ศาล 'ยกฟ้อง' ศิลปินจาก จ.ภูเก็ต เจ้าของโพสต์ระบุว่าไม่มีจุดตรวจคัดกรองโควิดที่สุวรรณภูมิ

ศาลยกฟ้อง 'ดนัย อุศมา' ศิลปินจาก จ.ภูเก็ต เจ้าของโพสต์โพสต์ไม่เจอเจ้าหน้าที่ตรวจคัดกรองที่สนามบินสุวรรณภูมิเมื่อต้นปีที่แล้ว หลังสู้คดีมา 1 ปี 8 เดือน โดยศาลพิจารณาพยานหลักฐานแล้วเห็นว่าดนัยโพสต์ไปตามความจริง ไม่มีเจตนานำเข้าข้อมูลเท็จ ตามที่ผู้ฟ้อง คือ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวอ้าง

26 พ.ย. 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าวานนี้ (25 พ.ย. 2564) ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องดนัย อุศมา ศิลปินกราฟฟิตี้จาก จ.ภูเก็ต ในคดีโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2563 ระบุว่าตนไม่เจอเจ้าหน้าที่ตรวจคัดกรองโควิด-19 ที่สนามบินสุวรรณภูมิหลังเดินทางกลับจากเมืองบาร์เซโลน่า ประเทศสเปน โดยเขาถูกฟ้องในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (2)

ต่อมาในวันที่ 23 มี.ค. 2563 ดนัยถูกจับกุมที่แกลเลอรี่ส่วนตัวใน จ.ภูเก็ต และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวมาแจ้งข้อหาที่ บก.ปอท. ในกรุงเทพฯ โดยมีป้องเกียรติ ชายะพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดี ป้องเกียรติอ้างว่าสิ่งที่ดนัยโพสต์ไม่เป็นความจริง และทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก เสียความเชื่อมั่นต่อสนามบินสุวรรณภูมิ แต่ดนัยได้รับการประกันตัวในระหว่างต่อสู้คดี โดยใช้หลักทรัพย์ 100,000 บาท

หลังจากนั้น ในวันที่ 12 พ.ค. 2563 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่าอัยการมีคำสั่งยื่นฟ้องดนัยในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (2) ตามที่ป้องเกียรติได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน โดยศาลอาญานัดสืบพยานระหว่าง​​วันที่ 5-7 พ.ค. 2564 ก่อนจะเลื่อนออกมาเนื่องจากสถานการณ์โควิด จนมานัดหมายสืบพยานอีกครั้งในวันที่ 5-7 ต.ค. 2564 และนัดฟังคำพิพากษาวานนี้ (25 พ.ย. 2564)

สำหรับคดีนี้ พนักงานอัยการได้เคยสั่งฟ้องดนัยโดย ขอให้ศาลลงโทษจำเลยในสถานหนัก โดยให้เหตุผลว่า  “เนื่องจากจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องโดยทราบดีว่า การนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จดังกล่าวผ่านช่องทางแอพพลิเคชั่นเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่มีสมาชิกจำนวนมากและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ จะทำให้ข้อมูลเท็จดังกล่าวถูกเผยแพร่หรือส่งต่อในสื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างรวดเร็วในวงกว้าง ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นท่าอากาศยานสำคัญของประเทศ และมีบุคคลใช้สัญจรเกี่ยวข้องจำนวนมาก สร้างความสับสนและตื่นตระหนกในหมู่ประชาชนเป็นวงกว้าง”

ในวันนัดฟังคำพิพากษา ดนัยเดินทางมาที่ศาลพร้อมภรรยาและทนายความ โดยมีคณะทูตจากประเทศออสเตรียและเยอรมนีเข้าร่วมสังเกตการณ์

เวลา 9.40 น. ศาลอ่านคำพิพากษาโดยสรุป พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเดินทางมาจากประเทศสเปน และเปลี่ยนเครื่องที่กรุงอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก่อนเดินทางถึงประเทศไทยในวันที่ 16 มี.ค. 2563 และมีการโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กเรื่องการไม่พบเจ้าหน้าที่คัดกรองบริเวณสนามบิน โดยศาลได้อ่านข้อความเต็มที่ดนัยโพสต์ พร้อมลงภาพสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งเป็นภาพเก่าในปี 2562

ป้องเกียรติ ซึ่งเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง และนักวิชาการสาธารณสุขของสนามบินอีก 2 คนในฐานะพยานฝ่ายโจทก์ เบิกความในชั้นสืบพยานว่าที่สนามบินมีการจัดจุดคัดกรอง มีจุดจอดเฉพาะสำหรับเครื่องบินที่มาจากประเทศในกลุ่มเสี่ยง และมีการจัดเจ้าหน้าที่คัดกรองเพื่อตรวจวัดอุณหภูมิ ซึ่งตัวจำเลยได้เดินผ่านเครื่องวัดอุณหภูมิแล้ว แต่ พ.ต.ท.อิสรพงศ์ ทิพย์อาภากุล รองสารวัตรสืบสวน บก.ปอท. ผู้ทำสำนวนในคดีกล่าวว่ามีความเป็นไปได้ที่ดนัยจะมองไม่เห็นเครื่องวัดอุณหภูมิ เพราะดนัยเดินผ่านจุดคัดกรองตามภาพจากกล้องวงจรปิด แต่ไม่มีท่าทีจะสังเกตเห็นเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ เช่นเดียวกับผู้ที่เดินทางเข้ามาคนอื่นๆ ส่วนภาพสนามบินสุวรรณภูมิที่ดนัยใช้โพสต์ประกอบข้อความดังกล่าว ผศ.เจนพล ทองยืน นักวิชาการ ในฐานะพยานโจทก์ กล่าวว่าเป็นภาพที่สื่อมวลชนใช้ด้วยทั่วไปหากจะสื่อถึงสุวรรณภูมิ ซึ่งดนัยได้ให้การต่อศาลว่าเขาแค่นำภาพมาประกอบโพสต์เท่านั้น

นอกจากนี้ ดนัยยังระบุว่าเขาได้อ่านประกาศมาตรการควบคุมโรคในสถานการณ์โควิดจากเพจ “สถานเอกอัครราชทูต​ ณ กรุงมาดริด” ที่เป็นประกาศเมื่อวันที่ 15 ม.ค 2563  ซึ่งกล่าวถึงขั้นตอนวิธีการเข้าประเทศไทย ที่ต้องมีการตอบแบบสอบถามสุขภาพ การที่เดินทางเข้ามาแล้วไม่พบเจ้าหน้าที่ หรือไม่เห็นเครื่องเทอร์โมสแกนย่อมเป็นไปได้

ศาลเห็นว่าการลงข้อความของจำเลย เป็นการลงไปตามความเป็นจริง โดยไม่ได้มีเจตนาทำให้ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน หรือเจตนาโพสต์ข้อความอันเป็นเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59 บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา จึงพิพากษายกฟ้องและให้คืนของกลาง คือ โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง ให้กับดนัย

ภายหลังฟังคำพิพากษาเสร็จสิ้น ดนัยได้เล่าย้อนไปถึงช่วงที่ถูกดำเนินคดีว่า “ผมนอนสะดุ้งอยู่หลายเดือน เนื่องจากไม่เคยถูกดำเนินคดี” เมื่อแรกเริ่มเดิมทีที่ตนถูกจับและถูกฟ้องคดี คนรอบข้างที่มีความรู้เรื่องกฎหมาย ล้วนแต่บอกให้ตนทำใจว่าตนจะต้องแพ้คดี บ้างก็บอกให้ตนรีบรับสารภาพ ตนสงสัยว่า ตนไม่ผิดจะให้รับสารภาพได้อย่างไร ในเมื่อตนโพสต์ในสิ่งที่ตนได้เจอ

“ปกติใครทำดีผมก็อวยอยู่แล้ว ใครทำไม่ดีผมก็ด่า มันเป็นเรื่องปกติหรือเปล่าที่เราจะวิพากษ์วิจารณ์ ถึงเป็นพ่อผม ถ้าทำอะไรไม่ดี ผมก็พูด”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท