นักวิชาการสันติวิธีเสนอทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ หยุดคุกคามประชาชน ก่อนเหตุการณ์บานปลาย

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณี ‘ปฏิรูป=ล้มล้าง’ อาจกลายเป็นสารตั้งต้นสถานการณ์รุนแรง เสนอทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ชี้เป็นทางออกตามกลไกปกติที่เป็นไปได้ และรัฐต้องหยุดคุกคามประชาชน หวั่นบานปลายแบบ 6 ตุลาคม 2519

เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช อดีตผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

คำวินิจฉัย ‘ปฏิรูป=ล้มล้าง’ ของศาลรัฐธรรมนูญอาจเป็นชนวนนำไปสู่สถานการณ์ไม่พึงประสงค์ มันไม่ต่างอะไรกับการปิดประตูใส่การพูดคุยระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคมการเมืองไทย

อดีตผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ยังเชื่อว่าพอมีทางออก เขายอมรับว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญอธิบายเป็นเหตุเป็นผลได้ยากยิ่ง

“พออธิบายอย่างมีตรรกะไม่ได้ อารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในสังคมอย่างน้อยก็ต้องตั้งคำถามว่าตัดสินออกมาได้อย่างไร มีเหตุผลอะไร แล้วยิ่งเหตุผลนั้นฟังไม่ขึ้นมากเท่าไหร่มันก็เกิดเป็นอารมณ์ความโกรธแค้นหรือมีความเป็นปฏิปักษ์

“หลายคนก็เลยคิดว่าสถานการณ์แบบนี้จะทำให้คนที่ถูกกีดกันหรือกดขี่ทางการเมืองมาโดยตลอดเริ่มรู้สึกว่าจะทนไม่ไหวหรือเปล่า และจะต้องออกมาสร้างความเปลี่ยนแปลงขึ้น อันนี้ก็เป็นสิ่งที่หลายๆ คนเป็นห่วง”

ประชามติ

เอกพันธุ์ กล่าวว่า ในประเทศที่เจริญแล้วระดับหนึ่งจะมีกลไกต่างๆ ที่จะผลักให้ประชาชนไปร่วมกันตัดสินใจ ซึ่งโครงสร้างหลักที่ทำให้ประเทศไทยเผชิญปัญหาอย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบันคือรัฐธรรมนูญ ดังนั้น พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 ที่เพิ่งประกาศควรถูกใช้เป็นกลไกคลี่คลายความขัดแย้งก่อนที่จะบานปลาย เขาอธิบายว่า

“ผมคิดว่าเราก็ย้อนกลับไปที่การหากติการ่วมกัน ศาลรัฐธรรมนูญเองก็มีคำวินิจฉัยมาก่อนหน้านี้เรื่องรัฐธรรมนูญว่าให้ผู้เป็นเจ้าของประเทศเป็นผู้ตัดสิน ตอนนี้เรามี พ.ร.บ.ประชามติ ทำไมเราไม่เอาเครื่องมือที่มีมาใช้ให้ความขัดแย้งระหว่างนี้สามารถคลี่คลายได้โดยกระบวนการและวิถีทางประชาธิปไตย ถ้าเราสามารถทำประชามติว่าเราจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ ผมคิดว่านี่เป็นทางออกเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งตามกระบวนการประชาธิปไตยและได้ผลดีที่สุด

“เพราะอะไร สมมติผมเป็นผู้นำม็อบสักแสนคนก็จะมีคนออกมาบอกว่าแค่แสนเดียวแล้วประชาชนอีก 70 ล้านคนอยู่ไหน หรือ 35 ล้านเสียงที่ไปรับร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่แล้วเอาไปไว้ที่ไหน ถ้าจะนับจำนวนกันแบบนี้มันมีวิธีการเดียวเท่านั้นที่จะทำได้อย่างจริงจังก็คือการทำประชามติ ซึ่งจะเป็นวิธีคลี่คลายความขัดแย้งครั้งนี้อย่างศิวิไลซ์ที่สุดและมีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ผลออกมาอย่างไรก็ทำตามประชามติเพราะถือเป็นการสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่”

เขียนรัฐธรรมนูญใหม่

เอกพันธุ์ แสดงความเห็นว่าผลประชามติจะบังคับกลไกอื่นๆ ให้ต้องทำตามเจตนารมณ์ของประชาชนและน่าจะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เขาไม่กล้าเรียกว่านี่เป็นทางออกสุดท้าย แต่เขาเชื่อว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบันและช่วยป้องกันการเสียเลือดเสียเนื้อ

ทั้งนี้ตามกฎหมายประชามติ รัฐบาลหรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 50,000 คนสามารถเสนอให้ทำประชามติได้

“ถ้ามีทางออกแล้วไม่ออกผมก็ไม่รู้ว่าจะพูดยังไง ตามกฎหมายรัฐบาลจะเป็นผู้เสนอให้ทำประชามติหรือประชาชนเข้าชื่อกันผ่านไปทางสภาผู้แทนราษฎร ถ้ารัฐบาลไม่ยอมขับเคลื่อนเอง ภาคประชาชนจะร่วมกันขับเคลื่อนกันต่อไปไหม ซึ่งเหตุผลที่จะตีตกมันจะยากกว่า และเป็นการทำประชามติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และผมคิดว่าไม่ว่าจะเป็นมวลชนฝ่ายไหนน่าจะพอใจเพราะว่าเป็นการวัดกันไปเลย”

อีกทั้งในทางปฏิบัติเมื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมีการร่างทุกหมวด ทุกมาตรา ถึงเวลานั้นประชาชนต้องการออกแบบโครงสร้างทางสังคมให้เป็นอย่างไรก็เป็นกระบวนการที่สามารถเจรจาต่อรองกันได้ การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาจึงเป็นการสะท้อนโครงสร้างการปกครองของประเทศและปฏิสัมพันธ์ของสถาบันทางการเมืองต่างๆ

หยุดข่มขู่คุกคาม จุดตั้งต้นของการพูดคุย

เอกพันธุ์ยังยกตัวอย่างความสำเร็จของกระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งในแอฟริกาใต้ที่สามารถทำให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถมองเห็นอนาคตและสร้างมันขึ้นมาร่วมกันได้ ซึ่งเขาเชื่อว่าประเทศไทยก็สามารถทำได้ แต่อยู่บนเงื่อนไขต้องไม่มีการข่มขู่คุกคามและละเมิดสิทธิเสรีภาพ

“แต่ในกระบวนการเหล่านี้ถ้าตราบใดยังมีคนที่ข่มขู่คุกคามละเมิดสิทธิอยู่ในอำนาจและอยู่ดีกินดีเหมือนตอนนี้ ก็จะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่อยากร่วมสังฆกรรม มันต้องมีกระบวนการเยียวยาอดีต แล้วจึงเปิดพื้นที่ปัจจุบันและก้าวไปสู่อนาคตร่วมกัน”

การเยียวยาในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเงินหรือวัตถุสิ่งของ แต่หมายถึงการยอมรับและจดจำผู้เสียหายในฐานะผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

“แน่นอนว่าคนที่ผิดก็ต้องได้รับการลงโทษหรือถ้าคุณมีกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านที่ออกแบบได้ดี จะลงโทษหรือไม่ก็ให้ผ่านกระบวนการนี้ก็อาจเป็นไปได้เหมือนกัน แต่กระบวนการนี้ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ หรือถ้าจะมีต้องเป็นระบบที่สังคมตกลงกันว่าจะเปลี่ยนจากอะไรเป็นอะไร”

นั่นคือฉากทัศน์ที่ควรจะเป็นโดยใช้เครื่องมือที่มีอยู่คลี่คลายความขัดแย้ง อย่างไรก็ตาม เอกพันธุ์ตระหนักว่าไม่ง่ายเพียงนั้น และระหว่างนี้เป็นไปได้ที่ผู้กุมอำนาจจะใช้มันข่มขู่คุกคามอย่างกว้างขวางและจำเพาะเจาะจงมากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ความรุนแรงแบบกรณี 6 ตุลาคม 2519

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท