Skip to main content
sharethis

เลขา ครป. ชี้รัฐบาลโกหกในเวทีสหประชาชาติ จี้ตรวจสอบเงื่อนงำซีไอเอพบนายกฯ ระบุไทยส่งของบริจาคให้มินอ่องหล่ายเท่ากับสนับสนุนทำสงครามกลางเมืองกับประชาชนพม่า ไม่เคารพจุดยืนอาเซียน พร้อมเชิญฟังเสวนาออนไลน์ถกรายงาน UPR ของไทยที่เสนอไปก็ 'ไร้ความหมาย'

24 พ.ย. 2564 วันนี้ (24 พ.ย. 2564) เวลา 10.30 น. ที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 ตลิ่งชัน เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เดินทางมารายงานตัวตามที่พนักงานสอบสวนนัดส่งตัวผู้ต้องหาและสำนวนคดีต่อพนักงานอัยการ หลังจากขอเลื่อนนัดหมายมาก่อนหน้านี้ ในคดีละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การชุมนุมที่สวนสันติพร อนุสรณ์พฤษภาประชาธรรม ระหว่างวันที่ 4-5 เม.ย. 2564  และได้หนังสือขอความเป็นธรรมปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด โดยขอให้ชะลอเวลาออกไปเพื่อสอบพยานเพิ่มเติมอีก 5 คน หากเป็นคดีที่ไม่เป็นธรรมและทำให้เสียเวลาพนักงานอัยการในการพิจารณาคดีที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ทั้งการสอบไม่ครบถ้วนกระบวนความ ซึ่งทำให้เป็นภาระของอัยการและศาลสถิตยุติธรรม ขอให้อัยการสั่งไม่ฟ้องต่อไป

เมธา ยังกล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมไทยกำลังถูกเลือกปฏิบัติ ตำรวจทำตามคำสั่งทางการเมืองอย่างเข้มงวดเพื่อจับกุมผู้เห็นต่างทางการเมืองดังที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลไทยพึ่งไปให้คำมั่นสัญญาในเวที Universal Periodic Review ที่เป็นกลไกการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐบาลภายใต้สภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนว่า รัฐบาลให้การรับรองสิทธิในการแสดงออก รวมถึงเสรีภาพของสื่อในรัฐธรรมนูญ รวมถึงรัฐบาลสนับสนุนให้มีพื้นที่เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองอย่างสันติในประเด็นการปฏิรูปประเทศ การแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นๆ  รวมถึงในช่วงโควิด-19 รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองชีวิตของประชาชน รัฐบาลมีความระวังอย่างมากในการใช้กฎหมายเพื่อไม่ให้กระทบกับสิทธิในการแสดงออกของประชาชน และอ้างต่อสหประชาชาติว่าประชาชนก็ยังสามารถใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นได้ในสังคม แต่ในทางปฏิบัติไม่เป็นความจริง

แม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญไทยเองยังวินิจฉัยว่า การปราศรัยในการชุมนุมที่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันเป็นการแสดงความคิดเห็นเพื่อล้มล้างการปกครอง และมีประชาชนจำนวนมากไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว ดังนั้น ครป. และเครือข่ายภาคประชาชน จะเคลื่อนไหวตรวจสอบเรื่องนี้โดยจะจัดเวทีออนไลน์วิพากษ์รายงาน UPR ต่อเวทีสิทธิมนุษยชนโลก กับคำมั่นของรัฐไทยที่ไร้หลักประกันในสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในวันพรุ่งนี้ (25 พ.ย. 2564) เวลา 13.00-16.00 น. โดยมีผู้แทนภาคประชาชนร่วมอภิปราย ประกอบด้วย บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ จาก ครป., ศรีประภา เพชรมีศรี อดีตผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยนชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights – AICHR), สรรณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists – ICJ), กษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ เลขาธิการองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-Net) เพื่อจับผิดคำโกหกของรัฐบาลไทยและแก้ไขปัญหาในการละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

นอกจากนี้ เมธายังกล่าวว่ามีความพยายามในการปิดกั้นองค์กรสิทธิมนุษยชนในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล โดยการผลักดันให้ยุบองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (Amnesty International Thailand) ซึ่งการมีอยู่เป็นตัวชี้วัดสิทธิมนุษยชนภายในประเทศเป็นอย่างดี ตนในฐานะอดีตเลขานุการและกรรมการแอมเนสตี้ ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว ถ้าปิดกั้นการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชน ประเทศไทยจะไม่ต่างจากเขมรในอดีตที่ไล่ล่าองค์กรพัฒนาเอกชนออกนอกประเทศจนประเทศเสียหายความน่าเชื่อถืออย่างร้ายแรงในสายตาประชาคมโลก ที่กระทรวงการต่างประเทศไปให้คำมั่นกับสากลก็จะสูญค่าไร้ความหมายไปทันที

น่าเสียดายที่รัฐบาลไทยไม่ทำงานบูรณาการไปในทิศทางเดียวกัน สิทธิมนุษยชนต่างๆ บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศ การแสดงออกภายในย่อมส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย การทำงานที่มีประสิทธิภาพขององค์กรประชาธิปไตยและองค์กรสิทธิมนุษยชนจะยิ่งตอกย้ำว่าประเทศไทยเปิดกว้างและรับรองสิทธิเสรีภาพดังกล่าว ขณะที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นการรวมตัวกันของประชาชนเพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน มีสมาชิกที่ร่วมกันบริจาคเงินกว่า 3 ล้านคน มีสำนักงานกว่า 150 ประเทศทั่วโลก ก่อนหน้านี้มีข้อตกลงว่าจะไม่รณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนภายในประเทศตนเองเพื่อความปลอดภัย แต่ภายหลังมีการตั้งกฎใหม่ว่าให้รณรงค์เรียกร้องสิทธิมนุษยชนภายในประเทศได้ เนื่องจากสมาชิกที่จ่ายค่าบำรุงก็เหมือนประชาชนที่จ่ายภาษีต้องการให้บ้านเมืองของตนเองได้รับการพัฒนาอย่างโปร่งใสและเคารพสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้นายเมธา ยังกล่าวว่า ควรมีการตรวจสอบการเดินทางมาของรอง ผอ.ซีไอเอ ที่มาพบนายกรัฐมนตรีมากกว่าว่ามาตกลงกันเรื่องอะไร ทำไมประชาชนไทยไม่ทราบและมีความโปร่งใสหรือไม่ รัฐบาลนำภัยความมั่นคงมาให้ประชาชนจากความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจหรือไม่ เพราะอาจมีการอนุญาตให้ซีไอเอนำเข้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทางทหารเข้าไปยังสถานกงสุลใหญ่สหรัฐฯ ที่จังหวัดเชียงใหม่และอาจเป็นภัยต่อประเทศ เพราะมีโครงการก่อสร้างอาคารใหม่ที่ใช้งบกว่า  8.8 พันล้านบาท ทั้งๆ ที่มีไม่กี่อาคารแต่มีห้องใต้ดินถึง 7 ชั้น ซึ่งอาจทำให้ประเทศไทยกลายเป็นรัฐกันชนของมหาอำนาจไม่ต่างจากเกาหลีใต้-เกาหลีเหนือในที่สุด

ทั้งนี้ตนอยากตั้งข้อสังเกต การที่รัฐมนตรีว่าการประทรวงการต่างประเทศของไทยเดินทางแอบไปพบกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่ายถึงพม่า เพียง 4 วันหลังให้คำมั่นกับสภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เท่ากับไปรับรองรัฐบาลเผด็จการพม่าที่มาจากการรัฐประหารใช่หรือไม่ และการส่งของบริจาคไปให้ถึง 17 ตัน เท่ากับสนับสนุนสงครามกลางเมืองภายในพม่าให้กองทัพมินอ่องหล่ายใช้ปราบปรามประชาชนพม่านั่นเอง ซึ่งจะขัดกับพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยสนับสนุนสงครามหรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเพื่อนบ้าน และเมินข้อเสนอและจุดยืนของอาเซียนเพื่อสันติภาพและประชาธิปไตยในภูมิภาคร่วมกัน โดยวันที่ 1 ธ.ค. นี้ จะครบรอบ 10 เดือนการรัฐประหารภายในพม่า ครป. จะร่วมกับองค์กรประชาชนระหว่างประเทศรณรงค์ในเรื่องนี้อย่างจริงจังเพื่อให้เปิดประชาธิปไตยภายในทั้ง 2 ประเทศโดยเร็ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net