Skip to main content
sharethis

'เผ่าภูมิ' ชี้คนจนเพิ่ม 5 แสน เป็นสัญญาณอันตราย บัตรคนจนไม่ช่วยแก้จน ต้องแทนที่ด้วย 'บัตรสร้างงาน' ด้านโฆษกพรรคเพื่อไทยบอก 'ประยุทธ์' ให้เตรียมตัวรับมือโควิดสายพันธุ์โอไมครอน อย่าปล่อยให้ระบาดหนักซ้ำแล้วโยนบาปให้ประชาชน 

1 ธ.ค. 2564 เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวกรณีสภาพัฒน์ฯ ชี้แจงกรณีคนจนเพิ่มขึ้น 5 แสนคนในปี 2563 ว่าจากความล้มเหลวในด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล พรรคเพื่อไทยไม่แปลกใจที่ตัวเลขคนจนปี 2563 เพิ่มขึ้น แต่แปลกใจในมุมมองของหน่วยงานภาครัฐที่ว่าคนจนน้อยกว่าคาดเพราะได้เงินรัฐเยียวยา เราไม่ควรพึงพอใจกับสิ่งเหล่านี้ ต่อไปก็กู้มาแจก แจกจนคนพ้นเส้นความยากจนทุกคน แต่ประเทศเป็นหนี้ แล้วพึงพอใจว่าแก้จนได้อย่างนั้นหรือ ต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนคนจนนั้น ไม่ใช่เรื่องปกติ เป็นเรื่องที่ต้องกังวล โดยปกติจำนวนคนจนควรลดลงทุกปีๆ จากการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ถ้าปีไหนไม่ลด นั่นคือสัญญาณอันตราย

"ตัวเลขคนจนที่เพิ่มขึ้นถึง 5 แสนคนนั้น น่าเป็นห่วง เพราะเพิ่มจากปีก่อนหน้าถึง 11.6% เทียบกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งที่คนจนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 6.2% ต่อปี สะท้อนความรุนแรงของวิกฤตครั้งนี้ที่เปอร์เซ็นต์คนจนที่เพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงต้มยำกุ้งถึงเกือบ 2 เท่าตัว"

คนจนที่เพิ่มขึ้น 5 แสนคนนั้น เป็นตัวเลขปี 2563 ซึ่ง “ยังไม่ได้สะท้อน” ผลกระทบของปี 64 ที่สาหัสกว่าปี 63 มีการระบาดที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่ากันถึงกว่า 100 เท่า การล็อกดาวน์ต่อเนื่องยาวนานและหลายระลอกกว่า การปิดกิจการ การตกงานที่หนักหน่วงกว่า (Q3/64 มีคนว่างงานสูงสุดตั้งแต่มีการระบาด) ซึ่งผลกระทบเหล่านี้จะสะท้อนในตัวเลขคนจนที่จะเพิ่มขึ้นในปี 2564 อย่าโทษว่าคนจนเพิ่มเพราะโควิด เพราะรัฐบาลปัจจุบัน และ คสช. ทำคนจนเพิ่มก่อนจะมีโควิดด้วยซ้ำ โดยเฉพาะช่วง คสช. ในช่วงปี 2558-2561 นั้น คนจน “เพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึงปีละ 11.7%” เทียบเท่าช่วงวิกฤตในปัจจุบัน เปรียบเทียบกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่แก้จนสำเร็จ ทำให้คนจน “ลดลงเฉลี่ย 6.9% ต่อปี”

คนจนที่เพิ่มขึ้นนั้น ส่งผลต่อปัญหาหนี้ ซึ่งได้สะท้อนในตัวเลขหนี้ครัวเรือน และที่น่ากังวลคือหนี้นอกระบบ ที่ปัจจุบันเพิ่มจากปี 62 ถึง 52% นี่คือปรากฎการณ์ “หนี้ในระบบไหลสู่หนี้นอกระบบ” ซึ่งตรงนี้อันตราย แก้ยาก และส่งผลกระทบซึมลึกต่อเศรษฐกิจไทย

พรรคเพื่อไทยแปลกใจ และกังวลใจต่อคำให้สัมภาษณ์ตามข่าวที่ว่า บัตรคนจนสามารถเป็นนโยบายระยะยาวต่อเนื่องไปได้ พรรคเพื่อไทยเห็นว่านโยบายในลักษณะหยอดเงิน หรือล่อคนด้วยเงิน ผ่านบัตรคนจนนั้น ไม่ใช่คำตอบของการแก้จน ไม่ควรเป็นนโยบายในระยะยาว เพราะไม่ได้สร้างผลบวกต่อเศรษฐกิจในระยะยาว “บัตรคนจน” ควรจะถูกแทนที่ด้วย “บัตรสร้างงาน” เพราะการสร้างงานเท่านั้นคือคำตอบการแก้จน ต้องเปลี่ยนการแจกเงินเป็นการแจกงาน

นอกจากนี้ เผ่าภูมิยังกล่าวว่านโยบาย “1 ข้าราชการ 1 ครัวเรือนยากจน” ของรัฐบาลนั้น เลียนแบบมาจากนโยบายแก้จนจนแบบตรงจุด (TPA) ของจีน ปัญหาคือเราไปจำของเขามาพูด โดยที่ไม่เข้าใจว่าต้องคิดให้ครบทั้งระบบ เริ่มจากการค้นหาปัญหาของคนยากจนในระดับรายบุคคล เชื่อมปัญหานั้นกับหน่วยงานที่ตั้งขึ้นพิเศษ ตั้งกองทุนเฉพาะเพื่อแก้จน การออกพันธบัตรเพื่อกระตุ้นการย้ายภาคการผลิต การเชื่อมกับสถาบันการเงินเพื่อให้ Microcredit รวมถึงสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด และการจับให้ผู้ซื้อได้เจอกับผู้ขาย ทั้งหมดนี้ต้องคิดให้ครบวงจร เชื่อมนโยบายระดับ Macro กับ Micro ให้ผสานกัน ต้องคิดให้ครบทั้งระบบแบบนี้ ไม่ใช่จำเขามาพูดเป็นท่อนๆ

'ชญาภา' วอน 'ประยุทธ์' เตรียมรับมือ 'โอไมครอน' อย่าวัวหายล้อมคอกแล้วโยนบาปให้ประชาชน

ขณะเดียวที่ ชญาภา สินธุไพร รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลังจากที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์โอมิครอนอยู่ในกลุ่ม "สายพันธุ์น่าวิตกกังวล" ทำให้หลายประเทศตื่นตัว ปรับมาตรการและยกระดับการเตือนภัยเป็นขั้นสูงสุดแล้ว เช่น ญี่ปุ่นที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงสุดในกลุ่ม G7 หรือกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ ประกาศปิดพรมแดน อิสราเอลที่ฉีดวัคซีนรวดเร็ว ครอบคลุมประชากรมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ก็ประกาศปิดพรมแดน หรือแม้แต่สิงคโปร์ที่ประชากรได้รับวัคซีนตามเป้ายังปรับแผนการเดินทางเข้าพรมแดน เห็นได้ว่ารัฐบาลทั่วโลกมีการประเมินสถานการณ์การระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ที่เป็นที่น่ากังวลเพื่อปกป้องประชาชนในประเทศ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กลับบอกประชาชนว่าอย่าวิตกกังวล ไร้มาตรการเชิงรุก บริหารประเทศตรงข้ามกับทั่วโลกที่เฝ้าระวังภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งที่จริงรัฐบาลต้องมองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ตระหนัก ตื่นตัว และต้องเตรียมตัว เพราะยังมีคนไทยอีก 10 ล้านคนยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มแรก

ชญาภา สินธุไพร
 

ชญาภา กล่าวอีกว่า มีความน่ากังวลว่าทุกครั้งที่มีการระบาดในต่างประเทศไม่นาน ก็ตามมาด้วยการระบาดต่อในไทยทุกระลอก อย่าลืมว่าสายพันธุ์โอมิครอนกำลังมา ส่วนสายพันธุ์เดลตาก็ยังอยู่ รัฐบาลต้องเตรียมพร้อมและคำนึงถึงขีดความสามารถด้านสาธารณสุขทุกด้าน  ถอดบทเรียนจากการระบาดของสายพันธุ์เดลต้ามาปรับใช้และศึกษาการระบาดของโอมิครอนอย่างใกล้ชิด  อย่าบริหารแบบวัวหายแล้วล้อมคอกซ้ำแล้วซ้ำเล่า สุดท้ายเมื่อเกิดปัญหาก็โยนบาปให้ประชาชนเหมือนที่ผ่านมา

“แม้ไทยปรับแผนกลับมาใช้การตรวจแบบ PT-PCR กับนักท่องเที่ยวแล้ว แต่ชุดตรวจที่ทั่วโลกให้การรับรองอย่าง DNA Nudge ที่มีความเร็วและมีประสิทธิภาพแม่นยำสูง สามารถตรวจหาเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ได้ถึง 100% ซึ่งน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งของพี่น้องคนไทย จึงอยากให้รัฐบาลคำนึงถึงความปลอดภัยของชีวิตประชาชนเป็นที่ตั้งมากกว่าเรื่องอื่น” ชญาภากล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net