วงถกชี้ 'สัญญาจ้าง-เงื่อนการเมือง-วัฒนธรรม' ทำลายเสรีภาพทางวิชาการ-สร้างการเซนเซอร์

 

  • เก่งกิจ นักวิชาการจากคณะสังคมศาสตร์ มช. แชร์บทบาทของงานวิชาการ ชี้ประเด็นสัญญาจ้างเงื่อนไขการเมืองและวัฒนธรรม เข้ามาทำลายเสรีภาพทางวิชาการ
  • จิตติภัทร จากคณะรัฐศาสตร์ มธ. ชวนย้อนเสรีภาพทางวิชาการ และการเซนเซอร์ในมิติประวัติศาสตร์โลก ผ่าน The idea of the University หนังสือที่เปิดความคิดว่าด้วยเสรีภาพทางวิชาการ สะท้อนให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยควรเป็นพื้นที่ปลอดอำนาจรัฐ
  • ยุกติ นักวิชาการด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เปิดมุมมองสถานะเสรีภาพทางวิชาการไทยผ่านรัฐธรรมนูญ ชี้การคุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการซึ่งเป็นฐานหนึ่งในรัฐธรรมนูญปี 40 ค่อยๆ กร่อนลงก็สูญหายไปเรื่อยๆ ตามเงื่อนไขทางการเมืองที่มันปิดกั้นการแสดงออกมากขึ้น พร้อมกับสะท้อนการเข้าสู่เวทีอำนาจของนักวิชาการไทยผ่านระบบ ‘ผู้ชรา’ ที่ยืดหยัดในแวดวงวิชาการ ชี้การไม่พูดถึงปัญหา-โจมตีผู้เห็นต่าง-คุกคามนักวิชาการต่างประเทศ คือผลกระทบที่เกิดขึ้น

จากกรณีเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2564 ที่ศาลแพ่งไต่สวนครั้งแรกในกรณี ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งต่อผู้ช่วยศาสตร์ตราจารย์ณัฐพล ใจจริง ผู้จัดทำวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500).’ รวมถึงหนังสือขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี และหนังสือขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ ในข้อหาไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง 

เหตุการณ์ดังกล่าวและเรื่องราวทางวิชาการที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ถูกนำมาสะท้อนผ่านห้องเสวนาเพื่อถกชี้ถึงบทบาทของงานวิชาการ เสรีภาพทางวิชาการและการเซนเซอร์ในมิติประวัติศาสตร์โลก พร้อมมุมมองเสรีภาพทางวิชาการไทยผ่านกฎหมายรัฐธรรมนูญ รวมถึงเปิดผลกระทบที่เกิดขึ้นในแวดวงวิชาการไทย

ชมรมหลากทัศนะประวัติศาสตร์ เตรียมอุดมศึกษา เปิดวงเสวนาวิชาการผ่าน Clubhouse ร่วมแลกเปลี่ยนประเด็นเสรีภาพทางวิชาการในสังคมไทย ภายใต้หัวข้อ ‘เสรีภาพทางวิชาการและการเซนเซอร์’ เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2564 โดยมีเก่งกิจ กิติเรียงลาภ รองศาสตราจารย์และอาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.), จิตติภัทร พูนขำ รองศาสตราจารย์และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  (มธ.) รวมทั้ง ยุกติ มุกดาวิจิตร รองศาสตราจารย์และอาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. เป็นวิทยากร

บทบาทของงานวิชาการคืออะไร

เก่งกิจ ระบุผ่านวงเสวนา Clubhouse ดังกล่าวถึงความคิดเห็นในเรื่องบทบาทของงานวิชาการ โดยประเด็นแรกตนมองว่า  การทำงานวิชาการคือการทำหน้าที่ผลิตความรู้ และมีการเผยแพร่ไปสู่พื้นที่ในวงกว้าง ประกอบไปด้วย การพูดคุยในวงวิชาการ หรือการนำไปตีพิมพ์เผยแพร่ต่อสาธารณะ 

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ รองศาสตราจารย์และอาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (แฟ้มภาพ)

ประเด็นที่สอง คือการต่อยอดความรู้ของคนที่เคยค้นคว้าในเรื่องนั้นๆ อาจเป็นต่างประเทศหรือประเทศเดียวกันในคนละบริบท ซึ่งส่วนสำคัญในการต่อยอดความรู้คือต้องมีการถกเเถียงกับงานที่มีมาก่อนหน้า เช่นการทบทวนวรรณกรรมในการทำงานวิจัย หรือแม้กระทั่งการตั้งคำถามกับปรากฎการณ์ที่มองเห็น สงสัย หรือไม่เห็นด้วย

ประเด็นที่สาม ในงานวิชาการเมื่อพูดถึงความรู้หรือตัวผลิตความรู้ ไม่ใช่เรื่องของการถูกผิด รองศาสตราจารย์คณะสังคมศาสตร์ มช. ให้ความเห็นว่า ไม่มีงานวิชาการชิ้นใดที่มีข้อเสนอใดแล้วถูกร้อยเปอร์เซนต์ แต่เป็นกระบวนการนำเสนอแนวคิด ประยุกต์ใช้ทฤษฎี รวมถึงหลักฐานที่พอจะมีในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งหมายความว่างานวิชาการนั้นอาจจะถูกในช่วงเวลาหนึ่ง และอาจจะผิดในช่วงเวลาหนึ่งก็เป็นได้

ประเด็นที่สี่ เก่งกิจมองว่าชุมชนทางวิชาการเป็นส่วนสำคัญที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบ  รวมถึงการให้การสนับสนุนนักวิชาการในการค้นคว้าหาความรู้ และสามารถเป็นที่โต้เถียงกันได้ภายใต้แพลตฟอร์มต่างๆ ในปัจจุบัน แม้ว่างานวิจัยชิ้นนั้นจะตีพิมพ์แล้วก็ตาม

“ชุมชนทางวิชาการที่มีความเป็น Professionalism (ความเป็นมืออาชีพ) ควรที่จะปฎิบัติกับงานวิชาการของคนอื่นในชุมชนเดียวกัน ประหนึ่งว่ามันเป็นข้อเสนอนึง มากกว่าที่จะมองว่าข้อเสนอของคนที่แตกต่างกับเรา หรือคนที่เห็นต่างกับเราเป็นอาชญากรรม” เก่งกิจกล่าว

สัญญาจ้าง-เงื่อนไขการเมือง-วัฒนธรรม ทำลายเสรีภาพทางวิชาการ

รองศาสตราจารย์จากคณะสังคมศาสตร์ มช. ระบุว่า เมื่อพูดถึงเสรีภาพทางวิชาการ ตนมองว่าบริบทประการแรกที่สัมพันธ์เป็นอย่างยิ่งคือรูปแบบของสัญญาการจ้างงาน โดยระบุว่า นักวิชาการส่วนใหญ่หากมีงานประจำนั้นจะทำงานในมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือสถาบันวิจัย ซึ่งต้องขอทุนวิจัยและนำเสนอวิจัย ดังนั้น นักวิชาการจะสัมพันธ์กับรูปแบบการจ้างงาน รวมถึงสัมพันธ์กับแหล่งทุนที่ให้ทุนในการสนับสนุนงานวิจัยด้วยเช่นกัน 

“เสรีภาพทางวิชาการหรือการทำงานวิชาการ มันแปรผันสัมพันธ์กับรูปแบบของการจ้างงาน เราจะเห็นว่ามหาวิทยาลัยเริ่มจะมีรูปแบบการจ้างงานแบบใหม่ ที่จะใช้รูปแบบสัญญาจ้าง 3 - 5 ปี จะไม่มีการจ้างจนถึงอายุ 60 อีกต่อไป และมหาวิทยาลัยก็มีสิทธิ์ที่จะกำหนดได้ว่านักวิชาการคนนั้น ควรจะทำงานวิจัยแบบไหน หรือควรจะเผยแพร่แบบไหน” เก่งกิจกล่าว

นอกจากนี้ เก่งกิจระบุว่า อำนาจของการต่อรอง หรือการนำเสนอความคิดของตนเองที่อาจจะวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจ ซึ่งแน่นอนว่าสภาของมหาวิทยาลัยทุกแห่งจะประกอบไปด้วยผู้ที่ใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์ เพราะฉะนั้นนักวิชาการที่อยู่ในระบบการจ้างงานที่ไม่มั่นคง มีความเสี่ยงที่จะเซนเซอร์ตัวเอง หรือถูกประเมินให้ไม่ผ่านการประเมินงานได้เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้เสรีภาพในการผลิตความรู้จึงถูกทำลายลงไปอย่างมหาศาล

บริบทประการที่สอง คือเงื่อนไขของการเมือง โดยตนเผยว่าสถานการณ์ทางการเมืองหรือความเป็นเผด็จการสัมพันธ์กับเสรีภาพทางวิชาการ โดยเฉพาะหลายปีที่ผ่านมาในยุครัฐบาลปัจจุบันภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งได้ยุบหน่วยงานที่ให้ทุนวิจัยซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระหลายแห่ง เพื่อที่จะไปรวมศูนย์อยู่ที่หน่วยงานสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) หรือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) 

“ยุทธศาสตร์สำคัญของหน่วยงานเหล่านี้ (วช. หรือ สกสว.) คือการที่นักวิชาการที่ได้รับทุนจากแหล่งทุนเหล่านี้ จะต้องมีนโยบายที่เกี่ยวกับประเทศไทย แล้วก็สนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หมายความว่าคนที่ทำงานวิชาการหรืองานวิจัยที่ไม่สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลที่เป็นเผด็จการ ก็จะไม่ได้รับทุนวิจัย หรือไม่ได้รับการสนับสนุน” เก่งกิจกล่าว

บริบทประการที่สาม เก่งกิจให้ความเห็นว่าคือบริบททางวัฒนธรรม เพราะหากความคิดในสังคมไม่เปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็น เคารพเสรีภาพในคนอื่น ดังนั้น การใช้เสรีภาพในเชิงวิชาการก็จะถูกจำกัดไปด้วย นอกจากนี้บริบททางวัฒนธรรมที่เก่งกิจมองว่าสำคัญ คือวัฒนธรรมแบบระบบอุปถัมภ์พรรคพวกในวงการวิชาการ

“การให้ทุนวิจัยหรือการจะเข้าถึงตำแหน่งทางวิชาการคุณจำเป็นที่จะต้องอยู่ภายใต้ชุดความสัมพันธ์แบบแนวดิ่งกับใครสักคนที่เป็น Big name ที่มีอำนาจอยู่ใน วช. หรืออำนาจอยู่ในหน่วยงานภาครัฐ หรือผู้บริหารมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นในสถานการณ์สังคมการเมืองไทยในปัจจุบัน ทั้งบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ และความคิดความเชื่อวัฒนธรรมของคนจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะคนที่อยู่ในแวดวงการศึกษาในระดับอุดมศึกษา กลายมาเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการทำงานวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ การถกเถียงต่อยอด การเสนอมุมมองที่แตกต่าง บรรยากาศอันนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้น” เก่งกิจกล่าว

เสรีภาพทางวิชาการ และการเซนเซอร์ในการมิติประวัติศาสตร์โลก

จิตติภัทร กล่าวเปิดประเด็นแรกในเรื่องของการเซนเซอร์ ว่าเกิดขึ้นมาในพัฒนาประวัติศาสตร์ยุคโบราณ และระบอบการเมืองอำนาจนิยมมาช้านาน เปรียบเหมือนเป็นประวัติศาสตร์คู่ขนานของอำนาจนิยม จิตติภัทรย้ำว่าบทเรียนของประวัติศาสตร์บอกว่ายิ่งปิดกั้น ยิ่งเติบโต ยิ่งหนังสือใดต้องห้าม ยิ่งเข้าถึงมวลชนมากขึ้น ซึ่งกลายเป็นเครื่องมือทางความคิดและอาวุธทางปัญญาในกับผู้คนในสังคม สิ่งเหล่านี้ตนมองว่านับเป็นคุณูปการเชิงบวกของการเซนเซอร์

การเซนเซอร์ในประวัติศาสตร์คือการกด หรือปรามวงวิชาการให้สยบยอมอยู่ใต้อำนาจ ซึ่งเสรีภาพทางวิชาการและการเซนเซอร์นั้นมาพร้อมกับพัฒนาทางการเมือง ซึ่งเสรีภาพทางวิชาการถูกสั่นคลอนโดยการเมืองที่ไม่เสรีมาโดยตลอด  

รองศาสตราจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า เสรีภาพทางวิชาควรถูกทำให้เป็นประเด็นทางการเมืองในความหมายโดยกว้าง มิใช่ความหมายโดยแคบ ที่หมายถึงรัฐตำรวจ หรือทหารที่เข้ามากำกับโลกทางวิชาการ แต่เป็นความหมายโดยกว้าง กล่าวคือ การเปิดพื้นที่สาธารณะให้คุยกันได้อย่างเสรีโดยไม่มีการเซนเซอร์ ถกเถียงโต้แย้งกันได้โดยไม่มีโทษที่ตามมา 

The idea of the University ความคิดว่าด้วยเสรีภาพทางวิชาการกับมหาวิทยาลัย

จิตติภัทร ระบุผ่านวงเสนาในประเด็นเสรีภาพวิชาการกับทางมหาวิทยาลัย โดยหยิบยกหนังสือ The idea of the University เขียนโดย Karl Jaspers มาเล่าว่า เสรีภาพทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยอาจมีพัฒนาการมาพร้อมๆ กัน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีประวัติศาสตร์ทางความทรงจำร่วมกัน บางทีมหาวิทยาลัยก็อาจเป็นตัวกำจัดเสรีภาพทางวิชาการ คำถามคือจะทำอย่างไรให้สองสิ่งนี้เดินไปด้วยกันได้

 

หนังสือเรื่องดังกล่าวว่า ถูกเขียนขึ้นในปี 1923 ต่อมามีการปรับปรุงพิมพ์ซ้ำในภาษาเยอรมันในปี 1946 และปรากฎในฉบับภาษาอังกฤษในปี 1961 จิตติภัทรกล่าวโดยสรุปว่า ในมุมมองของ Jaspers มหาวิทยาลัยมีหน้าที่สำคัญในการพิสูจน์เสรีภาพผ่านความจริง เสรีภาพไม่ได้เป็นแค่เงื่อนไขทางวิชาการหรืองานวิชาการเท่านั้น แต่เป็นเป้าหมายที่จะบรรลุต่อเมื่อชุมชนทางวิชาการร่วมกันปฎิบัติในการแสวงหาความรู้และผลิตสร้างความจริงขึ้นมา

นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มธ. เล่าถึงมุมมองของ Jaspers เพิ่มเติมว่า เขามองว่ามหาวิทยาลัยควรเป็นพื้นที่ที่ปลอดจากอำนาจรัฐ การแสวงหาความจริงวางอยู่บนพื้นฐานการแลกเปลี่ยนข้อโต้แย้งอย่างเสรี การศึกษาวิจัยมันทำให้เห็นประเด็นอะไรบางอย่างชัดเจนขึ้น สามารถก่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา และพยายามที่จะไม่เข้าไปอยู่ในความเย้ายวนของอำนาจบางอย่าง

“เราควรจะต้องปกป้องพื้นที่ทางวิชาการ ที่เราสามารถจะถกเถียงโต้แย้ง คุยกันได้ในเชิง agreement (ข้อตกลง) ต่างๆ ได้อย่างเสรี ถกเถียงกันด้วยการเขียนงานออกมา สนทนากันผ่านรูปแบบวารสารวิชาการ หนังสือวิชาการ เพื่อให้เกิดการผลิตสร้างความรู้ใหม่ๆ ทำให้เกิดการสนทนาใหม่ๆ เพราะว่าสุดท้ายสังคมที่เป็นประชาธิปไตยแล้วจะเปิดกว้าง มันเริ่มต้นจากสังคมที่เคารพเสรีภาพ รวมทั้งเสรีภาพทางวิชาการด้วย” จิตติภัทรกล่าว

สะท้อนสถานะเสรีภาพทางวิชาการไทยผ่านรัฐธรรมนูญ

ยุกติ มุกดาวิจิตร รองศาสตราจารย์และอาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. (แฟ้มภาพ)

ยุกติ ชวนคุยในวงเสวนาดังกล่าว ถึงประเด็นสถานะเสรีภาพทางวิชาการในประเทศไทย ว่าเสรีภาพทางวิชาการในประเทศไทยนั้นค่อนข้างลุ่มๆ ดอนๆ ซึ่งสัมพันธ์กันอย่างชัดเจนตามระบอบการปกครองของประเทศไทย 

รองศาสตราจารย์จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. ยกตัวอย่างกฎหมายรัฐธรรมนูญกับงานวิชาการในประเทศไทย โดยเผยว่า รัฐธรรมนูญเป็นข้อตกลงพื้นฐานที่สังคมยอมรับร่วมกันในระดับนึง หากย้อนกลับไปดูรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 จะเห็นได้ว่ามีการคุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการอย่างชัดเจน แต่หากเป็นรัฐธรรมนูญปี 2560 นั้น มีการคุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการที่แตกต่างออกไป 

รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ระบุอย่างชัดเจนว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในทางวิชาการ การศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัยและการเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการย่อมได้รับการคุ้มครอง และมีข้อความที่ยุกติมองว่ามีความกำกวม คือ ทั้งนี้เท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งตนมองว่าเป็นการเปิดช่องให้ตีความในทางที่กว้างจนเกินไป แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ยุกติระบุว่า รัฐธรรมนูญปีดังกล่าวย่อมคุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการได้ดีกว่าปี 2560 ที่ปัจจุบันสอดคล้องกับโครงสร้างทางการเมือง

“รัฐธรรมนูญ 2540 มันเป็นฐานหนึ่งที่สำคัญในการที่เปิดเวทีให้เกิดการคุ้มครองเสรีภาพในมิติต่างๆ มีคำใหม่ๆ มีแนวคิดใหม่ๆ ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540 มากมาย แล้วสิ่งเหล่านี้ก็สูญหายไป ค่อยๆ กร่อนลงไปเรื่อยๆ มันสอดคล้องกับเงื่อนไขทางการเมืองที่มันปิดกั้นการแสดงออกมากขึ้นเรื่อยๆ” ยุกติกล่าว

การเข้าสู่เวทีอำนาจของนักวิชาการไทย

ยุกติหยิบยกประเด็นระบบการสร้างผู้บริหารระดับสูงในประเทศไทยโดยระบุว่า การสร้างผู้บริหารระดับสูงยังไม่รัดกุมเพียงพอ ซึ่งตนมองว่าเป็นปัญหาของรัฐบาล ตนยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า หากบุคคลใดเคยอยู่ในตำแหน่งคณบดี หรืออธิการบดีในหลายๆ มหาวิทยาลัย คนกลุ่มนี้จะไม่ค่อยมีปากเสียงเกี่ยวกับวงการวิชาการ เพราะบุคคลเหล่านี้หวังว่าเมื่อหมดตำแหน่งดังกล่าวยังสามารถมีหน้าที่การงานและมีอำนาจสืบเนื่องต่อไปเรื่อยๆ ระบบดังกล่าวส่งผลให้สังคมไทยบริหารโดย ‘ผู้ชรา’ มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผู้ชราเหล่านี้ต่างต้องการไต่เต้าในทางการเมือง

“ผู้ชราที่มีอำนาจเหล่านี้ วนเวียนกันไปเป็นกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อที่พวกเขาจะอยู่ในอำนาจได้เรื่อยๆ เขาก็ย่อมที่จะมีแนวโน้มที่จะโอนเอนไปในทางอนุรักษนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ หรือไม่คือเป็นตั้งแต่ต้น แต่ว่าเพิ่งจะมาออกลายตอนแก่ บางคนเขียนหนังสือดูก้าวหน้า แต่ว่าพอท้ายที่สุดก็กลายเป็นผู้ชราที่หวงอำนาจ” รองศาสตราจารย์จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ.  กล่าว

นอกจากนี้ ยุกติระบุเพิ่มเติมว่า ระบบในมหาวิทยาลัยดังกล่าวไม่ได้ต่างกับพรรคการเมืองแต่อย่างใด มิหนำซ้ำอาจสร้างความเลวร้ายกว่า เพราะระบบเหล่านี้จะยังคงอยู่และยั่งยืนต่อไปเรื่อยๆ ยิ่งระบอบการเมืองที่วางอยู่บนระบอบอุปภัมภ์ในปัจจุบันด้วยแล้วนั้น สังคมจะยิ่งเห็นเครือข่ายอนุรักษนิยมเหล่านี้ ที่ต่างดึงผู้ชราที่เกษียณอายุเข้าไปทำงานบริหารในระดับสูง

สะท้อนผลกระทบที่เกิดขึ้นหาก ‘ระบบผู้ชรา’ ยืดหยัดในสังคมวิชาการ

ยุกติสะท้อนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากระบบผู้ชรายังคงวนเวียนอยู่ในระบบสังคมวิชาการว่า ประการที่หนึ่งคือนักวิชาการจำนวนมากไม่ปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ ไม่แสดงออก ไม่พูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่าสังคมวิชาการกำลังเผชิญอยู่กับสิ่งใด 

“ถ้าคุณจะแค่พูดถึงแต่หลักการกว้างๆ โดยที่แอบซุกตัวเองอยู่ในถ้อยคำจากยุคสมัยเมื่อ 2000 ปีที่แล้วอยู่ มันไม่มีประโยชน์อะไร คุณไปอยู่เฉยๆ จะดีกว่า” ยุกติกล่าวพร้อมเสริมว่า ตนเข้าใจว่านักวิชาการดังกล่าวต้องการจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างสุขสบาย แต่สักวันหนึ่งนักวิชาการเหล่านี้อาจถูกคุกคามเสรีภาพทางวิชาการด้วยเช่นกัน

ในประการที่สอง คือการแบ่งค่ายของนักวิชาการเพื่อโจมตีนักวิชาการคนละกลุ่ม ที่มีแนวทางวิชาการที่แตกต่างกัน ซึ่งสิ่งนี้ยุกติระบุว่า ไม่ได้ต่างอะไรจากการล่าแม่มดในสหรัฐอเมริกา ที่หากใครถูกจับจ้องว่าเป็นคอมมิวนิสต์ก็จะถูกกีดกันหรือโดนประนาม

“มีนักวิชาการจำนวนมากที่มีอุดมการณ์ มีความสนใจแนวคิดเกี่ยวกับ Marxism หรือ Communism ก็จะต้องปิดบังซ้อนเร้นตัวเอง มีนักมานุษยวิทยาจำนวนมากในสมัยนั้นที่ไม่สามารถประกาศตัวได้อย่างชัดเจนว่าทำงานตามแนวคิดแบบ Marxism ในประเทศไทยเสมือนว่าจะอยู่ในเส้นทางแบบนั้นแล้ว” ยุกติกล่าว

ประการที่สาม คือผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแวดวงวิชาการนานาชาติ ที่ทำการศึกษาเรื่องเกี่ยวกับประเทศไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิชาการที่มีเพื่อนเป็นนักวิชาการต่างประเทศจะทราบกันเป็นอย่างดีว่านักวิชาการเหล่านี้พบเจอปัญหาใดบ้าง

“พวกเขา (นักวิชาการต่างประเทศ) ถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ พวกตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ในการที่จะเข้า-ออกจากประเทศไทย มีบุคคลจำนวนหนึ่ง อาจจะถึงหลักร้อยหรือหลายสิบคน ที่อยู่ในลิสต์รายชื่อบุคคลต้องสงสัย หรือบุคคลต้องระวัง ที่เมื่อคุณเข้า-ออกประเทศไทย คุณจะโดนกักตัวไว้ ซักประวัติส่วนตัวยาวนานเกินปกติ อาจจะมีถึงขั้นข่มขู่คุกคาม” ยุกติกล่าว

รองศาสตราจารย์จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. กล่าวทิ้งท้ายก่อนปิดวงเสวนาดังกล่าวถึงประเด็นของณัฐพล ใจจริง ว่า ในฐานะการทำงานวิชาการ การนำประเด็นที่เกิดขึ้นของณัฐพลมาทำให้เกิดเป็นเรื่องเป็นราว เป็นสิ่งที่น่าอดสูและน่าละอายใจ

“ถ้าคุณเป็นเจ้าใหญ่นายโต มียศ มีตำแหน่ง มีบรรดาศักดิ์ มาฟ้องร้องนักวิชาการในฐานะที่งานวิชาการนั้นหมิ่นฯ ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่เราสามารถที่จะต่อสู้คดีได้ สิ่งที่ผมคิดว่ามันน่าอดสูมาก คือการที่นักวิชาการด้วยกันเอง บรรดาศาสตราจารย์จำนวนมาก ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรคือความผิดพลาดทางวิชาการ อะไรคือความบกพร่อง หรือว่าอะไรคือการแสดงออกทางวิชาการ”

“กรณีของหนังสือเล่มนี้ มันเป็นเรื่องที่จะต้องเถียงกันว่าตรงนั้นมันคือข้อเท็จจริงหรือการตีความ ข้อเท็จจริงเป็นสิ่งที่บิดเบือนไม่ได้ ถ้าผ่านสายตาของกรรมการวิทยานิพนธ์จำนวนมาก ผมไม่คิดว่ามันคือการบิดเบือนข้อมูล” ยุกติกล่าวทิ้งท้าย

สำหรับ ทอฝัน ช่วยชู ผู้เขียนรายงานชิ้นนี้ เป็นนักศึกษาจากสาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานประจำกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท