ทำไม 'ความเท่าเทียมทางเพศ-การคำนึงถึงมิติทางเพศ' จึงมีความสำคัญในงาน 'ตำรวจ'

เปิดรายงานการตำรวจกับเพศสภาพ ว่าด้วยทำไม 'ความเท่าเทียมทางเพศ-การคำนึงถึงมิติทางเพศ' จึงมีความสำคัญในงาน 'ตำรวจ' ชี้ความเท่าเทียมทางเพศจะช่วยป้องกันความรุนแรง คุ้มครองสิทธิและเอื้อให้สังคมปลอดภัยขึ้น หลักนิติรัฐเข้มแข็งขึ้น

  • ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ ถือเป็นพันธกรณีทางกฎหมายระหว่างประเทศและเป็นสิ่งจําเป็น สำหรับบริการตำรวจนั้น ‘การบูรณาการทำงานภายใต้การคำนึงถึงมิติทางเพศ’ ถือเป็นรากฐานของการคุ้มครองสิทธิในสถานที่ทำงานและทำให้งานตำรวจมีประสิทธิผลเพิ่มขึ้น
  • การขับเคลื่อนสู่ความเท่าเทียมทางเพศสภาพยังจะช่วยให้ประเทศต่าง ๆ สามารถเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นของหลัก ‘นิติรัฐ’ ตำรวจจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งยวดในกระบวนการนี้
  • การบูรณาการมิติเพศสภาพเข้าไว้ในงานตำรวจ จะทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น ทั้งชาย หญิง เด็กชายและเด็กหญิง ล้วนมีความกังวลด้านความปลอดภัยแตกต่างกัน เพราะประสบกับอาชญากรรมแตกต่างกัน
  • งานตำรวจที่ดีนั้น ต้องมีภารกิจ 'เพื่อชุมชน' ไม่ใช่การ 'ตรวจตราชุมชน' ตำรวจต้องดูแลให้แน่ใจว่าสมาชิกในชุมชนทุกคนมีความ มั่นคงปลอดภัย รวมทั้งปลอดภัยจากการล่วงละเมิดที่กระทำโดยรัฐและหน่วยงานของรัฐ ซึ่งการใช้กําลังจะเป็นทางเลือกสุดท้ายและจะใช้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตำรวจจะแสดงความเป็นมิตรและสุภาพกับทุกคน

จากรายงาน 'ชุดเครื่องมือเพศสถานะกับความมั่นคง การตำรวจกับเพศสถานะ' ("Policing and Gender", in Gender and Security Toolkit) เขียนโดยลิซา เดนนี นักวิจัยในประเด็นความมั่นคงและความยุติธรรมในการพัฒนาระหว่างประเทศ จัดพิมพ์โดย DCAF หรือ Geneva Centre for Security Sector Governance ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้คำปรึกษาด้านปฏิบัติการเพื่อปฏิรูปงานด้านความมั่นคงทั่วโลก, OSCE/ODIHR องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรปภายใต้สถาบันประชาธิปไตยสิทธิมนุษยชน และ UN Women แปลเป็นภาษาไทยโดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) รายงานฉบับนี้ได้ฉายภาพให้เห็นถึงความสำคัญในประเด็นเพศสภาพกับงานตำรวจไว้ดังนี้

ทำไม 'ความเท่าเทียมทางเพศ-การคำนึงถึงมิติทางเพศ' จึงมีความสำคัญในงาน 'ตำรวจ'

การมุ่งบรรลุ ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ ถือเป็นพันธกรณีทางกฎหมายระหว่างประเทศและเป็นสิ่งจําเป็น สำหรับบริการตำรวจนั้น ‘การบูรณาการทำงานภายใต้การคำนึงถึงมิติทางเพศ’ ถือเป็นรากฐานของการคุ้มครองสิทธิในสถานที่ทำงานและทำให้งานตำรวจมีประสิทธิผลเพิ่มขึ้น สังคมปลอดภัยขึ้น และหลักนิติรัฐแข็งแกร่งขึ้น ทั้งนี้หากมีความเท่าเทียมทางเพศในสังคม ที่สุดแล้วก็จะช่วยป้องกันความรุนแรง คุ้มครองสิทธิและเอื้อให้ทุกคนสามารถเกื้อกูลชีวิตสาธารณะได้อย่างมีความหมาย

ในรายงานระบุว่าสังคมที่มีความเท่าเทียมทางเพศจะเป็นสังคมที่ประชาชนจะมีความปลอดภัย ทั้งนี้มีหลักฐานที่แสดงถึงความเชื่อมโยงของ ‘ความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพ’ (Gender-Based Violence หรือ GBV) ได้แก่ ความรุนแรงทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว การค้ามนุษย์ การบังคับให้แต่งงานหรือการแต่งงานก่อนวัยอันควร และการปฏิบัติทางประเพณีที่ทำอันตราย เช่น การขลิบอวัยวะเพศหญิง และการฆ่าเพื่อรักษาเกียรติ มีประมาณการว่าร้อยละ 35 ของผู้หญิงทั่วโลกประสบความรุนแรงดังกล่าวในชีวิตของพวกเธอ ส่วนความรุนแรงต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) และบุคคลอื่นที่มีวิถีทางเพศอัตลักษณ์และการแสดงออกทางเพศที่แตกต่างไป ก็ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพด้วยเช่นกัน เพราะเป็นความรุนแรงที่กระทำต่อบุคคลที่ถูกมองว่าท้าทายวิถีทางเพศที่ยึดถือกันเป็นบรรทัดฐานเดิมของสังคม นอกจากนี้ผู้ชายและเด็กชายก็ประสบความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพในบางรูปแบบด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพนั้นฝังรากอยู่ในความไม่เท่าเทียมทางอำนาจ ซึ่งมักจะยอมรับกันอย่างสนิทใจเสียจนกลายเป็นมือที่มองไม่เห็น ความไม่เท่าเทียมเหล่านี้ทำให้การเลือกปฏิบัติและความรุนแรงอย่างเป็นระบบถูกนำมาใช้เป็นวิธีการที่จะควบคุมผู้หญิง เด็กหญิง ผู้ชาย และเด็กชาย รวมทั้งผู้มีความหลากหลายทางเพศ

ดังนั้นการขับเคลื่อนสู่ความเท่าเทียมทางเพศสถานะยังจะช่วยให้ประเทศต่าง ๆ สามารถเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นของหลัก ‘นิติรัฐ’ ตำรวจจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งยวดในกระบวนการนี้ ในฐานะผู้พิทักษ์กฎหมายและความสงบเรียบร้อย ซึ่งการสร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงความปลอดภัย ความมั่นคงและความยุติธรรม ก็ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของหลักนิติรัฐด้วยเช่นกัน

การคำถึงถึง 'มิติทางเพศ' จะทำให้งานตำรวจมีประสิทธิผลมากขึ้น

มีการศึกษาระบุว่าตำรวจหญิงจะอยู่ในฐานะดีกว่าตำรวจชาย ในการทำหน้าที่คัดกรองผู้ต้องสงสัยที่เป็นผู้หญิง สัมภาษณ์ผู้เสียหายหญิงและค้นตัวผู้หญิง | ที่มาภาพประกอบ: OC Media

ในรายงานชี้ว่าการบูรณาการมิติเพศสถานะเข้าไว้ในงานตำรวจ จะทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น ทั้งชาย หญิง เด็กชายและเด็กหญิง ล้วนมีความกังวลด้านความปลอดภัยแตกต่างกัน เพราะประสบกับอาชญากรรมแตกต่างกัน ในสถานที่ที่ต่างกัน โดยผู้กระทำต่างกัน แม้ว่าเพศสถานะมิใช่ตัวบ่งชี้ตัวเดียวถึงความไม่มั่นคงปลอดภัย ต้องคำนึงถึงภาวะทับซ้อนกับสถานะอื่น ๆ ด้วย และดูว่าปัจจัยอื่น ๆ เช่น วิถีทางเพศ อัตลักษณ์และการแสดงออกทางเพศสถานะ ชาติพันธุ์ ศาสนา ชนชั้น อายุ และสมรรถภาพร่างกายและจิตใจ ส่งผลอย่างไรต่อประสบการณ์ของแต่ละคน ดังนั้นคนที่มีพื้นฐานเป็นชนกลุ่มน้อย ชนชั้นล่าง หรือมีความพิการ จะมีประสบการณ์เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัย ต่างไปจากคนเพศสถานะเดียวกันที่ไม่ได้มีลักษณะดังกล่าว การมองด้วยมิติเพศสถานะจะทำให้เห็น ความจําเป็นต้านความมั่นคงปลอดภัยที่แตกต่างกันของแต่ละกลุ่มคนภายในชุมชนได้ และจะหนุนเสริมการพัฒนายุทธศาสตร์งานตำรวจที่สอดคล้องและมีประสิทธิผล

การทำให้ผู้คนปลอดภัยมากขึ้นโดยการตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันของพวกเขา จะสามารถมีส่วนช่วยสร้างความเท่าเทียมทางเพศสถานะได้ ผู้หญิงและเด็กหญิงที่ประสบความรุนแรง หรือรู้สึกเสี่ยงต่อความรุนแรง มักจะมีความเป็นไปได้มากกว่าที่จะออกจากโรงเรียนกลางคัน และกลายเป็นผู้ที่ต้องพึ่งพาคนอื่นทางเศรษฐกิจและถูกตัดขาดจากสังคมมากกว่า ผลทางลบที่เกิดขึ้นจากอาชญากรรมความเกลียดกลัวที่กระทำต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งมิใช่เป็นความบอบช้ำทางจิตใจของผู้ถูกกระทำเท่านั้น แต่อาจนำไปสู่ความรู้สึกโดดเดี่ยวของชุมชนที่มีความหลากหลายทางเพศโดยรวมด้วย ในทางกลับกันเมื่อผู้คนรู้สึกปลอดภัย พวกเขาก็จะสามารถใช้ทักษะและความสามารถส่วนตนได้อย่างเต็มที่ในการมีส่วนร่วมเกื้อกูลสังคม

งานตำรวจที่ 'ขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศ-บูรณาการภายใต้การคำนึงถึงมิติทางเพศ' มีหน้าตาอย่างไร?

ในรายงานฉบับนี้ได้ให้ภาพถึงงานตำรวจที่ขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศ และการบูรณาการทำงานภายใต้การคำนึงถึงมิติทางเพศไว้ โดยจะขอสรุปคร่าว ๆ ดังนี้

1. งานตำรวจเน้นการให้บริการและมุ่งป้องกันอาชญากรรมโดยร่วมมือเป็นภาคีกับชุมชนที่หลากหลาย

งานตำรวจที่ดีนั้น ต้องมีภารกิจ 'เพื่อชุมชน' ไม่ใช่การ 'ตรวจตราชุมชน' ตำรวจต้องดูแลให้แน่ใจว่าสมาชิกในชุมชนทุกคนมีความ มั่นคงปลอดภัย รวมทั้งปลอดภัยจากการล่วงละเมิดที่กระทำโดยรัฐและหน่วยงานของรัฐ ซึ่งการใช้กําลังจะเป็นทางเลือกสุดท้ายและจะใช้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตำรวจจะแสดงความเป็นมิตรและสุภาพกับทุกคน ภาพลักษณ์ของตำรวจที่แสดงออกทั้งที่อยู่ในสื่อ ในการประชาสัมพันธ์และในการรณรงค์รับสมัครงานเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะต้องสะท้อนความหลากหลาย การมีส่วนร่วมของผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศ งานตำรวจมิใช่เป็นวัฒนธรรมแบบ ‘ชายผู้แกร่งกล้าเกินคน’ แต่ต้องเป็นวัฒนธรรมที่เคารพทุกคนและเห็นคุณค่าของความหลากหลายทางเพศ ทางอายุ เผ่าพันธุ์ เชื้อชาติ ศาสนา ภูมิภาค และชนชั้น เป็นต้น

2. งานหลักของตำรวจต้องขจัด ‘อาชญากรรมที่กระทำต่อทุกคน’ และต้องดำเนินการ ‘อย่างละเอียดอ่อน’ โดยประสานงานกับบริการสนับสนุนอื่น ๆ

บริการของตำรวจนั้นต้องคุ้มครองสิทธิ ความปลอดภัย และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน การจัดการกับความรุนแรงในครอบครัวและอาชญากรรมอื่นที่กระทำในพื้นที่ส่วนตัวโดยคนใกล้ชิดหรือสมาชิกในครอบครัว ถือเป็นงานหลักของตำรวจ ซึ่งไม่ใช่เป็น ‘เรื่องภายในครอบครัว’ หรือ ‘ปัญหาสำหรับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง’ เท่านั้น ตำรวจจะต้องมีความละเอียดอ่อนต่อความต้องการที่แตกต่างกันของผู้ชาย ผู้หญิง เด็กชาย เด็กหญิง และผู้มีความหลากหลายทางเพศในด้านของความมั่นคงปลอดภัย ตำรวจจะต้องเข้าใจดีว่านอกจากความต้องการที่แตกต่างตามเพศสภาพแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นที่เพิ่มความเสี่ยงให้แก่ประชาชน เช่น ชาติพันธุ์ ชนชั้น และภาษา งานบริการของตำรวจโดยเฉพาะด้านการป้องกัน การสืบหา การแจ้งความ การสอบสวน และการสนับสนุน จะต้องจัดให้สอดคล้องกับประชาชนแต่ละกลุ่มที่มีความต้องการแตกต่างกัน  ตำรวจทุกคนจะต้องพร้อมจะจัดการกับอาชญากรรมทุกประเภทด้วยความเคารพและความละเอียดอ่อน จัดการกับความรุนแรงทางเพศอย่างไร้อคติ มีบริการสนับสนุนเฉพาะทางที่หลากหลายที่ผู้เสียหายสามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาพยาบาล การสนับสนุนทางจิตวิทยา การคุ้มครองทางกายภาพ และความช่วยเหลือและการให้คำปรึกษาทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นบริการของภาครัฐ ภาคเอกชน หรือขององค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ก็ตาม

3. บริการของตำรวจต้องมีความหลากหลาย และผู้หญิงต้องมีส่วนร่วมงานอย่างเด่นชัด

บริการของตำรวจจะต้องสะท้อนถึงความหลากหลายที่มีอยู่ในชุมชน เปิดรับการมีส่วนร่วมของทั้งหญิง ชาย และผู้มีความหลากหลายทางเพศในทุกพื้นที่ของงานตำรวจ รวมทั้งในบทบาทเจ้าหน้าที่ตำรวจแถวหน้าด้วย ตำรวจหญิง [หรือตำรวจที่มีความหลากหลายทางเพศ] จะต้องไม่ถูกจํากัดให้มีบทบาทเฉพาะในส่วนของการให้บริการต่อผู้หญิง เด็ก และผู้มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น ความหลากหลายของการจัดบุคลากรตำรวจเช่นที่ว่านี้จะต้องได้รับการสนับสนุนจากนโยบายด้านการสรรหา บรรจุ ฝึกอบรม การดำรงบุคลากร รวมทั้งการเลื่อนยศและตำแหน่ง ที่ตระหนักถึงผลงานและทักษะที่ จําเป็น แทนที่จะติดอยู่กับความคิดที่ล้าสมัยแบบเดิม  นอกจากนี้การจัดตารางการทำงานของตำรวจจะต้องยืดหยุ่น มีการอนุญาตให้ลาหยุดเพื่อทำหน้าที่พ่อแม่ของลูก มีการสนับสนุนด้านการดูแลเด็กเล็กที่จะเอื้อให้เกิดความเท่าเทียมทางโอกาสไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็ตาม การจัดเครื่องแบบตำรวจ อุปกรณ์และสถานที่ (เช่น ที่พักอาศัยและห้องสุขา) จะต้องมีการออกแบบโดยคำนึงถึงความหลากหลายทางเพศ นอกจากนี้ควรสนับสนุนการรณรงค์สรรหาบุคลากรที่พุ่งเป้าที่ผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะ และควรมีคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาเลื่อนตำแหน่งที่หลากหลายด้วยเช่นกัน

4. วัฒนธรรมองค์กรของตำรวจ กับการจัดการค่านิยมที่ 'หลากหลาย ความเท่าเทียม นับรวมทุกคน' และ 'แบบอย่างเชิงบวกของความเป็นชาย'

สถาบันตำรวจจะต้องมีนโยบายที่เข้มงวดว่าด้วยการไม่เลือกปฏิบัติ ที่เจ้าหน้าที่ทุกคนเข้าใจและปฏิบัติตามอย่างพร้อมเพรียงกันทั่วทั้งองค์กร มีการฝึกอบรมเพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนเข้าใจนโยบายและจรรยาบรรณดังกล่าว ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกอบรมระหว่างประจําการปกติ ทั้งนี้จะต้องทำให้วัฒนธรรมองค์กรของตำรวจไร้ซึ่งความอดทนต่อการเลือกปฏิบัติ การคุกคาม การรังแกและการล่วงละเมิดด้วยเหตุแห่งเพศสภาพ และต้องกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ร้องเรียนพฤติกรรมดังกล่าวเมื่อพบเห็นในที่ใดก็ตาม กรณีร้องเรียนที่เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติและการล่วงละเมิดจะต้องได้รับการพิจารณาโดยหน่วยตรวจสอบและกำกับดูแลภายในอย่างรวดเร็ว โปร่งใส และต้องคำนึงถึงสวัสดิภาพของผู้ร้องเรียน

วัฒนธรรมองค์กรของตำรวจจะต้องหล่อหลอมบุคลิกลักษณะ ‘ความเป็นชายเชิงบวก’ ที่จะไม่ผลิตซ้ำความเชื่อที่ว่าผู้ชายทุกคนโดยเนื้อแท้แล้วมีความก้าวร้าว แข็งแกร่ง และต้องการครอบงำผู้อื่น แต่จะต้องส่งเสริมบุคลิกความเป็นชายในเชิงบวก ที่เน้นความเอื้ออาทร ความมีเมตตา และความเคารพซึ่งกันและกัน บุคลิกลักษณะแบบนี้จะทำให้เกิดการสื่อสารและความเป็นผู้นําที่ดีกว่า ทั้งนี้หากการสนับสนุนความหลากหลายและความเท่าเทียมมาจากผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์กร ก็จะมีส่วนเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เพิ่มพูนความหลากหลาย ความเท่าเทียม และนับรวมทุกคน ตัวอย่างเช่น ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสมาคมของบุคลากรหญิงหรือผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือการสงวนที่ในการเข้ารับการอบรมเพื่อเพิ่มความหลากหลายในโอกาสเลื่อนตำแหน่งการงาน  นอกจากนี้ควรมีการลงทุนในการศึกษาวิจัยเพื่อประเมินประสิทธิผลของยุทธศาสตร์การเพิ่มความเป็นตัวแทนและการตอบสนองต่อประเด็นเพศสภาพ มีการสํารวจและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการสร้างโอกาสให้บุคลากรที่เป็นชนกลุ่มน้อยสามารถให้ข้อมูลและนำเสนอความคิดได้

5. ต้องทำ ‘การกำกับดูแล’ กิจการตำรวจ ‘เข้มแข็งและเป็นอิสระ’

ระบบควบคุมภายในที่มีประสิทธิผลจะช่วยสร้างมาตรฐานคุณธรรมภายในงานบริการของตำรวจ นอกจากนี้กลไกกำกับดูแลจากภายนอกที่แข็งแกร่งและเป็นอิสระก็ถือว่าสำคัญ เพื่อให้แน่ใจว่าการปฏิบัติงานของตำรวจเป็นไปอย่างรับผิดชอบตรวจสอบได้ กลไกเหล่านี้อาจรวมถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน หน่วยงานรับร้องทุกข์ต่าง ๆ และคณะกรรมการต่อต้านการทุจริต (การจัดรูปองค์กรอาจแตกต่างกันไปบ้างในแต่ละประเทศ) รวมทั้งรัฐสภาด้วย

และภายในกลไกเหล่านี้ก็จะต้องตอบสนองต่อความหลากหลายทางเพศ กรอบทางกฎหมายจะต้องเอื้อให้กลไกเหล่านี้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการติดตามผล การทบทวน การสอบสวนและการดำเนินคดีชั้นศาลได้ตามที่จําเป็น กลไกกำกับดูแลเหล่านี้จะได้รับการให้คุณค่าในฐานะส่วนสำคัญที่จะสร้างหลักประกันการมีบริการตำรวจที่มีคุณภาพ และจะได้รับมอบอำนาจให้กระทำการได้โดยปราศจากการแทรกแซงหรือการคุกคามทางการเมืองในกรณีที่พบว่ามีการประพฤติมิชอบใด ๆ นอกจากนี้องค์กรในภาคประชาสังคม (รวมถึงสื่อมวลชน องค์กรผู้หญิง และกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ) กับตำรวจจะต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและกัน หนุนนําให้เกิดการยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์เชิง สร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ของความปลอดภัยของชุมชน หลักนิติรัฐและการคุ้มครองสิทธิ นอกจากนี้กลุ่มประชาสังคมยังจะต้องมีบทบาทแข็งขันในการกำกับดูแลกิจการตำรวจอย่างเป็นทางการ เช่น ผ่านการเป็นสมาชิกคณะกรรมการและคณะทำงานอิสระต่าง ๆ เป็นต้น

บริการตำรวจต้องมี 'ความหลากหลาย' เพื่อสะท้อนคนในสังคม รวมทั้งด้าน 'เพศสถานะ' จะทำให้เข้าถึงได้และมีประสิทธิผลมากขึ้น

ในรายงานชี้ว่าตำรวจหญิงมักจะมีทักษะในการสื่อสารที่ดีกว่า และผู้แจ้งเหตุมองว่าตำรวจหญิงมีความเห็นอกเห็นใจมากกว่า | ที่มาภาพประกอบ: Police Chief Magazine

ในรายงานฉบับนี้ยังระบุว่าบริการตำรวจที่เป็นตัวแทนของความหลากหลายของชุมชนที่ให้บริการ รวมทั้งด้านเพศสถานะซึ่งจะทำให้ประชาชนเข้าหาและไว้วางใจมากขึ้น ชุมชนจะให้ความร่วมมือรายงานเหตุการณ์อย่างดีขึ้นหากทั้งหญิง และชายรู้สึกสบายใจที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับตำรวจ ตัวอย่างเช่นเมื่อผู้ถูกกระทำรุนแรงที่เป็นผู้หญิงสามารถแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงได้ บริการตำรวจที่มีความหลากหลายจะมีความเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้น ถึงความจําเป็นต่าง ๆ ของชุมชน จะสามารถสร้างสัมพันธ์ที่แน่นหนากับชุมชนได้ ซึ่งจะทำให้งานตำรวจมีประสิทธิผลเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้บริการตำรวจที่มีความหลากหลายรวมทั้งด้านเพศสถานะ จะได้ใช้ประโยชน์จากความคิดความอ่าน ทักษะ และประสบการณ์ที่กว้างขวางมากขึ้น มีหลักฐานยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงมีแนวโน้มที่จะ มีคุณลักษณะจําเพาะบางอย่าง ตัวอย่างเช่น ในบางบริบทตำรวจหญิงมักจะข้องเกี่ยวกับการใช้กําลังน้อยกว่า และมีประชาชนร้องเรียนพฤติกรรมตำรวจหญิงน้อยกว่าตำรวจชาย ผู้บริหารในแอฟริกาใต้และในสหรัฐอเมริการายงานว่าตำรวจหญิงมักจะมีทักษะในการสื่อสารที่ดีกว่า และผู้แจ้งเหตุมองว่าตำรวจหญิงมีความเห็นอกเห็นใจมากกว่า การมีตัวแทนของผู้หญิงมากขึ้นยังเป็นความจําเป็นในการปฏิบัติงานตำรวจอีกด้วย เพราะเจ้าหน้าที่ผู้หญิงจะอยู่ในฐานะดีกว่าในการทำหน้าที่คัดกรองผู้ต้องสงสัยที่เป็นผู้หญิงสัมภาษณ์ผู้เสียหายหญิงและค้นตัวผู้หญิง

หากเจ้าหน้าที่ตำรวจแสดงความหลากหลายทางเพศของตนอย่างเปิดเผย ก็จะทำให้ตำรวจเข้าถึงชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ เพื่อรับมือและปราบปรามความรุนแรงจากอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่กระนั้นในขณะนี้ก็ยังไม่มีข้อมูลที่ครอบคลุมเพียงพอเกี่ยวกับจำนวนผู้มีความหลากหลายทางเพศในงานตำรวจทั่วโลกว่ามีจำนวนเท่าใด (ส่วนหนึ่งมีความกลัวว่าการเปิดเผยวิถีทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศ จะนำไปสู่การถูกเลือกปฏิบัติในอาชีพ) แต่เชื่อกันว่ายังมีจำนวนไม่มากนัก

ในรายงานยังเน้นย้ำว่าความเท่าเทียมทางเพศจึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่หน่วยงานตำรวจในแต่ละประเทศจะต้องดำเนินการ เพราะบริการตำรวจที่เป็นตัวแทนของความหลากหลายทางเพศนั้น เมื่อเวลาผ่านไปจะสามารถช่วยแปลงเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรของตำรวจตอบสนองต่อความต้องการด้านความมั่นคงปลอดภัยของพลเมืองทุกกลุ่มได้อย่างทั่วถึง การหนุนนําสู่ความเท่าเทียมทางเพศยังจะช่วยให้มีการจ้างงานผู้หญิงจำนวนมากขึ้น ช่วยเสริมพลังอำนาจทางเศรษฐกิจให้แก่ผู้หญิง เป็นแบบอย่างให้แก่ผู้หญิงและเยาวชน ท้ายสุดก็จะส่งมอบความมั่นคงปลอดภัยที่ดีขึ้นให้แก่พลเมืองทุกคน.

 

สกู๊ปนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานพิเศษชุด เพศสภาพในงานตำรวจ (Gender and policing) ซึ่งจะมีการนำเสนอระหว่างพฤศจิกายน - ธันวาคม 2564

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท