ภาคประชาชนเสวนาหน้ารัฐสภา เตรียมจับตากฎหมาย #รื้อมรดกคสช. เข้าสภาวาระแรก

ภาคประชาชนตั้งเวทีเสวนารัฐสภาสะท้อนปัญหาจากการใช้อำนาจของ คสช.ผ่านประกาศและคำสั่งต่างๆ ที่เคยออกมากว่าห้าร้อยฉบับที่ทุกวันนี้ยังคงเหลืออีก 35 ฉบับที่ยังมีผลสืบเนื่องอยู่ถึงปัจจุบัน เพื่อติดตามการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ยกเลิกประกาศ คำสั่ง คสช.วันพรุ่งนี้ อย่างไรก็ตามประธานวิปฝ่ายค้านแจ้งพรุ่งนี้มีวาระพิจารณามากอาจไม่ทัน

30 พ.ย.2564 เวลาประมาณ 16.00 น. ที่หน้าทางเข้ารัฐสภา เกียกกาย ไอลอว์และภาคประชาสังคม จัดกิจกรรม “รวมพลังประชาชนรื้อระบอบคสช.” เนื่องจากพรุ่งนี้(1 ธ.ค.) สภาผู้แทนราษฎรมีนัดพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย เพื่อยกเลิกประกาศและคำสั่งคสช.จำนวน 35 ฉบับที่ยังคงมีผลสืบเนื่องอยู่จนถึงทุกวันนี้

ในงานมีวงเสวนาในประเด็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหารและการใช้อำนาจตามประกาศและคำสั่ง คสช.ตลาดช่วงรัฐบาลทหารครองอำนาจและยังคงมีผลถึงทุกวันนี้ โดยมีทั้งผู้ที่ถูกจับกุมคุมขังและยังถูกดำเนินคดี เช่น จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และประเด็นผลกระทบด้านที่ดินและสิ่งแวดล้อมเช่น อรนุช ผลภิญโญ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน และสุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw)

ทั้งนี้ภายหลังการเสวนา ทางเครือข่ายมีการอ่านแถลงการณ์ "ปลดอาวุธ คสช." "รื้อมรดกคณะรัฐประหาร"ที่กล่าวถึงปัญหาของการรัฐประหารและการใช้ประกาศและคำสั่ง คสช.กว่า 556 ฉบับ ที่ลงนามและประกาศใช้ออกมาโดยคนคนเดียว ไม่มีการมีส่วนร่วมจากประชาชน และมีผลใช้บังคับทันที โดยมุ่งหมายเพิ่มอำนาจให้ทหาร จำกัดและสิทธิประชาชน และคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐให้ไม่ต้องรับผิด และยังเกิดผลกระทบมากมาย ทั้งด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ

นอกจากนั้นรัฐบาล คสช.ยังสั่งห้ามชุมนุมและเคลื่อนไหวทางการเมือง ยึดครองเนื้อหาและพื้นที่สื่อมวลชน ให้ทหารมีอำนาจจับคนไปคุมขังในสถานที่ปิดลับโดยไม่ต้องมีข้อกล่าวหา ให้คดีของพลเรือนขึ้นพิจารณาและตัดสินโดยศาลทหาร

“มาในวันนี้เราคาดหวังว่า ยุคสมัยเช่นนั้นได้ผ่านไปแล้ว เราอยากเห็น การเดินหน้าสู่สังคมที่อำนาจเป็นของประชาชน ไม่ใช่ของคณะรัฐประหาร และเราอยากเห็น ผู้แทนราษฎรยืนยันหลักการนี้ ตอบรับความต้องการของประชาชน เราอยากเห็นทุกภาคส่วนของสังคม ช่วยกันยืนยันว่า สิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและประเทศไทยจะไม่กลับไปสู่วังวนเช่นนั้นอีก” แถลงการณ์ระบุ

อย่างไรก็ตามการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่ง ของคสช. หรือ "ปลดอาวุธคสช." ของสภาผู้แทนราษฎรที่กำลังจะเกิดขึ้น เป็นเพียงวาระแรกเท่านั้น เพื่อนำไปสู่การศึกษาปัญหาและรื้อถอนมรดกที่ คสช. ทิ้งเอาไว้ในระบบกฎหมายและใช้ในการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร ซึ่งหลังจากนี้ประชาชนจะติดตามอย่างใกล้ชิดว่า ส.ส.จากพรรคการเมืองต่างๆ จะช่วยกันตรวจสอบอำนาจที่ตกค้างมาจากยุค คสช.หรือปล่อยให้เกิดการละเมิดสิทธิประชาชนต่อไป

จากนั้นชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล และสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานประธานวิปฝ่ายค้าน เดินทางมารับหนังสือจากกลุ่มผู้จัดกิจกรรม

ชินวรณ์กล่าวว่าร่างกฎหมายรื้อมรดก คสช. ที่ไอลอว์เป็นผู้รวบรวมรายชื่อประชาชนนั้นถูกบรรจุในวาระที่ 5.6 ของการประชุมสภาวันพรุ่งนี้ (1 ธ.ค. 2564) แต่จะได้รับพิจารณาในวันพรุ่งนี้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการใช้เวลาพิจารณาร่างกฎหมายอื่นๆ ที่อยู่ในคิวก่อนหน้า ส่วนการลงมติก็ขอให้เป็นไปตามการเห็นชอบของสภา หากสภาเห็นชอบก็จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายอีกที หลังจากผ่านชั้นกรรมาธิการแล้วก็จะเข้าสู่ขั้นพิจารณา 3 วาระในสภาต่อไป ทั้งนี้ ชินวรณ์ไม่ได้ตอบอย่างชัดเจนถึงท่าที่ฝ่ายรัฐบาลว่าจะลงมติเห็นชอบรับหลักการร่างกฎหมายฉบับนี้หรือไม่

"คำสั่ง คสช. เป็นคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ มีฐานะเป็นกฎหมาย เราก็ต้องแก้ด้วยกฎหมาย พวกผมยืนยันว่าที่ผ่านมา เราก็มีการแก้ไขกฎหมายให้มีการยกเลิกคำสั่ง คสช. ในบางคำสั่งไปแล้ว และแน่นอน ข้อเสนอดังกล่าวนี้ก็ข้อเสนอซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เพื่อนสมาชิกรัฐสภาควรจะรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางต่อไป" ชินวรณ์กล่าว

ขณะที่สุทิน กล่าวในทำนองเดียวกันว่าร่างกฎหมายรื้อมรดก คสช. ถูกบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาแล้ว แต่เมื่อพิจารณาลำดับวาระต่างๆ ในการประชุมวันพรุ่งนี้แล้ว ตนไม่มั่นใจว่าจะทันพิจารณาหรือไม่ แต่หากไม่ทันในวันพรุ่งนี้ก็จะเลื่อนไปเป็นสัปดาห์หน้าแทน แต่ฝ่ายค้านก็จะพยายามให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้พิจารณาภายในวันพรุ่งนี้

ส่วนการลงมติของฝ่ายค้านนั้น สุทินยืนยันว่าจะลงมติเห็นชอบรับหลักการอย่างแน่นอน

"ผมโดนปรับทัศนคติบ่อยที่สุด นอกจากโดนปรับไม่พอยังโดนตาม แต่ก็รอดมาได้ ผมเข้าใจในเจตจำนงนะครับ แล้วไม่ต้องถามว่าฝ่ายค้านจะเห็นด้วยหรือไม่ในกฎหมายนี้ เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่เรา เพราะฝ่ายค้าน ทุกคน ทุกพรรค ยืนยันว่าเราเห็นชอบกับกฎหมายฉบับนี้แล้ว เราเห็นชอบมาก่อนหน้านั้นแล้ว พอมันเข้ามาปั๊บ เชื่อเลยว่าพวกเราก็จะรับหลักการในวาระแรก" สุทินกล่าว

"มรดก คสช." สร้างปัญหา ต้องยกเลิกและหาทางดูแลผลกระทบ

จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี เล่าถึงประสบการณ์ผลกระทบจากการรัฐประหารของ คสช.และผลกระทบจากประกาศ คำสั่งต่างๆ ของ คสช.ที่ออกมาในช่วงรัฐบาล

จาตุรนต์เริ่มเล่าว่าเขาเป็นกลุ่มคนแรกๆ ที่โดนเรียกรายงานตัว แต่ไม่ได้ไปเพราะเขาเห็นว่าเขาผ่านรัฐประหารหลายครั้งแล้วก็ไม่เคยต้องไปรายงานตัวมาก่อนและเขาก็เห็นว่า คสช.ก็ยังยึดอำนาจไม่เสร็จสิ้นด้วยเพราะก็ยังมี ครม. หลายคนที่แสดงการคัดค้านรัฐประหารอยู่บ้าง วันต่อมา คสช. ก็ออกประกาศอีกฉบับหนึ่งมากำหนดความผิดกับคนที่ไม่เข้ารายงานตัวให้มีโทษจำคุกตามมา

จาตุรนต์เล่าต่อว่าตอนนั้นคิดว่าถ้ายังหลบไปเรื่อยๆ ก็ต้องลงใต้ดิน ซึ่งก็เคยลงใต้ดินมาแล้วก็ไม่อยากลงอีก แต่จะไปต่างประเทศก็ไม่อยากไป เลยคิดว่าก็ต้องหาทางให้ตัวเองถูก คสช.จับ เพราะจะไม่ไปรายงานตัวอยู่แล้วก็เลยลองประสานไปที่ FCCT เพื่อจัดแถลงข่าว ตอนที่ไปแถลงก็สวนทางกันกับทหารที่ไปค้นบ้าน

ทหารก็มาจับแล้วเอาตัวไปโรงพักทหารก็บอกว่าให้เตรียมตัว คืนนี้จะต้องนอนที่นี่แล้วก็นำตัวไปส่งดำเนินคดี ระหว่างที่ถูกขังอยู่ก็มีทหารเอาเอกสารกฎหมายมาให้ดูว่าคดีของเขาที่ไม่ไปรายงานตัวเกิดก่อนมีประกาศให้คดีไม่รายงานตัวขึ้นศาลทหารทำให้ไปขึ้นศาลไม่ได้ แต่มีผู้บังคับบัญชาอยากให้คดีของเขาต้องขึ้นศาลทหารก็เลยต้องตั้งข้อหาเพิ่มเป็นข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 จากนั้นเขาก็ถูกย้ายตัวไปค่ายทหารก่อน แล้ววันรุ่งขึ้นก็ถูกนำตัวไปกองปราบฯ ต่อเพื่อดำเนินคดีและตั้งข้อหาเพิ่มก่อนถูกส่งตัวไปศาลทหาร

จาตุรนต์เล่าต่อว่าพอไปถึงศาลทหารศาลก็ไม่ให้ประกันตัวทำให้ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำไป แต่อยู่ในเรือนจำได้ 2-3 วันก็มีการแจ้งข้อหาเพิ่มตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อีกรวมเป็น 3คดี รวมโทษแล้วก็ราวๆ 16 ปี

จาตุรนต์เล่าย้อนกลับไปเรื่องที่เขาถูกศาลทหารฝากขังอีกว่าวันที่ศาลสั่งขังแล้วไม่ให้ประกันตัว จริงๆ แล้วศาลทหารไม่มีอำนาจสั่งขังเลย แต่ทนายความก็มัวแต่ลุ้นเรื่องประกันตัวไม่ทันได้ดูกฎหมายว่าทำไม่ได้ เพราะในตอนนั้นประกาศ คสช. ที่ให้คดีในช่วงนั้นต้องขึ้นศาลทหารมีข้อยกเว้นท้ายประกาศว่าไม่ให้ใช้ศาลทหารในพื้นที่มีการประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ อยู่ ซึ่งก่อนที่ คสช.จะทำรัฐประหาร รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ อยู่ก่อนแล้วและ คสช.ตอนที่เพิ่งทำรัฐประหารก็ไม่ได้ยกเลิกประกาศนี้ไปจนภายหลังถึงออกประกาศมายกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แล้วให้มีผลย้อนหลังไปจนถึงวันที่ คสช.ทำรัฐประหาร ตอนนั้นเขาได้สู้ประเด็นนี้ในการพิจารณาเรื่องอำนาจพิจารณาของศาล แต่ศาลก็เห็นว่าคำสั่งนี้ให้มีผลย้อนหลังไปได้

เขากล่าวถึงปัญหาของการใช้ศาลทหารในเวลานั้นอีกว่าคดีที่พิจารณาในศาลทหารเวลานั้นไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ทำให้คดีของเขาถ้ามีคำพิพากษาในศาลทหารก็จะจบเพียงแค่ศาลชั้นต้น แต่สุดท้ายแล้วก็มีการประกาศยกเลิกใช้ศาลทหารพิจารณาคดีทำให้คดีกลับมาที่ศาลยุติธรรมศาลก็มีคำพิพากษายกฟ้องคดีไป

แต่นอกจากการถูกจับกุมดำเนินคดีแล้ว จาตุรนต์ยังเจอผลกระทบด้านอื่นอีกคือถูกระงับธุรกรรมทางการเงินอยู่ 5 ปี ทั้งฝากถอนเงินไม่ได้ ซื้อประกันไม่ได้พอตอนนี้จะทำอายุมากขึ้นก็ทำประกันยากขึ้นอีก จะเอาเงินไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ก็ทำไม่ได้

จาตุรนต์เห็นว่าการใช้คำสั่ง คสช. มีผลในสองลักษณะคือ หนึ่ง จำกัดสิทธิเสรีภาพทำลายกระบวนการยุติธรรมอีกทั้งขัดต่อสิทธิมนุษยชน ส่วนคำสั่งอีกประเภทคือมีผลต่อโครงสร้างการบริหาร และการแก้ไขปัญหาประเทศ สองอย่างนี้มีผลคนละด้านและต้องจัดการต่างกัน

จาตุรนต์เห็นว่าประกาศ คำสั่ง คสช.ที่กระทบโครงสร้างบริหารอย่างเรื่องสิ่งแวดล้อมเขตเศรษฐกิจนี้ เมื่อ คสช.ออกคำสั่งมาแล้วขัดกับกฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่มีอยู่เดิมก็เท่ากับแก้กฎหมายเดิมนั้นไปด้วยทำให้ประกาศและคำสั่ง คสช.มีผลเป็นกฎหมายใหม่ไปแล้ว อย่างเช่นเรื่องการทวงคืนผืนป่าก็ไม่ได้ทำให้เกิดการคืนผืนป่าจริงแล้วก็ไปเก็บใต้โต๊ะกัน ธุรกิจรายใหญ่ก็ไม่เดือดร้อน ส่วนเรื่องที่คนอยู่ร่วมกับป่าก็มีอยู่นิดหน่อยแต่ก็ไม่ได้อยู่ในสารบบการแก้ปัญหาเรื่องป่าและที่ดินในไทยแต่อย่างใด

นอกจากนั้นการประมูลรถไฟความเร็วสูง ก็ไปยกให้บริษัทใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์มาก่อนทำ หรือออกคำสั่งยกเลิกเหมืองทองอัคราทำให้ประเทศเสียหายหลายหมื่นล้านแล้วก็ไม่รู้จะไปไล่เบี้ยกับใคร ออกคำสั่งที่เกี่ยวกับการศึกษาก็ทำให้การศึกษาในต่างจังหวัดทั้งหมดขึ้นกับผู้ว่าเหมือนกับยุคการศึกษาประชาบาลเมื่อสี่สิบห้าสิบปีก่อนแล้วยังทำให้ร่างพ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ที่กำลังจะออกมามีปัญหาทำให้การศึกษาของไทยล้าหลังไปอีก

จาตุรนต์ยกตัวอย่างเรื่องการทำประมง ที่คสช.ก็ออกคำสั่งมาหลายร้อยฉบับจนไปกระทบประมงขนาดเล็กใน 22 จังหวัดทำมาหากินไม่ได้ รายได้หายไปหลายหมื่นล้านบาท

เขาเห็นว่าคำสั่งเหล่านี้มีผลไปแก้กฎหมายเรื่องต่างๆ หมด ถ้ายกเลิกไปเฉยๆ เช่น คำสั่งประมงทุกฉบับ ก็จะมีปัญหาว่าจะทำยังไงกับต่างประเทศ เรื่องธงเขียวธงแดง ก็ต้องการการคนเข้าไปดูแลเรื่องเหล่านี้ แล้วคำสั่งของ คสช.คำนึงถึงแต่ทุนใหญ่ ไม่คำนึงถึงประชาชนทั่วไป อันนี้มีความจำเป็นต้องเข้าไปดูแล ส่วนประกาศ คำสั่ง คสช.ที่กระทบด้านสิทธิจำเป็นต้องแก้โดยเร็ว เขาก็หวังว่าผู้แทนราษฎรจะช่วยกันผลักดันเรื่องนี้เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากคำสั่ง คสช. ต่อไป

แค่ส่งจดหมายค้านร่าง รธน.59 ก็ถูกเอาไปคุมในค่ายทหารดำเนินคดี

ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เล่าถึงเหตุการณ์ที่ตัวเองถูก คสช.จับกุมเพราะรณรงค์แสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญในปี 2559

ทัศนีย์เล่าว่า ตอนนั้นเธอเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ให้ออกเสียงประชามติครั้งและกลายมาเป็นฉบับปี 2560 นี้จะทำให้ประชาชนเสียสิทธิพื้นฐานไป และเรื่องคำถามพ่วงเกี่ยวกับประเด็นให้ ส.ว.มาเลือกนายกรัฐมนตรีและอยู่ในวาระถึง 5 ปี เพราะจะทำให้ ส.ว.จะเลือกนายกฯ ได้ถึงสองครั้ง อาจทำให้นายกฯ ที่มาจากการเลือกของ ส.ว.อยู่ไปได้ถึง 2 สมัย

ทัศนีย์เห็นว่าถ้าทำผ่านจดหมายก็ไม่น่าผิดอะไรแล้วก็ปรึกษากับนักกฎหมายแล้วก็เห็นว่าเป็นแค่การแสดงความเห็นไม่ได้คิดว่าจะเป็นความผิดอะไรเลย และเพราะตัวเองเป็นผู้แทนของเขตเลือกตั้งก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อเขตเลือกตั้งของตัวเอง แล้วจดหมายที่ส่งออกไปก็ไม่ใส่ชื่อนามสกุลตัวเองด้วยเพราะเกรงว่าประชาชนจะคิดว่าเธอไปโน้มน้าวเขา เนื้อหาในจดหมายก็จะไม่ได้ใช้คำว่ารับหรือไม่รับเพียงแต่ว่าแสดงความคิดเห็นออกไปว่าร่าง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชาชนจะเสียสิทธิอะไรบ้าง แต่ผ่านไปไม่ถึงอาทิตย์ก็กลายเป็นข่าวใหญ่ขึ้นมาว่าจะมีการจับคนบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญเธอก็ตกใจเพราะเห็นว่าไม่ได้บิดเบือนตรงไหน ตอนนี้ก็คิดแล้วว่าคงจะเป็นเรื่องขึ้นมาแล้ว

“เราก็คิดว่าอย่างนี้ไม่ดีแน่ๆ เลย เพราะเป็นข่าวใหญ่ขึ้นมา แล้วทางเจ้าหน้าที่ก็ประสานไปที่บ้านให้เอากล้องวงจรปิดมาดู ก็เห้นว่าเจ้าหน้าที่เขาส่งข่าวกันแหละว่าระดมทั้งเชียงใหม่เอากล้องวงจรปิดมาดู ตำรวจภาคห้าก็มาทำเรื่องนี้เรื่องเดียว แล้วมันก็มีภาพคนที่กุ้งให้ไปส่งจดหมาย ก็ส่งปกติมีทะเบียนรถปกติ ไปหย่อนจดหมาย พอคนส่งถูกจับ ก็รู้แล้วว่าต้องเป็นเรื่องแน่ แล้วพอตกคืนนั้นก็ทราบข่าวจากที่บ้านว่ามีทหารไปอยู่ที่ซอยหน้าบ้านที่เชียงใหม่เต็มไปหมด ตอนนั้นอยู่ที่กรุงเทพก็มีคนโทรมาแจ้งว่าจะไปจับน้องสาวที่เป็นทันตแพทย์ เขาก็เอาตำรวจ 30 40คนไปล้อมที่หน้าปากซอยบ้าน เขาบอกว่ายังไม่ถึงหกโมงเช้าจะยังไม่บุกจับแล้วพอน้องสาวขับรถออกจากซอยตำรวจก็กรูล้อมรถน้องสาวไว้ น้องสาวก็โทรเรียกทนายความ ทนายความก็บอกว่าให้กลับเข้าไปในบ้านก่อนเพราะเขาไม่สามารถเข้าไปคุมตัวยามวิกาลได้”

ทัศนีย์เล่าต่อว่านอกจากเรื่องน้องสาวก็ยังทราบอีกว่าทั้งที่บ้านและสำนักงานก็มีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจค้นหมดเสมอืนเป็นอาชญากรสงครามแต่ก็พบเพียงซองข่าว ซองทำบุญ หลังจากนั้นเธอจึงติดต่อไปหาจักรทิพย์ ชัยจินดาเพื่อแจ้งว่าตนจะไปให้การที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติและยอมรับว่าเป็นคนส่งจดหมายนี้เอง แต่ไม่ได้ต้องการไปเพื่อมอบตัว

ทั้งนี้เมื่อไปถึง สตช.ทัศนีย์กลับไม่ได้เจอกับจักรทิพย์ และมีนายทหารอ้างคำสั่งตามมาตรา 44 นำเอาตัวเธอไปเข้าค่ายทหาร โดยไม่แจ้งว่าจะเอาตัวไปที่ไหนเอาขึ้นรถฮัมวี่ทหารไปที่ มทบ.11 อยู่ที่นั่น 7 วัน หลังจากนั้นยังทราบข่าวอีกว่าน้องสาวกับคณะทำงานที่ช่วยส่งจดหมายก็ถูกจับด้วยรวมไปถึงคนอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องอย่างคนที่ทำงานในบ้าน คนแก่ หรือแม้กระทั่งคนที่ใช้บัตรใบเดียวกันเวลาไปซื้อของที่แมคโคร

ทัศนีย์เล่าว่าระหว่างที่ถูกขังอยู่ในค่ายทหาร 7วันก็ถูกซักถามซ้ำๆ เกี่ยวกับเหตุที่เธอส่งจดหมายดังกล่าว เธอก็ยืนยันถึงจุดยืนไปตลอด แต่วันแรกที่เข้าไปในค่ายถูกนำตัวไปที่พักเธอถูกใช้ผ้าปิดตามัดมือนั่งในรถกว่าชั่วโมงทั้งที่เธอก็เป็นคนกลัวที่มืดที่แคบอยู่แล้วก็คอยถามเขาว่าไปไหนในใจก็ยังกลัวอยู่บ้างว่าจะเอาไปฆ่าหรือเปล่า สุดท้ายก็ถูกพาไปอยู่ในบ้านเก่าหลังหนึ่งติดลูกกรงอยู่ในนั้น แล้วทหารก็เอาร่างรัฐธรรมนูญมาให้อ่านคืนนั้นแล้วก็สรุปข้อดีออกมา

“คืนนั้นก็อยู่ในบ้านหลังนั้นก็ไม่ได้เปิดอ่านเลย เพราะเขาบอกให้สรุปข้อดีออกมาซึ่งคงหาไม่เจอก็ไม่เสียเวลาอ่านดีกว่า เอาเวลาทำใจเพื่อจะได้นอนหลับดีกว่า ก็อยู่ในนั้นจนถึงเช้า”

เช้าต่อมาทหารก็มาพาเธอออกจากที่พักโดยใช้ผ้าปิดตาเธออีกแล้วก็เอาขึ้นรถไปเจอนายทหาร แต่การเดินทางจากที่พักครั้งนี้ใช้เวลาแค่ 5นาทีก็ถึงเธอบอกว่าก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมวันก่อนหน้าถึงวนอยู่ชั่วโมงหนึ่งจะถึงที่พัก

ทัศนีย์เล่าว่าพอได้เจอนายทหารผู้ใหญ่ เขาก็พูดด้วยดีๆ แต่ก็มีทั้งขู่ทั้งปลอบ แล้วก็ถามคำถามเดิมๆ ว่าทำไมถึงทำ เธอก็ตอบเหมือนเดิม เหตุการณ์แบบนี้ก็วนอยู่ 7วัน เขาก็เอาไปที่กองตำรวจแห่งหนี่งแต่จำไม่ได้แล้วว่าเรียกว่าที่ไหนโดยมีการตั้งข้อหามาจากตำรวจทางเชียงใหม่เป็นข้อหาอั้งยี่ซ่องโจร ข้อหาตามพ.ร.บ.ประชามติ แต่ทางเจ้าหน้าที่คงอยากจะให้คดีไปขึ้นศาลทหารด้วยก็มีการแจ้งม.116 ร่วมด้วยเป็น 4ข้อหา แล้วเธอก็ถูกส่งตัวกลับเชียงใหม่แต่ต้องไปอยู่ที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 อีก 2 วันระหว่างนี้ก็ถูกซักถามเรื่องเดิมเธอก็ให้คำตอบเดิม ตอนนั้นคนที่ถูกจับไปทั้งหมดก็ 14-15 คน ก็โดนสอบถามเหมือนเดิมด้วยเหมือนกัน

หลังจากอยู่ในนั้นสองวันเขาก็ส่งตัวไปศาลทหารเชียงใหม่ ในค่ายกาวีละ แล้วพอขึ้นศาลศาลก็บอกไม่ให้ประกันตัว โดยอ้างว่ากลัวจะยุ่งเหยิงพยานหลักฐานก็เลยถูกส่งตัวเข้าเรือนจำหญิง ส่วนผู้ชายที่ถูกจับก็แยกไปเรือนจำที่แม่แตง จากนั้นทหารก็เริ่มขั้นตอนคดีเข้าสู่กระบวนการของศาลทหาร แล้วก้สืบพยานอยู่ร้อยกว่าปากสืบอยู่ 5 ปี พอคดีเข้าไปอยู่ในศาลยุติธรรมศาลก็พิจารณาต่ออยู่ห้าเดือนแล้วก็ยกฟ้องทุกข้อหา

ทัศนีย์ในช่วงท้ายว่า พรุ่งนี้ที่ร่างกฎหมายที่ไอลอว์เสนอเพื่อยกเลิกประกาศและคำสั่งต่างๆ ของ คสช. กว่า 400-500 ฉบับ ประชาชนทุกคนต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า เธออยากเรียกร้องในฐานะสมาชิกสภาให้ผู้แทนทุกคนทุกฝ่ายมาช่วยกันรื้อคำสั่งเหล่านี้ก่อนอย่างน้อยก็ขอให้รับหลักการไปก่อนเพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชน และอยากให้ประชาชนช่วยกันจับตาดูว่าผู้แทนคนไหน โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาลที่เคยก็บอกว่าจะมาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่การลงมติครั้งที่ผ่านๆ มาก็ลงมติแต่เรื่องที่ตัวเองได้ประโยชน์ไม่ได้ลงมติแก้ไขเพื่อประชาชน ก็หวังว่าพรุ่งนี้ผู้แทนจะได้ช่วยกันรื้อมรดก คสช. คืนสิทธิให้กับประชาชนบ้าง คืนความเป็นธรรม คืนความเป็นอยู่ปกติให้กับประชาชน

นโยบายทวงคืนผืนป่า ทวงคืนจากใคร?

อรนุช ผลภิญโญ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กล่าวว่า คนส่วนใหญ่อาจเข้าใจว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหารคือกลุ่มนักการเมืองและกลุ่มผู้มีอำนาจเดิม แต่ในความเป็นจริง ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน เพราะการรัฐประหารมีความเชื่อมโยงเกี่ยวกับประเด็นปัญหาด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

อรนุชเล่าย้อนไปถึงการรัฐประหาร พ.ศ.2534 โดย พล.อ.สุจินดา คราประยูร ได้ทำโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในเขตพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ร้อย 40 ของพื้นที่ประเทศ ในช่วงนั้น ประชาชนภาคอีสานได้รับผลกระทบมากที่สุดเพราะคณะรัฐประหารกำหนดให้ที่ดินของชุมชนกว่า 2,500 แห่งในภาคอีสานเป็นพื้นที่เป้าหมายสำหรับการอพยพ เพราะต้องการนำพื้นที่เหล่านี้มาปลูกป่า

“ในช่วงนั้น พี่น้องประชาชนก็ออกมาต่อสู้เรียกร้อง กระแสของการรัฐประหารในช่วงนั้นยังมีช่องทางหรือโอกาสที่จะทำให้พี่น้องได้ลุกขึ้นมาต่อสู้ จนกระทั่งในปี 2535 พอพี่น้องกลับคืนถิ่นไป กลายเป็นว่าพื้นที่ที่ถูกไล่รื้อมาแปรเป็นพื้นที่อุทยานหรือพื้นที่อนุรักษ์ไปแล้ว” อรนุชกล่าว

ต่อมา เมื่อ คสช. ซึ่งนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาก่อการรัฐประหารในปี 2557 ก็มีการประกาศนโยบายทวงคืนผืนป่า ต้องการเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ โดยร้อย 25 จาก 40 จะถูกจัดให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ ส่วนอีกร้อยละ 15 จะจัดสรรให้เป็นพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ คสช. ประกาศใช้คำสั่งที่ 64/2557 เพื่อดำเนินนโยบายทวงคืนผืนป่า แต่เกิดกระแสคัดค้านจากภาคประชาชน คสช. จึงต้องทบทวนคำสั่งดังกล่าว แต่หลังจากนั้นเพียง 3 วันก็มีคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 66/2557 ออกมา ซึ่งคำสั่งฉบับนี้ให้อำนาจของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เข้ามามีบทบาทในโครงการนี้ และเป็นการรวมศูนย์อำนาจเบ็ดเสร็จ

แม้ว่า คสช. จะอ้างว่าการให้อำนาจในการจับกุมดำเนินคดีเบ็ดเสร็จแก่ กอ.รมน. เพื่อที่ต้องการจัดการกับกลุ่มนายทุนเท่านั้น แต่สิ่งที่ปรากฏตามหน้าสื่อคือเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. เริ่มบุกเข้าทำลายสวนยางพาราและที่ดินของประชาชน

“คนที่เดือดร้อนที่สุดไม่ใช่นายทุน แต่กลายเป็นเกษตรกร” อรนุช กล่าว พร้อมระบุว่าประชาชนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือประชาชนในภาคอีสาน เช่น ที่หมู่บ้านจัดระเบียบ อ.ภูพาน จ.สกลนคร มีประชาชนถูกจับกุมดำเนินคดีทั้งสิ้น 31 ราย 34 คดี ซึ่งปัจจุบันนี้ ประชาชนที่ถูกจับกุมในครั้งนั้นยังคงอยู่ในเรือนจำ

“ขณะที่เราพูดกันอยู่ที่นี่ พี่น้องเกษตรกรบางส่วนก็อยู่ในเรือนจำเรียบร้อยแล้ว” อรนุชกล่าว

นอกจากประชาชนในภาคอีสานที่ได้รับผลกระทบแล้ว ยังมีประชาชนใน จ.น่าน อีกเกือบ 300 รายที่ได้รับผลกระทบ และประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง ก็ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าเช่นกัน รวมถึงประชาชนในพื้นที่บ้านไทรทอง จ.ชัยภูมิ ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของคณะรัฐประหารมาตั้งแต่ยุค รสช. แต่ต่อสู้จนได้กลับเข้าไปอยู่ในพื้นที่เดิม สุดท้ายเมื่อ คสช. ประกาศคำสั่งที่ 64/2557 และ 66/2557 พวกเขาก็ต้องสูญเสียที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยอีกครั้ง

“ตอนนี้พี่น้องบางส่วนก็ยังคงอยู่ในเรือนจำ โดยที่กระบวนการบุติธรรมไม่สามารถดำเนินการอะไรได้เลย เพราะเขายึดตามหลักนี้[คำสั่ง คสช.]” อรนุช กล่าว

อรนุชกล่าวต่อไปว่าแม้จะมีการยกเลิกคำสั่ง คสช. ไปหลายฉบับแต่บางฉบับกลับถูกนำไปใส่ไว้ในกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 มาตรา 64 ที่ระบุว่าต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 เพื่อมาพิจารณาคุณสมบัติของเกษตรกรว่าจะได้รับที่ดินทำกินคืนหรือไม่

“ความเป็นจริง ผลกระทบที่เกิดจากคำสั่งหรือประกาศของ คสช. ก็ยังดำรงอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งกระทบไปทุกส่วน” อรนุชกล่าว พร้อมฝากไปยัง ส.ส.จากทุกพรรคการเมือง ที่เห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชนให้รับหลักการกฎหมายฉบับนี้ และหวังว่าจะส.ส.ที่ประชาชนเลือกเข้าทำหน้าที่ในสภาจะมีความกล้าหาญมากพอที่จะรับร่างกฎหมายฉบับนี้

คำสั่ง คสช. อยู่เหนืออำนาจศาล

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) กล่าวว่า ก่อนจะเสวนาในประเด็นด้านคำสั่ง คสช. ที่กระทบต่อการใช้พื้นที่ทางเศรษฐกิจนั้น ตนขอแสดงความเห็นเรื่องการบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในยุค คสช. ซึ่งวิทยากรทั้ง 3 คนได้พูดไปก่อนหน้า เช่น มีการเอาถุงคลุมหัว การนำตัวประชาชนไปคุมขังในพื้นที่ลับ และจำกัดการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม สิ่งเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้นและอยากจะชวนทุกคนให้อ่านหนังสือ “เมื่อฉันถูกเรียกปรับทัศนคติ” ของ iLaw ที่รวบรวมเรื่องราวของบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิในยุค คสช. เพราะหนังสือเล่มนี้คือบทเรียนสำคัญที่ทำให้เรารู้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ควรจะมีอีกและสมควรถูกรื้อถอนอย่างยิ่ง


 
สุภาภรณ์ กล่าวว่า สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิทธิ์ในการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนามันได้มีหมุดหมายในรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มีการเรียกร้องจากประชาชนและเราคาดหมายว่ามันจะเดินหน้าไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น

“ส่วนตัวที่เป็นองค์กรและทำงานด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมการทำงานในยุค รัฐธรรมนูญ 2540 เราคิดว่าเรากำลังร่วมกับประชาชนในการวางหมุดหมายในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน อย่างมีส่วนร่วมไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนาอุตสาหกรรม ไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนาที่ต้องใช้ทรัพยากร แต่ต้องใช้อย่างมีส่วนร่วม และการมองถึงคนรุ่นถัดไปอย่างมีความหมาย” สุภาภรณ์กล่าว

สุภาภรณ์ กล่าวว่า คำสั่ง คสช. ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรสะท้อนถึงการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง เริ่มจากคำสั่งฉบับที่ 72/2557 ที่ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนานโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งมีหัวหน้า คสช. เป็นประธาน โดยวางแผนพัฒนาไว้ 10 พื้นที่ แต่ไม่สำเร็จ นโยบายดังกล่าวจึงหันกลับมาที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ในการดำเนินการ

“หมุดหมายแรกของการทำงานพัฒนาอุตสาหกรรมของ คสช. คือการเอาที่ดินมาแจกกลุ่มทุน เพราะการพัฒนาต้องมีที่ดิน เขาใช้คำสั่ง คสช. ในการจัดหาที่ดินทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งที่ดินเหล่านั้นมีทั้งป่าสงวน เขตป่าไม้ถาวร ที่ดินเขตหวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกา ที่ดินเหล่านั้นเอามาทำเขตนิคมอุตสาหกรรมได้ แต่ประชาชนอยู่ในพื้นที่ป่าไม่ได้” สุภาภรณ์กล่าว

นอกจากนี้ คสช. ยังมีการออกคำสั่งแก้ไขเรื่องการใช้ประโยชน์จากที่ดิน สปก. ให้สามารถใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้นอกเหนือจากการทำเกษตรกรรม ซึ่งคำสั่ง คสช. นี้มีผลเหนือคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่เคยพิพากษาไว้เมื่อ 1 เม.ย. 2560 ว่าการนำที่ดิน สปก. ไปใช้ในจุดประสงค์อื่น ไม่สามารถทำได้ ซึ่งคำพิพากษานี้มีขึ้นหลังจากที่ประชาชนไปร้องต่อผู้ตรวจแผ่นดิน แต่คำสั่งหัวหน้า คสช. ออกเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2560 กลับบอกว่าสามารถทำได้

“หมายความว่าอย่างไร ภาคประชาชนสู้ ใช้เวลานานมาก แต่คำสั่ง คสช. ออกมาไม่กี่วัน และออกหลังมีคำพิพากษาด้วยนะ” สุภาภรณ์กล่าว

สุภาภรณ์กล่าวว่า คสช. ไม่เพียงแค่การออกคำสั่งปลดล็อกการใช้ที่ดิน สปก. เท่านั้น แต่ยังมีคำสั่งที่ 3/2559 ยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองในพื้นที่ 10 จังหวัดเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ตามมาด้วยคำสั่งฉบับที่ 4/2559 ที่ยกเลิกผังเมืองทั้งประเทศ และอนุญาตให้มีการตั้งโรงไฟฟ้าขยะ ซึ่งกลุ่มธุรกิจใดก็ตามที่ต้องการทำธุรกิจประเภทนี้ก็สามารถจัดหาที่ดินได้โดยไม่ต้องสนใจกฎหมายผังเมือง ทั้งยังอนุญาตให้มีการเปิดประมูลสร้างถนนและระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษได้ก่อนการจัดทำแบบประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยอาศัยอำนาจตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 9/2559

“แค่ 7 จังหวัดภาคตะวันออก มีโรงงานที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมขยะ 925 โรงงาน นี่คือฐานข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ไม่รวมที่ไม่มีใบอนุญาต และไม่รวมที่ผิดกฎหมาย ซึ่งอาจจะมีการลักลอบทำ สิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่ คำสั่งยังคงอยู่” สุภาภรณ์กล่าว พร้อมระบุว่าในพื้นที่ ต.หนองไข่น้ำ จ.สระบุรี ก็มีการสร้างโรงไฟฟ้าขยะขึ้นในพื้นที่ชุมชน เพราะได้รับการยกเว้นจากคำสั่ง คสช. ทั้งๆ ที่กฎหมายผังเมืองของ จ.สระบุรี ระบุว่าห้ามสร้างโรงงานในพื้นที่ดังกล่าว

“นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นและคำสั่งยังคงอยู่ และคำสั่งเหล่านี้ถูกรับรองโดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่ราเคยสะท้อนว่ามันคือปัญหาที่จะเกิดขึ้น” สุภาภรณ์กล่าว

“เราต้องย้อนกลับไปรื้อฐานคิดในการใช้อำนาจ ฐานคิดในการปิืดปาก ปิดเสียงประชาชน ฐานคิดในการมองทรัพยากรเป็นของตนเองแล้วจะจัดการอย่างไรก็ได้ ฐานคิดในการไม่คำนึงถึงสิทธิ์ในการมีอยู่ของสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชนทุกคนในประเทศ ความมั่นคงของประเทศคือความมั่นคงของประชาชน แล้วสิ่งที่เราคิดว่ามันคือการพัฒนาที่ยั่งยืนจริงๆ คือประชาชนทุกคนต้องมีส่วนร่วม ประชาชนควรที่จะมีความหมายในการกำหนดอนาคตของตัวเองในการพัฒนาชุมชนบนฐานทรัพยากร[ที่มีอยู่] และบนฐานศักยภาพของชุมชนต่างๆ จึงอยากฝากไว้ว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. และคำสั่ง คสช. ที่ดูว่ามันนานแล้ว มันคือฐานอำนาจที่ยังคงอยู่และแปลงมาสู่ฐานอำนาจที่เสมือนเป็นปกติ ซึ่งเราจะต้องมาทบทวน แล้วหวังว่าพรุ่งนี้จะเป็นก้าวแรกที่เราจะเดินไปทบทวนและรื้อถอนมันค่ะ” สุภาภรณ์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท