'ออเดรย์ ถัง' รมว.ดิจิทัลไต้หวันเผยวิธีจัดการกับข้อมูลลวง (disinformation) ต้อง 'เอาความจริงมาพูด'

ออเดรย์ ถัง ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการจัดการกับการแพร่กระจายข้อมูลลวง (disinformation) โดยที่เธอมองว่ามีวิธีการที่ไต้หวันเคยทำสำเร็จมาก่อน คือการอาศัยความเข้มแข็งของภาคประชาชน ร่วมกันกำหนดเกณฑ์ที่ไม่ใช่การบังคับใช้กฎหมายและไม่ต้องอาศัยการแทรกแซงจากรัฐ แต่เป็นการ “กำหนดบรรทัดฐานบนโลกออนไลน์” ที่ทำให้ทุกคนมีแรงจูงใจปฏิบัติตาม และสามารถอภิปรายได้อย่างเปิดกว้าง ปราศจากการแทรกแซงจากภายนอก

25 พ.ย. 2564 สำนักข่าวอัลจาซีราของประเทศกาตาร์สัมภาษณ์ออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลของไต้หวัน โดยระบุว่าเธอคือหนึ่งในนักการเมืองไต้หวันซึ่งเป็นที่รู้จักในระดับโลก และมีชื่อเสียงในฐานะผู้นำไต้หวันในการสู้รบกับการเผยแพร่ข้อมูลลวง (disinformation) ทั้งยังเป็นที่รู้จักในฐานะผู้สร้างโปรแกรมซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส (open-source software) ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน

ถังประกอบอาชีพโปรแกรมเมอร์อยู่แล้วตอนที่เธอเริ่มต้นทำงานให้กับรัฐบาลไต้หวันในปี 2557 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่มีขบวนการดอกทานตะวัน หรือการประท้วงของนักศึกษาเพื่อต่อต้านข้อตกลงการค้ากับจีน ถังเข้าร่วมทำงานในคณะรัฐมนตรีของประธานาธิบดีไช่อิงเหวินมาตั้งแต่ปี 2559 ในฐานะรัฐมนตรีลอย (รัฐมนตรีที่ไม่ได้ประจำกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง เทียบเคียงได้กับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของไทย) และเป็นสมาชิกสำคัญของกลุ่ม ‘รัฐบาลหมายเลขศูนย์’ (gov zero) หรือขบวนการนักเคลื่อนไหวที่สนับสนุนการทำโปรแกรมแบบโอเพนซอร์ส ที่เปิดให้ประชาชนใช้และแจกจ่ายต่อได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยกลุ่มรัฐบาลหมายเลขศูนย์ทำงานให้ทั้งภาคประชาสังคมและโครงการของรัฐบาล

อัลจาซีราสนทนากับถังเรื่องการทำงานต่อต้านการเผยแพร่ข่าวลือเกี่ยวกับโควิด-19 และโซเชียลมีเดียของไต้หวันอย่าง PTT เว็บบอร์ดข่าวของไต้หวันที่มีลักษณะคล้าย Reddit สามารถช่วยแก้ความเข้าใจผิดในเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร

เทคโนโลยีติดตามโควิด-19 ต้องใช้งานง่ายและคำนึงถึงสิทธิทางดิจิทัลที่ครอบคลุม

ถังเล่าถึงโปรแกรมที่ช่วยติดตามผลเกี่ยวกับผู้เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 โดยบอกว่าโปรแกรมนี้ไม่ได้มาจากเธอคนเดียว แต่มาจากผู้คนจำนวนหลายหมื่นคนที่เรียกว่าชุมชน ‘รัฐบาลหมายเลขศูนย์’ ซึ่งช่วยกันพัฒนาจากบริการเดิมของรัฐบาลให้เป็นดีขึ้น โดยปรับปรุงให้เป็นโอเพนซอร์สที่ไม่มีข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์และเปิดให้ประชาชนทั่วไปใช้ได้ อีกทั้งโปรแกรมที่ว่านี้ใช้วิธีการส่งข้อความมาตรฐาน 1922-SMS ที่ไม่มีค่าบริการเพิ่ม เพราะเป็นระบบการติดตามข้อมูลตั้งเดิม เราแค่ดัดแปลงและสร้างระบบขึ้นใหม่ ประชาชนไม่จำเป็นต้องโหลดแอปพลิเคชันใดๆ ทั้งสิ้น

ถังกล่าวว่าสาเหตุที่เธอพยายามหลีกเลี่ยงการโหลดแอปพลิเคชันเพราะต้องการให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงสิทธิทางดิจิทัลได้อย่างครอบคลุม สำหรับเธอแล้ว การเข้าถึงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตบอร์ดแบรนด์ถือเป็น ‘สิทธิมนุษยชน’ แม้ประชาชนส่วนใหญ่ของไต้หวัน แม้กระทั่งผู้สูงอายุจะมีสมาร์ทโฟน แต่กว่าร้อยละ 20 ยังไม่สามารถดาวน์โหลด ติดตั้ง หรือรักษาแอปพลิเคชันในโทรศัพท์ไว้ได้ ด้วยเหตุนี้ แอปพลิเคชันสู้โควิด-19 ของรัฐที่ได้รับความนิยมสุงสุด (NHI Express) จึงมีประชากรเพียง 1 ใน 3 ของประเทศเท่านั้นที่ดาวน์โหลด ดังนั้นเพื่อเป็นการดูแลประชาชนอีก 2 ใน 3 ซึ่งไม่ค่อยใช้แอปฯ จนเป็นนิสัย หรืออีกร้อยละ 20 ที่ไม่เคยดาวน์โหลดแอปฯ เลย การออกแบบระบบที่ไม่ต้องโหลดแอปฯ แต่ใช้เป็น QR Code และรูปแบบที่คล้ายกับการส่ง SMS ซึ่งทุกคนคุ้นเคยจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

ในส่วนของการจัดทำเอกสารรับรองว่าบุคคลนี้ได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้ว หรือวัคซีนการ์ด (Vaccine Card) นั้น ถังบอกว่าไต้หวันใช้มาตรฐานแบบเดียวกับสหภาพยุโรป โดยอาศัยการลงทะเบียนคิวอาร์โค้ดเพื่อติดตามผลการทดสอบหาเชื้อโควิด-19 และบันทึกการรับวัคซีน ซึ่งในตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนที่กระทรวงการต่างประเทศของไต้หวันกำลังหารือทวิภาคีกับหน่วยงานที่มีอำนาจอื่นๆ เพื่อสร้างมาตรฐานเดียวกันสำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ และอาจจะมีแผนเปิดตัวในช่วงปลายปีนี้

รัฐบาลไต้หวันจะไม่มีแผนเปิดตัวแอปฯ อะไรเพิ่มเติม เพราะยึดหลักสิทธิทางดิจิทัลที่ครอบคลุม แต่อาจจะใช้วิธีการทำเว็บไซต์ง่ายๆ ให้คนดาวน์โหลดวัคซีนการ์ดแล้วปรินต์ออกมาได้หรือแสดงผ่านโทรศัพท์มือถือ

'โรคระบาดทางข้อมูลข่าวสาร' คือความท้าทายหลักของการเป็น รมว.ดิจิทัล

อัลจาซีราถามต่อไปว่าไวรัสก่อโรคโควิด-19 ถือเป็นความท้าทายที่สุดสำหรับถังตั้งแต่ดำรงตำแหน่งมาใช่หรือไม่ ถังตอบว่าไวรัสที่แพร่ไปยังร่างกายก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่สำหรับรัฐมนตรีดิจิทัลอย่างเธอแล้ว ไวรัสที่แพร่ระบาดทางความคิดเป็นเรื่องท้าทายยิ่งกว่า ไวรัสทางร่างกายนั้นเป็นปัญหาท้าทายมากสำหรับศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของไต้หวัน แต่สำหรับเธอ ปัญหาที่ท้าท้ายที่สุดคือไวรัสทางความคิด หรือที่เธอเรียกว่า “โรคระบาดทางข้อมูลข่าวสาร” (infodemic) ซึ่งเป็นข้อความที่แบ่งขั้วและบ่อนทำลายซึ่งมาจากมุมต่อต้านสังคมในโซเชียลมีเดีย แปรเปลี่ยนเป็นความเกลียดชัง อาฆาต และการแบ่งแยกเลือกปฏิบัติ ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดสำหรับถัง

ถังยกตัวอย่างเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนการระบาดหนักของโควิด-19 คือเมื่อเดือน พ.ย. 2562 ช่วงที่ใกล้เลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน มีการเผยแพร่ข้อมูลลวงจนเป็นไวรัลในอินเทอร์เน็ต นั่นคือประโยคที่บอกว่า “วัยรุ่นในฮ่องกงได้รับเงิน 20 ล้านดอลลาร์เป็นค่าจ้างให้สังหารตำรวจ” ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริงอย่างแน่นอน แต่ที่แปลกคือมันไม่ได้แพร่หลายในฮ่องกงหรือในที่อื่นๆ แต่กลับมาแพร่หลายในไต้หวัน ข้อความจำพวกนี้เองที่เป็นการพยายามปลุกปั่นและเบี่ยงเบนประเด็นการถกเถียงเพื่อส่งอิทธิพลต่อการหาเสียงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของไต้หวัน

ถังบอกว่าศูนย์ตรวจสอบข้อเท็จจริงของไต้หวันซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยไม่แบ่งแยกฝ่าย พบว่ามีการนำรูปจากสำนักข่าว Reuters ซึ่งเกี่ยวกับการประท้วงในฮ่องกงมาเผยแพร่ต่อ แต่ในรูปต้นฉบับไม่ได้มีข้อความใส่ร้ายแต่อย่างใด เมื่อสืบย้อนกลับไปก็พบว่าข้อความเหล่านี้มาจากหน่วยศูนย์กลางการเมืองและกฎหมายของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งปรากฏบนบัญชี Weibo ซึ่งเป็นบัญชีทางการของหน่วยงานดังกล่าวด้วย

อัลจาซีราถามต่อไปว่าทางการจีนเพิ่มปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารมากขึ้นหรือเปล่า ในช่วงที่จีนยกระดับปฏิบัติการทางทหารอากาศใกล้กับไต้หวัน ถังบอกว่าไม่ได้มากขึ้นเป็นพิเศษ แต่ผู้คนเริ่มรับรู้สถานการณ์จริงมากขึ้นแล้ว เช่น ผู้คนเริ่มต้องการพูดถึงเรื่องเส้นทางการบินที่แท้จริงมากขึ้นแทนที่จะเชื่อข่าวลวง ซึ่งกระทรวงกลาโหมของไต้หวันเผยแพร่เรื่องนี้ทางโซเชียลมีเดียแทบทุกวัน

สำหรับเรื่องข่าวลวงเกี่ยวกับโควิด-19 ที่เคยเป็นปัญหาใหญ่ในไต้หวันเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมานั้น ถังมองว่าปัญหานี้ก็ลดลงเช่นกัน เธอประเมินว่าคนไต้หวันจะรับวัคซีนรวมแล้วร้อยละ 70 ในวันรุ่งขึ้น (นับจากวันสัมภาษณ์) และคนที่รับวัคซีนครบโดสแล้วจะมีประมาณร้อยละ 30 และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ร้อยละ 1 ต่อวัน

การสร้างบรรทัดฐานบนโลกออนไลน์ที่ทุกคนยอมรับช่วยขจัดข้อมูลลวงได้ดีกว่าการบังคับใช้กฎหมาย

ถังเล่าวว่าเธอเริ่มทำงานแก้ไขปัญหาการแพร่กระจายข้อมูลเท็จในปี 2560 ตอนเริ่มต้นรับตำแหน่ง เธอไม่รู้ว่าการแพร่กระจายข้อมูลเท็จและข้อมูลลวงมีแบบแผนอย่างไร และไม่รู้ว่าควรจะโต้ตอบอย่างไร เธอไม่แน่ใจว่าบทสนทนาแบบไหนที่เป็นบทสนทนาทั่วไปในสังคมเสรีนิยมประชาธิปไตย ซึ่งรัฐหรือบรรษัทข้ามชาติไม่จำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซง

ถังมองว่าเรื่องนี้ควรจะปล่อยไปตามธรรมชาติของ เพราะรัฐอนุญาตให้พูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นสาธารณะโดยเริ่มจากในพื้นที่ส่วนตัว จึงเหมือนกับการเปิดประชุมรวมให้คนจำนวนมากมาพูดคุยกัน แต่เลือกสถานที่เป็นไนต์คลับเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยควันบุหรี่ เสียงดนตรีดังๆ เครื่องดื่มที่ชวนเสพติด และการ์ด ถังบอกว่าไม่ใช่ว่าพื้นที่เหล่านี้ไม่ดี แต่มันไม่ใช่พื้นที่ที่เหมาะกับการสนทนาประเด็นสาธารณะจริงจัง นั่นทำให้เธอพยายามอาศัยการจัดหาพื้นที่แบบนี้ในโลกออนไลน์ด้วยการปรับปรุงพื้นที่กระดานข่าวที่มีอยู่แล้วอย่าง PTT ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะปราศจากโฆษณาและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย

ถังมองว่าสิ่งที่จะช่วยต่อสู้กับการกระจายข้อมูลลวงได้นั้นต้องมาจาก ‘การพูดความจริง’ ซึ่งคือการปรับปรุงเว็บบอร์ด PTT ซึ่งเป็นกระดานข่าวสารสาธารณะให้มีมาตรฐาน จนเกิดเป็น “แพ็กเกจบรรทัดฐาน” ซึ่งมาจากการกำกับดูแลตนเอง ไม่ใช่การบังคับใช้กฎหมายหรืออะไรก็ตามที่บริษัทสื่อโซเชียล ซึ่งรวมถึงเฟซบุ๊กนำไปปรับใช้ อย่างน้อยก็ต้องทำตามขอบเขตอำนาจของไต้หวัน ยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นในปี 2562 ก่อนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันในปีถัดมา ไต้หวันเป็นหนึ่งในดินแดนแรกๆ ที่เฟซบุ๊กเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ว่าเส้นทางการเงินการโฆษณาทางการเมืองมาจากไหนบ้างและมีที่มาที่ไปอย่างไร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้กลายเป็นข้อมูลเปิดให้กับนักข่าวสืบสวนสอบสวน

พวกเขาพบว่าโฆษณาทางการเมืองและทางสังคมที่เผยแพร่ในช่วงการเลือกตั้ง โฆษณาบางตัวนั้นได้รับการสนับสนุนมาจากต่างประเทศ แต่ตาม “แพ็คเกจบรรทัดฐานแล้ว” ถังเชื่อว่าภาคส่วนสังคมเข้มแข็งพอและการมีทางเลือกที่เข้มแข็งพอจะกระตุ้นให้ภาคเอกชนทั้งในและนอกประเทศอย่างเฟซบุ๊ก มีแรงจูงใจที่จะปฏิบัติตาม “แพ็กเกจบรรทัดฐาน” ที่สังคมได้ช่วยกันวางไว้

ที่มา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท