ชำนาญ จันทร์เรือง: ผู้สูงวัยกับภัยจากโซเชียลมีเดีย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ไม่น่าเชื่อว่าจากเดิมที่ผู้ใหญ่ต้องเป็นห่วงเยาวชนที่เสพย์ติดโชเชียลมีเดีย แต่ปัจจุบันเรากลับต้องมาเป็นห่วงผู้ใหญ่หรือผู้สูงวัยที่มีพฤติกรรมการติดโซเชียลมีเดียแทน อาจจะโดยเริ่มจากลูกหลานสอนให้เล่น หรือเล่นเองตามกระแส ซึ่งแอปพลิเคชันที่ผู้สูงวัยนิยมใช้มากที่สุดคือ Line รองลงมาคือ Facebook และ YouTube ตามลำดับ 

ส่วนใหญ่แล้วผู้สูงวัยใช้โชเชียลมีเดียก็เพื่อติดต่อสื่อสารกับคนอยู่ห่างไกล ทำให้ได้พบเจอเพื่อนเก่าแล้วสร้างกลุ่มขึ้นมา ชวนกันต่อมาเป็นทอดๆ จนเกิดเป็นชุมชนใหญ่ที่หลากหลาย ทั้งกลุ่มเพื่อนประถม กลุ่มเพื่อนมัธยม และกลุ่มเพื่อนมหาลัย ซึ่งในทางกลับกันบางครั้งก็กลับต้องเสียเพื่อนที่รู้จักกันมานานด้วยเหตุแห่งการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในกลุ่ม จนบางคนต้องออกจากกลุ่มไปหรือไม่ก็ร้ายแรงถึงขนาดต้องถูกเตะออกจากกลุ่มหรือแม้กระทั่งการblockหรือunfriendจนโกรธกันไปเลยก็มี หรือไม่เช่นนั้นก็ถูก “ทัวร์ลง”กรณีโพสต์แบบเปิดสาธารณะได้

ประโยชน์และโทษของโซเชียลมีเดียต่อผู้สูงวัย

1. ประโยชน์

1.1 รับรู้สถานการณ์และข่าวสาร

ทำให้เป็นคนทันสมัย ไวต่อเหตุการณ์ต่างๆ เพราะข่าวสามารถแพร่กระจายและถูกส่งต่อกันได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้สูงวัยรู้ความเป็นไปในสังคมของตัวเอง ตั้งแต่ระดับหมู่บ้านจนถึงในระดับประเทศและระดับโลก

1.2 เรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้มากขึ้น

จากเดิมที่เราจะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆสักอย่างจะต้องใช้เวลาเดินทางไปเรียน ไปเข้าหลักสูตรอบรม หรือสัมมนาไกลๆ ซึ่งบางคนไม่สะดวกทั้งเรื่องเวลา การเดินทาง สุขภาพและเรื่องเงิน แต่ด้วยโซเชียลมีเดียสามารถทำให้เข้าถึงเรื่องต่างๆ ได้โดยง่าย เพียงแค่เปิดดูคลิป ก็สามารถทำตามได้เองที่บ้าน ด้วยสิ่งใหม่นี้ทำให้ผู้สูงวัยไม่เบื่อ สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มีกิจกรรมใหม่ๆ ได้โดยที่ไม่ต้องพึ่งใคร ใช้เวลาว่างไปกับกิจกรรมที่เพิ่งเรียนรู้ได้เอง และบางคนอาจค้นพบตัวตนที่ตามหามานานเลยก็ได้

1.3 ไม่เหงา ติดต่อกับครอบครัวและเพื่อนๆง่ายขึ้น

แทนที่จะต้องรอคอยการกลับบ้านของลูกหลานที่อยู่ห่างไกลในวันสำคัญหรือวันหยุด ซึ่งนอกเหนือจากวันเหล่านั้นอาจทำให้รู้สึกเหงา เบื่อ จนอาจทำให้เกิดอาการซึมเศร้า หรือทุกข์ใจได้ แต่เมื่อมีโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือก็ทำให้ผู้สูงวัยสามารถติดต่อพูดคุยกับลูกหลานได้โดยง่าย ได้รู้ความเป็นไปของกันและกัน และยิ่งกว่านั้นหากผู้สูงวัยคุยแบบวิดีโอได้ ก็ยิ่งทำให้เหมือนได้อยู่ใกล้กับลูกหลานกันเลยทีเดียว

นอกจากนั้น โลกโซเชียลมีเดียยังทำให้ ผู้สูงวัยไม่เหงา สามารถพูดคุยกันได้มากขึ้นในกลุ่มคนที่มีความสนใจด้านเดียวกัน เช่น สนใจในเรื่องของสุขภาพ การวิ่ง หรือเพื่อนเก่าๆ เมื่อต่างคนต่างมีครอบครัว และภาระหน้าที่ของตัวเอง แต่ด้วยโซเชียลมีเดียก็ทำให้มีการจัดตั้งกลุ่ม รวมตัวคนที่ชอบอะไรเหมือนๆกัน ซึ่งทำให้ได้เจอเพื่อนใหม่ๆ ที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกันได้

1.4 ลดความเสี่ยงเรื่องสุขภาพ

ผู้สูงวัยจะต้องรับมือกับปัญหาสุขภาพกันมากขึ้น เช่น สมองเสื่อม หลงลืม หรือซึมเศร้า แต่จากการใช้โซเชียลมีเดียจะเป็นการกระตุ้นการใช้สมอง ช่วยฝึกความจำ และช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อมได้เป็นอย่างดี

จึงกล่าวได้ว่าเพราะโซเชียลมีเดียนี่เอง ที่ช่วยสร้างความเพลิดเพลิน ทำให้มีสุขภาพจิตที่ดี  เพราะเทคโนโลยีที่ผ่านโซเชียลมีเดียจะช่วยให้ได้พักผ่อนสมอง และคลายความเครียดจากภาวะที่ไม่ได้ทำงานประจำแล้ว ทำให้ไม่คิดฟุ้งซ่าน เช่น การดูหนัง ฟังเพลง อ่านเรื่องราวต่างๆ ข่าวสารทางสุขภาพ นิยายหรือวรรณกรรม เรียนภาษาต่างประเทศ ฯลฯ ก็ทำให้มีความสุขมากขึ้น

2. โทษ

2.1 เสียสุขภาพ การจ้องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นาน ๆ ทำให้สายตาพร่ามัว ทำลายจอประสาทตา    ท่านั่งที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ปวดต้นคอ ปวดหลัง การใช้โซเชียลมีเดียก่อนเข้านอน ทำให้นอนไม่หลับ เนื่องจากมีการกระตุ้นระบบประสาทมากเกินไป จนอาจนำมาซึ่งโรคนอนไม่หลับเรื้อรัง ที่สำคัญคือทำให้ขาดการออกกำลังกาย

2.2 ขาดการปฏิสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด เราสามารถพูดคุย เห็นหน้า ส่งความรักให้กันในโซเชียลมีเดียได้ก็จริงอยู่ แต่ความสุขที่แท้จริงนั้นคือการอยู่ร่วมกันพร้อมหน้าพร้อมตาในครอบครัว ดังนั้น ผู้สูงวัยควรแบ่งเวลาในการเล่นโซเชียลมีเดียมาทำกิจกรรมกับลูกหลานให้พอเหมาะ ไม่อย่างนั้นก็อาจเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในโลกแห่งความเป็นจริงได้

2.3 เสียเวลา การเล่นโซเชียลมีเดียมากเกินไปจนทำให้เราหมดเวลากับมันโดยไม่รู้ตัวนั้นอันตรายยิ่ง เพราะเมื่อเราเสพย์ติดโซเชียลมีเดียจะทำให้เราเสียเวลาในการทำกิจกรรมที่ดีอื่นๆโดยไม่จำเป็น

2.4 อาจถูกหลอก ในโซเชีลมีเดียมีข่าวปลอมเกิดขึ้นมากมายทุกวัน ซึ่งมีทั้งภาพตัดต่อ การนำคำพูดคนนั้นมาใส่คนนี้ การปลุกปั่นต่างๆ ทั้งทางการเมือง เชื้อชาติ และศาสนา เมื่อผู้สูงวัยเห็นข่าวอะไรที่น่าสนใจ จะเชื่อฝังหัวสนิทใจว่านี่คือสิ่งที่ถูกต้อง (ดื้อ) การแชร์ของผู้สูงวัยจึงมักจะขาดการไตร่ตรอง แม้จะเป็นข่าวปลอมแค่ไหน ถ้ามันสะเทือนใจหรือมีความรู้สึกร่วม(inหรือtouchเกินเหตุ) ก็จะถูกแชร์ต่อไปอย่างรวดเร็วทันที (จะภูมิใจมากถ้าได้แชร์เป็นคนแรก) ซึ่งการเสพข่าวที่ไม่จริงนี้อาจทำให้เกิดความกังวลและตื่นตระหนกได้

นอกจากนั้นผู้สูงวัยเองก็มักจะถูกหลอกเอาง่ายๆ เช่น การหลอกให้โอนเงินช่วยเหลือผู้เจ็บป่วย หรือการยกเอาบุคคลที่ดูน่าเชื่อถือมาอ้างอิง ให้เกิดน้ำหนักเพื่อหลอกขายสินค้า อีกทั้งผู้สูงวัยบางคนชอบการซื้อของออนไลน์เหมือนกับเด็กได้ของเล่นใหม่ เมื่อเห็นของถูกที่ไหนต้องรีบโอนเงินซื้อทันที  มีผู้สูงวัยบางคนที่สั่งของออนไลน์จนเงินหมดตัว กลายเป็นภาระของลูกหลาน

โซเชียลมีเดียมีทั้งคุณทั้งโทษ อยู่ที่เราจะเลือกเอามาใช้ เลือกผิดนอกจากจะเสียเงิน เสียเวลา เสียสุขภาพหรือเสียเพื่อนแล้ว หากพลาดพลั้งไปโพสต์หรือไปแชร์ต่อโดยเข้าข่ายผิดกฎหมาย ก็อาจจะต้องไปลำบากตอนแก่ได้

ผมเองซึ่งเป็นผู้สูงวัยเช่นกัน ก็ไม่อยู่ในข่ายยกเว้นน่ะครับ หุ หุ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท