Skip to main content
sharethis

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ตั้งวงถก “ใครใคร่พูด พูด ใครใครศิลป์ ศิลป์” นักศึกษาวิจิตรศิลป์ มช. เล่าประสบการณ์ถูกจำกัดเสรีภาพภายในมหาวิทยาลัย อาจารย์ในคณะชี้ศิลปะเกี่ยวข้องกับการเมืองเสมอมา ขณะที่นักวิชาการนิติศาสตร์ย้ำเสรีภาพในการแสดงออกเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่สุด จนท.สมาคมนักกฎหมายสิทธิฯ ระบุคดีฟ้องปิดปากยิ่งมาก สะท้อนกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของสังคมกำลังขาดประสิทธิภาพ 'ทัศนัย' ยก Anti-SLAPP Law คุ้มสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

ทศพล ทรรศนกุลพันธ์, ปฐมพงศ์ มานะกิจสมบูรณ์, ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์, ทัศนัย เศรษฐเสรี  และชลิตา แก้วตุ้ย (ไล่จากซ้ายไปขวา)

21 พ.ย.2564 เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 64 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (Human Rights Lawyers Association) จัดงานเสวนาเรื่อง “ใครใคร่พูด พูด ใครใครศิลป์ ศิลป์” ขึ้นที่สวนอัญญา จังหวัดเชียงใหม่ (มช.)โดยมีทัศนัย เศรษฐเสรี, ปฐมพงศ์ มานะกิจสมบูรณ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชา Media Arts and Design คณะวิจิตรศิลป์ มช. และทศพล ทรรศนกุลพันธ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มช. ร่วมด้วยยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ นักศึกษา นักศึกษา Media Arts and Design คณะวิจิตรศิลป์ มช. และชลิตา แก้วตุ้ย เจ้าหน้าที่สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

งานนี้จัดขึ้นเพื่อพูดคุยถึงประเด็นคดี SLAPPs หรือการฟ้องปิดปากที่ถูกนำมาใช้เพิ่มมากขึ้นและกว้างขวางมากยิ่งขึ้นในแวดวงศิลปะของไทย

นักศึกษาวิจิตรศิลป์ เล่าประสบการณ์ถูกจำกัดเสรีภาพภายในมหาวิทยาลัย

ยศสุนทร คณะวิจิตรศิลป์ เล่าถึงประสบการณ์การถูกจำกัดเสรีภาพภายในมหาวิทยาลัย หลังจากที่เขาและเพื่อนถูกผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์เข้ามาเก็บผลงานศิลปะยัดใส่ถุงดำ โดยคืนก่อนหน้าที่จะเกิดเรื่องได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 คนเข้ามาสอบถามทั้งที่นั่งทำงานอยู่ภายในบริเวณคณะ สิ่งผิดปกติทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับการทำงานศิลปะของนักศึกษาทำให้ยศสุนทรรู้สึกถึงการคุกคามและเป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมของผู้มีตำแหน่งภายในสถานศึกษา

“ในนิยามของการศึกษาเขา (ผู้บริหารคณะ) อาจจะไม่นับว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ที่นักศึกษาได้ทดลองทำ ได้ผลิตงานแบบที่เขาอาจไม่ทำหรือเขาอาจจะไม่ชอบ ถ้าพูดแบบแฟร์ๆ มันก็เป็นการศึกษาทั้งหมด แต่เขาไม่แฟร์กับเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมรู้สึกได้ เขาก็จะอ้างว่าเป็นงานของวิชาอะไร รูปแบบการทำงานศิลปะของผมมันไหลลื่น ไม่มีจุดตายตัว ซึ่งผมก็เรียกมันว่าเป็นการพัฒนาในการทำงานเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา” ยศสุนทร กล่าว

ต่อมาผลงานศิลปะที่มีรูปร่างคล้ายธงของเขาที่เคยถูกผู้บริหารเก็บใส่ถุงดำก็ถูกศรีสุวรรณ จรรยา แจ้งความดำเนินคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ธง ซึ่งต่อมาผลงานผลงานศิลปะชิ้นนี้ที่ถูกเก็บไว้ภายในห้องแล็บของคณะก็หายไป และไปอยู่ที่สถานีตำรวจในฐานะของกลางของคดี

อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ ชี้ศิลปะเกี่ยวข้องกับการเมืองเสมอมา

ปฐมพงศ์ อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มช. เสริมในประเด็นที่ว่าศิลปะควรจะมีกรอบทางกฎหมายมากำหนดหรือไม่ ดังนี้ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจในนิยามของศิลปะก่อนว่าศิลปะเกี่ยวข้องกับการเมืองเสมอมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และจะยังคงเกี่ยวข้องต่อไปในอนาคต ทั้งการเมืองและประเด็นสาธารณะทางสังคมซึ่งล้วนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต คนทำงานศิลปะจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเข้าไปจับประเด็นเหล่านี้ผนวกเข้ามาเป็นหนึ่งของงาน

“ท้ายสุดแล้วการเมืองและประเด็นสาธารณะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต คนทำงานศิลปะหลีกเลี่ยงไม่ได้ทีจะต้องเข้าไปจับประเด็นสาธารณะ ประเด็นของสังคม ประเด็นของการเมืองต่างๆ ปัญหาคือว่าคนอีกฝั่งหนึ่งที่เขาเป็นผู้ที่ถือครองอำนาจและคำนิยามของศิลปะมาก่อน เช่น ศิลปะต้องอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ตรงไหน หรือแม้กระทั่งอะไรคือความดีงาม ทำให้เกิดการปิดกั้นต่อนิยามที่แท้จริงของศิลปะ ศิลปะต้องสามารถเข้าไปวิพากษ์เป็นประเด็นของมนุษย์ได้ทุกอย่าง” ปฐมพงศ์ กล่าว พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่า ศิลปะในเชิงที่วิพากษ์รัฐ วิพากษ์ทัศนคติต่างๆ ถูกตีตราว่าเป็นงานศิลปะในเชิงการเมืองที่บ่อนทำลาย ขณะผลงานศิลปะที่เข้าไปอุ้มชูสถาบันหลักต่างๆ กลับไม่ถูกตีตราว่าเป็นงานทางการเมือง ทำให้เกิดปัญหาตามมาเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นศิลปะในขนบ ศิลปะนอกขนบ หรือศิลปะร่วมสมัยต่างเป็นงานทางการเมืองทั้งสิ้น แต่เมื่อศิลปะตกอยู่ภายใต้การตัดสินใจของใครคนใดคนหนึ่งย่อมทำให้ถูกแปลเปลี่ยนความหมายออกไปได้ผลงานบางอย่างถูกทำให้ผิด ผลงานบางอยู่ถูกยกย่อง สิ่งเหล่านี้ยังสะท้อนให้เห็นว่ากฎหมายมีความลักลั่นย้อนแย้งต่อผลงานศิลปะของศิลปินด้วย นำมาสู่คำถามที่ว่ากฎหมายในปัจจุบันมีความเท่าเทียมและเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของศิลปินหรือไม่

นักวิชาการนิติศาสตร์ย้ำเสรีภาพในการแสดงออกเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่สุด

ทศพล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มช. มองว่า เสรีภาพในการแสดงออกถือเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่สุดของคนที่อยู่ในสังคมที่มีการถกเถียงกันได้ สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตอนนี้ไม่ได้เป็นสิ่งใหม่ล่าสุดในโลกใบนี้ เหตุการณ์ในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้วจนเกิดการถอดบทเรียนเป็นกฎหมายที่ยอมรับกันในระดับสากล ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมีการรับรองเสรีภาพในการแสดงออก แต่ในฐานะกฎหมายเสรีภาพย่อมมีขอบเขตบางประการเพื่อไม่ให้กระทบสิทธิของบุคคลอื่น

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองจึงได้กำหนดขอบเขตของการแสดงออกไว้ กล่าวคือ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 19 รับรองสิทธิในการแสดงออก ส่วนข้อ 20 ได้บอกขอบเขตในการแสดงออกไว้

หนึ่ง ถ้าการแสดงออกนั้นเป็นการโฆษณาชวนเชื่อใดๆ เพื่อสงคราม ถือเป็นสิ่งต้องห้าม

สอง การสนับสนุนให้เกิดความเกลียดชังในชาติ เผ่าพันธุ์ หรือศาสนา ซึ่งยั่วยุให้เกิดการเลือกปฏิบัติ การเป็นปฎิปักษ์ หรือการใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมาย

“การที่หลักสากลถอดบทเรียนและเขียนออกมาเป็นกฎหมายข้างต้น ในประวัติศาสตร์มีคนที่ทำงานศิลปะแบบหนึ่งในช่วงสงครามโลกซึ่งโดดเด่นมาก คือศิลปะแนว Fascist Art เป็นพวกเผด็จการที่บอกว่าสายเลือดหรือกลุ่มของตนเองดีกว่าคนอื่น คนอื่นต้องสยบยอมต่อความคิดอย่างหนึ่งแบบเดียวเท่านั้น เพื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วเราไปบุกยึดหรือเอาชนะชนชาติอื่น

สิ่งนี้เขาถอดออกมาแล้วว่าเป็นสิ่งที่ไม่พึ่งกระทำ เพราะทำให้เกิดผลตามมา หนึ่ง คนในประเทศตัวเองถกเถียงไม่ได้ จะทำงานศิลปะแบบอื่น หรือมาต่อรอง ถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้เลย และนำไปสู่การนำพาคนเข้าไปทำร้ายคนอื่นที่ต่อต้าน สอง บุกไปทำสงครามกับคนอื่นที่วิพากษ์ ซึ่งพอเกิดสงครามคนในประเทศตัวเองก็ตาย ในท้ายที่สุดการเมืองที่เคลื่อนโดยใช้ศิลปะแบบนั้นก็พ่ายแพ้ให้แก่อีกฝั่งหนึ่ง และคนที่มารับเคราะห์คือคนที่ตอนแรกถูกชักนำให้เชื่อในวิธีคิดแบบเดียว อย่างเดียว และเหนือกว่าคนอื่น ท้ายที่สุดคนของประเทศนั้นก็เจ็บปวดที่สุดในโลก”  อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มช. กล่าว

ทศพล กล่าวด้วยว่า ขณะที่อีกขอบเขตในการแสดงออกหนึ่งที่ละเอียดขึ้นคือ การแสดงออกถือเป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง แต่การจำกัดอาจกระทำได้ เพราะเสรีภาพในการแสดงออกมิได้เป็นสิทธิที่สมบูรณ์เบ็ดเสร็จเด็ดขาดจนถึงขั้นที่ไม่สามารถจำกัดได้ เสรีภาพในการแสดงออกอาจถูกจำกัดได้โดยการมีกฎหมายบัญญัติไว้ล่วงหน้า และจำกัดเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติที่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 20 หนึ่ง ต้องไม่เป็นการพาคนไปตายในสงคราม หรือฆ่าฟันเพราะความเกลียดชังกัน เป็นความมั่นคงในชาติที่จะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือทรัพย์สินของคนในชาติเราและชาติอื่น  สอง ต้องไม่นำไปสู่การปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชังหรือเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มคนอื่น สาม ต้องไม่ต่อต้านการสาธารณสุข สี่ ศีลธรรมของประชาชน ซึ่งมิใช่ศีลธรรมที่ผูกขาดโดยกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่งเท่านั้น แต่คนสามารถมาต่อรองและถกเถียงกันได้จนเกิดศีลธรรมของสังคม สุดท้ายเราไม่สามารถทำงานศิลปะในลักษณะที่กด เหยียด หรือดูถูกคนอื่นได้ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น อาจารย์ทศพลมองว่าขอบเขตของกฎหมายที่จะสามารถเข้าไปควบคุมการทำงานของศิลปะได้ ควรเป็นไปตามที่หลักสากลกำหนดไว้ข้างต้น

จนท.สมาคมนักกฎหมายสิทธิฯ ระบุคดีฟ้องปิดปากยิ่งมาก สะท้อนกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของสังคมกำลังขาดประสิทธิภาพ 

ชลิตา แก้วตุ้ย เจ้าหน้าที่สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้คดี SLAPPs หรือการฟ้องปิดปากที่ถูกนำมาใช้ว่า ในสังคมไทยตอนนี้มีการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเข้ามาคุกคามหรือปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกิดขึ้นเป็นรายวัน สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนได้มีการติดตามผลกระทบจากตัวผู้ถูกคดีฟ้องปิดปากพบว่า ผลกระทบทางด้านลบมีทั้งที่เป็นตัวเงิน หากเป็นการฟ้องปิดปากโดยรัฐ รัฐย่อมมีอำนาจเงินเหนือกว่าขณะที่ประชาชนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี การเดินทาง ผู้ถูกคดีฟ้องปิดปากบางคนต้องหยุดงาน ลาออกจากงาน หรือหารายได้เสริมมาสู้คดี ทั้งหมดล้วนเป็นผลมาจากการถูกฟ้องคดีปิดปาก ส่วนผลกระทบที่ไม่ใช่ตัวเงินมักจะอยู่ในรูปของระยะเวลาที่ต้องใช้ต่อสู้คดี หรือความสัมพันธ์กับคนรอบข้างที่อาจสูญเสียไป ซึ่งการฟ้องปิดปากยังส่งผลกระทบไปถึงจิตใจและร่างกายของผู้ฟ้องคดีที่ต้องเผชิญกับการกลั่นแกล้งผ่านคดี SLAPPs

ยิ่งมีคดีฟ้องปิดปากเพิ่มขึ้นมากเท่าไหร่ในสังคม ยิ่งสะท้อนว่ากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของสังคมกำลังขาดประสิทธิภาพ ไม่มีกลไกที่จะปกป้องผู้บริสุทธิ์จากการถูกฟ้องกลั่นแกล้งในคดี SLAPPs และลดทอนความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม  

“คดีฟ้องปิดปากบางคดีใช้ระยะเวลาต่อสู้กันนานถึง 10 ปี ผู้ถูกฟ้องคดีบางคนที่เขารับไม่ไหวกับการต่อสู้ ทั้งๆ ที่เขารู้ว่าเขาไม่ได้กระทำความผิด แต่เขาก็ต้องยอมรับสารภาพเพื่อที่จะปลดเปลื้องภาระ ปลดเปลื้องความทุกข์ของเขาให้เรื่องมันจบโดยเร็วที่สุด” เจ้าหน้าที่สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าว

การฟ้องศาลปกครองของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชา Media Arts and Design คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากกรณีการถูกผู้บริหารคณะปิดกั้นการใช้พื้นที่หอศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แสดงผลงานศิลปนิพนธ์ของนักศึกษาที่เป็นส่วนหนึ่งของการจบการศึกษา ถือเป็นหนึ่งในวิธีการโต้กลับการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ต่างจากคดี SLAPPs ที่ผู้ถูกกลั่นแกล้งสามารถโต้ตอบการใช้อำนาจของรัฐหรือของผู้ฟ้องคดีได้ด้วยการฟ้องกลับ

ทัศนัย ยก Anti-SLAPP Law คุ้มสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

ทัศนัย กล่าวว่า การฟ้องศาลปกครองขอคุ้มครองเกี่ยวกับคำสั่งห้ามใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นการเข้าถึงความยุติธรรมเบื้องต้น อารยธรรมมนุษย์เป็นเรื่องของการต่อสู้และคานอำนาจกันระหว่างการรวมศูนย์อำนาจเผด็จการกับวัฒนธรรมการยอมรับความเห็นต่าง ในประเทศที่พัฒนาแล้ววัฒนธรรมการยอมรับความเห็นต่างจะมีสัดส่วนที่มากกว่า และอำนาจแบบรวมศูนย์หรืออำนาจเผด็จการจะถูกกำกับด้วยหลักกฎหมายสมัยใหม่ ซึ่งส่งผลให้มีกฎหมาย Anti-SLAPP Law (กฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปาก) เพื่อคุ้มสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ทำให้ประชาชนสามารถที่จะกล้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐหรือบริษัทต่างๆ ได้  

“ในประเทศที่มีการยอมรับความเห็นต่างมากอำนาจเผด็จการรวมศูนย์จะถูกจำกัดด้วยนิติรัฐ ในขณะที่สังคมไทยกลับข้างกัน การยอมรับความเห็นต่างในส่วนหน่วยที่เล็กที่สุดตั้งแต่ระดับครอบครัว โรงเรียน มหาวิทยาลัย สังคม ชุมชน เบาบางเหลือเกิน เปิดโอกาสให้การรวมศูนย์อำนาจเผด็จการมีมากขึ้น รวมทั้งอำนาจที่อยู่นอกรัฐธรรมนูญในลักษณะต่างๆ ก็มีมากยิ่งขึ้นเช่นกัน การเข้าถึงระบบความยุติธรรมในสังคมไทยเราก็น้อยลง” ทัศนัย กล่าว พร้อมระบุว่าในประเทศที่มีกฎหมาย Anti-SLAPP Law จะคุ้มครองการแสดงออกทางความคิด เพราะความคิดนั้นยังมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น เป็นแต่เพียงการแสดงออก ตามที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 20 ได้บัญญัติไว้เป็นหลักการกว้างๆ เพื่อปกป้องเรื่องเล็กๆ อย่างเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดทั้งส่วนตัวของปัจเจกและเสรีภาพทางความคิดในโลกวิชาการ  

“ขณะที่ในสังคมไทยระบบกฎหมาย ระเบียบทางศีลธรรม และความคิดทางสุนทรียศาสตร์ มันทำงานร่วมกันและมันไม่เปิดโอกาสให้เกิดสังคมแบบเสรีประชาธิปไตยในทุกระดับ สิ่งเหล่านี้ต้องถูกควบคุมตั้งแต่จุดเริ่มต้น จึงเกิดกรณีคณบดีเข้าไปยึดผลงานของนักศึกษา สังคมไทยเป็นเช่นนี้แทบทุกย่อมหญ้า จนทำให้สังคมไทยมีวัฒนธรรมของการไม่ยอมรับความเห็นต่าง โดยมีระเบียบทางกฎหมาย ระเบียบทางศีลธรรม และระเบียบทางสุนทรียศาสตร์เป็นตรายางประทับคอยชี้หน้าว่าใครสมควรตาย หรือใครสมควรจะเข้าคุก”

กรณีของสุชาติ สวัสดิ์ศรี ที่ถูกถอดจากการเป็นศิลปินแห่งชาติเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการถูกกระทำจากพลังทางกฎหมาย พลังทางศีลธรรม และพลังทางสุนทรียศาสตร์ที่บิดเบี้ยว บทบาทของความเป็นศิลปะสมัยใหม่และศิลปะร่วมสมัยคือการตั้งคำถามกับระเบียบทางศีลธรรม ระเบียบทางสุนทรียศาสตร์ และระบบกฎหมายแบบเดิมๆ เพื่อให้มนุษย์มีอิสรภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้จะยืนตรงข้ามกับศิลปะ ศีลธรรม ระบบกฎหมายแบบเก่า

ศิลปะไม่ได้ต้องการทำการขบถตามอำเภอใจ แต่ศิลปะมีพันธกิจที่ต้องทำให้มนุษย์มีอิสรภาพมากขึ้น อิสรภาพและเสรีภาพเป็นสิ่งที่ทำให้อารยธรรมมนุษย์เจริญรุดหน้า และนำมาซึ่งวิถีชีวิตและระบบคุณค่าแบบใหม่

“เสรีภาพนำมาซึ่งวิถีชีวิตในลักษณะใหม่ ระบบคุณค่าแบบใหม่ๆ ในเรื่องเพศสภาพก็ดี หรือระบบคุณค่าที่ยังไม่มีชื่อเรียก ไม่รู้จะเรียกมันว่าอะไรก็ดี ระบบคุณค่าใหม่เหล่านี้พยายามจะถีบตัวเองออกจากระบบคุณค่าของความดี ความงามในแบบเดิม ในประเทศที่พัฒนาแล้วนี่คืออิสรภาพของชีวิตประจำวันที่กฎหมายพยายามเปิดช่องให้ระบบคุณค่าเหล่านี้เจริญงอกงาม ขณะที่สังคมไทยนอกจากระบบคุณค่าเดิมจะมีปัญหาแล้ว ระบบคุณค่าใหม่ก็เกิดขึ้นไม่ได้เลย จะกิน จะดื่ม จะทำศิลปะแบบไหน จะตัดผมอะไร จะใส่เสื้อเอวลอย หรือไม่เอวลอย มีปัญหาไปหมด

สังคมไทยถอยหลังกลับไปไกลมาก คนรุ่นใหม่ถึงได้มีปัญหา ไม่ใช่เขามีปัญหากับเสรีภาพ แต่เขามีปัญหากับระบบคุณค่า เขาพูด เขาดื่ม เขากิน เขาแต่งตัว เขาย้อมผม เขาจะมีเพศสัมพันธ์ เขาจะเลือกเพศ เขาจะมีความคิดแบบวิปลาสของเขาไม่ได้เลย มันคลุมเบ็ดเสร็จไปหมด เยาวชนถึงออกมาเรียกร้องชีวิตของเขา อนาคตของเขาคืออะไร ระบบคุณที่เขาเลือกเอง เขาต้องอยู่กับมันทุกวัน” ทัศนัย กล่าวทิ้งท้าย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net