‘สมยศ’ ร่วมเวทีสากล ‘สังคมนิยม 2021’ ชี้ ‘ทุนเจ้า(สัว)ผูกขาด’ ดันความเหลื่อมล้ำไทยพุ่ง

สมยศ พฤกษาเกษมสุข ร่วมเสวนาบนเวทีนานาชาติ “สังคมนิยม 2021” พูดถึงปัญหาทุนผูกขาดในสังคมไทยที่มีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลและชนชั้นนำ สร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำพุ่งสูงในสังคมไทย พร้อมร่วมถกปัญหาสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองภายใต้การนำของฝ่ายขวาร่วมกับมานเจตต์ โลเปซ (Manjette Lopez) แกนนำกลุ่ม Salankas จากฟิลิปปินส์ และดิมิทรี ทวี (Dimitri Dwi) จากกลุ่ม Young Greens อินโดนีเซียในหัวข้อ “เผด็จการ อำนาจนิยม และฟาสซิสต์”

30 พ.ย. 2564 องค์กรสังคมนิยมแรงงาน ประเทศไทย (Socialist Workers Thailand) ร่วมกับเครือข่ายสังคมนิยมอีก 6 องค์กร ได้แก่ พรรคสังคมนิยมมาเลเซีย (Parti Sosialis Malaysia-PSM), พรรคมวลชนแรงงาน (Partido Lakas ng Masa-PLM) ฟิลิปปินส์, องค์กรพันธมิตรสังคมนิยม ออสเตรเลีย (Socialist Alliance Australia), พรรคคนทำงาน อินโดนีเซีย (Partai Rakyat Pekerja-PRP) และองค์กรสามัคคีการต่อสู้ของประชาชน อินโดนีเซีย (Kesatuan Perjuangan Rakyat-KPR) จัดงานเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “สังคมนิยม 2021” เพื่อหาหนทางให้แก่ขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในวันที่ 27-28 พ.ย. และ 4-5 ธ.ค. 2564 โดยมีนักวิชาการ นักศึกษา และนักเคลื่อนไหวจากหลายประเทศเข้าร่วมการเสวนาในหัวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธีมหลักของการเสวนา คือ “การก้าวข้ามวิกฤตอันหลากหลายในโลกทุนนิยม”

ในการเสวนาช่วงที่ 2 ของวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา สมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย, มานเจตต์ โลเปซ (Manjette Lopez) แกนนำกลุ่ม Salankas จากฟิลิปปินส์ และดิมิทรี ทวี (Dimitri Dwi) จากกลุ่ม Young Greens อินโดนีเซีย ร่วมเสวนาในหัวข้อ “เผด็จการ อำนาจนิยม และฟาสซิสต์” (Dictatorship, Fascism and Authoritarianism: Challenging the Far Right Today) ซึ่งทั้ง 3 คนได้ร่วมแบ่งปันทัศนะเรื่องการก่อตัวของลัทธิอำนาจนิยมในการเมืองภายในของแต่ละประเทศผ่านการใช้กฎระเบียบของรัฐ กฎหมายและระบบยุติธรรม ไปจนถึงอำนาจทหาร เพื่อควบรวมอำนาจการปกครองให้เบ็ดเสร็จ

ผู้พูดในวงเสวนาหัวข้อ “เผด็จการ อำนาจนิยม และฟาสซิสต์”

ทวีเล่าถึงสถานการณ์การเมืองในอินโดนีเซียว่าถึงแม้จะก้าวข้ามผ่านยุคระเบียบใหม่ (Orde Baru) ของเผด็จการซูฮาร์โต และแยกทหารออกจากการเมืองได้สำเร็จไปแล้ว แต่ทวีกล่าวว่ารัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจโค วิโดโด หรือโจโควี สมัยที่ 2 พยายามกรุยทางเข้าสู่ความเป็นลัทธิอำนาจนิยมมากขึ้น เช่น การแต่งตั้งปราโบโว สุเบียนโต (Prabowo Subianto) อดีตคู่แข่งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2562 มาร่วมรัฐบาลและมอบเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมให้ ซึ่งสุเบียนโตเป็นบุตรเขยของนายพลซูฮาร์โต รวมไปถึงการแต่งตั้งทหารให้เข้ามามีบทบาทในการเมืองระดับประเทศและระดับท้องถิ่นหลายตำแหน่ง ตลอดจนความพยายามของโจโควีที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดทางให้ตนเองสามารถตำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้อีกหลายสมัย จากเดิมที่รัฐธรรมนูญอินโดนีเซียกำหนดไว้ว่าสามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้เพียง 2 สมัยติดต่อกันเท่านั้น

ทวีกล่าวต่อไปว่าเมื่อวิเคราะห์เบื้องหลังของพรรคร่วมรัฐบาลชุดปัจจุบันของอินโดนีเซียแล้วพบว่าเป็นกลุ่มทุนและกลุ่มอำนาจเก่าที่เคยมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับคนในรัฐบาลของนายพลซูฮาร์โตทั้งสิ้น อีกทั้งคนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงเงินทุนและทรัพยากรรัฐได้ ทำให้สามารถจัดทำนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อคนเฉพาะกลุ่ม เช่น นักธุรกิจ นักการเมือง หรือแม้แต่กลุ่มศาสนา เป็นต้น

สมยศ พฤกษาเกษมสุข

ขณะที่สมยศพูดถึงสถานการณ์การเมืองในไทยภายใต้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่สืบทอดอำนาจมาตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 ที่มีความยึดโยงกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่เพียงไม่กี่รายในประเทศ ส่งผลให้เกิดกลุ่มทุนผูกขาดในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ซึ่งหนึ่งในกลุ่มทุนที่ว่าคือกลุ่มทุนที่มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ กล่าวคือทุนที่มีชื่อของสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ถือหุ้นใหญ่ และหลังจาก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 ผ่านสภาแล้ว ทำให้ชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ในหลายบริษัท เช่น SCB หรือ SCG ไม่ใช่ชื่อของสำนักงานทรัพย์สินฯ แต่เปลี่ยนเป็นพระปรมาภิไธย ร.10 แทน

สมยศกล่าวว่าปัญหาการเมืองไทยหลายอย่างที่สะสมมาเป็นเวลานาน รวมถึงปัญหาทุนนิยมผูกขาดซึ่งหนึ่งในทุนดังกล่าวเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ เป็นหนึ่งในชนวนเหตุที่สร้างความกังวลและความไม่พอใจให้คนในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่มองว่าพวกเขาไม่อาจเติบโตและมีอนาคตได้ภายใต้บรรยากาศการเมืองและเศรษฐกิจที่ถูกกินรวบโดยกลุ่มผู้มีอำนาจเพียงไม่กี่ราย พวกเขาจึงออกมาชุมนุมเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เอื้อต่อกลุ่มทุนผูกขาด ซึ่งรวมถึงกลุ่มทุนกษัตริย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเป็นธรรมให้กับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง รวมถึงเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายอื่นๆ ที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ตลอดจนเรียกร้องให้ปฏิรูปกองทัพและสถาบันกษัตริย์ เพื่อลดอำนาจและแยกสถาบันต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องให้ออกจากการเมืองการปกครอง อย่างไรก็ตาม สมยศกล่าวว่านักเรียนนักศึกษาที่ออกมาประท้วงกลับถูกปราบปรามอย่างหนักโดยรัฐ

ด้านโลเปซกล่าวถึงนโยบายทางการเมืองและเศรษฐกิจของรัฐบาลฟิลิปปินส์ที่มักอิงอยู่กับการเมืองค่ายของสหรัฐฯ เป็นหลัก ซึ่งหากสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ฟิลิปปินส์ก็จะได้รับผลกระทบด้วย เช่น กรณีวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2552 ในยุคของบารัก โอบามา และสงครามการค้าในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ โลเปซระบุว่าโควิด-19 แต่โควิด-19 เป็นตัวเร่งที่ช่วยให้เห็นปัญหาต่างๆ ของฟิลิปปินส์ทั้งเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจที่สั่งสมมายาวนาน โดยเฉพาะนโยบายบริหารประเทศขวาจัดของรัฐบาลโรดิโก ดูเตอร์เต ที่ฉายภาพซ้ำของการบริหารประเทศในทศวรรษที่ 1970 ภายใต้การนำของเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส นอกจากนี้ การก่อตัวขึ้นของลัทธิเสรีนิยมใหม่ในฟิลิปปินส์ยังเป็นการซ้ำเติมปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำและการเข้าไม่ถึงทรัพยากรของกลุ่มคนชายขอบให้สาหัสยิ่งขึ้น

โลเปซยกตัวอย่างปรากฏการณ์ลัทธิเสรีนิยมใหม่และฝ่ายขวาที่ชนะการเลือกตั้งและก้าวขึ้นมามีอำนาจในหลายประเทศในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา แทนที่ฝ่ายซ้าย เช่น นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย, เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส, บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ รวมถึงมินอ่องหล่าย ผู้ก่อการรัฐประหารในพม่า พร้อมกล่าวถึงการล่มสลายของนโยบายฝ่ายซ้ายในรัสเซีย ยุโรปตะวันออก และประเทศกลุ่มลาตินอเมริกา ซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีในการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ แต่การดำเนินนโยบายของพรรคฝ่ายซ้ายในประเทศเหล่านี้กลับไม่ได้ผลอย่างที่คิด ซึ่งอาจเกิดจากรูปแบบการดำเนินนโยบายหรือการใช้อำนาจที่ผิดพลาดของผู้บริหาร อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายในประเทศเหล่านั้นยังคงมีที่ยืนในการเมือง ซึ่งแตกต่างจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่ค่อยเห็นความเข้มข้นของการเมืองฝ่ายซ้ายมากนัก

โลเปซกล่าวต่อไปอีกว่าในช่วงที่เกิดวิกฤตโรคระบาดซึ่งส่งผลกระทบไปยังเศรษฐกิจ เป็นโอกาสที่ปีกการเมืองฝ่ายซ้ายจะได้ชูนโยบายแก้ปัญหา เพราะนโยบาย ‘แจกเงิน’ ของพรรคฝ่ายขวาที่ครองอำนาจรัฐบาลอยู่ในตอนนี้ใกล้ถึงทางตัน เนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือนั้นได้ การแก้ปัญหาด้วยสวัสดิการถ้วนหน้า ซึ่งเป็นแนวคิดสังคมนิยมและฝ่ายซ้ายจึงเป็นทางออกที่ดีในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและวิกฤติเศรษฐกิจที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในยุคนี้

ทั้งนี้ การเสวนาในวันที่ 27-28 พ.ย. ที่ผ่านมา มีทั้งหมด 4 หัวข้อ ได้แก่ การสร้างระบบสุขภาพสำหรับศตวรรษที่ 21 ที่ดูแลประชาชนอย่างเท่าเทียม, เผด็จการ อำนาจนิยม และฟาสซิสต์, วิกฤตเศรษฐกิจของระบบทุนนิยม: ประชาชน VS กำไร และสหภาพแรงงานแนวปฏิวัติ การสร้างเอกภาพของนักสังคมนิยมและสหภาพแรงงานเพื่อตอบโต้รัฐและทุน

ส่วนการเสวนาในวันที่ 4-5 ธ.ค. ที่จะถึงนั้น มีประเด็นหลักคือเรื่องลัทธิจักรวรรดินิยมในศตวรรษที่ 21 และการต่อสู้เพื่อกำหนดอนาคตตนเอง, ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อุตสาหกรรมสะอาดของระบบทุนนิยมยังไม่สามารถช่วยเราได้, จักรวรรดินิยมกับภูมิศาสตร์การเมือง บทบาทของจีนในปัจจุบัน, เกษตรกรรมในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบสังคมนิยม, ความท้าทายของฝ่ายซ้ายในการบริหารประเทศเป็นสังคมนิยมของคิวบาและละตินอเมริกา และฝ่ายซ้ายกับการเลือกตั้ง ความขัดแย้งและความท้าทาย

ผู้ที่สนใจรับฟังเสวนาแบบออนไลน์ สามารถดูรายละเอียดและลงทะเบียนเพื่อรับลิงก์เสวนาออนไลน์ผ่านซูมได้ที่ https://socialismconf.org/ โดยการบรรยายทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษและมีล่ามแปลภาษาไทย ภาษาจีนกลาง ภาษามาเลย์ และภาษาอินโดนีเซียตลอดการเสวนา

โดยหัวข้อหลังจากนี้ประกอบด้วย 

4 ธันวาคม 2564 (เสาร์) เวลา 9:00 - 19:00 น. (เวลาไทย)

9:00     Session 5 ภูมิศาสตร์การเมืองจักรวรรดินิยมและบทบาทของจีนในปัจจุบัน

11:30   ปาฐกถา: การปฏิวัติโรจาวา (Rojava) : สตรีนิยม การกำหนดอนาคตตนเอง และพลังของประชาชน

14:00   Session 6 วิกฤตสภาพภูมิอากาศ: ทำไมทุนนิยมเขียวไม่สามารถช่วยเราได้

17:00   Session 7 ลัทธิล่าอาณานิคมในศตวรรษที่ 21 และการต่อสู้เพื่อปกครองตนเอง

5 ธันวาคม 2564 (อาทิตย์) เวลา 09:00 - 19:00 น. (เวลาไทย)

9:00     Session 8 คำถามเกี่ยวกับการเกษตรในช่วงเปลี่ยนผ่านสังคมนิยม

11:30   ปาฐกถา: ความท้าทายที่ต้องเผชิญในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่สังคมนิยม – ละตินอเมริกาและคิวบา

13:00   Session 9 ฝ่ายซ้ายและการเลือกตั้ง: ความขัดแย้งและความท้าทาย

17:00   กล่าวปิดการประชุมของเจ้าภาพร่วม 6 องค์กร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท