Skip to main content
sharethis

 

เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 64 ที่ผ่านมา สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จัดงาน 47 ปี รำลึกถึงสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ “จากคุณูปการการต่อสู้ สู่เสรีภาพในการจัดการที่ดินใหม่” ล้มล้างการผูกขาด การจัดการที่ดินไทย เนื่องในวันครบรอบ 47 ปีการก่อตั้งสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ณ สวนอัญญา จ.เชียงใหม่

ภายในงานมีการคำกล่าวรายงานสถานการณ์ที่ดินป่าไม้จากอดีตถึงปัจจุบัน พิธีกรรมรำลึกถึงบรรพบุรุษชาวนาผู้ถูกลอบสังหาร การเสวนาขบวนการ 3 ประสาน นักศึกษา ชาวนา แรงงาน และการเสวนา “ชำระประวัติศาสตร์ สู่จินตภาพใหม่ในที่ดิน” โดยรศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.ชัยพงษ์ สำเนียง ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศ และสุมิตรชัย หัตถสาร จากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น

ก่อนจะปิดงานด้วยการแสดง Performance Art จากลานยิ้มการละคร

รังสรรค์ แสนสองแคว ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ในฐานะนักศึกษาปฏิบัติการโครงการชาวนาร่วมสมัย เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า กิจกรรมครั้งนี้ไม่เน้นหนักไปที่การรำลึกถึงผู้เสียชีวิตมากนัก เนื่องจากพวกเขาได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่จะเป็นการกลับมาออกแบบอนาคตร่วมกับคนรุ่นใหม่ เนื่องจากปัจจุบันยังมีปัญหาการกระจุกตัวของที่ดินอยู่ที่กลุ่มทุนและชนชั้นศักดินา

“ตอนนั้นการต่อสู้ของสหพันธ์ฯ พูดเรื่องค่าเช่านา การกระจายการถือครองที่ดิน แต่ปัจจุบันขบวนการที่จะสานต่อก็ยังไม่ได้แข็งแกร่งพอ ยังไม่เป็นเอกภาพ เมื่อได้ที่ดินมาแล้ว เกิดการกระจายการถือครองที่ดินแล้ว หากยังมีแต่ระบบเอกสารสิทธิ์ก็จะยังเป็นข้อถกเถียงต่อไป ที่ดินก็จะกลายเป็นสินค้าเช่นเดิม ปล่อยให้กลุ่มทุนเข้ามาผูกขาดที่ดินได้อีกในวันข้างหน้าและตลอดไป แม้กระทั่งชนชั้นศักดินาเองก็กลายเป็นกลุ่มทุนผูกขาดที่ดินเองด้วย” รังสรรค์กล่าว 

กลุ่มเกษตรกร คนจน ปลดแอก เปิดเผยตัวเลขการถือครองที่ดินมากที่สุด 5 อันดับแรก อันดับหนึ่งได้แก่ “ตระกูลสิริวัฒนาภักดี” ถือครองที่ดิน 630,000 ไร่ อันดับสองได้แก่ “ตระกูลเจียรวานนท์” ถือครองที่ดินไม่ต่ำกว่า 200,000 ไร่ อันดับสามได้แก่ “บริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน)” ถือครองที่ดิน 44,400 ไร่ อันดับสี่ได้แก่ “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” ถือครองที่ดิน 30,000 ไร่ และอันดับห้าได้แก่ “บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)” ถือครองที่ดิน 17,000 ไร่ ในขณะที่ประชาชนร้อยละ 76 ของประเทศ คือประมาณ 50 ล้านคน ไม่สามารถเข้าถึงที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ได้เลยแม้เพียงงานเดียว

สำหรับสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 47 ปีที่แล้ว ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่แรงงานและนักศึกษา ที่เรียกว่าขบวนการ 3 ประสาน ต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการจนถูกลอบสังหารในยุคสงครามเย็น หรือการปราบปรามฝ่ายซ้ายของสังคมไทยนั้นไม่ต่ำกว่า 40 คน

ผู้นำสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงระหว่างปี 2517-2522

1. นายสนิท ศรีเดช ผู้แทนชาวนา จ.พิษณุโลก ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2517
2. นายเมตตา (ล้วน) เหล่าอุดม ผู้แทนชาวนา อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2517
3. นายบุญทิ้ง ศรีรัตน์ ผู้แทนชาวนา จ.พิษณุโลก ถูกยิงและเสียชีวิตในเดือนตุลาคม 2517
4. นายบุญมา สมประสิทธิ์ สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ จ.อ่างทอง ถูกยิงและเสียชีวิตในเดือนกุมภาพันธ์ 2518
5. นายเฮี้ยง ลิ้นมาก ผู้แทนชาวนาจังหวัดสุรินทร์ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2518
6. นายอาจ ธงโท สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ ต.ต้นธง จ.ลำพูน ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2518
7. นายประเสริฐ โฉมอมฤต ประธานสหพันธ์ฯ ระดับหมู่บ้าน อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2518
8. นายโหง่น ลาววงษ์ สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ ระดับหมู่บ้าน อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี ถูกรัดคอและทุบตีจนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2518
9. นายเจริญ ดังนอก สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา ถูกยิงและได้รับบาดเจ็บในเดือนเมษายน 2518
10. นายถวิล ไม่ทราบนามสกุล ผู้นำชาวนา อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร ถูกยิงและเสียชีวิตในเดือนเมษายน 2518
11. นายมงคล สุขหนุน ผู้นำชาวนา จ.นครสวรรค์ ถูกยิงและเสียชีวิตในเดือนพฤษภาคม 2518
12. นายบุญสม จันแดง สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ ส่วนกลาง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2518
13. นายผัด เมืองมาหล้า ประธานสหพันธ์ฯ ระดับอำเภอ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ถูกยิงและได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2518
14. นายถวิล มุ่งธัญญา ผู้แทนชาวนา จ.นครราชสีมา ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2518
15. นายพุฒ ปงลังกา ผู้นำชาวนา จ.เชียงราย ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2518
16. นายแก้ว ปงซาคำ ผู้นำชาวนา จ.เชียงราย ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2518
17. นายจา จักรวาล รองประธานสหพันธ์ฯ ระดับหมู่บ้าน อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2518
18. นายบุญช่วย ดิเรกชัย ประธานสหพันธ์ฯ ระดับอำเภอ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2518
19. นายประสาท สิริม่วง ผู้แทนชาวนา จังหวัดสุรินทร์ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2518
20. นายบุญทา โยทา สมาชิกคณะกรรมกาสหพันธ์ฯ อ.เมือง จ.ลำพูน ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2518
21. นายเกลี้ยง ใหม่เอี่ยม รองประธานสหพันธ์ฯ ระดับอำเภอ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2518
22. นายอินถา ศรีบุญเรือง รองประธานสหพันธ์ฯ ระดับชาติ และประธานสหพันธ์ฯ ภาคเหนือ อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อ 31 กรกฎาคม 2518
23. นายสวัสดิ์ ตาถาวรรณ รองประธานสหพันธ์ฯ ระดับหมู่บ้าน อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2518
24. นายมี สวนพลู สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2518
25. นายตา แก้วประเสริฐ สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2518
26. นายตา อินต๊ะคำ สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2518
27. นายนวล สิทธิศรี สมาชิกสหพันธ์ฯ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ถูกยิงเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2518 (หมายเหตุ - ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ฉบับวันที่ 13 สิงหาคม 2518 ระบุว่าเป็นการถูกยิงครั้งที่ 2 โดยนายนวลเมื่อเดินทางกลับมาจากการชี้ตัวผู้ต้องหา ก็ถูกยิงที่หน้าบ้านและเพื่อนบ้านได้นำส่งโรงพยาบาล "อาการเป็นตายเท่ากัน" แต่ไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมว่าเสียชีวิตหรือไม่)
28. นายพุฒ ทรายคำ ผู้นำชาวนา อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2518
29. นายช้วน เนียมวีระ สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2518
30. นายแสวง จันทาพูน รองประธานสหพันธ์ฯ ระดับหมู่บ้าน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2518
31. นายนวล กาวิโล ผู้นำชาวนา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกระเบิดและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2518
32. นายมี กาวิโล ผู้นำชาวนา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ได้รับบาดเจ็บจากระเบิดเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2518
33. นายบุญรัตน์ ใจเย็น ผู้นำชาวนา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2518
34. นายจันเติม แก้วดวงดี ประธานสหพันธ์ฯ ถูกยิงและได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2518
35. นายลา สุภาจันทร์ สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่  12 ธันวาคม 2518
36. นายปั๋น สูญใส๋ รองประธานสหพันธ์ฯ ระดับหมู่บ้าน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2519
37. นายคำ ต๊ะมูล ผู้นำชาวนา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2519
38. นายวงศ์ มูลอ้าย ผู้แทนชาวนา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2519 มีรายงานจากศูนย์กลางนักศึกษาภาคเหนือว่าเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2519
39. นายพุฒ บัววงศ์ ผู้แทนชาวนา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2519 และมีรายงานจากศูนย์กลางนักศึกษาภาคเหนือว่าเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2519
40. นายทรง กาวิโล ผู้แทนชาวนา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2519 และมีรายงานจากศูนย์กลางนักศึกษาภาคเหนือว่าเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2519
41. นายดวงคำ พรหมแดง ผู้แทนชาวนา อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2519
42. นายนวล ดาวตาด ประธานสหพันธ์ฯ ระดับหมู่บ้าน อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2519
43. นายศรีธน ยอดกันทา ประธานสหพันธ์ฯ ภาคเหนือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ได้รับบาดเจ็บจากระเบิดเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2519
44. นายชิต คงเพชร ผู้นำชาวนา อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2519
45. นายทรอด ธานี ประธานสหพันธ์ฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และรองประธานสหพันธ์ฯ ระดับชาติ อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2521
46. นายจำรัส ม่วงยาม ประธานสหพันธ์ฯ ภาคตะวันออก และประธานสหพันธ์ฯ ระดับชาติ อ.บ้านด่าน จ.ระยอง ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2522

ที่มา: ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น, การปฏิวัติที่ถูกตัดตอน : ชาวนา นักศึกษา กฎหมาย และความรุนแรงในภาคเหนือของไทย. -- นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2560 (ภาคผนวก หน้า 263-267) [อ้างจาก นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์, บ.ก., เส้นทางชาวนาไทย (กรุงเทพฯ : มูลนิธิเด็ก, 2542 หน้า 155-160) และ กนกศักดิ์ แก้วเทพ, บทวิเคราะห์สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย : เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยชาวนายุคใหม่ (กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2530 หน้า 161-166)

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net