ทางออกของประเทศคือการสร้างกติกาการแข่งขันที่เป็นธรรม และร่วมกันเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนานมานับตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 ดูไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงได้ เมื่อฝ่ายที่ได้อำนาจรัฐปิดกั้นทางออกปฏิเสธไม่ทำตามข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม 3 ข้อคือ นายกรัฐมนตรีลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันฯ นอกจากไม่มีท่าทีจะเจรจาแล้วยังตอบโต้ด้วยมาตรการรุนแรง ทั้งการสลายการชุมนุม การปฏิบัติกับผู้ชุมนุมเสมือนกลุ่มก่อความไม่สงบ ตั้งข้อหาที่มีโทษร้ายแรงกักขังไม่ยอมให้ประกันตัว  การโหวตไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่ประชาชนร่วมกันลงชื่อ 7 หมื่นรายชื่อซึ่งเสนอโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ผู้แทนริเริ่มเสนอรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน  นอกจากนั้นร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ที่เสนอโดยปิยบุตร แสงกนกกุล และพริษฐ์ วัชรสินธุ  มีประชาชนเข้าชื่อ จำนวน 1.3 แสนคน ก็ไม่ผ่านการพิจารณาเช่นเดียวกัน อุปสรรคที่สำคัญที่สุดคือวุฒิสมาชิกที่เกือบทั้งหมดไม่เห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเสนอ

วุฒิสมาชิกจึงเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการสร้างกติกาการแข่งขันที่เป็นธรรมเพื่อออกจากความขัดแย้งใน 2 ประการ กล่าวคือ เป็นอุปสรรคสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งหมายถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยไม่สามารถทำได้ รวมทั้งรัฐธรรมนูญยังให้เสียง 250 เสียงของสมาชิกวุฒิสภาสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ทั้งที่ ส.ว.เหล่านี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน แต่ชัดเจนว่ามาจากผลประโยชน์ทับซ้อนต่างตอบแทนการได้มาซึ่งตำแหน่ง 

แม้ว่าจะมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรีโดยพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์เสนอให้ ที่ยกเลิกมาตรา 272 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลที่ให้อำนาจของ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ รัฐมนตรีใน 5 ปีแรกของการใช้รัฐธรรมนูญ  ผลการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้มีคะแนนเสียงของสมาชิกทั้งสองสภารวมกันจะมากกว่ากึ่งหนึ่ง คือร่างของพรรคเพื่อไทยรับหลักการด้วยคะแนนเสียง 455 เสียง มีสมาชิกวุฒิสภาเห็นด้วย 14 เสียง ร่างของพรรคประชาธิปัตย์รับหลักการด้วยคะแนนเสียง 461 มีสมาชิกวุฒิสภาเห็นด้วย 21 เสียง แต่ทั้งนี้ต้องการเสียงสมาชิกวุฒิสภา 84 เสียง ร่างจึงจะผ่านความเห็นชอบตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แม้ว่า ส.ว.จะคัดค้านการตัดอำนาจของตนเองแต่ก็ยังคงมีสำนึก กล่าวคือมี ส.ว. จำนวนมากงดออกเสียง ในร่างของพรรคเพื่อไทยมีสมาชิกรัฐสภางดออกเสียง 150 เสียง ร่างของประชาธิปัตย์งดออกเสียง 149 เสียง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการงดลงออกเสียงโดย  ส.ว. ผลการลงคะแนนเสียงแสดงให้เห็นว่าทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านลงคะแนนเสียงสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ขณะเดียวกันก็ยังมีเสียง ส.ว. ให้การสนับสนุนอยู่บ้าง (สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 2564 : 1-4) การเสนอร่างรัฐธรรมนูญยกเลิกมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรีจึงพอจะมีทางเป็นไปได้ หากสังคมไทยร่วมกันเรียกร้องสำนึกความรับผิดชอบของสมาชิกวุฒิสภาที่จะทำให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งนี้ความจำเป็นที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเลิกมาตรา 272 ถือเป็นประตูบานสุดท้ายที่จะเปิดสู่การเริ่มต้นแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในเวลานี้ กล่าวคือ

ประการแรก ทางออกของความขัดแย้งในหลายประเทศ คือการวางกติกาการเลือกตั้งให้เป็นธรรม เปิดโอกาสทุกฝ่ายโดยเฉพาะพรรคการเมืองที่มาจากเสียงข้างมากของประชาชนได้มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล และจัดการให้เกิดสภาร่างรัฐธรรมนูญ  ดังนั้นกระบวนการเลือกตั้งที่โปร่งใส เป็นธรรมจึงควรเกิดขึ้นก่อนเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการร่างรัฐธรรมนูญ (Ghai, Yash, and Guido Galli. 2006: 10) และเพื่อนำไปสู่ความเห็นพ้องต้องกันของประชาชนสำหรับการออกแบบประเทศไทย ทั้งนี้ในหลายประเทศที่จัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นมาภายใต้ความขัดแย้งที่ปราศจากการปรับโครงสร้างสิ่งแวดล้อมทางการเมือง มักไม่ประสบผลสำเร็จ โดบเกินกว่าครึ่งกลับไปสู่สภาวะความขัดแย้งเช่นเดิม (Samuels 2005: 664) 

เมื่อได้มีการแก้ไขระบบการเลือกตั้งใช้บัตรสองใบ โดยได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564 แล้ว (ราชกิจจานุเบกษา 2564 : 1-4) ถือได้ว่ามีการเจรกันในระดับหนึ่งสำหรับการสร้างกติกาการเลือกตั้งที่ทั้งพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านยอมรับได้ แต่ยังคงมีวุฒิสภาฯ เป็นอุปสรรคสำคัญที่จะทำให้ได้นายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้มาจากความเห็นชอบของประชาชนพรรคการเมืองเสียงข้างมากที่ได้รับเลือกตั้งอาจไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ และจะเกิดปัญหาความชอบธรรมตามมาดังที่เกิดเหตุการณ์วุ่นวายตลอดช่วงเวลาของการใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ซึ่งปัญหาความขัดแย้งจะไม่มีโอกาสคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แม้จะมีการเลือกตั้งแล้วก็ตาม  ถ้ายังคงมอบอำนาจการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้กับสมาชิกวุฒิสภา

ประการที่สอง การแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จำเป็นจะต้องสร้างโครงสร้างทางการเมืองใหม่ให้สอดคล้องกับยุคสมัย และการเปลี่ยนแปลงไปของสภาพแวดล้อมทางการเมือง ขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาสถาบันทางการเมืองที่มีอยู่ให้ก้าวหน้ามีเสถียรภาพ มองไปในระยะยาวของการปกครองสำหรับคนรุ่นอนาคต ที่สำคัญต้องลดสิทธิพิเศษ ช่วงชั้นที่เหนือกว่า ตลอดจนความไม่เท่าเทียมกัน เปิดให้เกิดกลุ่มที่แตกต่างหลากหลายเข้ามามีส่วนในการยกร่าง เพื่อออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ร่วมกัน (International Institute for Democracy and Electoral Assistance 2011 : 11) แต่การยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันทำทุกอย่างในทางตรงข้าม 

กล่าวคือมุ่งออกแบบรัฐธรรมนูญสำหรับการขจัดฝ่ายตรงข้ามคือพรรคเพื่อไทยที่ถูกทำให้พ่ายแพ้จากการทำรัฐประหาร และมีความพยายามจะไม่ให้กลับมามีอำนาจทางการเมืองอีก ขณะเดียวกันก็ใช้กลไกของรัฐธรรมนูญขจัดพรรคการเมืองอย่างพรรคอนาคตใหม่ ทำให้ประชาชนผู้เลือกตั้งทั้งสองพรรครวมกันที่มาจำนวนถึง 14 ล้านคน พรรคเพื่อไทย 7.8 ล้านคน และพรรคอนาคตใหม่ 6.2  ล้านคน  (สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง 2562: 1-20) ผิดหวัง และเผชิญกับความไม่เป็นธรรมที่เสียงของพวกเขาไม่มีความหมาย  เป็นเหตุให้ต้องออกมาสร้างพลังการเคลื่อนไหวนอกสภาฯ เรียกร้องข้อเสนอ 3 ข้อ การแก้ปัญหาความขัดแย้งจึงไม่ใช่การทำให้อีกฝ่ายพ่ายแพ้ หรือมุ่งขจัดพรรคการเมืองที่ไม่ต้องการ แต่คือการสร้างกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับและให้ผลการเลือกตั้งตัดสินว่าประเทศชาติจะเดินต่อไปทางใด ซึ่งแน่นอนว่าต้องอยู่บนความเป็นธรรมสำหรับการแข่งขันกันของทุกฝ่าย

ประการที่สาม รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะยกร่างขึ้นเพื่อจัดวางโครงสร้างของสังคมไทยที่เห็นพ้องต้องกันนี้ จะต้องนับรวม (inclusion) ทุกฝ่ายโดยเฉพาะฝ่ายที่ถูกกระทำ ละเมิดสิทธิมนุษยชน ถูกทำให้เสียเปรียบในการเลือกตั้ง ความไม่เป็นธรรมในการนับคะแนน ไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม ถูกกีดกันออกจากทรัพยากรของชาติ ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ อาทิ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มความหลากหลายทางเพศ กลุ่มที่ถูกกีดกันออกไปให้กลายเป็นเสียงข้างน้อยจากรัฐธรรมนูญปัจจุบัน จะต้องได้รับการคืนสถานะความเป็นเจ้าของประเทศโดยมีส่วนร่วมในการเขียนรัฐธรรมนูญด้วย ( Brandt, Cottrell, Ghai, and Regan 2011: 9-12) ไม่ต่างจากประชาชนที่เป็นฝ่ายชนะผู้เชื้อเชิญทหารให้ออกมากระทำรัฐประหาร กลุ่มปกป้องสถาบันกษัตริย์  ก็ควรได้รับสิทธิในความเป็นเจ้าของประเทศด้วยเช่นเดียวกัน  รัฐบาลจึงมีภารกิจสำคัญที่จะต้องขจัดบรรยากาศของความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ให้มีการสนทนาถึงอนาคตของประเทศมากกว่าจัดให้มีการเผชิญหน้าดังที่เป็นอยู่ บรรยากาศการพูดคุยเจรจาจะต้องเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการเลือกตั้งความขัดแย้งจึงจะยุติลงได้ ดังนั้นก้าวแรกของการสร้างความสมานฉันท์คือการเตรียมบริบททางการเมืองที่มีความชอบธรรม เพื่อปูทางไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ การสร้างบรรยากาศของการเจรจาและวางข้อตกลงร่วมกันของสังคมก่อนการยกร่างรัฐธรรมนูญจึงเป็นผลดีมากกว่าที่จะปล่อยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปยกร่างแล้วนำมาเสนอต่อประชาชนภายหลัง (Samuels 2005: 668; Hlaing and Lawn 2019 : 5,7-8) หลังจากการเจรจาสร้างความเห็นพ้องต้องกันแล้วการให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ 

ประการที่สี่ ที่ผ่านมารัฐบาล และองค์กรของรัฐปิดทางเจรจา ปฏิเสธของเสนอของฝ่ายประชาชนทุกเรื่อง การยอมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  วิธีการเลือกตั้งและการนับคะแนน ก็เป็นเรื่องผลประโยชน์ของฝ่ายการเมืองโดยตรง แม้การยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 จะถือว่าเป็นก้าวแรกที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นแต่อำนาจของ ส.ว. ซึ่งประชาชนเรียกร้องให้มีสภาเดียว รวมทั้งการตัดอำนาจ ส.ว. อันเป็นข้อเรียกร้องที่ประชาชนต้องการยังไม่ได้รับการพิจารณา  ทั้งที่เรื่องนี้เป็นสาเหตุของปัญหาที่ใกล้ที่สุดที่ยังไม่ได้โยงไปถึงปัญหาต้นตอรากเหง้าที่ไกลออกไปก็ยังไม่สามารถทำได้  โอกาสความขัดแย้งจึงมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นต่อเนื่องและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น 

การที่พรรคพลังประชารัฐได้โอกาสจัดตั้งรัฐบาล และบริหารประเทศมาต่อเนื่องนับว่าได้สร้างความมั่นคงของฐานคะแนนเสียงที่ได้เปรียบในการเลือกตั้งพอสมควรแล้ว เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่พรรคพลังประชารัฐพึงเข้ามาแข่งขันในวิถีทางประชาธิปไตย โดยไม่ต้องใช้อำนาจพิเศษเข้ามาช่วยให้เกิดความขัดแย้งของคนในชาติเพิ่มขึ้น ประกอบกับที่ผ่านมา ส.ว. เองขาดความชอบธรรม และเป็นตัวการสำคัญที่สร้างความเสื่อมถอยในความเชื่อมั่นศรัทธาที่ประชาชนมีต่อสถาบันทางการเมือง การตัดอำนาจ ส.ว. เลือกตั้งนายกรัฐมนตรี จึงเป็นทางออกที่ทำได้โดยไม่กระทบกระเทือนต่อพรรคการเมือง ทั้งเป็นผลดีต่อตัวส.ว.เอง ที่ยังคงอยู่ทำหน้าที่ต่อไปได้และมีโอกาสทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองกอบกู้สถานะของตนเอง  การตัดอำนาจ ส.ว. ผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจึงมีเพียงคนเดียวคือ พลเอกประยุทธ์  ซึ่งก็เป็นการสมควรและน่าจะเป็นความเห็นพ้องต้องกันของทุกฝ่ายจากผลงานบริหารประเทศที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิงทุกด้าน อย่างไรก็ตามพลเอกประยุทธ์ก็ยังมีโอกาสพิสูจน์ตนเองด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้งตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดย “ยกเลิกมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 แต่มิให้มีผลเปลี่ยนแปลงต่อการเลือกนายกรัฐมนตรีที่ได้ดำเนินการไปแล้วก่อน”  จึงเป็นประตูทางออกที่จะก้าวไปสู่การแก้ปัญหาที่ประเทศชาติกำลังเผชิญอยู่ แม้อุปสรรคสำคัญคือสมาชิกวุฒิสภาที่จะไม่เห็นด้วย แต่การแก้ไขต้องการเสียงสนับสนุนของวุฒิสมาชิก 84 เสียงก็ยังมีโอกาสเป็นไปได้  ทั้งนี้เพื่อกอบกู้ภาพพจน์ ความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาสู่สถาบันวุฒิสภา การเคลื่อนไหวแสดงพลังของประชาชน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  พรรคการเมือง เพื่อให้วุฒิสมาชิกเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติเปิดทางสู่การปฏิรูป และความสงบสุขของสังคมน่าจะปลุกเร้าสำนึกของวุฒิสมาชิกที่จะได้มีโอกาสทำหน้าที่ตอบแทนต่อประชาชนสักครั้งในชีวิตหนึ่งของการเป็นวุฒิสมาชิกได้ 

 

อ้างอิง
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร. 2564. บันทึกการออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกรัฐสภาในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 3 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วันพฤหัสบดีที่ 24 และวันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พุทธศักราช 2564. กรุงเทพฯ.
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. 2562. “ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรแบบบัญชีรายชื่อ.” 1–20.
ราชกิจจานุเบกษา. 2564. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564. กรุงเทพฯ.
The International Institute for Democracy and Electoral Assistance. 2011. Constitution Building after Conflict: External Support to a Sovereign Process.
Samuels, Kirsti. 2005. “Post-Conflict Peace-Building and Constitution-Making.” Chi. J. Int’l L. 6:663–83.
Hlaing, Hnin Aye, and La Gyi Zau Lawn. 2019. “Framing the Constitution-Making Process for Peace-    Building in Myanmar : The Perspectives of Ethnic Armed Organizations and Civil Society.”
Ghai, Yash, and Guido Galli. 2006. Constitution Building Processes and Democratization.
Brandt, Michele, Jill Cottrell, Yash Ghai, and Anthony Regan. 2011. Constitution-Making and Reform Options for the Process. Geneva: Interpeace.
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท