Skip to main content
sharethis

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมามีการพูดถึงโคโรนาไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่าสายพันธุ์ 'โอมิครอน' (Omicron) ตรวจพบครั้งแรกที่แอฟริกาใต้ ทำให้มีมาตรการจำกัดการเดินทางเกิดขึ้นทั่วโลกและมีความกังวลว่าอาจจะเกิดการระบาดหนักครั้งใหม่หรือไม่ มีการรวบรวมข้อมูลจากสื่อเกี่ยวกับสายพันธุ์โอมิครอนเอาไว้ดังนี้


ที่มาภาพประกอบ: Wikipedia

องค์การอนามัยโลกได้ระบุชื่อสายพันธุ์ไวรัส SARS-CoV-2 ที่ก่อโรค COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ให้ชื่อว่าโอมิครอน โดยที่ระบุว่าในตอนนี้ยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบเกี่ยวกับสายพันธุ์นี้อีกมาก นักระบาดวิทยาขององค์การอนามัยโลกก็บอกว่าในตอนนี้กำลังมีงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้หลายชิ้นและต้องคอยจับตาดูกันต่อไปว่าจะมีคำตอบทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสายพันธุ์นี้อย่างไรบ้าง แต่ก็มีบางเรื่องที่สื่อได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุ์โอมิครอนแล้ว

ตรวจพบสายพันธุ์นี้ที่ไหนบ้าง?

สื่อซีเอ็นเอ็นระบุว่ามีการตรวจพบไวรัสที่ก่อโรค COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ แอฟริกาใต้, บอตสวานา, ฮ่องกง และเบลเยียม

WHO เปิดเผยเมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่ผ่านมาว่ามีการตรวจพบครั้งแรกที่แอฟริกาใต้เมื่อวันที่ 9 พ.ย. และกรณีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนนี้ก็ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกือบทุกจังหวัดของประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งสถิติการได้รับวัคซีนของชาวแอฟริกาใต้ตอนนี้อยู่ที่น้อยกว่าร้อยละ 36 จากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นวัยผู้ใหญ่และในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาก็มีคนเข้ารับวัคซีนน้อยลง

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ชาวแอฟริกาใต้รายหนึ่งที่เดินทางเข้าฮ่องกงได้รับการตรวจพบยืนยันว่ามีเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน และมีการตรวจพบรายที่สองเป็นคนที่เดินทางกลับประเทศในโรงแรมที่ถูกจัดให้เป็นชั้นกักกันโรค ในวันที่ 26 พ.ย. ทางการเบลเยียมก็เปิดเผยว่ามีคนที่เดินทางจากอียิปต์และยังไม่ได้รับวัคซีนได้รับการตรวจพบเชื้อสายพันธุ์นี้ ทำให้กลายเป็นเคสสายพันธุ์โอมิครอนรายแรกในยุโรป

ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อยุโรประบุเมื่อวันที่ 26 พ.ย. ว่า สายพันธุ์โอมิครอนมีศักยภาพในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ทำให้มีความเป็นไปได้ที่อาจจะมีการติดต่อของโรคได้ง่ายขึ้นเมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลตา มีการประเมินว่ามีความเสี่ยง "สูงถึงสูงมาก" ที่จะแพร่กระจายในยุโรป เว็บไซต์ไซเอนซ์โฟกัสระบุว่าในตอนนี้ยังไม่พบว่ามีกรณีของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนในสหราชอาณาจักร ในสหรัฐฯ สถาบันควบคุมโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อก็แถลงในวันที่ 26 พ.ย. ว่ายังไม่อะไรชี้วัดว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนในการกลายพันธุ์ที่ง่ายมากอาจจะทำให้ติดต่อได้ง่ายขึ้น แต่วัคซีนก็ยังคงมีประโยชน์ในการต้านไวรัส

ถึงแม้จะมีความกังวลกันในหมู่นักวิทยาศาสตร์ด้านพันธุกรรมจากแอฟริกาใต้ว่าการที่สายพันธุ์โอมิครอนมีการกลายพันธุ์ได้ง่ายจนอาจจะทำให้หลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันโรคในตัวคนเราได้ แต่คณบดีวิทยาลัยสาธารณสุขจากมหาวิทยาลัยบราวน์ อะชิช จา ก็บอกว่ามีความเป็นไปได้ต่ำมากที่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้จะถึงขั้นทำให้วัคซีนไร้ประโยชน์ คำถามคือมันจะส่งผลให้ประสิทธิผลของวัคซีนขนาดไหน ซึ่งจะต้องพิจารณาจากข้อมูลหลังจากนี้

มีการประเมินว่าไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนมีความสามารถในการติดต่อได้มากกว่าสายพันธุ์เดลตาซึ่งเคยระบาดหนักในสหรัฐฯ ช่วงกลางปีที่ผ่านมา จาบอกว่าเขาพิจารณาจากการที่ไวรัสแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในพื้นที่แอฟริกาใต้ด้วยเวลาไม่กี่วันถึงไม่กี่สัปดาห์ เทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้านี้จะกระจายไปทั่วพื้นที่หนึ่งๆ ได้ต้องใช้เวลาหลายเดือน ขณะที่ WHO ระบุว่าพวกเขากำลังพิจารณาว่าสายพันธุ์โอมิครอนนั้นมีโอกาสทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำได้มากขนาดไหน

ทางด้านผู้ผลิตวัคซีนอย่างโมเดิร์นนากล่าวว่าพวกเขากำลังเร่งทำการทดลองวัคซีนว่ามีความสามารถพอในการจัดการกับสายพันธุ์โอมิครอนหรือไม่ และเป็นไปได้ว่าจะมีข้อมูลการทดลองออกมาในช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังจากนี้ โมเดิร์นนาแถลงอีกว่ามีความเป็นไปได้ที่อาจจะต้องเพิ่มปริมาณบูสเตอร์วัคซีนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันสายพันธุ์โอมิครอนซึ่งทางโมเดิร์นนากำลังทดลองในเรื่องนี้

ทางด้านแอสตราเซเนกาก็แถลงว่าพวกเขากำลังศึกษาวิจัยว่าวัคซีนของพวกเขามีความสามารถในการต้านทานสายพันธุ์โอมิครอนหรือไม่ จนถึงตอนนี้แอสตราเซเนกาได้ศึกษาเรื่องนี้ในบางประเทศของทวีปแอฟริกาอย่าง บอตสวานาและเอสวาตินี นอกจากนี้แอสตราเซเนกายังแถลงอีกว่าทางบริษัทกำลังทดลองการใช้ยารักษา COVID-19 คือยาแอนติบอดี AZD7442 กับสายพันธุ์โอมิครอนด้วย พวกเขาเคยเรียกร้องในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมาให้องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ รับรองการใช้ AZD7442 ในการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน

ไบโอเอ็นเทคที่ร่วมมือกับไฟเซอร์ในการผลิตวัคซีนต้าน COVID-19 ก็เปิดเผยว่าพวกเขากำลังทดลองในเรื่องเดียวกันและข้อมูลผลการทดลองจะออกมาภายใน 2-3 สัปดาห์หน้า

ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนจะมีอาการอย่างไรบ้าง

สื่อไซเอนซ์โฟกัสรายงานว่าสายพันธุ์โอมิครอนหรือที่ก่อนหน้านี้เรียกว่า B.1.1.529 นั้นผู้ติดเชื้อดูเหมือนจะมีอาการแบบเดียวกับ COVID-19 จากสายพันธุ์อื่นๆ ทางองค์กรด้านสาธารณสุขของอังกฤษระบุว่า อาการของผู้ติดเชื้อมักจะมีหนึ่งในอาการดังต่อไปนี้ คือมักจะมีไข้สูง รู้สึกร้อนที่หน้าอกหรือแผ่นหลังแบบรู้สึกได้เองโดยไม่ต้องวัดอุณหภูมิ, มีอาการไออย่างต่อเนื่องติดต่อกันมากกว่า 1 ชั่วโมง หรือไอติดต่อกันเป็นช่วงๆ มากกว่า 3 ช่วงภายในเวลา 24 ชั่วโมง (สำหรับคนที่มีอาการไอจากอย่างอื่นอยู่แล้วอาจจะมีอาการไอมากขึ้น), มีการสูญเสียการรับรสและการรับกลิ่นหรือรู้สึกการรับรสและกลิ่นแปลกไป

การจำกัดการเดินทางหลังมีข่าวเรื่องสายพันธุ์โอมิครอน

จากความกังวลในเรื่องนี้ทำให้กลุ่มผู้นำในหลายประเทศเริ่มออกข้อจำกัดการเดินทางใหม่เพื่อหวังว่าจะจำกัดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนได้

ในสหรัฐฯ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ประกาศว่าจะจำกัดการเดินทางเข้าประเทศจากแอฟริกาใต้และประเทศอื่นๆ อีก 7 ประเทศในแอฟริกา เช่น บอตสวานา, ซิมบับเว, โมซัมบิก ประเทศแคนาดาประกาศห้ามไม่ให้ชาวต่างชาติผู้เดินทางผ่านประเทศต่างๆ ในแอฟริกาทางตอนใต้ในช่วง 14 วันก่อนหน้านี้เข้าประเทศแคนาดา ชาวแคนาดาที่เคยเดินทางผ่านประเทศเหล่านี้ต้องรับการตรวจโรค COVID-19 ในขาเข้าประเทศและจะถูกกักกันตัวเพื่อควบคุมโรคจนกว่าจะมีผลการตรวจเป็นลบ

ประเทศอื่นๆ ได้แก่ สหราชอาณาจักร, ญี่ปุ่น, บราซิล, ไทย, สิงคโปร์, ตุรกี, อียิปต์, ดูไบ, ซาอุดีอาระเบีย, บาห์เรน และจอร์แดน ต่างก็มีมาตรการจำกัดเที่ยวบินและการเดินทางจากกลุ่มประเทศทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกาเช่นกัน


เรียบเรียงจาก
Omicron COVID variant: All you need to know about the new coronavirus strain under investigation by UK, Science Focus, 27-11-2021
What we know about the Omicron variant, CNN, 27-11-2021
Travel doors slam shut as new Covid variant triggers alarm, stranding hundreds of passengers, CNN, 27-11-2021

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net