เสวนา 'เลือกตั้ง อบต.ชายแดนใต้' ชี้อบต. ตอบโจทย์ชีวิตประจำวันของชาวบ้าน

เสวนาออนไลน์ 'เลือกตั้ง อบต. บทบาทและความหวังต่อการแก้ปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้' นักวิชาการชี้ อบต. ตอบโจทย์ชีวิตประจำวันของชาวบ้าน และเงินซื้อเสียงเป็นสัญลักษณ์เชิงบารมีและความสัมพันธ์แบบพึ่งพา - ท้องถิ่นออกแบบวิถีชีวิตตัวเองได้ รัฐต้องกระจายอำนาจให้องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น

โค้งสุดท้ายก่อนมีการเลือกตั้ง อบต. ในวันอาทิตย์ที่ 28 พ.ย. 2564 หลังถูกแช่แข็งมากกว่า 7 ปี จากการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจบริหารประเทศ เครือข่ายนักวิชาการศึกษานโยบายการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คนศ.จชต.) ร่วมกับ สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักสื่อวาร์ตานี เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์เลือกตั้ง (We Watch) จัดเสวนาออนไลน์เรื่อง “เลือกตั้ง อบต. บทบาท และความหวังต่อการแก้ปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้” ผ่านเพจ Wartani เมื่อ 25 พ.ย. 2564 เวลา 14.00-16.00 น. โดยมีผู้ร่วมเสวนา คือ รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล กรรมการกระจายอำนาจ อาจารย์อสมา มังกรชัย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และคุณมูหามะอาลาดี เด็งนิ ประธานสมัชชาภาคประชาสังคมชายแดนใต้ CAP ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ดูบันทึกการเสวนาย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/wartanimap/videos/421305749528262)

อบต. องค์กรที่ชาวบ้านเลือกตั้งเพื่อกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง

ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ ชี้แจงว่าการเลือกตั้ง อบต. ที่จะมีขึ้นในวันที่ 28 พ.ย. นี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อวิถีชีวิตชาวบ้านชนบท เพราะ อบต.เป็นองค์กรที่ใกล้ชิดกับชาวบ้าน และเป็นพื้นฐานประชาธิปไตยที่สำคัญเพราะเป็นองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งและการกระจายอำนาจ เป็นเวทีกำหนดชะตากรรมชีวิตตัวเองได้อย่างแท้จริง ซึ่งในบริบทปัญหาชายแดนภาคใต้ ชาวบ้านคาดหวังว่า อบต. จะเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมเศรษฐกิจ ด้านความมั่นคง การเมือง สังคม การจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืนและเกิดประโยชน์มากที่สุด รวมทั้งกรณีโควิด-19 กับการแพร่ระบาดและการบริหารจัดการ 

ส่วนกลางรวบอำนาจอย่างแยบยล: กระจายงานให้ แต่ไม่กระจายอำนาจและรายได้การคลังท้องถิ่น 

รศ.ดร.ธนพร ศรียางกูร อธิบายว่าคณะกรรมการกระจายอำนาจเป็นกลไกรัฐบาล มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เป็นรองประธาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีความสำคัญที่แท้จริงต้องพิจารณาจาก “ความเป็นอิสระ” บริหารจัดการอย่างเต็มที่ ผานกลไกสภาท้องถิ่น เป็นอิสระได้ต้องมาจากการเลือกตั้ง แม้จะมี พ.ร.บ.ในการจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นต่างๆ เป็นของตัวเอง แต่ พ.ร.บ. อย่างเดียวไม่ครอบคลุมเป้าหมายให้แต่ละองค์กรบริหารจัดการ ในรัฐธรรมนูญ 2540 จึงมีข้อกำหนดว่าต้องสร้างความเข้มแข็งชาวบ้านด้วย จึงมี พ.ร.บ.กำหนดแผนขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ด้วย 2 ฉบับ จะกำลังจะออกฉบับที่ 3

แผนขั้นตอนการกระจายอำนาจ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2543-49) ถ่ายโอนภารกิจให้ท้องถิ่น 245 เรื่อง ถ่ายโอนไปแล้ว 186 ภารกิจ คิดเป็น 75.92 % คงเหลือภารกิจที่ยังไม่ถ่ายโอนทั้งสิ้น 59 ภารกิจ กระทรวงที่ไม่ถ่ายโอนภารกิจให้ อบต. มากที่สุดหรือเรียกได้ว่าไม่ถ่ายโอนเลยก็ว่าได้ คือ กระทรวงสาธารณสุข ภารกิจเหล่านี้มักจะถูกอธิบายว่าเป็นเรื่องของความเชี่ยวชาญชำนาญเฉพาะด้าน ท้องถิ่นยังไม่พร้อม เพราะฉะนั้นเรื่องแบบนี้จึงเป็นเรื่องที่รัฐส่วนกลางเป็นคนจัดการ นี่จึงเป็นคำตอบว่าทำไมสถานการณ์โควิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้มันถึงเละเทะอย่างไม่มีชิ้นดี ก็เพราะว่ารัฐไม่ไว้วางใจท้องถิ่น ไม่ถ่ายโอนให้ภารกิจนี้มาให้ ส่วนในแผนขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2550-55) มีภารกิจต้องถ่ายโอนทั้งสิ้น 114 งาน ถ่ายโอนไป 77 งาน หรือ 67.54 % การถ่ายโอนมีลักษณะแบบเดียวกันคือถ่ายโอนแต่ภารกิจที่ส่วนกลางไม่ต้องการทำ แต่ภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการคลังท้องถิ่นและอำนาจบังคับใช้ไม่ถ่ายโอน ซึ่งจะมีปัญหาตามมามาก เช่นกรณีไฟไหม้โรงงานหมิงตี้ บางพลีน้อย สมุทรปราการ 

“การที่ อบต. ไม่พร้อม มันไม่ได้เกิดจาก อบต. มันเกิดจากรัฐส่วนกลางไม่ยอมให้พร้อม วิธีการที่ไม่ยอมให้พร้อมแนบเนียนที่สุดคืออะไรครับ คืออำนาจที่เกี่ยวข้องกับการคลัง พูดง่ายๆ ก็คือ คุณเอางานไป แต่คุณไม่มีตังค์ พอคุณไม่มีตังค์ คุณก็ทำงานไม่ได้ พอคุณทำงานไม่ได้ ชาวบ้านเขาก็มองว่าพวกคุณไม่มีน้ำยา พอพวกคุณไม่มีน้ำยา พวกผมมีน้ำยากว่า อันนี้คือความแนบเนียน เราอย่าไปติดภาพลวงตาของเสาไฟฟ้ากินรี มี อบต. แบบนั้นจำนวนไม่มาก แต่ อบต. ส่วนใหญ่ของประเทศไทย ผมกล้าพูดเลยว่ารายได้ท้องถิ่นส่วนใหญ่มาจากเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลาง เพราะเราถูกฟรีซ แบบนี้ไงครับ” รศ.ธนพร กล่าว

รศ.ธนพร ยังย้ำอีกว่า ทุกวันนี้เหลือเพียง อบต. ที่เป็นองค์กรท้องถิ่นที่ชาวบ้านเลือกตั้งขึ้นมา มีการกำหนดวาระที่แน่นอน และต้องฟังเสียงชาวบ้าน หากเทียบกับกลไกอื่น กำนันก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ได้มาจากการเลือกผ่านผู้ใหญ่บ้าน ส่วนผู้ใหญ่บ้านก็ถูกเลือกครั้งเดียวและครองตำแหน่งไปจนเกษียณอายุราชการ ขณะที่ คสช. รัฐบาล และพรรคพลังประชารัฐก็มอง อบต.เป็นไส้ติ่งที่อยากตัดทิ้ง วางแนวนโยบายที่หันไปใช้กลไกกำนันผู้ใหญ่บ้านเพื่อคงอำนาจรัฐราชการรวมศูนย์ ทั้งที่จริงแล้ว อบต. มีศักยภาพที่จะเติบโตในฐานะเป็นองค์กรของประชาชน และทำภารกิจตามความต้องการท้องถิ่นได้มากกว่านี้ ชาวบ้านมีสิทธิเลือก วิพากษ์วิจารณ์ และเปลี่ยน  อบต. ได้ แต่ชาวบ้านไม่สามารถเปลี่ยนผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ ศอ.บต. หรือปลดแม่ทัพภาค 4 ได้

“เพราะรัฐไม่อยากให้ อบต. โตไปกว่านี้ แต่ผมก็ขอย้ำว่าขนาดโดนฟรีซขนาดนี้ โดนบีบให้แคระแกร็นอย่างนี้ อบต. ก็ยังมีความงดงามเพราะมาจากการเลือกตั้งแล้วก็ยังทำอะไรได้หลายอย่าง อย่างที่พี่น้องในพื้นที่ได้รู้ได้เห็น และผมอยากจะขอแถมอีกอย่างหนึ่งว่าจริงๆ แล้ว ถ้า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แปรสภาพจากการบริหารส่วนภูมิภาคเป็นพื้นที่พิเศษทางการปกครองท้องถิ่น ผมเชื่อว่าปัญหาหลายๆ อย่างคลี่คลายไปแล้ว” 

รศ.ดร.ธนพร ยังเชิญชวนให้ทุกคนไปแสดงพลังผ่านจำนวนผู้ไปเลือกตั้ง อบต. ในวันที่ 28 พ.ย. นี้ ซึ่งเป็นการเลือกตั้ง อบต. ครั้งแรกหลังถูกรัฐประหารมาเกือบ 8 ปี เพื่อแสดงให้เห็นว่าประชาชนต้องการองค์กรที่มาจากประชาชนเลือกเอง 

อบต. ตอบโจทย์ชีวิตประจำวันของชาวบ้าน และเงินซื้อเสียงเป็นสัญลักษณ์เชิงบารมีและความสัมพันธ์แบบพึ่งพา

อาจารย์อสมา มังกรชัย อธิบายว่า อบต. มักถูกดูแคลนว่าทำภารกิจเช่นสร้างถนน ประปา สร้างโครงสร้างพื้นฐาน แต่ก็ต้องย้อนถามกลับว่าถ้า อบต. ไม่ทำแล้วใครจะทำ ภารกิจที่ อบต.ทำเป็นภารกิจที่ตอบโจทย์ในชีวิตประจำวันของชาวบ้านที่เลือกเขามา เช่น ได้ช่วยเหลือผู้สูงอายุไหม ได้อุดหนุน “ตาดีกา” (โรงเรียนสอนศาสนา ภาษามลายู และการใช้ชีวิตพื้นฐานสำหรับเด็กเล็ก ถึงชั้นประถม สอนในวันเสาร์อาทิตย์ มักตั้งอยู่ในเขตมัสยิดต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้) ไหม หรือสนับสนุนงาน “ตาดีกาสัมพันธ์” (กิจกรรมการระดมทุนหรือแข่งขันกีฬาประจำปี อาจจัดในระดับหมู่บ้านหรือระดับตำบลที่เป็นการรวมตัวกันจองเครือข่ายตาดีกาหลายๆ แห่ง) ไหม ซึ่งขาดไม่ได้เพราะเป็นอัตลักษณ์ ความภูมิใจ และเกี่ยวพันกับเรื่องศาสนา จนกลายเป็นงานงบประมาณประจำปีของ อบต. ที่จะขาดไม่ได้ 

นอกจากนี้เรายังเห็นความตื่นตัวทางการเมืองของกลุ่มเยาวชน ซึ่งพวกเขาก็จะกลายเป็นกลุ่มที่มีพลังสร้างความเปลี่ยนแปลงในการเลือก อบต. ในครั้งนี้ได้ ในด้านความสัมพันธ์ทางอำนาจ ของ อบต. ในพื้นที่ชายแดนใต้พบว่าปัจจุบัน อบต. ในสามจังหวัดชายแดนใต้ มีความเป็นมาเฟียท้องถิ่น หรือ “แดแบ” น้อยลงจากในอดีต แต่เมื่อเทียบกับโครงสร้างการทำงานแบบรัฐที่อัดฉีดงบประมาณมาให้องค์กรซึ่งมีพลเรือนอาสาติดอาวุธ ก็จะถือได้ว่า อบต. เป็น “แดแบ” น้อยกว่า เพราะ อบต. ไม่มีอาวุธ แต่หากเกิดการรวมศูนย์อำนาจในพื้นที่และชุมชน กลุ่ม อบต. กลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คือกลุ่มเดียวกัน หรือบางทีก็เป็นสายตระกูลเดียวกันทั้งบ้าน เช่น ลูกชายเป็น อบต. พ่อเป็นกำนันเก่า อาอีกคนเป็นผู้ใหญ่ หย่อมบ้านนี้จะถูกกุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และชาวบ้านก็จะกลัวด้วย 

อาจารย์อสมา คลี่ภาพให้เห็นอีกว่าการซื้อขายเสียงในพื้นที่ชายแดนใต้มีข้อสังเกตว่า “อบต.” และ “ส.ส.” ที่ไม่ใช่อย่างที่เราคิด การเมืองท้องถิ่นชายแดนใต้เป็นการเมืองผ่านตัวแทน ที่ต้องมีนายหน้าหรือพ่อสื่อเสมอ และทำหน้าที่ไปยิง (ซื้อเสียง) หัวคะแนนที่ดีที่สุดเป็นเครือญาติที่ร้อยรัดกันแน่นหนาและมีบทบาทมาก เงินจึงไม่ใช่แค่เงิน แต่เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงบารมี และความสัมพันธ์แบบพึ่งพาระหว่างผู้ลงเลือกตั้งกับชาวบ้านที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ นี่คือคนดี คือ morality หรือคุณธรรมแบบชาวบ้าน

“ทำไมพี่น้องชายแดนใต้ที่ยังรับเงิน ยังคาดหวังแบบนี้กับ อบต. และนักการเมืองของเขา ชาวบ้านที่นี่เขาไม่ได้คิดว่าเขาเป็นพลเมือง เขาคิดว่าเขาเป็นผู้อยู่ใต้ปกครอง และ mentality หรือสำนึกของผู้อยู่ใต้การปกครองจะให้เขามามีส่วนร่วมอะไรนักหนา จะให้เขา โอ้โห! มารักษาเกียรติภูมิของการเป็นผู้มีสิทธิมีเสียง เขาไม่ได้เป็นพลเมืองด้วยซ้ำภายใต้รัฐนี้ เขารู้สึกว่าเขาถูกปกครอง กลไกของการที่ว่าเขาจะเลือกใคร หรือว่า อบต. มันคือการที่เขากำลังต่อรองกับอำนาจในชุมชนเขาอยู่ เขาเลือกคนที่จะดูแลเขา คนที่จะให้ผลประโยชน์แก่เขาได้อย่างจริงแท้แน่นอน อย่างในชีวิตจริง ไม่ต้องมาอุดมการณ์ขายฝันสวยหรู เขาไม่เก็ต เขาไม่เก็ตก็ไม่ใช่ว่าเขาโง่ ไม่มีอุดมการณ์ เพราะว่ามันไม่เคยมีของจริงให้เขาเห็น”

ท้องถิ่นออกแบบวิถีชีวิตตัวเองได้ รัฐต้องกระจายอำนาจให้องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น

คุณมูหามะอาลาดี เด็งนิ กล่าวว่าตนก็เคยเป็นกลุ่มคนที่วิจารณ์ อบต. มาก่อน หลังรัฐประหารก็มีอาการตาสว่าง เฝ้าติดตามการใช้งบประมาณของรัฐ พอเจอโควิด-19 ก็ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับ อบต. ก็เห็นข้อจำกัดของนายก อบต. ปัจจุบันนี้มีผู้ที่ตื่นตัวทางการเมืองและนักกิจกรรมทางสังคมลงสมัครสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกันมากขึ้น โดยหวังว่าจะได้เข้าไปทำงานตอบโจทย์ปัญหาในพื้นที่ รวมทั้งเมื่อตนได้ฟังว่ายังมีอีกหลายภารกิจที่ยังไม่ได้ถ่ายโอนให้ท้องถิ่น ซึ่งหากถ่ายโอนมาได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา ภาษา วัฒนธรรม ที่มีความสอดคล้องกับพื้นที่ ไม่ใช่กำหนดจากส่วนกลางทั้งหมด เช่น ท้องถิ่นสามารถออกแบบการศึกษาเองได้ เพิ่มเติมหลักสูตรการศึกษาได้ บางทีก็อาจช่วยให้ปัญหาความไม่สงบเบาบางลงได้ ลดความอัดอั้นตันใจจากการที่ต้องปฏิบัติตามสิ่งที่ถูกกำหนดมาจากส่วนกลางลงได้บ้าง

“ถ้ารัฐสามารถกระจายอำนาจไปยัง อบต. เพื่อให้ชาวบ้านมันมีความใกล้ชิดกับกลไกของรัฐมากขึ้น แน่นอนว่ามันก็จะลดความอัดอั้นตันใจของชาวบ้านในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เรื่องการทำบัตรประชาชน ภาษา วัฒนธรรม ลงได้ ซึ่งมันควรจะเป็นตั้งนานแล้ว แต่ด้วยรัฐมองว่ามันต้องเป็นของจากส่วนกลางทั้งหมด อะไรก็ต้องให้ส่วนกลางคิด การศึกษาก็มาจากส่วนกลาง ปัญหาของประเทศไทยในอนาคตผมมองว่ามันก็จะเป็นปัญหาทั่วทั้งประเทศไทย ทั้งภาคอีสาน มันก็จะมีปัญหาบูลลี่คนอีสาน บูลลี่คนภาคใต้ ในอนาคตผมมองว่าคนในภูมิภาคมันจะมีความเป็นตัวตนมากขึ้น ในอนาคตถ้ารัฐส่วนกลางยังไม่พยายามที่จะกระจายสิ่งเหล่านี้ลงไปมันก็จะเป็นปัญหา ไม่ใช่เฉพาะในสามจังหวัดชายแดนใต้ แต่เป็นปัญหาทั่วประเทศไทยในอนาคต”
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท