สุรพศ ทวีศักดิ์: ปรัชญากับตัวตนของเรา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ปัญหาพื้นฐานอย่างหนึ่งในทางปรัชญาคือ ปัญหาว่า เราคือใคร?  ไม่ใช่คำถามที่ต้องการคำตอบว่าเราชื่อ แซ่ เพศอะไร มีสถานภาพทางสังคมเป็นต้นอย่างไรทำนองนั้น แต่คือคำถามเพื่อหาคำตอบว่าธรรมชาติของเรา หรือ “ตัวตนที่แท้จริง” (real self) ของมนุษย์คือะไร คำตอบที่ได้ก็ไม่ใช่คำตอบสำหรับใครบางคน แต่เป็นคำตอบที่ถูกอธิบายว่าเป็น ความจริงทั่วไป ของทุกคน แน่นอนว่าไม่มีคำตอบเดียว เพราะคำตอบทางปรัชญามักเป็นคำตอบปลายเปิด (แม้ว่าจะมีบางคนยืนยันว่าคำตอบนั้นจริงย่างสัมบูรณ์ก็ตาม) ให้สงสัยและโต้แย้งได้เสมอ

เพลโตบอกว่า ธรรมชาติของเราประกอบด้วยจิตกับกาย จิตมีธรรมชาติ 3 ระดับ หนึ่ง ความปรารถนา ความต้องการต่างๆ สองความรักเกียรติ และสาม ปัญญาหรือเหตุผล ข้อสุดท้ายสำคัญที่สุด เพราะเหตุผลหรือปัญญาทำให้มนุษย์ต่างจากสัตว์อื่นๆ และการบรรลุความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ก็คือการเป็นผู้ที่สามารถใช้เหตุผลหรือปัญญาชี้นำความปรารถนา และความรักเกียรติให้ดำเนินไปอย่างถูกทางและมีดุลยภาพ 

แต่การรู้ว่าเราคือใคร ในความหมายแบบเพลโต ไม่ใช่รู้แล้วจะทำให้เราเรียนรู้ฝึกฝนที่จะใช้ชีวิตตามการชี้นำของเหตุผลหรือปัญญาเท่านั้น หากแต่ควรออกแบบระบบสังคมการเมืองให้สอดคล้องกับความเป็นมนุษย์ของเราด้วย นั่นคือ ระบบสังคมการเมืองที่ดี ควรให้ผู้มีปัญญาสูงสุดเป็นผู้ปกครอง ซึ่งในยุคนั้นจะเป็นคนกลุ่มไหนไปไม่ได้นอกจากนักปรัชญา ดังนั้น ราชานักปรัชญา (philosopher- kings) คือผู้ปกครองในอุดมคติ ทหารหรือนักรบในสังคมกรีกคือกลุ่มคนที่แสวงหาเกียรติในการทำสงคราม แสดงว่าคนพวกนี้มีธรรมชาติของจิตระดับที่สอง คือความรักเกียรติ แต่คนเหล่านี้ไม่เหมาะจะเป็นผู้ปกครอง ควรเป็นไม้มือรับใช้ราชานักปรัชญามากกว่า ขณะที่คนส่วนใหญ่ที่มีธรรมชาติของจิตตกอยู่ใต้อำนาจของความต้องการต่างๆ ย่อมสมควรเป็นผู้ถูกปกครอง

สังคมการเมืองตามความคิดของเพลโต จึงเป็นสังคมการเมืองแบบอินทรียภาพ (organism) ที่ชนชั้นทางสังคมถูกกำหนดตามโครงสร้างของจิตสามระดับ แต่เราอาจถามได้ว่า ธรรมชาติของจิตสามระดับนั้น เกิดจากการวิเคราะห์เชิงปรัชญาเพียวๆ หรือที่จริงแล้วเพลโตกำลังนำปรากฏการณ์ชนชั้นทางสังคมกรีกเวลานั้นมา “จัดประเภท” ด้วยกรอบคิดธรรมชาติของจิต นั่นคือ จัดประเภทให้พวกนักปรัชญาเป็นกลุ่มคนที่มีธรรมชาติของจิตระดับที่มีเหตุผลหรือปัญญาสูงกว่าคนทั่วไป แล้วเสนอว่าคนกลุ่มนี้ควรเป็นผู้ปกครอง ขณะที่จัดทหารหรือนักรบให้เป็นพวกมีคุณสมบัติทางจิตที่รักเกียรติ สมควรเป็นมือไม้ของราชานักปรัชญา และจัดสามัญชนทั่วไปให้เป็นกลุ่มคนที่มีธรรมชาติของจิตระดับต่ำสุด จึงเป็นกลุ่มคนที่สมควรถูกปกปครอง

นิยามตัวตนที่สัมพันธ์กับระบบชนชั้นในสังคมอินทรียภาพ ยังมีแบบอื่นๆ อีก เช่น ปรัชญาฮินดูบอกว่าตัวตนที่แท้ของเราคืออาตมันหรืออัตตา ที่แยกออกมาจากอัตตาใหญ่ที่เรียกว่าพรหมันหรือปรมาตมัน เมื่อเวียนว่ายตายเกิดจนหมดกิเลสแล้ว อัตตาของเราก็จะบรรลุโมกษะ กลายเป็นอัตตาบริสุทธิ์ และจะกลับไปรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพรหมันหรือปรมาตมัน เราจึงมีที่ที่จากมาและจะต้องกลับคืนสู่ที่ที่จากมานั้นในที่สุด แต่ขณะที่มีชีวิตอยู่ในโลกที่ถูกออกแบบโดยพระพรหมผู้สร้างโลกให้มีระบบวรรณะสี่ การที่ใครเกิดมาในวรรณะไหน ก็เป็นเพราะผลกรรมดี ชั่วในอดีตที่ทำมาต่างกัน นี่จึงเป็นความยุติธรรมแล้ว 

ยังมีปรัชญาของเอพิคิวรัส ที่มุ่งปกป้องตัวเราจากความทุกข์ทางใจ เขาคิดว่าการผูกพันตัวเองกับการเมืองไม่ใช่ชีวิตที่จะพบความสุข หรือความสงบทางจิตใจ ทางที่ถูกเราควรปลีกตัวจากการเมืองมาใช้ชีวิตที่เรียบง่าย และเน้นการผูกมิตรกันและกันในกลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด มากกว่าที่จะสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบการเมือง

ในแง่หนึ่งพุทธปรัชญาก็คล้ายกับปรัชญาของเอพิคิวรัส สิทธัตถะปฏิเสธที่จะใช้ชีวิตตามแผนการณ์ทางการเมืองที่พ่อกำหนดให้ เขาเลือกออกเดินทางท่องโลกทางวัฒนธรรมศาสนาโบราณ เรียนรู้ลองผิดลองถูก เพื่อแสวงหาความหมายของชีวิตด้วยตนเอง พิจารณาจากความคิดของสิทธัตถะผู้ซึ่งเรียกตนเองว่า “พุทธะ” มนุษย์เราไม่มีตัวตนหรืออัตตาที่แท้ ความคิดที่ว่ามีอัตตาตัวตนที่แท้ มักนำมาซึ่งความทุกข์ เพราะความทุกข์เกิดจากการที่เราประกอบสร้างตัวตนขึ้นมาเป็นเจ้าของความต้องการ ความปรารถนาต่างๆ เป็นเจ้าของความสมหวัง ผิดหวัง และอื่นๆ แท้จริงแล้วมีแต่ปรากฏการณ์ของความต้องการ ความปรารถนา ความสมหวัง ผิดหวัง สุข ทุกข์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นและสลายไปตามเหตุปัจจัย หรือตามสถานการณ์ต่างๆ ที่ชีวิตเราเผชิญ และปรากฏการณ์เหล่านั้นก็แปรเปลี่ยนไร้แก่นสาร ไม่อาจยื้อยึดสิ่งใดๆ ว่าเป็นตัวเรา หรือของเราได้จริง 

เมื่อปฏิเสธอัตตาหรือตัวตนทางอภิปรัชญา จึงปฏิเสธแนวคิดพรหมมันหรือปรมาตมันและระบบวรรณะสี่ที่ถูกสร้างโดยพระพรหมด้วย แต่ในทางศีลธรรม พุทธปรัชญายืนยันระบบศีลธรรมที่อิงกับความเชื่อเรื่องเวียนว่ายตายเกิดตามกฎแห่งกรรมคล้ายกับฮินดู ดังนั้น กรรมดี-ชั่วก็ยังเป็นตัวกำหนดการเกิดมาในชนชั้นทางสังคมที่แตกต่างกันด้วย ขณะที่ผู้ปกครองที่ดีควรปกครองโดยธรรม ปราชญ์พุทธ (เช่นพุทธทาส, ป.อ. ปยุตฺโต เป็นต้น) ยืนยันว่าการปกครองโดยธรรมไม่ผูกกับระบบการปกครองแบบใดๆ โดยเฉพาะ ทุกระบบการปกครองไม่ว่าราชาธิปไตย เผด็จการ สังคมนิยม ประชาธิปไตย ย่อมเป็นการปกครองที่ดีทั้งหมดหาก “ถือธรรมเป็นใหญ่” ซึ่งหมายถึงผู้ปกครองใช้หลักธรรมในการปกครองเพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่

ในทางตรรกะ ยากที่เราจะจินตนาการได้ว่า ทุกระบบการปกครองจะเป็นระบบการปกครองที่ดีหมดหากถือธรรมเป็นใหญ่ เพราะเรานึกไม่ออกว่า “ธรรม” อะไร มีหน้าตาแบบไหนกันที่เข้ากันได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกับการปกครองสองระบบที่ขัดแย้งกัน เช่น ประชาธิปไตยที่เชิดชูเสรีภาพทางการเมือง กับเผด็จการที่ไม่มีเสรีภาพทางการเมืองเลย ธรรมอะไรหรือที่จะทำให้สองระบบการปกครองที่ขัดกันถึงที่สุดเช่นนี้เป็นระบบที่ดีได้เหมือนกัน

แต่ในทางประวัติศาสตร์ รัฐพุทธศาสนาคือระบบสังคมการเมืองแบบอินทรียภาพ ที่ใช้แนวคิดปกครองโดยธรรมรองรับความชอบธรรมของระบบราชาธิปไตย, ระบบศักดินา และสมบูรณาญาสิทธิราชย์มายาวนาน เฉพาะสยามไทย แม้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเกือบศตวรรษแล้ว พุทธศาสนาทั้งในเชิงอุดมการณ์และโครงสร้างยังสนับสนุนสถาบันกษัตริย์อย่างเป็นเนื้อเดียว ศาสนาที่เริ่มจากการปฏิเสธการประกอบสร้างอัตตาตัวตน กลับกลายเป็นศาสนาที่มีอุปาทานในอัตตาใหญ่คือ “อัตตาชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ที่กดทับเสรีภาพของประชาชนจนทุกวันนี้

ปรัชญาคริสต์บอกว่า มนุษย์คือจินตภาพ (image) ของพระเจ้า เราทุกคนเสมอภาคกันในสายตาของพระองค์ มนุษย์ถูกเชื่อมโยงเป็นสังคมด้วยความรักในพระเจ้าองค์เดียวกัน และรักกันและกันตามอุปมาที่ว่า “รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” แต่ประวัติศาสตร์ศาสนาในดินแดนทะเลทราย ที่ศาสนากับการเมืองไม่แยกจากกกัน ศาสนาพระเจ้าองค์เดียวเกิดขึ้นในบริบทของการถูกเหยียดจากศาสนาเทพหลายองค์ แต่ในที่สุดศาสนาพระเจ้าองค์เดียวมีชัย เมื่อชาวคริสต์เริ่มนำเสนอศาสนาตนเองในกรุงโรม พวกเขาถูกกดปราบกว่าสามร้อยปี 

แต่ในที่สุดเมื่อจักรพรรดิแห่งโรมหันมาสนับสนุน ศาสนาคริตส์ก็กลับกลายเป็นฝ่ายกดปราบ “พวกนอกรีต” อย่างโหดเหี้ยม ความรักของพระเจ้าไม่อาจส่งผ่านอำนาจเผด็จการเทวสิทธิ์ของศาสนจักรและกษัตริย์คริสเตียนมาสู่บรรดาผู้คนที่คิดต่าง พวกเขามองศาสนาอื่นๆ เป็นศัตรู กระทั่งศาสนาเดียวกันแต่ต่างนิกายก็ห้ำหั่นกันเอง

ถึงตอนนี้ มาคิอาเวลลีก็ชวนเราให้มองการเมืองเสียใหม่ แท้จริงแล้วไม่เคยมีผู้ปกครองที่ทรงปัญญาและคุณธรรม เพราะคุณธรรมของผู้ปกครองเป็นเพียงคำโฆษณาชวนเชื่อให้ชนชั้นปกครองดูสูงส่ง และเป็นยากล่อมประสาทชนชั้นผู้ใต้ปกครองให้สยบยอม การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจหรือเพื่อรักษามันไว้ ผู้ปกครองจะต้องเด็ดขาดและโหดเหี้ยม เรื่องทำนองนี้เห็นได้ในคัมภีร์อรรถศาสตร์ของฮินดูด้วย ที่สอนว่า ยามปกติผู้ปกครองต้อง “แสดงบทเป็นแบบอย่างทางศีลธรรม” ของผู้ใต้ปกครอง แต่เพื่อให้ได้มาและรักษาไว้ซึ่งอำนาจ จะต้องฆ่าได้แม้กระทั่งบิดามารดาและญาติมิตร 

ตัวอย่างในซีรีย์จีนเห็นได้ชัด การบริหารของฮ่องเต้คือการทำสงครามเพื่อรวมแผ่นดิน และบริหารครอบครัวใหญ่ มีเมียฮ่องเต้เป็นผู้กุมอำนาจในวังหลัง คู่แข่งอำนาจคือรัชทายาทในวังหน้า นอกจากนี้ยังมีสนมอีกหลายคน เพื่อให้กำเนิดลูกชายจำนวนมากไว้ใช้ประโยชน์ทางการเมืองและคานอำนาจกันและกัน การชิงบัลลังระหว่างพ่อ- ลูก, พี่-น้อง หรือระหว่างฮ่องเต้กับเมียเป็นความสนุกเร้าใจในซีรีย์จีน

นคัมภีร์พุทธศาสนาก็ว่า จักรพรรดิผู้ทรงธรรมสูงลิ่ว ย่อมมั่งคั่งด้วยสมบัติวิเศษ คือ แก้ว 7 ประการ หนึ่งในจำนวนนั้นคือ “ขุนพลแก้ว” ซึ่งล้วนแต่เป็นโอรสของจักรพรรดิที่จงรักภักดีและเชี่ยวชาญการรบ แปลว่ากษัตริย์ผู้ทรงธรรมตามคติพุทธ ไม่ใช่กษัตริย์ที่ต้องมีเมียเดียวแน่ๆ เพราะไม่มีมเหสีใดจะให้กำเนิดลูกได้นับพัน แต่ลองนึกดูดีๆ แม้จักรพรรดิผู้ทรงธรรมจะมีสนมหลายร้อยที่ให้กำเนิดโอรสนับพัน ก็ต้องนับว่าเป็น “งานหนัก” อย่างยิ่งของพระองค์ ที่จะต้องปั๊มลูกนับพัน จะเอาเวลาที่ไหนเล่าไปบริหารราชกิจ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง ดังที่เล่าไว้ในคัมภีร์ ก็นับว่าน่าสงสัยอยู่

อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์การสังคายนาคัมภีร์พุทธศาสนาอยู่ภายใต้ “ราชูปถัมภ์” มาตลอด เราจึงเห็นสิ่งเด่นสะดุดตาคือ คัมภีร์บรรยายความสูงส่งของคุณธรรมควบคู่กับความมั่งคั่งของกษัตริย์ แค่เป็น “กษัตริย์รวยที่สุดในโลก” นับว่าจิ๊บจ๊อย หากเทียบกับจักรพรรดิผู้ทรงธรรมที่ครอบครองดินแดนกว้างใหญ่จรดขอบมหาสมุทรทั้งสี่ และมีมหาสมบัติเป็นแก้วสารพัดนึก ความมั่งคั่งทางอำนาจและทรัพย์สมบัติ ล้วนเกิดจากบุญบารมีที่บำเพ็ญมา 

ก็จริงที่ว่าพุทธศาสนาสอนให้ปล่อยวางอัตตาและเรียบง่ายพอเพียง แต่ก็สอนด้วยว่า “บริจาคมาก รวยมาก” และอย่างที่เราเห็น ระหว่างความมั่งคั่งกับความพอเพียง หากอยู่ในคนคนเดียวกันย่อมดูดี เมื่อชนชั้นกลางในเมืองเลือก “วิถีชีวิตพอเพียงตามรอยพ่อ” ไปใช้ชีวิตเรียบง่ายในชนบทบนที่ดินหลายร้อยไร่ มีสื่อไหนบ้างไม่ร่วมอวย ส่วนบรรดาคนจนที่เรียง่ายจนเป็นวิถีชีวิตอย่างจำเป็น เคยได้รับการสรรเสริญว่ามีชีวิตพอเพียงเสียที่ไหน

ย้อนกลับไปที่ยุโรป เมื่อมาคิอาเวลลีถอดหน้ากากการเมืองเชิงศีลธรรมให้เห็นโฉมหน้าที่แท้จริงว่าการเมืองเป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ หาใช่เรื่องของความสูงส่งทางศีธรรมไม่ โธมัส ฮ็อบส์ก้าวไปอีกขั้นด้วยข้อเสนอว่า ในสภาวะธรรมชาติ (state of nature) หรือสภาพชีวิตที่ยังไม่มีสถาบันทางสังคมและการเมือง ธรรมชาติของมนุษย์คือความเห็นแก่ตัวที่พร้อมจะทำสงครามระหว่างกันและกัน ไม่ว่าใครจะเพาะปลูกหรือมีทรัพย์สินอื่นใด ก็อาจถูกปล้นชิงจากคนอื่นได้เสมอ ในสภาพที่ไม่มีการเมืองการปกครอง ชีวิตของมนุษย์จึงโดดเดี่ยว ยากแค้น น่าชิงชัง โหดร้าย และแสนสั้น เพื่อที่จะมีชีวิตรอด มนุษย์จึงตกลงกันยินยอมมอบอำนาจเด็ดขาดให้แก่องค์อธิปัตย์ที่เป็นบุคคลและคณะบุคคลมาทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และป้องกันภัยคุกคามจากข้าศึกภายนอก

เราเข้าใจได้ว่า ทำไมฮอบส์ถึงมองธรรมชาติของมนุษย์เลวร้ายเช่นนั้น และต้องการผู้ทรงอำนาจเด็ดขาดมาปกครอง เพราะเขาคิดเรื่องนี้ในบริบทสงครามกลางเมืองในอังกฤษ และสงครามศาสนาที่ฆ่ากันตายนับล้าน ก็เหมือนเพลโตที่มีชีวิตอยู่ในยุคสงครามระหว่างชาวเอเธนส์กับสปาตาร์ ผู้ปกครองที่ทรงปัญญาและมีอำนาจเด็ดขาดจึงน่าจะเหมาะสมที่สุดในสถานการณ์เวลานั้น แต่ราว 40 ปีถัดจากฮอบส์ จอห์น ล็อกก็เห็นต่างว่า เราไม่อาจไว้ใจได้เลยว่าบุคคลหรือคณะบุคคลที่มีอำนาจเด็ดขาดจะปกป้องสิทธิตามธรรมชาติ (natural rights) ของเราได้ รัฐบาลที่จะทำเช่นนั้นได้ จะต้องมาจากความยินยอมของประชาชน และอยู่ในอำนาจตามวาระ หากระหว่างใช้อำนาจแทนเรา รัฐบาลนั้นกลายเป็นทรราชละเมิดสิทธิตามธรรมชาติของประชาชน ก็ย่อมเป็นสิทธิชอบธรรมของประชาชนที่จะลุกขึ้นล้มล้างรัฐบาลทรราชนั้นเสีย

ถึงตอนนี้ เราคือใคร? ดูเหมือนจะไม่มีนิยามชัดเจนลงไปว่า เรามีธรรมชาติที่แน่นอนเป็นแบบนั้นแบบนี้ เช่นเป็นมนุษย์ผู้ทรงปัญญาและคุณธรรม เป็นจินตภาพของพระเจ้า หรือเป็นผู้มีพุทธภาวะที่สามารถจะบรรลุนิพพานในอนาคต เราเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ปัจเจกบุคคล” (individual) ผู้มีสิทธิตามธรรมชาติเป็นของตนเอง คือสิทธิในชีวิต ทรัพย์สิน เสรีภาพ การเป็นเจ้าของผลผลิตจากแรงงานของตนเอง ดังนั้น เราจะเป็นคนแบบไหน มีชีวิตอย่างไร ก็อยู่ที่เราเลือกที่จะเป็น ดูเหมือนสังคมการเมืองที่หมาะกับความเป็นปัจจเกบุคคลของเรา น่าจะเป็นการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย จึงจะสามารถคุ้มครองสิทธิตามธรรมชาติของเราทุกคนได้ดีที่สุด

สำหรับล็อก พระเจ้าไม่ได้มอบอำนาจเทวสิทธิ์แก่ผู้ปกครอง แต่มอบสิทธิตามธรรมชาติให้แก่มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน ที่เป็นเช่นนี้เพราะพระองค์ประสงค์จะให้มนุษย์ดูแลรักษาตนเอง และดูแลรักษากันและกัน ว่ากันว่าล็อกไม่ได้ต้องการวางแนวคิดสิทธิตามธรรมชาติบนศรัทธาในพระเจ้า แต่การอ้างถึงพระเจ้าของเขาเป็นศิลปโวหารในการสนทนากับชาวคริสต์ที่จ้องจับพวกนอกรีตสู่ลานประหาร ศิลปโวหารเช่นนี้ถูกนำมาใช้ใน “คำประกาศอิสรภาพ” ของอเมริกาที่ว่า พระผู้สร้างได้สร้างเราทุกคนมาให้มีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน คือสิทธิในชีวิต ทรัพย์สิน เสรีภาพ และการแสวงหาความสุข นี่ไม่ใช่การยกย่องพระเจ้าเหนือสิทธิ แต่เป็นการยกย่องสิทธิตามธรรมชาติว่าเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด แม้พระเจ้าก็สนับสนุน ซึ่งแปลว่าพระเจ้ายอมรับสิทธิที่ปัจเจกบุคคจะปฏิเสธพระองค์ด้วย ดังนั้น การใช้อำนาจเผด็จการเทวสิทธิ์ของศาสนจักรและระบบกษัตริย์จึงถูกปัดให้ตกไป

อย่างที่กล่าวแล้ว ปรัชญาของเอพิคิรัสปกป้องความเป็นปัจเจกบุคคลจากสิ่งที่ทำให้จิตใจเป็นทุกข์ พุทธศาสนา และฮินดูก็เช่นกัน อาจรวมถึงปรัชญาตะวันออกอื่นๆ เช่นปรัชญาเต๋าด้วย แต่ศาสนาต่างๆ ก็สร้างระบบสังคมการเมืองแบบชนชั้นรูปปิรามิด และเผด็จการอำนาจนิยมในนามของพระเจ้า, ธรรมะกดทับเสรีภาพของปัจเจกบุคคลและเสรีภาพทางการเมืองมายาวนาน เพื่อปกป้องปัจเจกบุคคลจากเผด็จการทรราชที่เป็นบุคคล คณะบุคคล และทรราชคนหมู่มาก จอห์น สจ๊วต มิลล์ จึงเสนอว่า รัฐและสังคมจะแทรกแซงเสรีภาพของปัจเจกบุคคลได้ ก็เพื่อป้องกันอันตรายต่อบุคคลอื่นเท่านั้น พูดอีกอย่าง ปัจเจกบุคคลสามารถใช้เสรีภาพกระทำสิ่งใดๆ ตามเจตจำนงและความต้องการของตนเองได้เต็มที่ ตราบที่ไม่ทำอันตรายต่อคนอื่น 

โดยเฉพาะเสรีภาพทางความคิดเห็น จะถูกปิดกั้นมิได้ เพราะความคิดไม่อาจทำอันตรายแก่ใครได้ ความคิดจึงไม่ใช่อาชญากรรม ดังนั้น แม้จะมีเพียงหนึ่งคนที่คิดต่างจากคนทั้งหมด เขาก็ต้องมีเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็น หากความคิดเห็นนั้นถูก ก็ย่อมเกิดประโยชน์แก่สังคมให้ได้รู้ความจริงใหม่ๆ ที่จะช่วยให้สติปัญญาก้าวหน้า แต่หากเป็นความคิดที่ผิด สังคมก็ยังได้ประโยชน์อยู่ดี เพราะความคิดที่ผิดนั้น จะเป็นข้อเปรียบเทียบกับความจริงที่คนส่วนใหญ่เชื่อถือกันอยู่แล้ว และยิ่งจะเป็นการดีที่ความจริงที่เราจะเชื่อถือกันอยู่แล้วจะถูกท้าทายจากความคิดที่แตกต่าง หรือความจริงใหม่ๆ เพราะความจริงที่เชื่อถือกันมานาน หากไม่ถูกท้าทาย หรือไม่มีความจริงใหม่ๆ มาแข่งขัน ความจริงที่ยึดถือกันมานั้น ก็จะกลายเป็นเพียงการยึดถือตามจารีตประเพณีไป โดยไม่รู้เหตุผลเบื้องหลัง เมื่อเป็นเช่นนี้ความจริงนั้นๆ ก็ปราศจากชีวิตชีวา และไร้ผลในทางปฏิบัติ

ถามว่าความเป็นปัจเจกบุคคล หรือ “ตัวตน” ของเราจะมาก่อนสังคมได้อย่างไร ที่จริงแล้วตัวตนของเราคือผลผลิตของสังคมไม่ใช่หรือ ถ้าตอบแบบนักปรัชญาเสรีนิยม ความเป็นปัจเจกบุคคลไม่ได้หมายถึงตัวตนของเราที่มี “อัตลักษณ์” (identity) ที่ถูกหล่อหลอมขึ้นในทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างตายตัว เช่น อัตลักษณ์ความเป็นฮินดู พุทธ คริสต์ มุสลิม และอื่นๆ กลับกันกับความคิดที่ว่าสังคมสร้างตัวตนของเรา นักปรัชญาเสรีนิยมคิดว่า ปัจเจกบุคคลต่างหากที่มาร่วมกันสร้างสังคมที่น่าอยู่ ด้วยการร่วมกันตกลงสร้าง “สัญญาประชาคม” (social contract) ที่เชื่อมร้อยทุกคนเข้าด้วยกันภายใต้หลักการและกติกาที่เป็นธรรม ซึ่งเป็นหลักการและกติกาที่ให้หลักประกันว่า ปัจเจกบุคคลแต่ละคนจะสามารถใช้เสรีภาพเลือกสร้าง และเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ที่แตกต่างหลากหลายได้จริง

จอห์น รอลส์ทำให้แนวคิดสัญญาประชาคมดังกล่าวชัดเจนขึ้น ด้วยการเสนอว่า การสร้างหลักความยุติธรรมทางสังคมและการเมืองเป็นพันธสัญญาที่เราทุกคนและสถาบันสังคมต้องยึดถือปฏิบัติร่วมกันไม่อาจสร้างขึ้นได้จากการยึดอัตลักษณ์ของเราแต่ละคนที่เป็นผลผลิตสำเร็จรูปทางสังคม ศาสนา วัฒนธรรมต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว แต่จะสร้างได้จากการที่เราทุกคนนึกถึงตนเองและคนอื่นๆ ว่าเป็น “คนเท่ากัน” ซึ่งความเป็นคนเท่ากันโดยพื้นฐานที่สุด ย่อมเปลือยเปล่าจากอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ศาสนา เพศ สีผิว และอื่นๆ 

ในฐานะ “คนเท่ากัน” เราต่างมีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน คือมีเหตุผลคิดได้ว่าอะไรคือความดีและการมีชีวิตที่ดี ดังนั้น เราจึงต้องมีเสรีภาพเท่าเทียมกันในการเลือกความดีด้วยตนเอง เพราะมีเสรีภาพเราจึงมีความเป็นคนก่อนที่จะเป็นชาวศาสนาหรือชาวปรัชญาความเชื่อใดๆ เราไม่ควรถูกกำหนดให้เป็นฮินดู พุทธ คริสต์ อิสลาม หรือเป็นคนของศาสนาและปรัชญาความเชื่อใดๆ ตั้งแต่แรก เราจะเป็นอะไร จะเชื่อ ไม่เชื่ออะไร หรือจะสร้างความคิด ความเชื่อของเราขึ้นมาเอง ย่อมขึ้นอยู่กับการใช้เสรีภาพในการเลือกของเราเองผ่านประสบการณ์และการเรียนรู้หลากหลาย ขณะเดียวกันเราควรได้รับประโยชน์จากหลักความยุติธรรมของรัฐที่เราร่วมกันกำหนดขึ้น นั่นคือ รัฐต้องให้หลักประกันเสรีภาพที่เท่าเทียมแก่เราทุกคน และให้หลักประกันสวัสดิภาพและสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ เพื่อการมีชีวิตที่ดีทางการศึกษา เศรษฐกิจ และอื่นๆ 

นี่เป็นเพียงบางตัวอย่างของคำถามว่าเราคือใคร และสังคมแบบไหนที่น่าอยู่ ในทางปรัชญา คำถามทำนองนี้มีคำตอบหลากหลายและซับซ้อน แม้จะไม่ค่อยได้คำตอบแบบฮาวทู แต่คำตอบต่างๆ ก็เปิดมุมมองให้เราครุ่นคิด และทำให้เราเห็นว่าสิ่งที่นักปรัชญาครุ่นคิดก็ไม่ใช่เรื่องราวที่ห่างไกลจากสิ่งที่คนทั่วไปครุ่นคิด ไม่ใช่สิ่งที่ล่องลอยอยู่เหนือความเป็นไปในชีวิตและสังคม 

ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/the101.world/photos/pcb.2701801140129113/2701800580129169/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท