พรเทพ เบญญาอภิกุล : TRUE-DTAC จะรวมกัน ถ้าหน่วยงานกำกับดูแลไม่ดูไม่แล ผู้บริโภคต้องห่วงอะไร?

  • หลังบริษัทแม่ของ TRUE และ DTAC ประกาศว่าจะควบรวมบริษัทลูกเข้าด้วยกัน ก็กลายเป็นประเด็นใหญ่ทันทีเพราะจะเป็นการควบรวมกันของบริษัทเอกชนด้านโทรคมฯ อันดับ 2 และ 3 เข้าด้วยกัน(ที่ก็มีอยู่แค่ 3 เจ้าใหญ่) 
  • พรเทพ เบญญาอภิกุล อ.เศรษฐศาสตร์ มธ. และอดีตนักวิจัยโครงการ NBTC Policy Watch ให้ความเห็นว่าการแข่งขันในตลาดโทรคมฯ ทั้งด้านราคาและคุณภาพจะลดลงแน่หากเหลือรายใหญ่เพียง 2 เจ้า
  • เขายังชี้ให้เห็นอีกว่าข้ออ้างของบริษัทเอกชนว่าหลังการควบรวมแล้วต้นทุนดำเนินงานจะต่ำลงและดำเนินกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้นก็อาจจะจริงแต่ไม่ได้มีอะไรรับประกันว่าประสิทธิภาพเหล่านี้จะถูกส่งผ่านมาให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ไปด้วยเพราะเมื่อไม่มีการแข่งขันแล้วก็ไม่มีสภาพบังคับให้เอกชนต้องลดราคาค่าบริการและเพิ่มคุณภาพในการให้บริการเพื่อแข่งขันกันและก็มีตัวอย่างการควบรวมในหลายประเทศที่เมื่อมีผู้แข่งขันในตลาดลดลงราคาค่าบริการก็เพิ่มสูงขึ้น
  • อย่างไรก็ตามปัญหาเหล่านี้จะป้องกันได้หากหน่วยงานกำกับดูแลด้านโทรคมฯ อย่าง กสทช.และการแข่งขันทางการค้าอย่าง กขค. เข้ามาตรวจสอบและมีมาตรการป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนที่การควบรวมกันจะเกิดขึ้น แต่จากท่าทีของทั้งสองหน่วยงานหลังเอกชนประกาศว่าจะควบรวมกันกลับไม่มีความชัดเจนว่าเป็นหน้าที่ของใครหรือจะร่วมมือกันอย่างไรในการเข้ามากำกับดูแลเรื่องนี้
  • นอกจากประเด็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นในตลาดโทรคมฯ แล้ว เครือซีพีที่เป็นบริษัทแม่ยังมีบริษัทลูกอื่นๆ ที่เป็นเจ้าตลาดในธุรกิจประเภทอื่นๆ อยู่แล้วและการควบรวมนี้ก็อาจจะทำให้กลายเป็นเจ้าตลาดโทรคมฯ ไปด้วย ซึ่งความซับซ้อนของทำธุรกิจข้ามไปมาหลายประเภทนี้ยิ่งทำให้หน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันในตลาดต่างๆ ทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นไปด้วย

    เมื่อบริษัทแม่ของบริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ระดับเป็นอันดับ 2 กับ 3 ของประเทศอย่าง TRUEและ DTAC ประกาศว่ากำลังดำเนินการเพื่อควบรวมบริษัทลูกเข้าด้วยกันในอนาคต จนเป็นที่ถูกพูดถึงอย่างมากทั้งในมุมของความกังวลว่าจะเกิดการผูกขาดขึ้นในตลาดโทรคมนาคม การแข่งขันที่อาจจะลดลงหรือไม่แข่งขันกันอีกแล้วเพราะเหลือผู้เล่นที่เป็นเอกชนรายใหญ่เพียง 2 เจ้าคือ AIS และบริษัทใหม่ที่จะถูกตั้งขึ้นมาหลังการควบรวมกันของ TRUE - DTAC จนอาจจะเกิดปัญหาด้านคุณภาพและราคาค่าบริการที่อาจจะตกมาเป็นภาระของผู้บริโภค

    ทั้งนี้เมื่อพูดถึงการควบรวมกันในธุรกิจด้านโทรคมนาคมที่ถือได้ว่าเป็นตลาดที่มีผู้แข่งขันน้อยรายตามธรรมชาติอยู่แล้วทั้งจากปัจจัยด้านรัพยากรคลื่นความถี่ที่มีจำกัดและต้นทุนการเข้ามาทำธุรกิจนี้มีค่อนข้างสูง มีสิ่งที่จะเป็นคำถามตามมาคือหลังการควบรวมแล้วจะเกิดผลกระทบอย่างไรต่อตลาดโทรคมนาคมและเศรษฐกิจ และหากเกิดผลกระทบขึ้นมาหน่วยงานกำกับดูแลจะต้องมีบทบาทอย่างไรเพื่อไม่ให้ผลกระทบมาตกที่ประชาชนที่ต้องพึ่งพาอาศัยบริษัทเหล่านี้ในการติดต่อสื่อสารกัน

    แต่ในขณะที่มีความกังวลดังกล่าวเกิดขึ้น หน่วยงานกำกับดูแลด้านโทรคมนาคมและการแข่งขันทางการค้าทั้ง 2 หน่วยงานกลับมีท่าทีไม่ชัดเจนว่าจะตกลงการควบรวมนี้ใครกันแน่ที่จะต้องเข้ามาตรวจสอบและต้องออกมามาตรการเพื่อกำกับดูแลการควบรวมบริษัททั้ง 2 แห่งเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอย่างที่คนกังวลกัน

    True-DTAC จะรวมกัน กสทช.ต้องทำอะไร?

    สัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาไทจึงได้ขอสัมภาษณ์ พรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตเคยเป็นนักวิจัยของโครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) ที่มีบทบาทในการติดตามด้านการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมและโทรทัศน์และการจัดสรรคลื่นความถี่ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบของการควบรวมธุรกิจครั้งใหญ่ในธุรกิจโทรคมนาคมครั้งนี้และบทบาทที่ กสทช.ควรจะทำเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดในตลาดโทรคมนาคม

    พรเทพ เบญญาอภิกุล ภาพจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    ประเด็นแรกเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังการควบรวมกันของ พรเทพ ชี้ว่าการควบรวมนี้จะส่งผลแน่นอนและผลกระทบก็จะชัดเจนกว่ากรณีเทสโก้กับแมคโครควบรวมธุรกิจอีก เพราะตลาดโทรคมนาคมมีการกระจุกตัวอยู่แล้วที่ทั้งตลาดมีรายใหญ่อยู่แค่ 3 บริษัท แล้วการควบรวมนี้ก็จะทำให้เหลือแค่ 2 บริษัทจึงถือได้ว่าผู้เล่นหายไปเยอะ

    พรเทพกล่าวถึงตัวชี้วัด HHI (Herfindahl–Hirschman index) ที่ใช้วัดการกระจุกตัวและการผูกขาดในธุรกิจแต่ละประเภทมีระดับ 0-10,000ที่ค่ายิ่งสูงแสดงว่ามีการผูกขาดในตลาดของประเภทธุรกิจนั้นสูง เขาระบุว่าสำหรับตลาดโทรคมนาคมของประเทศไทยก็มีการกระจุกตัวอยู่แล้ว ก่อนรวมที่มีบริษัทใหญ่อยู่แค่ 3 รายค่า HHI ก็สูงอยู่แล้วที่กว่า 3,600 พอควบรวมกันค่านี้มันก็สูงขึ้นไปกว่าเป็นพันจุดจนถึง 5,000 กว่า และตามประกาศของ กสทช.เองถ้าค่านี้เพิ่มขึ้นถึงหนึ่งร้อยจุดก็ถือว่าส่งผลเปลี่ยนแปลงต่อการแข่งขันแล้ว

    เขาตอบคำถามว่าการควบรวมนี้จะส่งผลอย่างไร เราก็เห็นอยู่ว่าผู้ให้บริการของโทรศัพท์มือถืออยู่ 3 รายก็ยังมีการแข่งระดับหนึ่งแม้จะไม่ได้รุนแรงมาก แล้วถ้าเหลือ 2 รายที่มีขนาดเท่ากัน สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นคือทั้งสองบริษัทก็จะไม่ค่อยมาเน้นแข่งขันกันด้านราคาเพราะว่าไม่มีความจำเป็นแล้วที่จะต้องใหญ่ไปกว่านี้ ถ้าเกิดเขาจะลดราคา ในตอนที่เขามีส่วนแบ่งการตลาดที่ค่อนข้างใหญ่อยู่แล้วการมาต่อสู้กันด้านราคาจะกลายเป็นต้นทุนต่อบริษัทสูงมากเพราะเวลาลดราคาในสภาพที่ส่วนบางตลาดสูงก็จะต้องเสียสละรายได้เยอะเพราะลูกค้าเยอะ แต่ถ้าเป็นรายเล็กๆ ตั้งตัดราคาก็แบกรับต้นทุนน้อยกว่า

    พรเทพยกตัวอย่างงานศึกษาการควบรวมบริษัทโทรคมนาคมในยุโรป 30 กว่าประเทศพบว่ามีการกระจุกตัวที่เพิ่มขึ้นและจะส่งผลต่อราคาค่าบริการในระยะยาว โดยส่วนใหญ่ในกรณีของยุโรปจะเป็นจากบริษัท 4 บริษัทควบรวมเหลือ 3 บริษัท ในงานศึกษานี้พบว่าราคาค่าบริการเพิ่มขึ้นมาประมาณ 16-17% ส่วนของไทยที่ควบรวมแล้วจะเหลือแค่ 2 บริษัทยิ่งเข้าใกล้ความผูกขาดเข้าไปอีกผลกระทบก็จะรุนแรง

    ประเด็นขนาดของผลกระทบแค่ไหน อาจารย์เศรษฐศาสตร์อุตสหากรรมชี้ว่าในตลาดโทรศัพท์มือถือของไทยเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมเพราะทุกคนต้องใช้และเปนปัจจัยการผลิตให้กับอุตสาหกรรมอื่น ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยหรือบริษัทห้างร้านต่างๆ ถ้าราคาค่าบริการเพิ่มขึ้นก็จะกลายเป็นต้นทุนที่กระทบกับทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับน้ำมันดีเซลที่เมื่อราคาขึ้นก็ส่งผลต่อภาคการขนส่งทำให้สินค้าอื่นๆ ราคาแพงขึ้นด้วย

    “ยังไม่ต้องพูดถึงว่าในยุคที่ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญมากและการจะเข้าถึงข้อมูลจำนวนมหาศาลก็ต้องใช้อินเตอร์เนตถ้าราคามันสูงก็จะส่งผลต่อผู้มีรายได้น้อยหรือคนที่ขาดโอกาสในสังคมก็ยิ่งขาดโอกาสและเกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ”

    นอกจากนั้นเขายังชี้ให้เห็นอีกว่า ในประเทศไทยการใช้อินเตอร์เนตประเภทสาย(บรอดแบนด์) ไม่ค่อยแพร่หลายนักเมื่อเทียบกับการใช้อินเตอร์เนตผ่านสัญญาณมือถือในหลายกิจกรรมทั้งการดูยูทูปไปจนถึงการเรียนออนไลน์ ดังนั้นเมื่อราคาค่าบริการเพิ่มขึ้นหรือคุณภาพแย่ลงก็จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคเยอะ และยังไม่รวมถึงสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้อีกเช่นมีการขายพ่วงมากขึ้น อย่างเช่นในสมัยก่อนที่เครื่องโทรศัพท์จะถูกล็อก IMEI ไว้ใช้ได้กับเฉพาะสัญญาณของค่ายใดค่ายหนึ่งทำให้ค่าโทรศัพท์

    นอกจากนั้นพรเทพยังเห็นว่าแนวโน้มในอนาคตเมื่อ TRUE และ DTACควบรวมกันจนทั้งตลาดเหลือแค่ 2 ราย ก็จะมีผู้เล่นรายใหม่เพิ่มขึ้นได้ยากแล้วจากหลายปัจจัยเช่น การหาเงินทุนเพื่อใช้ในการลงทุน การหาลูกค้าใหม่ และคลื่นความถี่ที่ลดลง

    ควบรวมแล้วผู้บริโภคได้ประโยชน์จริงหรือ?

    แม้ว่าการรวมธุรกิจจะเป็นเรื่องปกติของธุรกิจทั่วไปแต่พรเทพมองว่า บริษัทที่จะควบรวมกันก็ไม่ค่อยได้มองถึงผลกระทบทางสังคม หน่วยงานกำกับดูแลก็ต้องทำหน้าที่ดูว่าอันไหนส่งผลเสียมากก็ต้องมีมาตราการป้องกันหรือระงับยับยั้งได้ก็ควรจะต้องทำ หรือก็คือ 2 เจ้านี้สามารถทำกำไรได้แล้วถึงไม่รวมกันอยู่รอดได้ไม่ใช่ว่าจะมีรายใดรายหนึ่งล้มหายตายจากไป เพราะฉะนั้นหน่วยงานกำกับดูแลต้องดูว่าระหว่างผลประโยชน์ของผู้บริโภคที่จะหายไปกับเรื่องที่ทางบริษัทอ้างว่าเมื่อควบรวมกันแล้วจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ประสิทธิภาพดังกล่าวส่งผลดีกลับมาหาผู้บริโภคมากน้อยแค่ไหน

    ประเด็นนี้เขาก็เห็นว่าหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช.ก็ต้องมาดูด้วยว่าประสิทธิภาพที่มากขึ้นนั้นเป็นผลดีต่อผู้บริโภคจริงตามที่บริษัทอ้างหรือไม่หรือจะส่งผลร้ายต่อผู่บริโภคด้วยซ้ำ กรณีแบบนี้ในหลายประเทศก็ไม่อนุญาตให้มีการควบรวม และในการควบรวมของบางบริษัทในยุโรปบางแห่งที่ยกข้ออ้างเรื่องประสิทธิภาพขึ้นมาเมื่อหน่วยงานกำกับดูแลของยุโรปอย่าง European commission ตรวจสอบก็ไม่พบอย่างที่อ้าง

    เมื่อถามว่าการออกมาประกาศลดราคาโปรโมชั่นเดิมลงของอีกค่ายจะถือได้ว่ายังมีการแข่งขันได้หรือไม่ ซึ่งหน่วยงานรัฐหรือองค์กรกำกับดูแลก็อาจจะมองในมุมนี้ว่ายังคงมีการแข่งขันกันอยู่ได้เหมือนกัน

    พรเทพอธิบายประเด็นนี้ว่า พอมีการประกาศควบรวมกันแบบนี้ก็จะเกิดสถานการณ์ที่มันวุ่นวายอยู่ช่วงเวลาหนึ่งก่อนที่จะเกิดการปรับตัวสู่ดุลยภาพใหม่ ช่วงแรกที่ลูกค้าย้ายกันไปมา เช่นคนที่เคยเป็นลูกค้า DTACแต่อาจจะไม่ชอบ TRUE ก็จะย้ายไปอีกค่ายแทน แต่เมื่อสถานการณ์กลับมาสู่สภาวะปกติแล้วก็อาจจะได้เห็นว่า 2 รายนี้ไม่จำเป็นต้องแข่งขันกันโดยตรง ซึ่งตอนนี้ก็อาจจะสังเกตได้จากตลาดหุ้นก็ได้ กล่าวคือเมื่อเกิดข่าวว่าทั้ง 2 บริษัทประกาศว่าจะควบรวมกัน หุ้นของ AIS TRUE และDTAC ก็ขึ้นด้วยกันหมดทั้งอุตสาหกรรมซึ่งราคาหุ้นก็สะท้อนถึงการทำกำไรในอนาคตด้วยว่าจะทำได้มากแค่ไหน

    พรเทพเห็นว่าการควบรวมกันทางธุรกิจแต่ละครั้งจะมีการประดิษฐ์คำใหม่ๆ อย่างเช่นตอนที่เทสโก้กับแมคโครควบรวมกันก็จะมี “ทำให้ธุรกิจไทยไประดับโลก” หรือ “การแข่งขันลดลงแต่ไม่ได้ส่งผลเสียต่อผู้บริโภค” และคราวนี้ก็จะมีเรื่อง “Digital Transformation”

    “ประเด็นคือ นวัตกรรมส่วนใหญ่ในต่างประเทศเกิดจากสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขัน มันผลักดันให้ธุรกิจหานวัตกรรมใหม่ๆ แต่พอสภาพตลาดที่มันกระจุกตัวมากขึ้นมันก็ไม่มีแรงจูงใจในการหานวัตกรรมใหม่ๆ หรือเขาก็จะอ้างว่าการรวมจะประหยัดต้นทุนเช่น พนักงานที่ซ้ำกันในแต่ละแผนกก็จะลดบ้างแผนกไปได้ มีการแบ่งกันใช้โครงสร้างพื้นฐานหรือโครงข่ายร่วมกัน ทำให้ต้นทุนการดำเนินงานต่ำลงแล้วผู้บริโภคก็จะได้ประโยชน์”

    “ตรรกะแบบที่พูดมามันมีปัญหาอยู่ตรงที่ ต้นทุนมันต่ำลงจริงๆ แต่ผู้บริโภคได้ประโยชน์มาอย่างไร คือเขาก็อ้างว่าว่าที่เขาบอกว่าประหยัดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพได้แล้วผู้บริโภคก็จะได้ประโยชน์ คือถ้าเขาไม่แข่งขันมันไม่มีผู้ประกอบการรายไหนหรอกที่เอากำไรตัวเองไปให้ผู้บริโภคฟรี ๆ มันคือเป็นจุดอ่อนของตรรกะอันนี้”

    พรเทพยกตัวอย่างอีกว่าประเด็นที่ทางฝ่ายบริษัทอาจจะบอกว่าพอควบรวมกันแล้วก็จะทำให้สามารถใช้โครงข่ายร่วมกันได้ เขาเห็นว่าเรื่องนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องรอให้เกิดการควบรวมก่อน แต่ละบริษัทสามารถแบ่งกันใช้ได้อยู่แล้วโดยหน่วยงานกำกับดูแลสามารถกำหนดเงื่อนไขให้เกิดขึ้นได้อีกด้วย

    “ถ้าเราฟังดูดีๆ บางอย่างมันก็ไมได้เมคเซนส์หรือไม่ได้เกี่ยวข้องกับการควบรวมนี้นะ” พรเทพแสดงความเห็นและมองว่าเป็นเรื่องที่หน่วยงานกำกับดูแลก็ต้องตามให้ทันเกี่ยวกับข้ออ้างเหล่านี้

    อีกทั้งพรเทพยังเห็นว่าหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช. และคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าหรือ กขค.ต้องทำงานเชิงรุกมากกว่านี้แต่กลับบอกว่าไม่มีอำนาจตรวจสอบทั้งที่ควรจะร่วมมือกันทำงาน สำหรับเขาแล้วเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าผิดหวัง อีกทั้งตามพ.ร.บ.กสทช.ก็กำหนดหน้าที่ให้ กสทช.ต้องกำกับดูแลการแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมอยู่แล้ว

    นอกจากนั้นพรเทพยังเสนอต่อว่า กสทช.ยังสามารถเข้าไปกำกับดูแลได้ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการประกาศว่าควบรวมได้ด้วยโดยไม่จำเป็นต้องรอให้ทางบริษัทที่จะทำการควบรวมมาขออนุญาตก่อนแล้วถึงจะเริ่มกระบวนการตรวจสอบ กสทช.สามารถเริ่มติดตามได้เลยดูในทุกแง่มุม แต่ก็ต้องตั้งคำถามว่า กสทช.ของไทยที่ดูแลอยู่เพียงแค่ 2 ส่วนคือโทรคมนาคมกับวิทยุโทรทัศน์กลับไม่มีข้อมูลเรื่องที่จะมีบริษัทควบรวมกันได้อย่างไร เพราะจากทรัพยากรด้านบุคลากรและข้อมูล กสทช.น่าจะสามารถทำแบบจำลองเพื่อคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังการควบรวมได้แล้ว รวมถึงยังมีอำนาจตามกฎหมายที่ทำให้เข้ามากำกับดูแลและออกคำสั่งที่มีผลให้บริษัทต้องปฏิบัติตามได้

    “กขค.ก็ไม่ควรที่จะบอกว่าอันนี้อยู่นอกเหนืออำนาจของฉัน อันนี้เป็นของ กสทช. แต่จริงๆ แล้วควรจะร่วมมือกัน ในต่างประเทศเขาจะทำงานร่วมกันทั้งแบบ task force หรือคณะกรรมการร่วมที่มาติดตามเรื่องนี้ช่วยกันทั้งทางด้านวิชาการหรือทางด้านข้อมูลก็จะทำให้ผู้บริโภคอุ่นใจขึ้นเยอะ”

    การจัดการคลื่นความถี่

    การบริหารจัดสรรคลื่นความถี่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญในการควบรวมของทั้งสองบริษัทนี้ เนื่องจากการดำเนินธุรกิจโทรคมนาคมมีความจำเป็นต้องใช้คลื่นความถี่ซึ่งแต่ละช่วงคลื่นความถี่ก็มีความเหมาะสมในการใช้งานแตกต่างกันไป ไม่ว่าเพื่อใช้โทรศัพท์หรือใช้เล่นอินเตอร์เนตในระดับความเร็วแตกต่างกันไปและในตอนนี้เทคโนโลยีการสื่อสารได้พัฒนามาจนถึงยุค 5G แล้ว

    อย่างไรก็ตาม คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรจำกัดและที่ผ่านมารายใหญ่ทั้ง 3 เจ้าได้มีการทยอยประมูลคลื่นเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจของตัวเองเอาไว้จำนวนหนึ่งแล้ว และหากเกิดการควบรวมกันคลื่นความถี่ที่อยู่ในมือของบริษัทที่มีส่วนแบ่งการตลาดและถือครองใบอนุญาตมากเป็นอันดับ 2 อย่าง TRUEและอันดับ 3 อย่าง DTAC ก็อาจจะทำให้บริษัทใหม่ที่ตั้งขึ้นมานี้มีคลื่นความถี่จำนวนมากขึ้น

    อีกปัญหาคือคลื่นความถี่ที่อยู่ในย่านสูงอย่างเช่น 2600 MHz หรือ 26GHz จะมีช่องสัญญาณ(Bandwidth) ที่กว้างมากและรองรับการใช้ในงานปริมาณมากๆ ได้ แต่มีข้อเสียคือเป็นย่านความถี่ที่กระจายหรือทะลุทะลวงอาคารไปได้ไม่ไกลนัก ในทางกลับกันย่านความถี่ต่ำอย่าง 700MHz ที่กระจายไปได้ไกลและสามารถทะลุทะลวงสิ่งก่อสร้างได้มากกว่าแต่ก็มีช่องสัญญาณที่น้อยกว่าทำให้รองรับการใช้งานได้ไม่มากเท่า

    จากเหตุผลดังกล่าวจึงต้องกลับมาดูกันว่าแต่ละบริษัทถือครองคลื่นความถี่ย่านใดบ้างในจำนวนเท่าไหร่ เนื่องจากส่งผลต่อการประเมินศักยภาพในการแข่งขันของแต่ละบริษัทและคุณภาพการให้บริการ จากข้อมูลในปัจจุบันทั้ง 3 ค่ายมีดังจำนวนคลื่นความถี่อยู่ในมือตามแต่ละช่วงคลื่นความถี่ดังนี้

     

    AIS

    TRUE

    DTAC

    700 MHz (ให้บริการ 4G 5G ทีวีดิจิทัล)

    30

    20

    20

    900 MHz 3G 4G

    20

    20

    10

    1800 MHz 4G

    40

    30

    10

    2100 MHz 3G 4G

    30

    30

    30

    2600 MHz 5G

    100

    90

    -

    26 GHz 5G

    1200

    800

    200

    ข้อมูลอ้างอิงจากรายงานของ manager online และ telecomlover

    เมื่อดูจากยอดจำนวนผู้ใช้งานโทรศัพท์ตามรายงานผลการดำเนินงานไตรมาสล่าสุด (3/2564) ของแต่ละบริษัทก็จะพบว่า 2 บริษัทที่กำลังจะควบรวมกันอย่าง DTAC มีจำนวนผู้ใช้งานอยู่ที่ 19.3 ล้านราย และ TRUE มีผู้ใช้งานอยู่ที่ 32 ล้านราย ประเมินคร่าวๆ หากรวมกันได้ ณ วันนี้บริษัทใหม่ที่ตั้งขึ้นมาก็จะมีผู้ใช้บริการอยู่ที่ประมาณ 51.3 ล้านราย ซึ่งมากกว่า AIS ที่มีจำนวนผู้ใช้งานอยู่ที่ 43.6 ล้านราย

    พรเทพระบุว่าการให้บริการโทรคมนาคมที่มี Economy of scale สูงกล่าวคือการที่บริษัทมีลูกค้าเพิ่มขึ้นสองเท่าไม่ได้จำเป็นต้องใช้คลื่นความถี่เพิ่มขึ้นสองเท่า เพราะฉะนั้นเมื่อ 2 บริษัทรวมกันก็จะมีคลื่นความถี่ไปกระจุกกองรวมกันอยู่โดยที่อาจจะไม่ได้ถูกนำมาใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ถ้า TRUEและ DTAC รวมกันจะมีส่วนแบ่งการตลาดและคลื่นความถี่ในมือพอๆ กับ AIS

    “คลื่นความถี่เหล่านี้จะอยู่ในมือบริษัทเหล่านี้ไปเลยเป็น 10 ปีตามอายุใบอนุญาต คลื่นที่ถูกประมูลมันก็หายไปแทนที่จะได้เอามาใช้หรือเอาไปให้บริษัทใหม่ รายใหม่จะเข้ามาก็เข้าไม่ได้ถ้าจะรอประมูลใหม่ก็เป็นคลื่นความถี่อื่นไปแล้ว ก็จะเป็นคลื่นที่เหมาะสมกับการทำ 5G แต่ว่ามันก็จะต้องมีคลื่นความถี่สำหรับการให้บริการโทรศัพท์ด้วยเพราะว่าคลื่นมันมีหลายความถี่ที่แต่ละอันก็เหมาะกับการนำไปใช้งานไม่เหมือนกัน ส่วนคลื่นที่คุณสมบัติดีๆ ก็โดนกักไว้หมดแล้ว”

    พรเทพเห็นว่าทาง กสทช.ก็สามารถเข้ามาจัดการเรื่องนี้ได้ เขายกตัวอย่างในต่างประเทศที่มีการทำ spectrum cap คือการกำหนดเพดานไม่ให้บริษัทถือครองคลื่นในแต่ละย่านความถี่เกินจำนวนเท่าไหร่ และเมื่อมีบริษัทที่ควบรวมกันแล้วมีคลื่นความถี่ที่ถือครองเกินเพดานก็ต้องเอาออกมาขายหรือถ้าขายไม่ได้หน่วยงานกำกับดูแลก็ต้องดึงกลับมาประมูลใหม่ เพราะคลื่นความถี่ที่ถือเป็นทรัพยากรจำกัด ถ้าให้บริษัทถือเอาไว้เฉยๆ ไม่ได้ใช้ก็เสียเปล่าแม้ว่าจะบริษัทจะเป็นคนประมูลได้ไปแต่ก็หวังให้เอาไปใช้ ถ้า กสทช.ไม่ทำจะกลายเป็นการปิดประตูไม่ให้มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาทำธุรกิจโทรคมนาคมได้เลย

    เมื่อมองไปถึงการประมูลคลื่นความถี่ในอนาคต พรเทพก็เห็นว่าถ้าทั้งสองบริษัทควบรวมกันสำเร็จ การแข่งขันในการประมูลก็จะมีคู่แข่งน้อยลงส่งผลให้การแข่งขันประมูลคลื่นความถี่ไม่รุนแรงหรืออาจจะไม่เกิดการแข่งขันเลยก็ได้ ผลลัพธ์ก็คือราคาของคลื่นความถี่ที่ถูกประมูลไปก็จะไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง นอกจากนั้นสำหรับผู้เล่นรายใหม่ก็อาจจะเห็นว่ามี 2 รายใหญ่ที่มั่นคงมากอยู่ในตลาดแล้วก็อาจจะไม่อยากเข้ามาแข่งขันประมูล

    “คลื่นความถี่ที่จะประมูลในอนาคตก็คาดเดาได้เลยว่าราคาคงจะไม่ได้สูงนักแล้วก็ไม่สร้างรายรับให้กับประเทศ แล้วเขาก็จะแข่งขันกันไม่รุนแรง และเขาก็จะเก็บคลื่นเอาไว้ได้ด้วยถ้าไม่มีการทำสเปคตรัมแค๊ปอีก สรุปก็คือคลื่นความถี่จะถูกล็อกเอาไว้ในมือ 2 รายนี้”

    อนาคตของการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคม

    “ก็พูดยาก การส่งเสริมการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมเพราะก็ต้องยอมรับว่ากิจการโทรคมนาคมไม่ใช่กิจการที่โตเร็ว margin หรือกำไรมันเริ่มบางลงเพราะตลาดเริ่มอิ่มตัว แล้วก็ไม่มีการลงทุน”

    พรเทพมองว่าการหามาตรการส่งเสริมเพื่อให้เกิดการแข่งขันอาจทำได้ยากหากในอนาคตทั้ง 2 บริษัทควบรวมกันสำเร็จ ที่พอจะทำได้คือการรักษาการแข่งขันที่มีอยู่เดิมเอาไว้ อย่างที่ผ่านมาตอนที่มีการประมูลคลื่น 4G ก็ยังมีบริษัท JAS เข้ามาประมูลแสดงให้เห็นว่ายังมีบริษัทที่พอจะมองเห็นว่าเข้ามาในตลาดนี้ได้ หรืออย่างบริษัทอย่าง NT ที่เป็นบริษัทที่เกิดจากการรวมกันระหว่าง CAT กับ TOT ที่แม้ว่าตอนนี้จะมีคลื่นในมือแต่ยังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันและยังไม่ได้มีส่วนแบ่งตลาดมากนัก

    “อย่างน้อยเราต้องลดอุปสรรคเพื่อให้คนที่เขาคิดว่าอยากเข้ามาแข่งได้ลองเข้ามา เช่น การทำ Spectrum Cap จะทำให้รายเดิมที่มีคลื่นถึงเพดานแล้วไม่สามารถเข้ามาประมูลอีกได้ หรือการกันคลื่นความถี่บางคลื่นให้กับผู้ประกอบการรายใหม่โดยเฉพาะในราคาที่ถูก คือไปส่งเสริมเลยให้เขาเข้ามาแข่ง”

    พรเทพยังเสนออีกทางเลือกคือการส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการที่ไม่ได้มีโครงข่ายของตัวเองแต่เช่าใช้โครงข่ายสัญญาณจากรายใหญ่มาทำตลาดค้าปลีกแข่งหรือที่เรียกว่า Mobile Virtual Network Operator (MVNO) ให้มากขึ้นกว่านี้ แต่เขาบอกว่า MVNOจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช.มาช่วยทำให้เกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีบริษัทที่พยายามทำอยู่แต่ก็ยังเป็นแค่ส่วนเล็กๆ อย่างของบริษัทที่ชื่อ Penguin

    “อันนี้ต้องใช้พลังของ กสทช.ในการทำ เพราะโดยปกติแล้วถ้าปล่อยไว้เฉยๆ เจ้าของโครงข่ายก็ไม่อยากให้คนอื่นมาใช้โครงข่ายมาแข่งกับตัวเอง อาจจะต้องมีมาตราการกำกับดูแลตรงนี้เพิ่มเติม” พรเทพยกตัวอย่างเพิ่มว่าบางประเทศในยุโรปที่อนุญาตให้มีการควบรวมกิจการได้ก็จะตั้งเงื่อนไขไว้ท้ายใบอนุญาตว่าบริษัทต้องให้มี MVNO เข้ามาใช้สัญญาณบนโครงข่ายของบริษัทเป็นระยะเวลากี่ปีและกี่เปอร์เซนต์ของการรับส่งข้อมูลเพื่อเป็นมาตรการเยียวยาและสร้างให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น เพราะถ้าหน่วยงานกำกับดูแลไม่มาช่วยตรงนี้บริษัทก็อาจจะคิดค่าใช้เช่าใช้โครงข่ายกับบริษัทที่เป็น MVNO สูงจนบริษัทเหล่านี้ก็ไม่เข้ามาทำ

    เจ้าตลาด

    ประเด็นสุดท้ายที่จะกล่าวถึงคือ ประเด็นความเป็นเจ้าตลาดในหลายประเภทธุรกิจของ “เครือเจริญโภคภัณฑ์” หรือซีพี ที่หลายคนกังวลกันเนื่องจากมีห่วงโซ่ธุรกิจทั้งค้าปลีกและค้าส่งอย่างห้างโลตัสที่ได้มาจากการเข้าซื้อกิจการต่อจากเทสโก้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” เรียกดีลนี้ว่าเป็นการเอา “ลูกกลับมาในอ้อมอก” ทั้งห้างค้าส่งอย่างแมคโคร ไปจนถึงการมีร้านสะดวกซื้อแบบเซเว่นอีเลฟเว่นที่มีสาขามากที่สุด ส่วนในตลาดโทรคมนาคมที่มีบริษัทในเครืออย่าง “ทรูมูฟ” ก็เป็นถึงอันดับ 2 ของตลาดอยู่แล้วจนเรียกได้ว่าครบวงจร ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่กี่ปีก็มีข่าวที่ชวนให้ตั้งคำถามต่อความเป็นเจ้าตลาดค้าปลีกของซีพี

    กรณีที่น่าจะจำกันได้คือ AIS ที่ขณะนี้แม้ว่าจะเป็นผู้ให้บริการที่มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับหนึ่งในตลาดโทรคมฯ แต่เมื่อปี 2559 ก็มีประเด็นที่ทำให้ AISไม่สามารถวางขายซิมและเติมเงินในร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 ได้จนถึงทุกวันนี้เนื่องจาก AIS ไม่ยินยอมที่จะจ่ายค่าวางสินค้าเพิ่ม

    จากสภาพดังกล่าวก็อาจกล่าวได้ว่าการจะเป็นผู้เล่นรายใหม่ในตลาดโทรคมนาคมนอกจากจะต้องเผชิญหน้ากับเจ้าตลาดที่มีอยู่เดิมในการแข่งขันประมูลคลื่นความถี่ ทำการตลาดหาลูกค้าแล้วก็ยังต้องไปพึ่งพาร้านค้าของบริษัทในเครือข่ายเดียวกับบริษัทเจ้าตลาดที่เพิ่งแข่งขันไปในการประมูลคลื่น

    “มันก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลจริงๆ เรื่องของอำนาจของซีพีในแต่ละด้าน อันนี้มันคือเรื่องของทุนใหญ่ที่เข้ามากำกับชีวิตความเป็นไปของคนไทยเยอะแยะไปหมด”

    พรเทพเห็นว่าในอนาคตธุรกิจจะมีลักษณะคล้ายกับเป็นแพลตฟอร์มมากขึ้นมีความร่วมมือในเชิงข้ามประเภทธุรกิจกันมากขึ้นเกิดการควบรวมธุรกิจทั้งในแนวดิ่ง(ธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานเดียวกัน เช่น บริษัทผู้ผลิตอาหารกับห้างค้าปลีก) และแนวกว้าง(ธุรกิจอื่นในประเภทเดียวกัน เช่น กรณี DTAC – TRUE) มากมายไปหมด แล้วก็อาจจะกีดกันคู่แข่งรายอื่นที่อยู่นอกกลุ่มพันธมิตรทางธุรกิจไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเต็มที่ เช่น การให้ส่วนลดเฉพาะการจ่ายเงินผ่านบริการธุรกรรมทางการเงินในร้านค้าปลีกที่อยู่ในเครือบริษัทเดียวกัน กลายเป็นข้อจำกัดทางเลือกของผู้บริโภคไปเรื่อยๆ รวมไปถึงผู้ผลิตรายย่อยที่มีอำนาจต่อรองน้อยก็ต้องเจอกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการเอาสินค้าไปวางขายตามห้างหรือร้านค้า

    “แต่ถามว่าเราจะมีทางออกอย่างไร อันเดียวที่จะพูดได้ก็คือว่าหน่วยงานกำกับดูแลจะต้องมีความกล้าหาญแล้วก็ร่วมมือกันมากกว่านี้ แล้วก็ตระหนักถึงหน้าที่ของตัวเองในการคุ้มครองผู้บริโภค ผมว่าผู้บริโภคก็พยายามเต็มที่แล้ว”

    พรเทพยกกรณีการเข้าซื้อเทสโก้และกรณีควบรวม TRUE-DTACว่าจะเห็นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลพยายามจำกัดอำนาจตัวเองโดยอัตโนมัติ เช่นการบอกว่าเรื่องนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณา ถ้าหากเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของตัวเองก็จะอนุญาตให้ทำได้พร้อมไปกับการให้เหตุผลว่าการแข่งขันไม่ลดลง ไม่เป็นสาระสำคัญหรือไม่ส่งผลต่อผู้บริโภคไปจนถึงการบอกว่า “ลดการแข่งขันแต่ไม่ถึงกับผูกขาด” ทั้งที่เห็นอยู่ชัดเจนว่าถ้าปล่อยให้บริษัททำไปก็จะทำให้การแข่งขันลดลงซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลก็ไม่ควรต้องรอให้เกิดการผูกขาดก่อนเพราะแค่การแข่งขันลดลงก็ส่งผลเสียแล้ว

    “บริษัทมือถืออันดับ 2 อันดับ 3 รวมกัน แล้วคุณบอกว่าไม่อยู่ในอำนาจคุณไม่ได้ คุณต้องสืบสวน คุณต้องตรวจสอบ มันจะแย่เลยถ้าไม่ยอมทำเลย แล้วก็ขอให้มีความโปร่งใสในการพิจารณา กขค.เราแทบไม่เห็นอะไรเลยนะตอนรอบเทสโก้โลตัส อยู่ดีๆ ก็ประกาศตูมออกมา แล้วที่ออกมาก็ไม่ใช่คำวินิจฉัยด้วยเป็นแค่ประกาศหน้าเดียวเอาขึ้นเว็บไซต์ เคสใหญ่ขนาดนี้จะต้องมีการไต่สวน ให้ผู้มีส่วนได้เสีย ภาคประชาสังคมประชาชนมาช่วยในการตรวจสอบด้วย”

    พรเทพทิ้งท้ายว่าในอนาคตเมื่อการทำธุรกิจเกิดการจับกลุ่มหรือเกิดการควบรวมข้ามไปมาระหว่างธุรกิจหลากหลายประเภทกันการกำกับดูแลก็ซับซ้อนมากอยู่แล้ว และจะยิ่งซับซ้อนมากขึ้นอีกหากเกิดการใช้อำนาจผูกขาดในตลาดหนึ่งมาจัดการกับอีกตลาดหนึ่ง

    “ผมยังไม่แน่ใจเลยว่าหน่วยงานกำกับดูแลของไทยจะตามทันในอนาคต”

    แก้ไข : 12.44 น. 30 พ.ย.2564

    ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

    ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
    Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
    Twitter : https://twitter.com/prachatai
    YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
    Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
    ข่าวรอบวัน
    สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

    ประชาไท