Skip to main content
sharethis

‘มินอ่องหล่าย’ ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-จีน ซึ่งมี ปธน.สี จิ้นผิง เป็นเจ้าภาพ หลังมีกระแสข่าว 4 ชาติอาเซียนปฏิเสธคำขอจีนให้พม่ากลับเข้าร่วมประชุม ด้านนักวิเคราะห์ต่างชาติมอง จีนยอมรับการตัดสินใจอาเซียน สะท้อนความไม่พอใจต่อสถานการณ์ในเมียนมา

การประชุมสุดยอดผู้นำจีน-อาเซียน วันที่ 22 พ.ย. 64 ที่ไม่มีมินอ่องหล่าย อีกครั้ง (ที่มา เฟซบุ๊กกระทรวงการต่างประเทศ)

23 พ.ย. 64 สำนักข่าวจากตะวันออกกลาง ‘อัลจารีรา’ รายงานเมื่อ 22 พ.ย. ระบุว่า จีนเข้าร่วมประชุมกับผู้นำชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ในประชุมสุดยอดประจำปี สมัยพิเศษ ฉลองความสัมพันธ์ครบรอบปีที่ 30 ของจีน-อาเซียน ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ชาติอาเซียนปฏิเสธคำขอของรัฐบาลปักกิ่ง โดยไม่อนุญาตให้ผู้นำสูงสุดเมียนมาเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้  

ในการประชุมทางไกลซึ่งมี สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เป็นเจ้าภาพ เริ่มวันแรกวันนี้โดยไม่มีผู้นำประเทศเมียนมาเข้าร่วมประชุมด้วย 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า และหัวหน้าคณะรัฐประหาร ถูกกันไม่ให้เข้าร่วมวงประชุมระดับภูมิภาค ย้อนไปเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา อาเซียนเคยมีมติร่วมไม่ให้ผู้นำเมียนมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 39 มาแล้ว เหตุผลสำคัญคือ เมียนมาไม่ยอมปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อที่เคยตกลงไว้กับอาเซียนเมื่อเดือน เม.ย. 64 และไม่ให้ผู้แทนพิเศษอาเซียนเข้าพบกับอองซานซูจี 

การตัดสินใจลักษณะนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอาเซียน ซึ่งยึดหลักไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก และมีประวัติอันย่ำแย่ในการยึดถือแนวทางระบอบประชาธิปไตย

อัลจาซีรา ระบุว่า 4 ชาติสมาชิกอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน ปฏิเสธคำขอของจีนให้ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำจีน-อาเซียน  โดยทูตจากอินโดนีเซียย้ำจุดยืนว่า อนุญาตแค่ผู้แทนที่ไม่เกี่ยวข้องกับทางการเมืองเข้าร่วมประชุมเท่านั้น และดูเหมือนว่าจีนจะยอมรับการตัดสินใจครั้งนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

4 ชาติอาเซียน ค้านจีนล็อบบีให้เชิญ 'มินอ่องหล่าย’ กลับเข้าร่วมประชุมปลายเดือนนี้

จอช เคอร์แลนซิก ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แห่งสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือ Council of Foreign Relations - CFR ให้สัมภาษณ์กับอัลจาซีรา ระบุว่า เขาไม่มองว่าการล็อบบีของจีนให้ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เข้าร่วมประชุมวันนี้ เป็นสัญญาณว่ารัฐบาลจีนกำลังทำให้กองทัพเมียนมาอุ่นใจแต่อย่างใด 

เขาพูดถึงการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมาเป็น ‘หายนะ’ ของรัฐบาลปักกิ่งเป็นส่วนใหญ่

เคอร์แลนซิก มองว่า จีนไม่มีความสุขกับสถานการณ์ในพม่า และต้องการทำงานร่วมกับอาเซียนในการฟื้นคืนสภาวะก่อนกองทัพพม่าทำรัฐประหาร

การรัฐประหาร และปัญหาวิกฤตการเมืองในประเทศพม่า ทำให้เกิดความไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของจีน ผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสจำนวนมาก และจุดชนวนสงครามกลางเมืองในพื้นที่ชายแดน 

อารอน คอนเนลลี นักวิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ (IISS) ระบุข้อเท็จจริงที่ว่าการที่จีนยอมรับการตัดสินใจของอาเซียนอย่างง่ายดาย กำลังบอกอะไรบางอย่าง

“ถ้าความชอบธรรมของเผด็จการพม่าเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรกของรัฐบาลปักกิ่ง ผมไม่คิดว่า เราจะเห็นจีนยอมรับการตัดสินใจของอาเซียนง่ายขนาดนี้” คอนเนลลี กล่าว 

คอนเนลลี เน้นย้ำด้วยว่า จีนยังยอมรับข้อตกลงที่อนุญาตให้จ่อโมทุน หรือทูตสามนิ้ว ผู้สร้างวีรกรรมประณามการทำรัฐประหารของกองทัพพม่ากลางวงประชุมสหประชาชาติ (UN) พร้อมชู 3 นิ้วเมื่อ 26 ก.พ. 64 นั่งเก้าอี้ทูตพม่าประจำสหประชาชาติต่อ ทั้งที่จ่อโมทุน หนุนหลังพรรค NLD อยู่ 

“ความเยือกเย็นระหว่างพม่ากับจีนไม่ธรรมดา และจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วๆ นี้อย่างที่ใครคาดหวังไว้ - ทั้งๆ ที่ทั้งสองต่างใช้วิถีการทูตแบบ ‘ยื่นหมูยื่นแมว’ (Transactional diplomacy)” คอนเนลลี กล่าวเพิ่ม

ปรีชภักดิ์ ทีคาสุข ผู้เขียนบทความใน way magazine กล่าวถึงวิถีทางการทูตแบบ Transactional diplomacy คือ การเจรจาเพื่อแลกเปลี่ยนต่างตอบแทนซึ่งกันและกันระหว่างคู่ภาคีของการเจรจา การกดดันคู่เจรจาด้วยเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีผลได้ผลเสียต่อคู่เจรจา เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ระยะสั้นของชาติ

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะมองความเคลื่อนไหวของจีนต่อการยอมรับการตัดสินใจของอาเซียนอย่างง่ายดายในแง่ดี นพ.ซาซา โฆษกจากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG ซึ่งเป็นรัฐบาลคู่ขนานที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อแย่งชิงบทบาทการนำประเทศเมียนมา โดยสมาชิกส่วนใหญ่เป็น ส.ส.จากพรรคสันนิตบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD และพรรคชาติพันธุ์ 

นพ.ซาซา สมาชิกรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG

ซาซา แสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่จีนพยายามดึงมินอ่องหล่ายกลับเข้ามาในวงประชุมผู้นำระดับชาติ โดยกล่าวว่า ‘นี่เป็นเรื่องที่ผิด’

“กองทัพพม่าไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอาเซียน และไม่สามารถให้อะไรดีๆ กับประเทศจีน และอาเซียนได้ นอกจากวิกฤตและความวุ่นวายที่น่าหวาดหวั่น” ซาซา กล่าว 

ในทางกลับกัน ซาซา ระบุว่า ชาวพม่าคือคนที่สามารถนำความสงบสุข ความมั่งคั่ง และความมั่นคงกลับมาสู่ภูมิภาคนี้ได้ “นี่เป็นการเลือกระหว่างชาวพม่า และกองทัพที่กระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในพม่า” ซาซา ระบุเพิ่ม 

ด้านถิ่นซา ชุนเลย ยี่ (Thinzar Shunlei Yi) นักกิจกรรมการเมืองที่มีชื่อเสียงชาวพม่า และเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มการทำอารยขัดขืน หรือ CDM กล่าวถึงการล็อบบีของจีนนั้น แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า มหาอำนาจต้องการเข้ามามีอิทธิพลในอาเซียน และภูมิภาคนี้ ทั้งในด้านการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจ นอกจากนี้ เธอกล่าวชื่นชมอาเซียนว่า “เป็นการตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์” ที่มีมติร่วมไม่เชิญ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เข้าร่วมประชุมผู้นำสูงสุดเมื่อเดือนที่แล้ว (ต.ค.) และกล่าวว่าประเทศอื่นๆ ควรใช้แรงบันดาลใจจากอาเซียน มากกว่าที่จะบ่อนทำลาย

“จีนต้องให้ความเคารพต่อการประชุมผู้นำสูงสุดของอาเซียน และฟังเสียงของชาวเมียนมา” เธอกล่าว 

สหราชอาณาจักรเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เดินตามรอยการตัดสินใจของอาเซียนในการประชุมระหว่างกลุ่มประเทศ G7 (ประกอบด้วย อิตาลี ญี่ปุ่น จีน เยอรมนี แคนาดา ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศชาติสมาชิกอาเซียนที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในเดือน ธ.ค.นี้ ตัวแทนกองทัพพม่าจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้เช่นกัน และส่งได้แต่ตัวแทนที่ไม่ใช่ฝ่ายการเมือง และตัวแทนคนดังกล่าวจะได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมด้วยระบบประชุมทางไกลเท่านั้น

ชาร์ลส ซานติอาโก นักการเมืองชาวมาเลเซีย และเป็นประธานสภาเพื่อสิทธิมนุษยชนอาเซียน ออกแถลงการณ์ สับจีน “พยายามเข้ามามีบทบาทเหนืออาเซียน” พร้อมกล่าวหาว่า กองทัพพม่าพยายามเพิ่มความชอบธรรมของตัวเองผ่านจีน ประเทศที่มีชื่อเสียงย่ำแย่ต่อการให้ความสำคัญด้านสิทธิมนุษยชน และกระตุ้นสมาชิกอาเซียน ไม่ให้ตกเป็น ‘หุ่นเชิด’ ของจีน

แต่ซาติอาโก กล่าวด้วยว่า การตัดสินใจของอาเซียน เป็นทั้งควาท้าทายและโอกาสอย่างมีนัยสำคัญ

“ผู้นำของเราต้องยืดหยัด และแสดงให้โลกเห็นว่าวิถีทางที่ใหม่และเข้มงวดต่อเมียนมา” เขากล่าว พร้อมเรียกร้องให้มีการแบนเผด็จการทหารจากทุกวงประชุมที่เกี่ยวข้องกับอาเซียน ไม่ให้ผู้นำกองทัพพม่าเดินทางในภูมิภาคได้ และสำหรับอาเซียนต้องมีการเจรจากับ NUG อย่างเป็นทางการ 

ทั้งนี้ รายงานจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือ AAPP เผยว่า นับตั้งแต่กองทัพพม่าทำรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. 64 จนถึงวันที่ 22 พ.ย. 64 มีประชาชนเสียชีวิตจากการกดปราบของกองทัพพม่าแล้วทั้งสิ้น 1,286 ราย และมีการจับกุมผู้ต่อต้านรัฐประหาร รวม 10,380 ราย

 

แปลและเรียบเรียงจาก

China-ASEAN summit begins without a Myanmar representative

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net