูกนับรวมเป็นผู้ป่วยยืนยัน

เสียชีวิตเพิ่ม 51 คน เสียชีวิตสะสมทั้งหมด 20,305 คน อัตราการเสียชีวิต 0.99% ผู้เสียชีวิตที่รายงานในวันนี้อายุระหว่าง 25-94 ปี 85% ของผู้เสียชีวิตอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือมีโรคเรื้อรัง

ผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ 89,821 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1,686 คน ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 397 คน ผู้ป่วยรักษาหาย 7,655 คน ฉีดวัคซีนครบโดส 38,421,936 คน คิดเป็น 53.34% ของประชากร

รายงานสถานการณ์โควิด-19 วันที่ 19 พ.ย. 2564 โดยกรมควบคุมโรค

รายงานสถานการณ์โควิด-19 วันที่ 19 พ.ย. 2564 โดยกรมควบคุมโรค

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า 10 จังหวัดที่มีรายงานผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่  1. กรุงเทพมหานคร, 2. สงขลา, 3. นครศรีธรรมราช, 4. เชียงใหม่, 5. สุราษฎร์ธานี, 6. สมุทรปราการ, 7. ชลบุรี, 8.ปัตตานี, 9. ยะลา, และ 10. ราชบุรี นอกจากนี้ ยังพบการระบาดเป็นคลัสเตอร์ภายในเรือนจำหลายแห่ง แคมป์คนงาน งานประเพณี รวมถึงวงพนัน

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ยังกังวลยอดการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้ตั้งครรภ์ จากเป้าหมาย 500,000 คน ฉีดวัคซีนครบโดสเพียง 14% มีรายงานเหตุผลที่ไม่ยอมฉีดวัคซีน พบว่า ผู้ตั้งครรภ์กังวลเรื่องผลข้างเคียง อาจก่ออันตรายแก่ทารก อย่างไรก็ตาม ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์เน้นย้ำตลอดว่า หากอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ควรรับวัคซีนเพื่อความปลอดภัยของผู้ตั้งครรภ์และทารก

พญ.อภิสมัย ยังขอให้แต่ละจังหวัดมีกลยุทธ์หรือชักชวนประชาชนมารับวัคซีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีการกระจายวัคซีนห่างไกล ประชาชนไม่สะดวกเข้ารับวัคซีนในพื้นที่ที่จัดไว้ เช่น จ.เชียงใหม่ ที่จัดทีมเดินเท้าฉีดวัคซีนให้ถึงบ้าน ตั้งจุดฉีดวัคซีนให้ใกล้บ้าน และย้ำเรื่องการทำความเข้าใจกับประชาชน

ด้านรายงานการดำเนินงานเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยว ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า กรณีนักท่องเที่ยวจาก 61 ประเทศ ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศโดยไม่ต้องกักตัวในโครงการเทสต์แอนด์โก (test and go) ขอย้ำว่าแพ็กเกจค่าที่พักที่นักท่องเที่ยวต้องชำระค่าบริการ ต้องมีค่าบริการตรวจโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ค่ารถรับส่งจากสนามบิน และค่า ATK อีก 1 ชุด เนื่องจากแม้นักท่องเที่ยวจะมีผล RT-PCR ก่อนเดินทาง แต่เมื่อมาถึงประเทศไทยยังพบการติดเชื้อ จึงต้องให้ซื้อแพ็กเกจที่พักเพื่อให้มีโรงพยาบาลคู่ปฏิบัติการ สามารถรักษานักท่องเที่ยวได้ทันท่วงที

กรณีชะลอเปิดกิจการสถานบันเทิง พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค. คาดว่าจะอนุญาตให้เปิดกิจการสถานบันเทิงได้ในวันที่ 16 ม.ค. 2565 เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ การเลื่อนนี้เกิดจากการหารือหลายฝ่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการ โดยเห็นควรให้เปิดเมื่อพร้อม ขณะที่สถานการณ์การระบาดในปัจจุบันยังไม่สามารถกดตัวเลขผู้ติดเชื้อให้ต่ำกว่า 5,000 คนต่อวัน และจำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 50 คนต่อวัน

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า เหตุผลสำคัญอีกประการ คือ จากการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานในพื้นที่ พบว่า สถานบริการประเภทนี้ยังไม่ขึ้นทะเบียนขอยกระดับเป็นสถานประกอบการที่ได้มาตรฐานการควบคุมโรคโควิด-19 เพื่อรองรับการเปิดกิจการ/กิจกรรมตามหลักวิถีใหม่ให้เป็นไปตามมาตรฐานสถานบริการปลอดโควิด หรือ  SHA+

พญ.อภิสมัย ยังขอให้ผู้ประกอบการติดตามเนื้อในเว็บไซต์กรมอนามัย เพื่อประเมินโควิดฟรเซ็ตติ้ง (COVID Free Settings) หรือติดต่อหน่วยงานในพื้นที่ให้ช่วยตรวจสอบ โดยมีเวลาอีก 1 เดือนสำหรับปรับแก้ให้ได้มาตรฐาน หากปฏิบัติตามข้อกำหนดได้ครบถ้วนสามารถขอรับการประเมินเพื่อยกระดับเป็นมาตรฐาน SHA+

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ย้ำว่า การจะเปิดกิจการขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถานประกอบการ การจัดการของเจ้าของกิจการ สถานที่ พนักงานให้ได้ตามมาตรฐานความปลอดภัยของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก พร้อมขอให้หน่วยงานในพื้นที่ และฝ่ายปกครองช่วยประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการเข้าใจ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ตามแผน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net