Skip to main content
sharethis

 

  • นักวิชาการชี้ระบาดรอบปี 63 ไร้นโยบายรองรับ-บางส่วนที่ไม่ได้รับเยียวยา-รายได้ที่ไม่มั่นคงแต่รายจ่ายสม่ำเสมอ-เข้าไม่ถึงสวัสดิการด้านสุขภาพ
  • เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ ระบุรอบ 2 นายจ้างเริ่มมีการปรับตัว ทำให้ต้องการแรงงานสูงขึ้น ที่มาพร้อมการลักลอบเข้าเมือง จนเกิดเหตุการณ์คลัสเตอร์และถูกทำให้ตกเป็นจำเลย เป็นต้นเหตุของการเอาโรคเข้ามา
  • สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย ระบุมีหลายนโยบายรัฐที่ไม่ชัดเจน เอ็นจีโอเสนอรัฐต้องชัดเจนและยั่งยืนมากกว่าที่เป็นอยู่ พร้อมเปิดสภาพกระอักกระอ่วนกับแนวคิดต่อแรงงานข้ามชาติ ที่ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามทางเศรษฐกิจและสาธารณสุข  แต่ก็ขาดไม่ได้จากเศรษฐกิจไทย

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 64 ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP) เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) และมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) จัดเสวนาออนไลน์ภายใต้หัวข้อ “การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติหลังเปิดประเทศ – สถานการณ์และข้อเสนอ” บรรยายโดยตัวแทนหน่วยงานรัฐ นักวิชาการจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งตัวแทนแรงงานข้ามชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ปัจจุบันในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ผลกระทบของโควิดที่เกิดกับแรงงานข้ามชาติที่กำลังทำงานในประเทศไทย และหารือแนวทางการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติหลังเปิดประเทศให้ครอบคลุมสิทธิและเอื้อประโยชน์ให้แรงงานต่างชาติอย่างสูงที่สุด

รอบปี 63 ไร้นโยบายการรองรับ-บางส่วนที่ไม่ได้รับการเยียวยา-รายได้ที่ไม่มั่นคงแต่รายจ่ายสม่ำเสมอ-เข้าไม่ถึงสวัสดิการด้านสุขภาพ

งานเสวนาเริ่มต้นด้วย นฤมล ทับจุมพล อาจารย์ประจำศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงผลกระทบของแรงงานข้ามชาติในช่วงปี 63 ที่ได้ทำการศึกษาวิจัยว่า ในสถานการณ์ยุคโควิด ไทยยังไม่มีนโยบายการรองรับแรงงานข้ามชาติที่นับเป็นหนึ่งในปัจจัยผลักดันเศรษฐกิจที่ชัดเจนและเพียงพอ ในช่วงล็อคดาวน์ ลูกจ้างจำนวนมากถูกเลิกจ้างหรือหยุดงานและไม่มีข้อตกลงด้านรายได้อย่างชัดเจน อีกทั้งมีแรงงานนอกระบบบางส่วนที่ไม่ได้รับการเยียวยาและจ่ายเงินชดเชย เป็นเหตุให้แรงงานข้ามชาติมีรายได้ที่ไม่มั่นคงในขณะที่มีรายจ่ายสม่ำเสมอ จึงทำให้มีการแชร์ที่อยู่อาศัยในสภาวะความเป็นอยู่ที่คับแคบ ซึ่งอาจนำไปสู่คลัสเตอร์ภายหลัง

นฤมลยังกล่าวต่ออีกว่า นอกจากการถูกเอาเปรียบทางด้านรายได้แล้ว ยังพบอีกว่ามีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการด้านสุขภาพได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมเนื่องจากโรงงานไม่ใช่โรงงานขนาดใหญ่ ประเทศไทยยังมีการลิดรอนสิทธิแรงงานอยู่มาก นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐ เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ยังขาดประสิทธิภาพในการประสานงานระหว่างหน่วยงาน และขาดการบูรณาการนโยบายของรัฐกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ไม่มีความสอดคล้องระหว่างการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายที่ให้เสรีกับลูกจ้างกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่มีการจับกุมลูกจ้าง

อาจารย์ประจำศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย จุฬาฯ ชี้ถึงข้อเสียของกฎหมายการให้อิสระในการเปลี่ยนนายจ้างของแรงงานโดยไม่ต้องขอความเห็นจากนายจ้างเดิมว่า ใช้เวลาในการดำเนินการนานและมีขั้นตอนที่มากจนเกินไป

ภาพจากสไลด์ประกอบการเสวนา

รอบ 2 นายจ้างเริ่มปรับตัว ทำให้ต้องการแรงงานสูงขึ้นที่มาพร้อมการลักลอบเข้าเมือง จนตกเป็นจำเลย

สุธาสินี แก้วเหล็กไหล เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ กล่าวถึงสถานการณ์ของแรงงานข้ามชาติว่า ในช่วงที่โควิดระลอกแรก แรงงานข้ามชาติจำนวนมากประสบปัญหากับการเลิกจ้าง การลดชั่วโมงการทำงาน และการไม่ต่อสัญญาการทำงาน แต่ในช่วงโควิดระลอกสอง สถานการณ์ได้พลิกกลับ เนื่องจากนายจ้างเริ่มมีการปรับตัวกับสถานการณ์ได้ ทำให้มีความต้องการแรงงานสูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการเพิ่มขึ้นของความต้องการนี้นำไปสู่แนวโน้มการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานข้ามชาติที่สูงขึ้น และเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดที่รุนแรงขึ้นพร้อมกับการเข้ามาของแรงงาน ทำให้แรงงานข้ามชาติตกเป็นจำเลยของสังคมและถูกมองว่าเป็นต้นตอของเชื้อโควิด ดังเช่น เหตุการณ์คลัสเตอร์ที่จังหวัดสมุทรสาคร ทำให้ผู้คนเกิดความหวาดกลัวในการซื้อขายสินค้า ทำให้แรงงานเหล่านี้มีงานและรายได้ลดลง ซึ่งจากผลกระทบในครั้งนี้และอีกหลายๆ ครั้งที่เกิดขึ้น รัฐบาลก็ได้มีความพยายามที่จะทำ MOU (Memorandum Of Agreement หรือ บันทึกข้อตกลง) นำเข้าแรงงานข้ามชาติ ขณะที่ นฤมล กล่าวต่อว่า ความพยายามของรัฐที่จะทำโครงการนี้ ก็เป็นเหมือนการผลักภาระไปที่นายจ้างในการจ่ายค่าใช้จ่ายในการดำเนินเอกสาร ซึ่งสุดท้ายแล้วก็อาจนำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบแรงงานด้วยการหักค่าจ้างโดยการอ้างว่าเป็นค่าชดเชยในการดำเนินเอกสาร

ถูกเหยียดว่าเป็นต้นเหตุของการเอาโรคเข้ามา

ในงานเสวนาครั้งนี้ ตัวแทนแรงงานข้ามชาติ “สมหมาย” สะท้อนความคิดในฐานะแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในประเทศไทย และมุมมองต่อกฎหมายและนโยบายของรัฐไทยเอาไว้ว่า ที่ผ่านมาในช่วงโควิด ตนและแรงงานข้ามชาติคนอื่นๆ เผชิญกับความยากลำบากในการเดินทางและการทำงาน อีกทั้งยังได้รับการดูถูก โดนเหยียดหยามว่าเป็นต้นเหตุของการเอาโรคเข้ามา ในส่วนของปัญหากฎหมาย

สมหมายกล่าวว่า แรงงานข้ามชาติยังมีปัญหาด้านสวัสดิการการดูแลรักษาพยาบาล ตนเองอยากให้รัฐมีสวัสดิการที่ดีกว่านี้ ให้แรงงานข้ามชาติได้รับการรักษาได้ทุกที่อย่างเท่าเทียมกัน และถึงแม้ว่าสถานการณ์สวัสดิการปัจจุบันนี้ดีขึ้นเนื่องจากความช่วยเหลือจากมูลนิธิต่างๆ แต่ยังติดปัญหาเรื่องกฎหมาย การลักลอบเข้าเมือง การกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายจากการไม่มีค่าใช้จ่ายในการต่ออายุการทำงาน ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาที่สำคัญมาก อยากให้ได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องและดีขึ้นเพื่อให้แรงงานข้ามชาติได้รู้สึกเท่าเทียมกับคนไทย

สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย ระบุมีหลายนโยบายที่ไม่ชัดเจน

ถัดมา อรรถพันธ์ มาศรังสรรค์ ที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย เล่าถึงสถานการณ์การขาดแคลนแรงงานและมุมมองต่อนโยบายไทยในฐานะของนายจ้างไว้ว่า ในช่วงโควิด ทางอุตสาหกรรมมียอดการส่งออกและการผลิตที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงมีความต้องการแรงงานข้ามชาติจำนวนมากเป็นจำนวนประมาณ 64% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด พร้อมย้ำว่า ทางสมาคมพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการว่าจ้างแรงงงานข้ามชาติ และสนับสนุนนโยบายภาครัฐตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) การเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติสีเทา เมื่อวันที่ 28 ก.ย. แต่ในขณะเดียวกันก็มองว่าการทำ MOU นั้นยังมีปัญหาเนื่องจากยังมีหลายนโยบายที่ไม่ชัดเจน เช่น สถานที่การกักตัว ช่วงเวลาการกักตัว การฉีดวัคซีน อีกทั้งมีขั้นตอนเอกสารและระยะเวลาที่ยาวนาน ไม่คล่องตัว มีเงื่อนไขซับซ้อนและค่าใช้จ่ายที่สูง

เอ็นจีโอเสนอรัฐต้องมีนโยบายที่ชัดเจนและยั่งยืนมากกว่าที่เป็นอยู่

สุชาติ ตระกูลหูทิพย์ ตัวแทนมูลนิธิ MAP องค์กรดูแลแรงงานข้ามชาติและแรงงานนอกระบบ กล่าวถึงปัญหาที่ชัดเจนของแรงงานข้ามชาติที่พบเจอทั้งช่วงก่อนโควิด ช่วงการระบาด และช่วงการเปิดประเทศ พร้อมเสนอว่านโยบายรัฐเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติต้องชัดเจนและยั่งยืนมากกว่าที่เป็นอยู่ โดยก่อนสถานการณ์โควิด แรงงานข้ามชาติเป็นส่วนสำคัญในการผลัดดันเศรษฐกิจ แต่ก็พบว่ามีปัญหาหลักคือ การเข้าไม่ถึงสิทธิสุขภาพ เช่น ประกันสังคม เป็นต้น หรือไม่สามารถเข้าถึงสิทธิที่ควรจะได้รับ เนื่องจากแรงงานถูกกดทับด้วยมาตรการบังคับนายจ้างให้พาลูกจ้างเข้าสู่ระบบประกันสังคม ซึ่งมาตรานี้มีช่องโหว่งตรงที่องค์กรไม่สามารถเข้าไปจัดการเชิงรุกให้นายจ้างพาลูกจ้างเข้าสู่ระบบได้ อีกทั้งกฎหมายของรัฐในการบริหารจัดการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติไม่มีความสอดคล้องกับสถานการณ์การการทำงานจริงของแรงงานข้ามชาติ เช่น การจำกัดการทำงานของลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติ แต่ในความเป็นจริงแล้วลูกจ้างเหล่านี้มีอยู่ในทุกสายอาชีพ ซึ่งนำไปสู่ช่องว่างการเรียกรับผลประโยชน์จากการจับกุม เป็นต้น สุชาติกล่าวต่ออีกว่า นโยบายของรัฐในช่วงนั้น ไม่มีความชัดเจนในระยะยาว มีเพียงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่บังคับใช้ช่วงสั้นๆ เมื่อเหตุการณ์ดำเนินมาถึงช่วงของการระบาด รัฐมีการออกมติครม.มากมาย แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาของแรงงานข้ามชาติได้  และในช่วงนี้ ยังเห็นได้ชัดว่าแรงงานข้ามชาติไม่ได้ถูกคำนึงถึง เป็นการตอกย้ำความเลื่อมล้ำของแรงงานข้ามชาติกับคนในประเทศ เนื่องจากมติครม.ที่ออกมา ไม่มีความครอบคลุม ขาดความต่อเนื่อง และเอื้อประโยชน์ให้แก่คนในชาติเท่านั้น เช่น การเลือกปฏิบัติในการเข้าถึงวัคซีนที่ไม่เอื้ออำนวยให้ผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติอายุ 12-18 ปีที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา เป็นต้น นอกจากนั้น การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้มีความสอดคล้องกับนโยบายสนับสนุนแรงงานและสถานการณ์ของโรคระบาด สำหรับข้อเสนอแนะของสุชาติในการเปิดประเทศของรัฐบาลคือ รัฐต้องมีนโยบายเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติชัดเจน เช่น การปรับปรุงอาชีพที่แรงงานทำได้เพื่อปิดช่องว่างการหาผลประโยชน์จากการแจ้งจับกุม, การแก้นโยบายการจำกัดอายุของแรงงาน, เพิ่มการพัฒนาฝีมือแรงงานให้ถูกเข้าถึงได้โดยแรงงานเพื่อเพิ่มรายได้, ทบทวนเอกสารขั้นตอนในการทำ MOU เป็นต้น

สภาพกระอักกระอ่วนกับแนวคิดต่อแรงงานข้ามชาติ

สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์ประจำวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวถึงสถานการณ์ของแรงงานข้ามชาติที่บริเวณชายแดนของจังหวัดเชียงคานว่า ไทยอยู่ในสภาพกระอักกระอ่วนกับแนวคิดต่อแรงงานข้ามชาติ ไทยมองแรงงานเหล่านั้นว่าเป็นภัยคุกคามทั้งทางเศรษฐกิจและสาธารณสุข แต่ในขณะเดียวกันก็มองว่าแรงงานข้ามชาติเป็นแรงงานที่ขาดไม่ได้จากเศรษฐกิจไทย ดังนั้นแนวทางของแม่ฟ้าหลวงจึงมีการมุ่งเน้นเพื่อให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติอย่างเต็มที่ มีจัดตั้งคณะทำงานชุมชน เพื่อช่วยเหลือคนตกงานให้เข้าถึงหลักประกันสังคม และให้ความช่วยเหลือแจกจ่ายถุงยังชีพ หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ที่เดิมกำหนดไว้จากกฎหมายว่าต้องเป็นคนไทยเท่านั้น มีการส่งตัวผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์จังหวัด จัดคอลเซ็นเตอร์พม่าเพื่อรองรับแรงงานพม่า ให้เข้าถึงการรักษาที่รวดเร็ว และลดกำแพงกั้นทางภาษา ลงพื้นที่สอบสวนโรคกับเจ้าหน้าที่ทีมสอบสวนโรคเพื่อเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้องชัดเจน

อำนาจ สังข์ศรีแก้ว นักวิชาการชำนาญพิเศษ กรมการจัดหางาน กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานช่วงโควิดและแนวทางของรัฐบาลในอนาคต อำนาจ ชี้ว่า มติครม.ออกมาเพื่อดึงแรงงานต่างชาติให้อยู่และทำงานในประเทศไทย มติช่วงแรกออกมาเพื่อการผ่อนผันให้อยู่ได้ในระยะเวลาสั้นๆ 1 เดือนตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งไม่ตอบโจทย์ทั้งนายจ้างและแรงงาน ดังนั้นจึงมีการออกมติครม.ช่วงที่สองที่เริ่มมีการอนุญาตให้ต่ออายุแรงงานได้ และมติครม.ช่วงที่สามที่มีการเปิดจดทะเบียนแรงงาน เนื่องจากมองว่ายังมีบางส่วนที่ยังตกหล่นหรือจดทะเบียนไม่ถูกต้อง ในส่วนของค่าใช้จ่ายนั้นมีความสมเหตุสมผลอ้างอิงจากแพทย์ แต่ก็ได้ยอมรับว่า ในความเป็นจริง รายจ่ายนี้นับว่าสูงและสวนทางกับรายได้ของแรงงาน ตนเห็นว่า การใช้มติ ครม. ในการดำเนินการ ทำให้มีผลค่อนข้างเร็วและทันทีทันใดแต่ก็ทำให้บางขั้นตอนถูกลดทอนไป และมติ ครม. ในบางครั้งอาจจะส่งเสริมให้แรงงานข้ามชาติที่เดินทางบ่อยๆ เกิดความลังเลในการเข้า-ออกประเทศไทย เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่ทบกันขึ้นเรื่อยๆ จากการทำ MOU และการบังคับใช้มติ ครม.

กรมสวัสดิการฯ แจงมาตรการเยียวยาและแผนรองรับเพื่อเข้าถึงสวัสดิการสุขภาพ

มนตรี มณีรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวถึงมาตรการเยียวยาและแผนรองรับเพื่อให้แรงงานข้ามชาติได้เข้าถึงสวัสดิการสุขภาพว่า ตอนนี้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานได้มีนโยบายการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติไว้อย่างชัดเจน เช่น วันหยุด วันทำงาน เวลาพัก เวลาทำงาน อัตราค่าจ้างที่เท่าเทียม การประกันความมั่นคงในการทำงาน เป็นต้น กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ยึดหลักความเสมอภาค ความเท่าเทียมอยู่เสมอ ลูกจ้างข้ามชาติจะได้รับการคุ้มครองเทียบเท่ากับลูกจ้างไทยทุกประการ ไม่ว่าจะเข้ามาทำงานด้วยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มนตรีกล่าวว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีการทำ MOU กับกระทรวงพาณิชย์ให้โรงงานที่ส่งออกต้องได้รับการยืนยันคุณภาพของสถานประกอบการว่า ได้เข้าสู่ระบบมาตรฐานแรงงานไทยขั้นพื้นฐาน รวมทั้งยังมีการสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสร้างที่พักให้ลูกจ้างตามที่กำหนดทั้งในสภาวะปกติและในสภาวะโรคระบาด อีกทั้งในสภาวะโรคระบาดนี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกำลังดำเนินการจัดตั้งคณะทำงานให้มีกองทุนประกันความเสี่ยง เพื่อคุ้มครองลูกจ้างกรณีปิดกิจการ เลิกจ้าง ไม่จ่ายค่าจ้าง ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และ NGOs ต่างๆ

แม้เสวนาจะยังไม่ได้มีการให้ข้อสรุปหรือแนวทางที่ชัดเจนว่ารัฐไทยควรทำอย่างไรในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติหลังการเปิดประเทศ อย่างไรก็ตามเหล่าผู้ร่วมเสวนามีการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายปัจจุบันของรัฐเอาไว้ว่ายังขาดความชัดเจนและไม่ครอบคลุม รวมทั้งยังนำไปสู่การริดรอดสิทธิและเอารัดเอาเปรียบแรงงานข้ามชาติ

สำหรับ วิชญาพร เชาว์ศรีกุล ผู้รายงานวงเสวนานี้ เป็นนักศึกษาจากสาขาภาษาอังกฤษและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ร่วมฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net