พม่าหวังเดินเกมการทูตสร้างความชอบธรรมให้กองทัพ

สื่อพม่าเผยแพร่บทความ หลังช่วงกลางเดือน พ.ย.ที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งจีน ไทย และญี่ปุ่น เดินทางเยือนพม่าไม่ขาดสาย คาด ‘มินอ่องหล่าย’ หวังเดินเกมการทูตสร้างความชอบธรรมให้กองทัพ 

  • ซุน กว๋อเซียง ผู้แทนพิเศษกิจการเอเชียแห่งรัฐบาลปักกิ่ง เยือนพม่ารอบล่าสุด คงจุดยืนดึงพม่ากลับไปช่วงก่อนทำรัฐประหาร กังวลหากสถานการณ์ยังตึงเครียดต่อเนื่อง หวั่นกระทบการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาว ก.พ.ปี'65
  • ‘ซาซะกาวะ’ ผู้แทนพิเศษญี่ปุ่น เยือนพม่าและรัฐยะไข่ พร้อมประชุมกับมินอ่องหล่าย ก่อนรัฐบาลญี่ปุ่นออกมาปัด เป็นการเยือนส่วนตัวไม่เกี่ยวกับรัฐบาล
  • บิล ริชาร์ดสัน อดีตทูตสหรัฐฯ เยือนพม่า จนนำมาสู่การปล่อยตัว แดนนี เฟนสเตอร์ นักข่าวสหรัฐฯ ด้านมินอ่องหล่ายหวังผ่อนปรนการคว่ำบาตรและมาตรการห้ามซื้อ-ขายอาวุธสงคราม 

ชาวพม่าในไทยประท้วงต้านกองทัพพม่าหน้าสำนักงาน UN เมื่อ 3 ก.พ. 64 (ถ่ายโดย iLaw)

เมื่อ 19 พ.ย. 64 สื่อพม่าอย่าง 'อิระวดี' ภาคภาษาอังกฤษ เผยแพร่บทวิเคราะห์โดย ‘อ่องซอ’ (Aung Zaw) ถึงปรากฏการณ์ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (7-14 พ.ย.) หลังเจ้าหน้าที่ทางการเมืองระดับสูงทั้งไทย จีน ญี่ปุ่น ต่างตบเท้าร่วมประชุมกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า ณ กรุงเนปิดอ ไม่ขาดสาย 

เริ่มที่ ซุน กว๋อเซียง ผู้แทนพิเศษกิจการเอเชีย แห่งกระทรวงการต่างประเทศ รัฐบาลจีน เยือนกรุงเนปิดอ เพื่อพบกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งนับเป็นการเยือนครั้งที่ 2 ของจีนตั้งแต่พม่าทำรัฐประหารเมื่อ ก.พ. 

ขณะที่บิล ริชาร์ดสัน อดีตทูตสหรัฐฯ พบปะ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ในการเยือนพม่าครั้งที่ 2 ภายใน 2 สัปดาห์ จนนำมาสู่การปล่อยตัว แดนนี เฟนสเตอร์ นักข่าวสหรัฐฯ บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์นิตยสารข่าวรายสัปดาห์อย่าง Frontier Myanmar 

การพบมินอ่องหล่าย ของซุน กว๋อเซียง เมื่อปลายเดือน ส.ค.นั้นไม่มีการรายงานข่าวแต่อย่างใด ซึ่งต่างกับการเยือนของซุน กว๋อเซียง ครั้งล่าสุด ซึ่งเผด็จการทหารมีการประกาศอย่างเป็นทางการ 

นอกจากนี้ การเยือนเมื่อเดือน ส.ค. 64 โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ประกาศว่า ซุน กว๋อเซียง ได้ไปที่พม่า พร้อมเรียกร้องให้มีการฟื้นคืนกระบวนการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในพม่าอีกครั้ง  

หวัง เหวิ่นบิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวระหว่างแถลงข่าวว่า ผู้แทนพิเศษได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลพม่าเกี่ยวกับภูมิทัศน์ทางการเมือง และความร่วมมือระหว่างจีน-เมียนมา ในการรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส 2019

ข้อความที่น่าสนใจที่สุดของจีนอยู่ในถ้อยแถลงการณ์ของหวัง หลังการเยือนพม่าเมื่อ ส.ค. เมื่อตอนที่หวัง เน้นย้ำว่า “เราจะทำงานร่วมกันกับชุมชนนานาชาติต่อการเล่นบทบาทเชิงสร้างสรรค์ในความพยายามของพม่าที่จะฟื้นคืนความมีเสถียรภาพ และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในเร็ววัน” จากตอนนั้น นี่แสดงให้เห็นว่าท่าทีของรัฐบาลปักกิ่งยังไม่เปลี่ยนไป 

หมายเหตุ - การเยือนครั้งล่าสุดของซุน กว๋อเซียง เมื่อกลาง พ.ย. 64 ทาง ‘จ้าว หลี่เจียน’ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวเมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า จีนสนับสนุนให้ทุกกลุ่มในเมียนมาหาทางออกผ่านการเจรจา และทำงานร่วมกับประชาคมนานาชาติในการฟื้นฟูความมั่นคงและนำระบอบประชาธิปไตยกลับคืนสู่เมียนมา ซึ่งเป็นลักษณะทำนองเดียวกับการแถลงข่าวเมื่อ ส.ค. 64

การเยือนครั้งนี้ของซุน กว๋อเซียง จะมีการกดดันเพื่อขอพบอองซานซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD แต่ถ้าคำขอถูกปัด ก็เป็นไปได้ว่า ซุนจะขอพบอดีตประธานาธิบดี อูถิ่นจอ ซึ่งเป็นคนสนิทของอองซานซูจีแทน เผด็จการทหารจะอนุญาตให้พบถิ่นจอ แต่อองซานซูจี จะให้พบจริงๆ ถ้ายังไม่ถึงช่วงสุดท้ายจริงๆ 

ข้อความจากจีนค่อนข้างชัดเจนว่า รัฐบาลปักกิ่งยังไม่ยอมยกธงขาวเรื่องอองซานซูจี

สี จิ้งผิง (ขวา) ปธน.จีน และอองซานซูจี (ซ้าย) ขณะนั้นดำรงที่ปรึกษาแห่งรัฐ เมื่อปี 2560 (ที่มา Chinese Embassy)

รัฐบาลปักกิ่งยังคงต้องการพาพม่ากลับไปในช่วงก่อนที่จะมีการทำรัฐประหาร ซึ่งรัฐบาลพลเรือนและกองทัพอยู่ร่วมกันได้ และประเทศเมียนมายังคงมีเสถียรภาพมากกว่านี้

การเยือนเมื่อ ส.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ซุน กว๋อเซียง แปลกใจไม่น้อย หลังเห็นความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างกองทัพต่อพรรค NLD โดยหลายฝ่ายเชื่อว่านี่เป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลปักกิ่งยังคงหวังว่าจะยังพอมีที่ว่างในการเจรจากันในเมียนมา และเขายังไม่ยอมแพ้เรื่องอองซานซูจี จีนยังคงติดต่อกับ NLD และจีนเองก็เชิญตัวแทน NLD เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมทางไกลในฐานะฝ่ายการเมืองในภูมิภาคเอเชีย จัดโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CCP) 

การเยือนของซุน กว๋อเซียง ครั้งล่าสุดเมื่อกลางเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา เน้นเรื่องความมั่งคงในพื้นที่ชายแดน และสถานการณ์ของกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ในเขตชายแดนจีน-เมียนมา รวมถึงความร่วมมือเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

จีนพึงพอใจที่พม่าเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศ แต่ยังมีความกังวลเรื่องความตึงเครียดในประเทศที่พุ่งสูงขึ้น และยังมีการปะทะกันด้วยอาวุธสงครามบริเวณใกล้กับชายแดนจีน-เมียนมา บริเวณทางตอนเหนือของเมียนมา

ไม่นานมานี้ มีการสู้รบกันระหว่างกองทัพพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (MDAA) และกองทัพพม่า ใกล้กับหมู่บ้านโมโก (Mong Koe) บริเวณชายแดนพม่า-จีน กลุ่มติดอาวุธ MDAA เป็นที่รู้จักในฐานะกองกำลังติดอาวุธที่จีนให้การหนุนหลัง แต่การปะทะไม่นานมานี้ส่งผลให้จีนรู้สึกเป็นกังวลมากขึ้น

ไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ จีนพยายามกดดันให้ MDAA เลิกรบกับกองทัพพม่า แต่ดูไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก เมื่อการปะทะยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งทำให้จีนกำลังเป็นห่วงเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามพื้นที่ชายแดนจีน-พม่า เนื่องจากจีนกำลังจะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวในเดือน ก.พ. 65 จึงไม่อยากให้มีเรื่องที่ทำให้เกิดกระแสผู้ลี้ภัยเดินทางเข้าประเทศจีน หรือความตึงเครียดที่พุ่งสูงขึ้นตามบริเวณชายแดนฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของจีน 

เป็นที่น่าสนใจศึกษามากขึ้นว่า นักนโยบายรุ่นใหม่ในรัฐบาลกลางจีนมองและตีความพัฒนาการสถานการณ์ทางการเมืองในเมียนมาอย่างไร ยกตัวอย่างข่าวลือที่ว่ารัฐบาลปักกิ่งต้องการเชิญ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เข้าร่วมประชุมสุดยอด จีน-อาเซียน ที่จะถึงนี้ (22 พ.ย.) ซึ่ง ประธานาธิบดี สี จิ้งผิง จะเข้าร่วมด้วย แต่มีเหตุผลบางอย่างที่ทำให้เชื่อได้ว่ารัฐบาลจีน และพรรคคอมมิวนิสต์จีน รู้สึกไม่สบายใจกับความคิดที่ให้ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย กลับมาร่วมประชุม 

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน เคยตัดมินอ่องหล่าย ออกจากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 39 เมื่อเดือน ต.ค. และบางประเทศในอาเซียนยังคงยืนยันไม่เชิญผู้นำกองทัพพม่าต่อไปในอนาคต ซึ่งเป็นไปได้ว่ารัฐบาลปักกิ่งจะเชิญ วันนาหม่องลวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมจีน-อาเซียนแทน 

ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 39 ที่ไร้เงา มินอ่องหล่าย (ที่มา MOFA)

รองนายพลโซวิน ผู้รั้งรองหัวหน้าสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) และรองผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า อยู่ในรายชื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำสูงสุดเช่นกัน แม้ว่าโซวิน จะมีประเด็นที่เขาอยู่เบื้องหลังการปราบปรามนองเลือดผู้ชุมนุมต้านรัฐประหาร และนักรบพลเรือนจากกองกำลังปกป้องประชาชน (PDF)

โยเฮ ซาซะกาวะ ผู้แทนพิเศษญี่ปุ่นกรณีเมียนมา เดินทางเยือนกรุงเนปิดอเมื่อสุดสัปดาห์ และได้พบปะกับมินอ่องหล่าย

โยเฮ ซาซะกาวะ เป็นที่เลื่องลือในฉายา 'เจ้าพ่อ' ของหัวหน้าเผด็จการทหาร อีกทั้ง ยังเป็นมิตรสหายเก่าแก่ของมินอ่องหล่ายอีกด้วย เขาเคยประสบความสำเร็จในบทบาทตัวกลางเจรจาหยุดยิงชั่วคราวระหว่างกองกำลังอาระกัน (AA) และกองทัพพม่า ช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือน พ.ย. 63

หลังจากพบมินอ่องหล่ายครั้งล่าสุด โยเฮ ซาซะกาวะ เดินทางเยือนรัฐยะไข่ เพื่อพบกับตัวแทนพรรคการเมืองชาติพันธุ์ ซึ่งจีนเองก็เป็นกังวลถึงแรงผลักดันและผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในประเทศพม่า

อย่างไรก็ตาม โยชิมาสะ ฮายาชิ รมว.ต่างประเทศญี่ปุ่น รีบออกมาปัดว่า การเยือนของซาซะกาวะ ไม่ได้ไปในฐานะตัวแทนของประเทศญี่ปุ่น

โยเฮ ซาซะกาวะ ขณะกล่าวต้อนรับเจ้าหน้าที่ทหารพม่า ที่โรงแรมนิวโอทานิ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ 23 ส.ค. 2562 (ที่มา Yohei Sasakawa Blog)
 

โยเฮ ซาซะกาวะ บิล ริชาร์ดสัน และมินอ่องหล่าย มีบางอย่างร่วมกันคือไม่ชอบอองซานซูจี นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเขาถึงไปเยือนพม่าในช่วงเวลาเดียวกัน?

รัฐบาลสหรัฐฯ เดินหน้าเกมการทูตตั้งแต่พม่าทำรัฐประหาร เพื่อขัดขวางมินอ่องหล่าย จากการเข้าถึงเงินทุนรัฐบาลในประเทศสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับการดำเนินการมาตรการคว่ำบาตรแบบเฉพาะเจาะจงกับนายพลพม่า เผด็จการทหารไม่อยากเจอการคว่ำบาตรจากนานาชาติและการมาตรการห้ามค้าอาวุธต่อเผด็จการทหารและลูกสมุนที่มีส่วนร่วมกับการทำรัฐประหารและมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดหาอาวุธสงคราม และการค้าผิดกฎหมาย ไปมากกว่านี้ 

อย่างซุน กว๋อเซียง ผู้แทนพิเศษกิจการเอเชียของจีนมีอำนาจคัดง้างกับทั้งกองทัพพม่า และพรรค NLD มากกว่า (แม้ว่าจีนจะบอกว่าอิทธิพลของจีนมีข้อจำกัดบางอย่าง) ข้อความจากรัฐบาลปักกิ่งคือจีนจะไม่ยอมยกธงขาวเรื่องอองซานซูจี เผด็จการทหารจะใคร่ครวญว่าจะยอมให้ซุน กว๋อเซียง พบอองซานซูจีหรือไม่ ถ้าไม่ บางทีสิ่งที่จะเกิดขึ้นในการเยือนครั้งหน้าของจีนคือตอนที่อองซานซูจี อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐ ถูกศาลตัดสินโทษในข้อหาต่างๆ ที่กองทัพพม่าตั้งให้ก่อนหน้า 

แปลและเรียบเรียง

Myanmar Regime Looks to Diplomacy to Gain Legitimacy

หมายเหตุ - เมื่อ 22 พ.ย. 64 เวลา 0.30 น. มีการแก้ไขชื่อของนายซุน เกาเสียง เป็น "ซุน กว๋อเซียง" ตามการเขียนภาษาจีน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท