Skip to main content
sharethis

เครือข่ายพสกนิกรปกป้องสถาบัน พร้อมด้วยกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และกลุ่มไทยรักษา เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีให้ตรวจสอบองค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (Amnesty International Thailand) ว่ามีการกระทำที่เข้าข่ายกระทบความมั่นคงของประเทศและกระทบต่อสถาบันกษัตริย์หรือไม่ และขอให้ขับไล่องค์กรดังกล่าวออกจากประเทศ โดยมี 'แรมโบ้ อีสาน' เป็นผู้แทนรับหนังสือ พร้อมลั่นวาจา "ถ้าไล่แอมเนสตี้ฯ ออกจากประเทศไม่ได้ จะขอลาออกจากตำแหน่ง"

25 พ.ย. 2564 ไทยรัฐออนไลน์ไลน์ และมติชนออนไลน์รายงานว่า วันนี้ (25 พ.ย. 2564) เวลาประมาณ 10.00 น. นพดล พรหมภาสิต ตัวแทนกลุ่มพสกนิกรปกป้องสถาบัน และอานนท์ กลิ่นแก้ว ตัวแทนกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เดินทางไปที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งตั้งอยู่ภายในที่ชั้น 1 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เพื่อยื่นหนังสือเรื่องร้องเรียนแก่นายกรัฐมนตรี เขอให้ตรวจสอบการทำงานขององค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (Amnesty International Thailand) ว่ามีพฤติกรรมหรือการกระทำที่เข้าข่ายกระทบต่อความมั่นคงของประเทศและสถาบันกษัตริย์หรือไม่ รวมถึงขอให้ตรวจสอบเส้นทางการเงิน และขับไล่แอมเนสตี้ฯ ออกจากประเทศไทย โดยนอกจากตัวกลุ่มทั้ง 2 คนแล้วยังมีประชาชนประมาณ 50 คนเดินทางมาร่วมยื่นหนังสือเรียกร้อง

ตัวแทนกลุ่มทั้ง 2 กล่าวว่าการกระทำของแอมเนสตี้ ประเทศไทยอาจเข้าข่ายการแทรกแซงกิจการภายในประเทศ หลังจากที่ทางองค์กรประกาศแคมเปญเขียนจดหมายล้านฉบับถึงทั่วโลก จี้ทางการไทยให้หยุดดำเนินคดีกับปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง การกระทำเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าแอมเนสตี้ ประเทศไทยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทย รวมถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564 ที่ระบุว่าการกระทำของอานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก, และปนัสยา เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง ซึ่งตัวแทนทั้ง 2 กลุ่มระบุว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กร ดังนั้น การกระทำของแอมเนสตี้ ประเทศไทยอาจถือได้ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสนับสนุนบุคคลหรือกลุ่มบุคคลกระทำการจาบจ้วงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น รัฐบาลต้องให้ความสำคัญเรื่องดังกล่าวโดยเร่งด่วน หากพบข้อมูลหลักฐานอันเชื่อได้ว่าองค์กรดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายแทรกแซงกิจการความมั่นคงของประเทศ ให้ขับไล่องค์กรนี้พ้นออกไปจากประเทศไทย

หลังแถลงข่าวเสร็จสิ้น เสกสกล อัตถาวงศ์ หรือแรมโบ้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาเป็นตัวแทนรับหนังสือร้องเรียนจากกลุ่มพสกนิกรปกป้องสถาบัน⁣และกลุ่ม ศปปส. โดยเสกสกลได้กล่าวว่า "หากตนไล่แอมเนสตี้ฯ ออกจากประเทศไทยไม่ได้ ตนจะลาออกจากตำแหน่ง โดยไม่ออกนอกประเทศ เพราะต้องการมาขับเคลื่อนการไล่แอมเนสตี้ฯ ออกจากประเทศ ร่วมกับพี่น้องประชาชน" ทั้งนี้ เสกสกลกล่าวเพิ่มเติมว่าตนมี 2 แนวทางในการขับไล่แอมเนสตี้ ประเทศไทย คือ อย่างแรก ใช้วิธีกดดันด้วยกฎหมาย และอย่างที่สอง คือ กดดันด้วยพลังของประชาชนที่จงรักภักดีกับสถาบันกษัตริย์ พร้อมเน้นย้ำกว่าตนเป็นผู้ที่รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และพร้อมพลีชีพหากมีใครคิดล้มล้างสถาบันฯ

การยื่นหนังสือเรียกร้องให้ขับไล่แอมเนสตี้ ประเทศไทยในวันนี้ไม่ได้มีเพียงแค่ตัวแทนจาก 2 กลุ่มนี้เท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มไทยรักษาเดินทางมาร่วมด้วย โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ที่ผ่านมา กลุ่มไทยรักษาได้เปิดให้ประชาชนร่วมลงชื่อขับไล่แอมเนสตี้ ประเทศไทย ผ่าน Google Form โดยตั้งเป้าไว้ที่ 1,000,000 รายชื่อ

ทั้งนี้ มติชนออนไลน์ตั้งข้อสังเกตว่า การรวมตัวเพื่อยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลในวันนี้ของกลุ่มพสกนิกรปกป้องสถาบัน และกลุ่ม ศปปส. นั้น ตำรวจได้อำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุมเข้ามาทำกิจกรรมดังกล่าว แตกต่างจากการยื่นหนังสือของกลุ่มสหภาพคนทำงานเมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งตำรวจได้ปิดถนนโดยรอบทำเนียบรัฐบาล เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มสหภาพคนทำงาน สาขานักดนตรีและธุรกิจกลางคืนเข้ามายื่นหนังสือที่บริเวณศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ซึ่งโดยปกติแล้ว หากประชาชนหรือองค์กรใดต้องการยื่นหนังสือถึงรัฐบาลก็ต้องเดินทางมายื่นที่จุดนี้ ทำให้กลุ่มสหภาพคนทำงานต้องเปลี่ยนไปจัดกิจกรรมและยื่นหนังสือที่บริเวณแยกมิสกวันแทน โดยมีสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับหนังสือ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก Amnesty International Thailand ซึ่งเป็นเพจทางการขององค์กรแอมเนสตี้ ประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความ "6 ความจริงที่หลายคงยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล" เพื่อชี้แจงข้อสงสัยและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับองค์กรตามที่กลุ่มบุคคลบางกลุ่มมีการพูดพาดพิง ทั้งเรื่องบทบาทของแอมเนสตี้ฯ ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 การรับเงินสนับสนุนที่มาจากการบริจาคของประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจด้านสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่การรับเงินจากรัฐบาลหรือแหล่งทุนอื่น ความไม่ฝักใฝ่ทางการเมือง รวมถึงเรื่องที่ตั้งของสำนักงานซึ่งกระจายอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก และที่ตั้งของสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ไม่ใช่สหรัฐอเมริกาแบบที่หลายคนมักนำไปกล่าวอ้าง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net