โสภณ พรโชคชัย: เหลือบกินประเทศก็คือระบบราชการนั่นเอง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เหลือบกินประเทศก็คือระบบราชการที่ล้าหลังและเป็นเครื่องมือในการธำรงอำนาจของผู้ปกครองในประเทศต่างๆ นั่นเอง ทางแก้มีแต่ต้องทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น

เมื่อเร็วๆ นี้ผมไปประชุมเรื่องแรงงานในฐานะกรรมการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย ได้เชิญเยาวชนมาร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจ้างงานด้วย ปรากฏว่าเยาวชนต่างมีความเห็นว่าตนอยากทำงานอาชีพอิสระ ไม่ต้องการรับราชการ ผมจึงได้เกิดความคิดบางอย่างเกี่ยวกับสวัสดิการแรงงานกับประชาธิปไตย แต่เป็นความคิดเห็นส่วนตัวล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับองค์กรใดๆ ทั้งสิ้น

ผมนึกขึ้นมาได้ว่าสมัยเป็นเด็กหนุ่มเมื่อ 40 ปีก่อนก็มีแนวคิดทำนองเดียวกันนี้ ไม่อยากรับราชการ อยากทำงานเอกชน เพราะรู้สึกเป็นอิสระ ได้เงินง่ายและมาก ไม่ติดกับประเพณีที่คร่ำครึต่างๆ ฯลฯ นี่ถ้าผมรู้จักเข้าหาผู้ใหญ่ สมัยที่ทำงานที่สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็คงได้เป็นเจ้าหน้าที่กับเขาบ้าง เพื่อนๆ ที่การเคหะแห่งชาติที่ผมก็เคยไปทำงานด้วย ก็ยังบอกว่าถ้าผมได้บรรจุอยู่จนเกษียณก็คงได้ตำแหน่งใหญ่โตกับเขาบ้าง หรือถ้าไปคุยกับผู้บริหารธนาคารอาคารสงเคราะห์ที่เมตตาผมมาก ป่านนี้อาจเกษียณในตำแหน่งใหญ่โต หรือไม่หากผมเข้าหาอาจารย์ที่เคารพ ป่านนี้อาจเป็นศาสตราจารย์ไปแล้ว เพราะผมผลิตงานวิชาการมากมาย

แต่สิ่งหนี่งที่ผมคิดได้ในทางตรงกันข้ามก็คือ การทำงานอิสระหรือทำงานในภาคเอกชน ในระยะแรกอาจได้เงินมาก เช่น สมัยผมทำงานการเคหะแห่งชาติในฐานะลูกจ้างได้เงินเดือนๆ ละ 3,000 บาท แต่ถ้ารับราชการ อาจได้แค่ 2,000 บาท เป็นต้น อย่างไรก็ตามในระยะยาว คนทำงานภาคเอกชนเสียเปรียบภาครัฐอย่างมาก เพราะถ้าเทียบอายุงานเท่ากัน ภาคเอกชนได้รับสวัสดิการ เกียรติและศักดิ์ศรีน้อยกว่าภาครัฐมาก ยิ่งถ้าออกมาเป็นชาวบ้านธรรมดา ไม่ได้ร่ำรวย ยิ่งเทียบกับข้าราชการไม่ติดเลย จะมีก็แต่พ่อค้าบางส่วนที่ยังสามารถสร้างรายได้ได้มากกว่า แต่ว่า “สิบพ่อค้า (ก็) ไม่เท่าพระยาเลี้ยง” ยกเว้น Super พ่อค้าจริงๆ

การที่เยาวชนมากมายคิดกันแบบนี้ในแง่หนึ่งก็อาจทำให้เราได้ข้าราชการที่เป็นเด็กเกรด C มาทำราชการ หรือพวกที่หวังแต่จะเป็น “เจ้าคนนายคน” มาทำราชการ ทำให้คุณภาพของข้าราชการบางส่วนไม่ดี และทำให้ข้าราชกาบางส่วนอาจกลายเป็นพวก “ฉ้อราษฎร์ บังหลวง” ไปได้ในที่สุด ทำให้ระบบราชการกลายเป็นตัวถ่วงของประเทศชาติไปในทางหนึ่ง คือถ้าไม่มีราชการคอยรีดไถ ป่านนี้ประเทศชาติคงเจริญไปมากนักแล้ว

ในขณะที่ฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างภาคเอกชนต้อง “รบรา” กันในเรื่องสวัสดิการแรงงาน แต่ข้าราชการไทยได้รับสวัสดิการมากมาย ตั้งแต่ค่ารักษาพยาบาลตนเอง คู่ครอง บุตร ตลอดจนถึงบุพการี เมื่อ 40 ปีก่อน ข้าราชการมาเลเซีย เมื่อเกษียณอายุราชการแล้ว ยังได้รับตั๋วเครื่องบินให้ไปเที่ยวรอบโลกเพราะจำนวนคนที่คิดจะรับราชการมีน้อย เป็นต้น ข้าราชการไทยบางส่วนยังได้บ้านพักฟรี เงินประจำตำแหน่ง ซื้อบ้านก็ยังได้ดอกเบี้ยต่ำกว่าชาวบ้าน ในมาเลเซียยังได้ราคาที่ถูกกว่าคนทั่วไป หรือกู้ได้มากเป็นพิเศษ เป็นต้น

ยิ่งเมื่อข้าราชการเติบใหญ่ก็ยังได้ตั๋วเครื่องบินชั้นธุรกิจหรือชั้นหนึ่ง มีรถประจำตำแหน่ง (ทั้งที่มีเงินมากขึ้นก็น่าจะหาซื้อเองบ้าง) ได้ไอโฟนฟรี มีพนักงานเทกระโถน ไปไหนมาไหนก็มีคนคอยพินอบพิเทา หลายคนคงไม่ได้ทำราชการเพื่อ “รับใช้ประชาชน” ไม่ใช่การเสียสละมารับราชการใดๆ แต่มา “เอา” มากกว่า ยิ่งถ้าระดับสูงมากๆ ก็ยังไปเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจต่างๆ บ้างก็ยังได้กินตามน้ำ กินทวนน้ำมากมายโดยอ้างว่าเอาเงินเข้าสวัสดิการข้าราชการ ฯลฯ

การที่ข้าราชการได้สิทธิพิเศษมากมายเช่นนี้โดยอ้าง “ความเสียสละ” จึงทำให้ทรัพยากรของชาติหรือภาษีของประชาชนต้องถูกนำไปเลี้ยงดูพวกข้าราชการเหล่านี้ และไม่เพียงพอที่จะมีสวัดิการถ้วนหน้าแก่ประชาชนทั้งประเทศ เช่น เฉพาะในกรณีค่ายาอย่างเดียวครั้งหนึ่งก็พบว่า “. . .แฉตัวเลขข้าราชการไทยใช้ยาทะลุ 7 หมื่นล้านบาท/ปี ทั้งที่มีจำนวนเพียง 5 ล้านคน ขณะที่ประชากรในระบบประกันทั้งประเทศกว่า 57 ล้านคนใช้ยาแค่ปีละ 9.8 หมื่นล้านบาท เหตุไม่มีการควบคุมสั่งยา-จ่ายตามเบิกจริง จี้รัฐเร่งอุดช่องโหว่. . .” <1>

ยิ่งในกรณีข้าราชการไทย ส่วนใหญ่ก็เป็นข้าราชการส่วนกลาง อยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และส่วนภูมิภาค (ที่ถูกส่งไป “กินเมือง”) ที่เป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นกลับมีเพียง 1/3 เท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริง ข้าราชการส่วนใหญ่ควรอยู่ในส่วนท้องถิ่นเช่นอารยประเทศ เพื่อรับใช้ประชาชนส่วนใหญ่ที่อยู่ในจังหวัดภูมิภาค ยิ่งกว่านั้นก็มักมีข่าวที่ข้าราชการทำงานแบบ “เช้าชาม เย็นชาม” หรือมีจำนวนคนมากกว่างาน เป็นต้น

ผมขอยกตัวอย่างที่ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งได้ข้อมูลมาจากเพื่อนของผมมาเล่าให้ฟัง คือเมื่อปี 2528 เกาหลีก็ยังมีฐานะใกล้เคียงกับไทย คนเกาหลียังไปขายแรงงานที่ซาอุฯ รุ่นใกล้เคียงกับนายเกรียงไกร เตชะโม่ง <2> ที่ไปขโมยเพชรซาอุฯ มาจนเกิดเรื่องใหญ่ ที่เกาหลีใต้ทุกวันนี้ ประเทศเจริญเหนือไทยมาก จนคนไทยไปขายแรงงานที่เกาหลีใต้มานับสิบปีแล้ว แต่ข้าราชการเกาหลีก็ไม่ได้มีสิทธิพิเศษเหนือภาคเอกชน ต่างก็ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนรักษาพยาบาลเหมือนกัน

อย่างไรก็ตามคนเกาหลีก็อยากรับราชการเพราะเป็นงานที่มั่นคงกว่า ทำงานได้ยาวนานกว่า เพราะถ้าเป็นนายแบงค์ ก็อาจลาออกตอนอายุได้ 50 ปีเพราะแรงกดดันในการทำงานสูงมาก แต่ใช่ว่าการรับราชการจะมีรายได้สูงกว่าภาคเอกชน และการรับราชการก็ไม่ได้มีศักดิ์ศรีหรือไม่ได้มีอภิสิทธิ์เหนือกว่าภาคเอกชน ทุกวันนี้ข้าราชการเกาหลีใต้ไม่มีโอกาสทุจริตเช่นเมื่อ 20 ปีก่อนเพราะมีความโปร่งใส มีประชาธิปไตย ซึ่งนี่คือกุญแจสำคัญของการพัฒนาประเทศ สังคมเกาหลีใต้ดีขึ้นมาก หากใครลืมมือถือไว้ในสถานีรถไฟใต้ดิน มักจะได้คืน เพราะไม่มีใครขโมยกัน ต่างคนต่างก็ไม่ได้อดอยากจนต้องประพฤติตนเช่นประเทศที่กำลังพัฒนา

ไม่เฉพาะที่ไทย ข้าราชการในอีกหลายต่อหลายประเทศ ก็ได้รับการฟูมฟักดีกว่าภาคเอกชนเหนือกว่าคนทั่วไป ทั้งนี้เพื่อให้เหล่าข้าราชการเหล่านี้เป็นเครื่องมือ เป็นกรงเล็บในการปกครอง ไม่ให้ประชาชนลุกฮือขึ้นต่อต้าน ผิดกับข้าราชการในอารยประเทศ ที่ไม่ได้มีสิทธิพิเศษเหนือประชาชน และมีลักษณะของการ “รับใช้ประชาชน” จริงๆ ในประเทศไทยก็เปลี่ยนกฎหมายได้ยาก หรือแทบไม่เปลี่ยน เพื่อให้ข้าราชการคงสถานะการเป็น “นาย” ของประชาชนต่อไป ยังดีที่ไทยไม่ได้เป็นรัฐข้าราชการจ๋าอย่างบางประเทศ ไม่เช่นนั้น คงทรุดต่ำลงไปในระดับเดียวกัน

ส่วนพวกองค์การสหประชาชาติที่มาช่วยเหลือให้คำแนะนำประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายในเรื่องของสวัสดิการแรงงานต่างๆ ก็เพียงได้มาบรรเทาปัญหาเท่านั้น เพราะพวกเขาก็รู้ๆ อยู่ว่า ตราบที่ประเทศยังไม่เป็นประชาธิปไตย ยังเป็นเผด็จการแบบ “ปักจุงฮี” ในอดีต ยังไงฝ่ายแรงงานก็ยังไม่อาจลืมตาอ้าปากเยี่ยงอารยประเทศไทย ประเทศต่างๆ ก็ยังต้องออกเงินให้พวกสหประชาชาติเหล่านี้มาทำงานในราคาแพงต่อไป พวกนี้เลยกลายเป็นพวกอภิสิทธิ์ไปเช่นกัน

ดังนั้น ถ้าประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย ยังไงเสียแรงงานก็ยังถูกกดขี่ขูดรีดอยู่วันยังค่ำ

 

อ้างอิง

<1> ขรก.ไทย 5 ล้านคน ใช้ยา 7 หมื่นล. ก.บัญชีกลางผวา. 16 ตุลาคม 2553 https://www.thairath.co.th/content/119382

<2> เพชรซาอุฯ : 30 ปี ของ เกรียงไกร เตชะโม่ง จากวังสู่เรือนจำ แก้กรรมในวัดก่อนกลับมาใช้ชีวิตในบ้านเกิด. 25 กันยายน 2562. https://www.bbc.com/thai/49821635

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท