ผุดแคมเปญ #ส้นสูงส่งเสียง ส่งรองเท้าไปทำเนียบตบหน้ารัฐบาล-ธัญวัจน์ ก้าวไกล จี้ รบ.เร่งหาทางออก

พนักงานบริการในหลายจังหวัดทั่วประเทศร่วมกับมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ผุดแคมเปญ #ส้นสูงส่งเสียง ร่วมส่งรองเท้าส้นสูงไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อแสดงออกถึงความเดือดร้อนจากมาตรการเลื่อนเปิดสถานบันเทิง ผับบาร์ และธุรกิจกลางคืน พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือเงินเยียวยา 5,000 บาท/เดือน จนกว่าธุรกิจกลางคืนจะกลับมาเปิดตามปกติ ด้าน ส.ส.ธัญวัจน์ ก้าวไกล หารือประธานสภา เรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่งนี้โดยด่วน

25 พ.ย. 2564 สำนักข่าวชายขอบรายงานว่าเมื่อวันนี้ (25 พ.ย. 2564) พนักงานบริการใน จ.เชียงใหม่, เชียงราย, ลำปาง, สมุทรสาคร, อุดรธานี, มุกดาหาร, ภูเก็ต, กระบี่ พัทยา และ กทม. ร่วมกับมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลเพื่อขอให้เยียวยาพนักงานบริการหลังจากรัฐบาลมีคำสั่งปิดสถานบริการ

ในจดหมายเปิดผนึกระบุว่ากลุ่มพนักงานบริการที่รวมกลุ่มกันเพื่อทำกิจกรรมสิทธิของพนักงานบริการ สมาชิกในกลุ่ม คือ คนทำงานบริการในสถานบริการ บาร์ คาราโอเกะ อะโกโก้ อาบอบนวด นวดสปา และคนทำงานในพื้นที่อิสระ รวมไปถึงบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยในการทำงานและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ให้ได้รับสิทธิ ไม่ถูกเลือกปฏิบัติและตีตรา แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ ม.ค. 2563 จนกระทั่งตอนนี้ เป็นเวลากว่า 23 เดือน ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศไทยทั้งธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่ต้องปิดตัวลง ลูกจ้างถูกไล่ออก เกิดภาวะตกงานทั่วประเทศ อีกทั้งการบริหารจัดการแก้ไขของรัฐบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพและล่าช้า

แม้ว่ารัฐบาลจะได้ออกมาตรการต่างๆ มาช่วยเหลือประชาชน เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน เรารักกัน เราชนะ คนละครึ่ง หรือเงินช่วยเหลือจากประกันสังคม แต่พบว่าเงินเยียวยาไม่เพียงพอ ไม่ทั่วถึงกับแรงงานในทุกๆ กลุ่ม เช่น พนักงานบริการที่ไม่มีประกันสังคม กลุ่มแรงงานข้ามชาติและชาติพันธุ์ โครงการเยียวยาต่างๆ ที่รัฐมีนั้นไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา อีกทั้งยังเลือกปฏิบัติไม่ทั่วทั้งประเทศ ไม่ครอบคลุมทุกกลุ่ม

 

ในจดหมายยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า ผลกระทบที่เกิดกับพนักงานบริการและครอบครัวที่ต่อเนื่องยาวนาน คือ ตกงานไม่มีรายได้ จากการถูกสั่งปิดร้าน พนักงานบริการไม่มีประกันสังคมเข้าไม่ถึงเงินว่างงาน อีกทั้งรัฐมีคำสั่งให้ปิดสถานบริการก่อนจนถึงปัจจุบันยังไม่ได้เปิดแต่ไม่เยียวยา รัฐบาลไม่มีแนวทางช่วยเหลือและแก้ปัญหาอย่างชัดเจน สภาพจิตใจย่ำแย่ เครียด

“สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนว่าจะได้กลับไปทำงานอีกเมื่อไร ความไม่ชัดเจนของรัฐบาลสร้างผลกระทบทางจิตใจอย่างหนัก พนักงานบริการประสบปัญหาเงินเก็บหมดไป หนี้สินเพิ่มพูน ทางออกไม่มี ไม่ได้เงินเยียวยา เกิดผลกระทบหนักมากขึ้นต่อพนักงานบริการที่เป็นหลักครอบครัว เป็นแม่ หางานใหม่ไม่ได้เพราะภาคธุรกิจอื่นๆ  ก็ปิดตัวลง” จดหมายถึงรัฐบาลระบุ

ในจดหมายระบุด้วยว่าการแพร่ระบาด โควิด-19 ระลอก 3 รัฐบาลมีคำสั่งให้ปิดสถานบริการ ตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. 2564 และเลื่อนเปิดสถานบริการจาก วันที่ 1 ธ.ค. 2564 ออกไปเป็นวันที่ 16 ม.ค. 2565 รัฐบาลมีคำสั่งเลื่อนเปิดมาแล้วถึง 4 ครั้ง เป็นระยะเวลายาวนานถึง 220 วัน โดยรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาและไม่มีความชัดเจน ไม่มีการช่วยเหลือ มีแต่คำสั่งปิด และเลื่อนเวลาเปิดสถานบริการและไม่มีการช่วยเหลือพนักงานบริการ เราได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2564 ไม่มีคำตอบ จนกระทั่งเราต้องไปเรียกร้องหน้าทำเนียบ วันที่ 29 มิ.ย. 2564 ได้รับคำตอบว่า รัฐบาลเยียวยาแล้วให้ร่วมโครงการที่รัฐบาลมี ซึ่งแสดงให้เห็นชัดว่ารัฐบาลไม่ได้ฟังเสียงผลกระทบของพนักงานบริการว่าเราเข้าถึง ไม่ทั่วถึงและเพียงพอ

ดังนั้น พนักงานบริการยังยืนยันข้อเรียกร้องเดียว คือ ให้รัฐดำเนินการเยียวยาพนักงานบริการเนื่องจากคำสั่งปิดสถานบริการตามมาตราการของภาครัฐ เป็นจำนวนเงิน 5,000 บาทต่อเดือน ให้กับพนักงานบริการและคนทำงานในสถานบริการ ทุกคนจนกว่าสถานบริการจะกลับมาเปิดดำเนินกิจการได้ ทั้งนี้รวมไปถึงคนทำงานในสถานบริการที่มีการจ้างงานชั่วคราวหรือรายครั้งและครอบคลุมถึงคนทำงานที่เป็นชาติพันธุ์และแรงงานข้ามชาติ

“เพราะฉะนั้นในครั้งนี้เราพนักงานบริการจึงออกจดหมายเปิดผนึก โดยมีพนักงานบริการ ในสถานบริการ อาบอบนวด อะโกโก้ บาร์ คาราโอเกะ นวดสปา และพนักงานบริการอิสระออนไลน์ เรียกร้องให้รัฐบาลรับฟังเสียงเรา เพื่อทวงถามให้รัฐบาลรักษาหน้าที่ เร่งดำเนินการเยียวยาให้กับพนักงานบริการตามข้อเรียกร้องดังกล่าวโดยเร่งด่วน”

ไหม จันตา ผู้ประสานงานเครือข่ายพนักงานบริการ มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ กล่าวว่าพนักงานบริการจำนวนมากต้องกลับไปอยู่บ้านในต่างจังหวัด ขณะที่อีกจำนวนไม่น้อยไม่มีบ้านจึงต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด บางคนทำงานออนไลน์ แต่ไม่มีใครอยากพูดเพราะกลัวตำรวจมักล่อซื้อ แต่สำหรับคนสูงอายุที่เคตยทำงานตามบาร์ พอปิดตัวก็ไปสมัครงานที่ไหนไม่ได้ ต้องอาศัยข้าวของหรืออาหารที่มีคนแจกมาเก็บตุนไว้เพื่ออยู่รอดไปวันๆ และพยายามใช้จ่ายให้น้อยที่สุด ทุกคนหวังว่าวันที่ 1 ธันวาคมจะได้กลับเข้าไปทำงาน แต่ก็ถูกเลื่อนออกไปอีก จนไม่มีใครเชื่อรัฐบาลอีกแล้ว

“เราอยากทำมากกว่าจดหมายเปิดผนึก จึงทำคลิปและชักชวนทุกคนร่วมกันส่งรองเท้าไปยังรัฐบาล เพื่อเป็นสัญลักษณ์ตบหน้า และอยากให้เห็นว่าพนักงานบริการไม่ยอมแล้ว” ไหม กล่าว

ไหมยังได้แสดงความเห็นกรณีที่อรัญญา อภัยโส หรือน้องโอลีฟ อายุ 23 ปี แม่ค้าขนมโตเกียวเนยกรอบ ถูกวัฒนธรรม จ.เชียงใหม่ตักเตือนเรื่องการแต่งกายวาบหวิว ว่าทุกคนมีสิทธิทำมาหากินและทุกคนต่างก็ต้องเอาตัวรอดในยุคปัจจุบันซึ่งการแต่งตัวในลักษณะดังกล่าวเป็นจุดขายของเขา แม้บางคนแค่มาดูและไม่ซื้อก็ตาม และในมุมมองศีลธรรมต้องก็ควรดูหลายแง่มุม ทำไมพอดาราใส่โป๊ก็ยังสามารถทำมาหากินได้และไม่มีใครดา แต่พอคนหาเช้ากินค่ำทำบ้างกลับกลับกลายเป็นประเด็นที่ถูกนำไปเชื่อมกับศีลธรรม ซึ่งเรื่องในลักษณะนี้พนักงานบริการเคยโดนมาแล้วเพราะการไม่แยกแยะ (ชมคลิปการรณรงค์แคมเปญ #ส้นสูงส่งเสียง ที่นี่)

ส.ส. ธัญวัจน์หารือในสภาประเด็นธุรกิจและชีวิตกลางคืนที่กระทบยาวนาน

ขณะเดียวกัน ในวันนี้ (25 พ.ย. 2564) ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ - Tunyawaj Kamolwongwat ระบุว่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีกลุ่มนักร้องนักดนตรีมายื่นหนังสือ จากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจกลางคืนนักร้องนักดนตรีนักเต้นไม่สามารถทำมาหากินได้

ตามที่ ศบค. มีกำหนดควบคุม ด้วยการจำกัด และสั่งปิดกิจการ ผับ บาร์ ธุรกิจสถานบันเทิง นั้น รวมเวลา กว่า 15 เดือนภายใน 2 ปีนี้ และเหตุการณ์ซ้ำเติมอีกครั้งจากตอนแรก รัฐบาลส่งสัญญาณปลดล็อก 1 ธ.ค. 2564 แต่มีประกาศจาก ศบค. ว่าธุรกิจกลางคืนยังไม่สามารถเปิดได้ ให้รอหลัง 16 ม.ค. ปีหน้า

จากการประกาศที่สับสน ไม่แน่ใจว่าได้คุยกันไหม แต่ผลก็คือ ธุรกิจกลางคืนนั้นต่างเตรียมตัวเปิดให้บริการ ซึ่งจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาก็ทำให้ร้านต้องมีค่าใช้จ่ายมากมาย อุปกรณ์ แอร์ สินค้าในครัว การเรียกพนักงานกลับมาจากต่างจังหวัดเป็นต้น และทุกอย่างเป็นค่าใช้จ่าย และตนขอย้ำว่า เป็นอาชีพที่ถูกกระทบจากมาตรการของรัฐมากที่สุด จึงได้ขอหารือประธานเพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลพิจารณาดังต่อไปนี้

  1. รัฐบาล ควรหาแนวทางช่วยเหลือ ธุรกิจสถานบันเทิง ศิลปินอิสระ อาชีพคนกลางคืน แบบเจาะจง เป็นการเฉพาะโดยเร็ว
  2. ทบทวนการจำกัดเวลา จำหน่าย เครื่องดื่มแอลกอฮล์ เพราะจากเดิมก็ไม่สามารถขายได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว และยิ่งจำกัดเวลา ส่วนกลางวันก็ควรพิจาณาหากรัฐบาลจะคิดเปิดประเทศ เพื่อโอกาสให้กับการทำมาหากินของผู้ประกอบการ
  3. ขอให้ดำเนินการ เปิดประเทศ เปิดกิจการตามลำดับเวลาที่นายกรัฐมนตรีได้ลั่นวาจาแถลงต่อสาธารณะ ติดขัดประการใดขอให้ชี้แจงต่อราษฎร มิใช่ใชำอำนาจรัฐข่มขู่ จับกุม และ ภาครัฐควรประยุกต์มาตรการ Sha sha+ มาใช้กับธุรกิจสถานบันเทิงให้เขาได้เดินหน้า ทำธุรกิจจ้างงานได้

"อยากให้ท่านนายกรัฐมนตรี และ ศบค เข้าใจว่า เราต้องต่อสู้การแพร่ระบาดร่วมกัน และทุกอย่างจะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เราต้องคำนึงมาตราการผ่อนคลาย ที่ให้ทุกคนทุกอาชีพหายใจได้ ในช่วงปีใหม่เป็นช่วงแห่งความหวังกับทุกคน เราขอเริ่มปีใหม่ด้วยความหวัง อย่าให้พวกเขาเริ่มต้นปีด้วยความสิ้นหวัง" ธัญวัจน์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท