Skip to main content
sharethis

26-27 พ.ย.2564 ที่บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ (Bangkok Citycity Gallery) ซอยสาทร 1 มีนิทรรศการบางกอกอาร์ตบุ๊กแฟร์ ครั้งที่ 4 ในธีม DON’T KEEP YOUR DREAM AT HOME งานจัดแสดงศิลปะและเปิดร้านขายหนังสือทำมือจากหลากหลายคนทำงานหนังสือและศิลปินที่สนใจประเด็นสังคมและการเมืองร่วมสมัยและยังมีของสะสมของพิพิธภัณฑ์สามัญชนและกิจกรรมท่องอาขยานของกลุ่มนักกิจกรรมอย่างนักเรียนเลว 

25 พ.ย.2564 ที่บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ (Bangkok Citycity Gallery) ซอยสาทร 1 มีรอบสื่อของนิทรรศการบางกอกอาร์ตบุ๊กแฟร์ ครั้งที่ 4 ที่รวมผลงานหนังสือและสื่อศิลปะหลายประเภทมาจัดแสดงและให้คนทำหนังสือศิลปะได้เผยแพร่และขายหนังสือของตนเอง โดยงานจะมีขึ้นในวันนี้จนถึงพรุ่งนี้ (26-27 พ.ย.) โดยนิทรรศการครั้งนี้ได้เข้าร่วมกับกิจกรรม Gallery Night 2021ด้วย

นันท์นรี พานิชกุล ผู้จัดการของแกลอรี่ ระบุว่างานครั้งนี้ที่จัดในธีม DON’T KEEP YOUR DREAM AT HOME เพื่อให้ทางศิลปินและคนทำหนังสืออิสระได้เผยแพร่ผลงานของตนเองที่มีความสนใจในประเด็นร่วมสมัยและการเมืองแต่ต้องเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 มา 2 ปีแล้ว โดยงานจะมีทั้งส่วนที่จัดแสดงนิทรรศการและจัดวางโปรเจคต์สิ่งพิมพ์ด้านในแกลอรี่และงานแฟร์จำหน่ายสิ่งพิมพ์ที่จะจัดที่ลานจอดรถด้านนอก รวมไปถึงการฉายหนังกลางแปลงด้วย

ในส่วนของนิทรรศการจะมีซีน (Zine นิตยสารทำมือ) ที่ spacebar zine คัดเลือกมาจาก #WHATSHAPPENINGINTHAILAND ซึ่งเป็นสิ่งพิมพ์ที่นำเสนอเนื้อหาสะท้อนสภาพปัญหาการเมืองในไทยไม่ว่าจะเป็นการใช้กฎหมายจำกัดเสรีภาพการแสดงออก การใช้ความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐมาปราบปรามการชุมนุมทางการเมืองในช่วงรอบปีที่ผ่านมา

กลุ่ม IF WE BURN, & Collective Thai Scripts นำหนังสือรวมสารพัดที่มีทั้งภาพกราฟฟิก ภาพถ่าย บทกวีและเรื่องสั้น โดยส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นในช่วงปี 2559-2562 จะมีบางชิ้นที่เพิ่งถูกทำขึ้นใน 2563 ก่อนที่จะเกิดการชุมนุมทางการเมือง โดยเรื่องราวภายในเล่มสะท้อนถึงความรู้สึกการถูกกดทับและหมดหวังจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ 2549 ปีที่เกิดการรัฐประหารครั้งก่อนจนถึงตอนนี้

ส่วนพิพิธภัณฑ์สามัญชน นำเสื้อยืดรณรงค์ต่างๆ ทั้งใบหน้าของนักโทษการเมือง ยกเลิก 112 และอื่นๆ ไปจนถึงหนังสือพิมพ์ฉบับที่มีการตีพิมพ์ข่าวการชุมนุมทางการเมืองในรอบปีที่ผ่านมา จนถึงแถลงการณ์ที่เปื้อนเลือดของรุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล1 ในแกนนำ “ราษฎร”อ่านในวันเดียวกับที่เธอกรีดแขนตัวเองเป็นสัญลักษณ์ม.112

ในงานยังมีส่วนที่ทางนักศึกษาจากภาควิชาศิลปกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นำผลงานทั้งสิ่งพิมพ์ และอนิเมชั่นมาแสดง ตัวอย่างเช่น อนิเมชั่นสั้น 2 ตอน ที่พูดถึงรัฐบาลเผด็จการทหารที่เข้าไปยึดพื้นที่มาจากที่อยู่อาศัยของประชาชนตัวเองมาสร้างโรงงานผลิตอาวุธ แต่อีกตอนเมื่อรัฐบาลทหารเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสัตว์ประหลาดที่มาบุกกลับไม่มีปัญญาทำอะไรและกว่าจะจัดการได้ก็เกิดความเสียหายไปมากแล้ว หรือลูปโมชั่นกราฟฟิกประเด็น Free Nipple เป็นต้น

นอกจากนั้นบางคนยังมีความสนใจเฉพาะตัวอย่างเช่นงานที่พูดถึงฆาตกรต่อเนื่องในช่วงทศวรรษ 1980 ในสหรัฐฯ เพราะศิลปินสนใจถึงที่มาของฆาตกรเหล่านี้ที่มีชีวิตเติบโตขึ้นมาท่ามกลางสภาพครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งความกดดันจากการสูญเสียพ่อไปจากการร่วมรบหรือการต้องเผชิญความรุนแรงในครอบครัวจากพ่อที่เป็น PTSD

ส่วนของกลุ่มนักเรียนเลวที่ร่วมกับทาง PrachathipaType ทำหนังสือแบบเรียนพยัญชนะไทย 44 ตัว ก-ฮ พร้อมภาพประกอบแต่ละตัวอักษรที่พูดประเด็นสังคมการเมืองแทนและภายในงานทั้ง 2 วันจะมีการแสดงท่องอาขยานให้ฟัง

นอกจากนั้น ARC Press ผู้ผลิตหนังสืออิสระ นำหนังสือ “EBB” ที่รวมภาพถ่ายการชุมนุมทางการเมืองในรอบปีที่ผ่านมาจากช่างภาพ 21 คน นำมาจัดแสดงและขายภายในงาน

กันต์รพี โชคไพบูลย์ หรือหมิง ช่างภาพสายสตรีทและสมาชิกของ ARC Press เล่าว่าหนังสือภาพเล่มเขารวบรวมภายถ่ายจากช่างภาพเหล่านี้ที่เข้าไปถ่ายภาพการชุมนุมในช่วงปีที่ผ่านมาและพวกเขาบางคนก็ยังเป็นผู้ชุมนุมเองด้วยซึ่งตัวเขาเองก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่โดยส่วนตัวเขาเองก่อนหน้านั้นก็ไม่ได้สนใจเรื่องการเมืองมาก่อนเลยแต่ด้วยความเป็นช่างภาพก็เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมและการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ก็เลยทำให้ลองเข้าไปในม็อบนี้ดูแล้วก็เลยได้เห็นหลายเรื่องที่จริงๆ แล้วควรจะต้องพูดได้และหลายเรื่องที่เมื่อก่อนอาจจะไม่กล้าพูดถึงหรือไม่ได้ตั้งคำถามกับมันมาก่อน

“มันทำให้ผมรู้ว่าการเมืองอยู่ในทุกที่ทุกด้านของสังคมเลย การที่เราไม่ได้ตั้งคำถามหรือเพิกเฉยปัญหาก็จะไม่ถูกแก้ไข ทำให้ผมอยากทำอะไรที่มันส่งต่อหรือบันทึกสิ่งนี้ออกไปให้คนอื่นได้เห็น” กันต์รพีกล่าวถึงความรู้สึกที่ได้เข้าไปถ่ายการชุมนุมตลอดปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้นิทรรศการครั้งนี้จำเป็นต้องจองบัตรเข้างานล่วงหน้าเนื่องจากทางสถานที่มีมาตรการป้องกันการระบาดโควิด-19 โดยแบ่งรอบเข้าชมทั้งหมด 2 รอบ/วัน โดยจํากัดจํานวนผู้เข้าร่วมงานที่ 250 คน/รอบ 

  • รอบที่หนึ่ง: 13:00 – 16:00 น.
  • รอบที่สอง: 17:00 – 22:00 น.

บัตรเข้าชมงานจําหน่ายล่วงหน้าออนไลน์ทางเว็บไซต์ https://ticketmelon.com/bkkabf/bkkabf2021 ในราคา 100 บาท/คน/รอบ (เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เข้าฟรี) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ bangkokartbookfair.info

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net