Skip to main content
sharethis

โฆษกสำนักงานเลขาธิการสภาฯ แจงไม่จับกุม 'ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์' ตามหมายจับศาลจังหวัดพัทยา ภายหลังเดินทางเข้าประชุมสภาเมื่อ 4 ธ.ค. 2562 เนื่องจากไม่มีคำสั่งศาล และอยู่นอกอำนาจตำรวจรัฐสภา - 'ไพบูลย์' เสนอใช้โปรแกรมประมวลผลเก็บข้อมูลการทำหน้าที่ ส.ส.ในการประชุมสภาฯ สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป


ว่าที่เรือตรียุทธนา สำเภาเงิน ที่ปรึกษาด้านกฎหมายในฐานะโฆษกประจำสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2564 ว่าที่เรือตรียุทธนา สำเภาเงิน ที่ปรึกษาด้านกฎหมายในฐานะโฆษกประจำสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวว่าคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ได้ดำเนินการตรวจสอบกรณีที่มีผู้ร้องเรียนว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องไม่จับกุม พันตำรวจโท ไวพจน์  อาภรณ์รัตน์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามหมายจับของศาลจังหวัดพัทยา ซึ่งเดินทางเข้ามาประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2562 นั้น ขอชี้แจงข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวว่า เมื่อวันอังคารที่ 3 ธ.ค. 2562 ศาลจังหวัดพัทยาได้ออกหมายจับ พันตำรวจโทไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกำแพงเพชร เนื่องจากไม่ไปฟังคำพิพากษาศาลฎีกา โดยไม่มีการส่งหมายจับในระบบออนไลน์ของตำรวจ และไม่มีการส่งหมายจับมายังสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และต่อมาในวันพุธที่ 4 ธ.ค. 2562 ปรากฏว่าพันตำรวจโทไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ ได้มาลงนามเข้าประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้วเข้าห้องประชุมสภาตามภาพปรากฏทางสื่อมวลชน และเดินทางออกไปเวลาใดไม่มีผู้ใดทราบ
            
ทั้งนี้จากผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินในเรื่องเดียวกันนี้ มีผลสรุปตรงกันว่า แม้พันตำรวจโทไวพจน์ ได้เข้ามาประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันพุธที่ 4 ธ.ค. 2562 ภายหลังจากที่ศาลจังหวัดพัทยาออกหมายจับแล้ว แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ไม่ได้รับหมายจับดังกล่าวและไม่ปรากฏข้อมูลการส่งหมายจับในระบบสารสนเทศสถานีตำรวจ (CRIMES) ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การจับนั้นจะต้องมีคำสั่งหรือหมายของศาลในการจับกุม (มาตรา 57) และเมื่อมีการออกหมายจับแล้ว พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจหน้าที่จัดการให้เป็นไปตามหมายจับนั้น เมื่อได้มีการมอบหรือส่งมาให้จัดการภายในอำนาจของเขา (มาตรา 61) โดยการจัดการตามหมายจับ จะจัดการตามเอกสารหรือหลักฐานอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ก็ได้ (1) สำเนาหมายอันรับรองว่าถูกต้อง (2) โทรเลขแจ้งว่าได้ออกหมายแล้ว (3) สำเนาที่ส่งทางโทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่น ซึ่งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา (มาตรา 77) ประกอบกับในการจับจะต้องดำเนินการต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (มาตรา 83) ด้วย
            
จากบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ว่าในการจับบุคคลตามหมายจับนั้น เจ้าพนักงานผู้จับจะต้องมีหมายจับ หรือเอกสารหรือหลักฐานอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 77 หากไม่มีหมายจับหรือเอกสารหลักฐานดังกล่าวแล้ว ย่อมไม่อาจจับกุมบุคคลตามหมายนั้นได้ นอกจากนั้นแล้วในการปฏิบัติหน้าที่ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภา ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. 2554 กำหนดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยและรักษาความปลอดภัยบุคคลและทรัพย์สินภายในบริเวณรัฐสภา โดยในการปฏิบัติหน้าที่นั้นให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และให้มีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาภายในบริเวณรัฐสภา ก็ย่อมต้องอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจับไว้เช่นกัน ดังนั้น การที่จะดำเนินการตามหมายจับตามที่ปรากฏเป็นข่าวผู้ที่เกี่ยวข้อง จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ภายใต้บังคับบทบัญญัติของกฎหมาย อีกทั้งต้องคำนึงถึงการป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์รุนแรง อันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และความไม่ปลอดภัยต่อบุคคลและทรัพย์สินภายในบริเวณรัฐสภาด้วย

'ไพบูลย์' เสนอใช้โปรแกรมประมวลผลเก็บข้อมูลการทำหน้าที่ ส.ส.ในการประชุมสภาฯ สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป

เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2564 นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงการติดตามการปฎิบัติหน้าที่ของ ส.ส.ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า การประชุมสภาฯ สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป ตนได้เสนอให้มีการเก็บข้อมูลโดยใช้โปรแกรมประมวลผล เพื่อให้ได้ข้อมูลว่าสมาชิกที่เข้าประชุมมีจำนวนเท่าใด และลงมติกี่คน โดยลงรายละเอียดตั้งแต่พรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน ระดับพรรคการเมือง และระดับรายบุคคล เพื่อเก็บเป็นฐานข้อมูลและเผยแพร่ในเว็บไซต์ สื่อโซเชียลมีเดีย ตลอดจนแถลงข่าวอย่างเป็นทางการให้ประชาชนรับทราบต่อไป เนื่องจากการประชุมเป็นหน้าที่ที่สมาชิกทุกคนต้องปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 114 ที่ระบุถึงการทำหน้าที่ “ผู้แทนปวงชน” ของ ส.ส.ไว้ชัดเจนว่า ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม ปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร หมวด 2 ข้อ 14 กำหนดให้ ส.ส.ต้องอุทิศเวลาให้แก่การประชุม โดยคำนึงถึงการตรงต่อเวลาและต้องไม่ขาดการประชุมโดยไม่จำเป็น อีกทั้งเงินเดือนของสมาชิกยังมาจากภาษีของประชาชน ดังนั้น การรักษาองค์ประชุมเป็นหน้าที่ของ ส.ส.ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติร่วมกันไม่ใช่เฉพาะฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น เพื่อให้การประชุมสภาผู้แทนราษฎรสามารถดำเนินไปได้ด้วยดีและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน


ที่มาเรียบเรียงจากเว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา [1] [2]


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net