Skip to main content
sharethis

อรรถสิทธิ์เข้าให้การเพิ่มเติม คดีถูกซ้อมทรมานหลังร่วม #ม็อบ29ตุลา ไว้อาลัยเยาวชนที่ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างชุมนุม ทนายความตั้งข้อสังเกต ผ่านไปเกือบเดือนตำรวจยังรวบรวมหลักฐานกล้องวงจรปิดไม่เสร็จ ทั้งที่เหตุเกิดภายใน สน.ดินแดง

26 พ.ย. 2564 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมรายงานว่า เวลา 13.00 น. อรรถสิทธิ์ นุสสะ พร้อมด้วยทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ในนามภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เข้าสอบคำให้การกับพนักงานสอบสวน สน.ดินแดง เหตุถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดินแดง ซ้อมทรมานและทำร้ายร่างกายระหว่างถูกควบคุมตัว ภายหลังเข้าร่วมกิจกรรมไว้อาลัย วาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนวัย 15 ปี ที่ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณหน้า สน.ดินแดง เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2564

อรรถสิทธิ์ กล่าวว่า วันนี้ตนมาให้การเพิ่มเติมกับพนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ในฐานะผู้กล่าวหา หลังแจ้งความร้องทุกข์ไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการ แม้ตนจะรู้สึกว่าไม่สมเหตุสมผล เพราะควรมีหน่วยงานกลางที่สามารถรับเเจ้งเหตุ หรือให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องออกจากราชการหรือสั่งย้ายไปก่อน ไม่ใช่ต้องมาแจ้ง สน.ท้องที่ ที่เกิดเหตุกระทำการทรมานเช่นนี้

“วันที่ถูกจับกุม ผมไม่ได้ทำอะไรผิดเลยแต่ถูกซ้อม และจนถึงตอนนี้ ผ่านมา 28 วันเเล้ว แต่หลักฐานคดีก็ยังไม่คืบหน้า” อรรถสิทธิ์ กล่าว

ขณะที่พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยให้ผู้เสียหายพาไปยื่นหนังสือต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ และไปสอบข้อเท็จจริงกับคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน และเชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดินแดง มาให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินคดี ซึ่งได้รับคำตอบว่า กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ วันนี้จึงถือโอกาสว่า นอกจากผู้เสียหายจะมาให้การเพิ่มเติมแล้ว จะสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลกล้องวงจรปิดที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานยืนยันกับสภาพเนื้อตัวร่างกายผู้เสียหาย และค้นหาความจริงต่อไป

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลว่ามีเหตุการณ์ตามที่ร้องเรียนเกิดขึ้นจริงหรือไม่ หากพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง จะมีการตั้งคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป

ด้านปรีดา นาคผิว ทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมตั้งข้อสังเกตและเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจ จากเหตุที่เมื่อมีการปฏิบัติหน้าที่มิชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ การสืบสวนสอบสวนคดีเป็นไปอย่างล่าช้า แต่เมื่อเป็นคดีที่ประชาชนถูกกกล่าวหากลับมีความรวดเร็วในการดำเนินการ คดีนี้จึงเป็นอีกหนึ่งคดีที่จะสามารถพิสูจน์กระบวนการยุติธรรมในชั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ว่าจะมีความโปร่งใสหรือไม่

นอกจากนี้ ปรีดายังกล่าวว่า ได้ยินว่าหนึ่งในพนักงานสอบสวน สน.ดินแดง แจ้งว่าจะส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการตามมาตรา 157 การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ อย่างไรก็ตาม เมื่อพนักงานสอบสวนรับเรื่องไปแล้วก็ควรจะรีบรวบรวมพยานหลักฐานโดยเร็ว และเร่งดำเนินการต่อไป

การให้การเพิ่มเติมต่อพนักงานสอบสวนของอรรถสิทธิ์วันนี้ ยังระบุให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่ทำร้ายร่างกายและกระทำการทรมานตนในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นเจ้าพนักงานสอบสวนมีหน้าที่สืบสวนคดีอาญา แต่กระทำการใดในตำแหน่งเพื่อเป็นการกลั่นแกล้งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดได้รับโทษ ตามมาตรา 200 ทำร้ายผู้อื่นตามมาตรา 295 ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการหรือไม่กระทำการตามมาตรา 309 และหน่วงเหนี่ยวกักขังตามมาตรา 310

ทั้งนี้ เมื่อ 11 พ.ย. 2564 คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ได้เรียก พ.ต.อ.รัฐชัย ศรีวิชัย ผู้กำกับการ สน.ดินแดง และตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เข้าให้ข้อมูล โดย พ.ต.อ.รัฐชัย ให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการฯ ว่า อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานกล้องวงจรปิด และกล้องที่ติดบริเวณหมวกและหน้าอกของเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจขณะปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งขณะให้ข้อมูลดังกล่าว เป็นเวลาภายหลังเกิดเหตุมาแล้วถึง 11 วัน

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อสอบถาม พ.ต.อ.รัฐชัย ศรีวิชัย อีกครั้งในวันที่ 26 พ.ย. 2564 ผู้กำกับการ สน.ดินแดง ก็ให้ข้อมูลว่ายังอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานดังกล่าว แม้เวลาล่วงเลยไปแล้วกว่า 29 วัน ทั้งที่พยานหลักฐานดังกล่าว อยู่ภายใน สน.ดินแดง และสามารถรวบรวมได้โดยง่ายและรวดเร็ว แต่กลับยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net