ชาวบาร์เบโดสระบุการปลดแอกจาก 'ควีนเอลิซาเบธที่ 2' สู่ยุคสาธารณรัฐไม่กระทบชีวิตความเป็นอยู่

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรทรงมีพระราชดำรัสแสดงความยินดีต่อประเทศบาร์เบโดสที่เปลี่ยนประมุขแห่งรัฐจากพระองค์ เป็น 'ซานดรา เมสัน' ประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งยังตรัสอีกว่าราชวงศ์อังกฤษจะยังคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์อันดีต่อบาร์เบโดส ขณะที่ประชาชนชาวบาร์เบโดสเผยว่าการเปลี่ยนประมุขแห่งรัฐไม่กระทบชีวิตความเป็นอยู่ เพราะมีนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศอยู่แล้ว ประมุขไม่มีอำนาจในการบริหาร

1 ธ.ค. 2564 หลังจาก 'ซานดรา เมสัน' เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีและเป็นประมุขแห่งรัฐของประเทศบาร์เบโดสอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันประกาศอิสรภาพของบาร์เบโดส ทำให้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรพ้นจากสถานะการเป็นประมุขแห่งรัฐของประเทศบาร์เบโดสอย่างเป็นทางการ โดยสมเด็จพระราชินีราถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมีพระราชดำรัสในเรื่องนี้ว่าพระองค์ไม่มีความรู้สึกขุ่นเคืองใดๆ ต่อเรื่องนี้ และขอแสดงความยินดีที่ชาวบาร์เบโดสถอนพระองค์ออกจากการเป็นประมุขและแต่งตั้งประมุขแห่งประเทศคนใหม่ขึ้นมาแทนพระองค์ นอกจากนี้ พระองค์ยังตรัสอีกว่าราชวงศ์อังกฤษกับประเทศบาร์เบโดสจะยังคงมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

ซานดรา เมสัน ประธานาธิบดีคนแรกและประมุขแห่งรัฐคนใหม่ของบาร์เบโดส
 

เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปเข้าร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของบาร์เบโดสในฐานะแขกผู้มีเกียรติ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบาร์เบโดสจะตัดขาดจากราชวงศ์อังกฤษด้วยการเปลี่ยนประมุขของประเทศ แต่บาร์เบโดสยังคงเป็นสมาชิกของเครือจักรภพ ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศอดีตอาณานิคมจักรวรรดิอังกฤษ คล้ายกับอินเดียที่มีประมุขแห่งรัฐเป็นประธานาธิบดี แต่ยังคงอยู่ในเครือจักรภพด้วยเช่นกัน

ในพระราชสาส์นแสดงความยินดีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ระบุว่า "ในวาระที่สำคัญนี้และในการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีคนแรกของบาร์เบโดส ข้าพเจ้าขอส่งมอบความยินดีต่อชาวบาร์เบโดสทุกคน"

"ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศของพวกเราต่างก็มีความเป็นมิตรต่อกันบนฐานของค่านิยมร่วมกัน ความมั่งคั่งร่วมกัน และความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในหลายประเด็น รวมถึงเรื่องปัญหาโลกร้อน"

"นอกจากนี้ยังถือว่าเป็นเรื่องน่าพอใจอย่างยิ่งที่บาร์เบโดสยังคงเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันกับเครือจักรภพ และข้าพเจ้าก็หวังว่ามิตรภาพระหว่างสองประเทศและระหว่างประชาชนของพวกเราจะยังคงดำเนินต่อไป"

ในพิธีการยังมีการลดธงรอยัลสแตนดาร์ด (Royal Standard) ซึ่งเป็นธงสัญลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรลง แล้วนำธงของประธานาธิบดีบาร์เบโดสขึ้นสู่ยอดเสาแทน โดยที่เว็บล็อกของ K. Suvarnabejra ระบุว่าธงรอยัลสแตนดาร์ดนี้จะไม่มีวันลดธงลงแม้กระทั่งกษัตริย์จะเสียชีวิตแล้วเพราะจะมีกษัตริย์พระองค์ใหม่มาแทนที่ ตราบใดที่ยังมีระบบกษัตริย์ตราบนั้นธงเหล่านี้ก็จะยังอยู่บนยอดเสา

ประธานาธิบดีเมสันกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับอนาคตใหม่ของประเทศบาร์เบโดสที่กลายเป็นสาธารณรัฐ โดยระบุว่า "เรือแห่งสาธารณรัฐบาร์เบโดสได้เดินทางออกสู่ท้องทะเลเป็นครั้งแรกแล้ว ... ขอให้เรือลำนี้ฝ่าฟันคลื่นลมอุปสรรคทั้งปวงแล้วนำประเทศเรากับพลเมืองของพวกเราจอดเทียบท่าได้่อย่างปลอดภัยที่สุดขอบปลายทางและที่ชายฝั่งข้างหน้าของพวกเรา ประเทศของพวกเราจะต้องมีฝันอันยิ่งใหญ่และต่อสู้เพื่อให้ฝันนั้นเป็นจริง"

สำนักข่าวรอยเตอร์สและเดอะการ์เดียนสำรวจความคิดเห็นประชาชนชาวบาร์เบโดสถึงกรณีการเปลี่ยนประมุขแห่งรัฐจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เป็นประธานาธิบดีเมสัน ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง โดยประชาชนส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่าพวกเขาไม่รู้สึกว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลง และไม่ค่อยแน่ใจว่าการเปลี่ยนแปลงประมุขแห่งรัฐจะส่งผลกระทบต่อเรื่องเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ หรือคุณภาพชีวิตอย่างไร เพราะมีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเป็นผู้บริหารหลักของประเทศอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ความเห็นของนักวิชาการ นักแต่งบทกวี และนักการเมืองชาวบาร์เบโดสมองว่านี่คือจุดเริ่มต้นใหม่ของบาร์เบโดส การตัดขาดจากราชวงศ์อังกฤษจะช่วยเพิ่มสำนึกด้านเกียรติและศักดิ์ศรีให้แก่คนในชาติ ลดภาพจำว่าบาร์เบโดสคือเมืองขึ้นของสหราชอาณาจักรในยุคอาณานิคม

การเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงประมุขแห่งรัฐและตัดขาดจากราชวงศ์อังกฤษของบาร์เบโดสเริ่มจริงจังขึ้นหลังเกิดกระแส Black Lives Matter หรือการเรียกร้องสิทธิให้แก่คนอเมริกันผิวดำในสหรัฐอเมริกา ซึ่งกลายเป็นกระแสเรียกร้องไปทั่วโลก นอกจากนี้ ยังมีกรณี Windrush อันอื้อฉาว ที่ทำให้อดีตรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยอังกฤษในยุครัฐบาลเทเรซา เมย์ ต้องลาออก เพราะมีเอกสารหลุดออกมาว่าเธอต้องการผลักดันนโยบายขับไล่ผู้อพยพผิดกฎหมายออกจากประเทศ ซึ่งรวมถึงกลุ่มคนยุค Windrush หรือผู้อพยพจากทะเลแคริบเบียนที่เข้ามาเป็นแรงงานในสหราชอาณาจักรในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงช่วงทศวรรษที่ 1970 เพราะในช่วงนั้น สหราชอาณาจักรขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก

"กรณี Windrush อันอื้อฉาวคงจะเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในฐานะพระราชินีแห่งสหราชอาณาจักร และพระราชินีแห่งบาร์เบโดส ซึ่งทั้ง 2 สถานะนี้อาจจะไปด้วยกันไม่ได้" กาย ฮิววิตต์ อดีตข้าหลวงใหญ่แห่งบาร์เบโดสประจำกรุงลอนดอนกล่าว

แปลและเรียบเรียงจาก:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท