สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 26 พ.ย.-2 ธ.ค. 2564

เฟดเอ็กซ์ประเทศไทย ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในองค์กรที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดในเอเชีย ปี 2564

เฟดเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส (FedEx Express) บริษัทในเครือเฟดเอ็กซ์ คอร์ปอเรชั่น (FedEx Corp.) (NYSE: FDX) และผู้ให้บริการจัดส่งพัสดุรายใหญ่ที่สุดของโลกได้ถูกรับเลือกให้เป็น หนึ่งในองค์กรที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดในประเทศไทยประจำปี 2564 โดย HR Asia

จากผลการสำรวจ Total Engagement Assessment Model (TEAM) ซึ่งเป็นแบบสำรวจการมีส่วนร่วมของพนักงานพบว่าเฟดเอ็กซ์ประเทศไทยได้รับผลตอบรับกว่า 98 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนที่กำหนด ซึ่งผลสำรวจจะแสดงให้ผู้นำในองค์กรหรือผู้บริหารได้รับรู้ถึงความเห็นและความคาดหวังของพนักงานจากการทำงานกับองค์กรผ่านคำถามเจาะลึกในประเด็นต่างๆ

ผลสำรวจดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จของวิสัยทัศน์ Purple Promise ซึ่งเป็นคำมั่นสัญญาของเฟดเอ็กซ์ที่จะ "ทำให้ทุกประสบการณ์กับเฟดเอ็กซ์โดดเด่นและเป็นที่น่าจดจำ" โดยผ่านความไว้วางใจและความเชื่อมั่นจากลูกค้า พร้อมไปกับการได้รับเลือกเป็นองค์กรที่น่าทำงานด้วย

สอดคล้องกับความเชื่อพื้นฐานขององค์กร เฟดเอ็กซ์ซึ่งเป็นบริษัทขนส่งและลอจิสติกส์ได้คว้ารางวัลจากการได้รับผลสำรวจโดยเฉลี่ยที่สูงกว่าองค์กรอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกันในทุกหมวด ซึ่งเป็นการเน้นย้ำถึงความร่วมมือที่ดีของพนักงาน อีกทั้งยังเผยให้เห็นว่าเป็นบริษัทที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่น่ายกย่อง

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 2/12/2564

พิษโอไมครอน แรงงานไทยในแอฟริกากลับไทยได้หลังปีใหม่

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงสถานการณ์แรงงานไทยในต่างประเทศ กรณีทวีปแอฟริกามีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ประกอบด้วย สาธารณรัฐบอตสวานา, ราชอาณาจักรเอสวาตินี, ราชอาณาจักรเลโซโท, สาธารณรัฐมาลาวี, สาธารณรัฐโมซัมบิก, สาธารณรัฐนามิเบีย, สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ และสาธารณรัฐซิมบับเว ว่าจากการสำรวจพบว่าแรงงานไทยที่ไปทำงานอยู่ทวีปแอฟริกาแบบถูกกฎหมาย รวมทั้งหมด 253 คน โดยแบ่งเป็น สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ 221 คน, สาธารณรัฐโมซัมบิก 31 คน และราชอาณาจักรเลโซโท 1 คน

ล่าสุดมีแรงงานที่ได้แจ้งความประสงค์จะกลับประเทศไทย จำนวน 120 คน เนื่องมาจากเป็นพนักงานสัญญาจ้างแบบ 6 เดือน และหมดสัญญาพอดี โดยในจำนวน 120 คนนี้ ประกอบอาชีพเป็นช่างเชื่อม จากเดิมจะกลับมาในวันที่ 7-8 ธันวาคมนี้ แต่ยังไม่มีเที่ยวบินกลับเข้าประเทศไทย และเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ทางกระทรวงแรงงานได้หารือกับนายจ้าง จึงมีข้อสรุปว่าให้รอดูสถานการณ์ไปก่อน และคาดว่าจะได้กลับมาประเทศไทยในช่วงหลังปีใหม่

ส่วนมาตรการรองรับแรงงานกลุ่มนี้ เมื่อกลับมาถึงประเทศไทย เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง นายไพโรจน์ กล่าวว่า จะต้องรอดูมาตรการจากทางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แต่ในขณะนี้ผู้ที่กลับมาจาก 8 ประเทศดังกล่าว และต้องการเข้าประเทศไทย จะต้องกักตัว 14 วัน และทำการตรวจหาเชื้อแบบละเอียดด้วยวิธี RT-PCR ทั้งหมด 3 ครั้ง หากเป็นช่วงที่แรงงานกลับมาจริง ๆ จะมีมาตรการอย่างไร ก็จะต้องปฏิบัติตามที่ ศบค.ประกาศ และแรงงานกลุ่มนี้ก็สามารถกลับเข้าสู่กระบวนการจัดหางานได้ เพราะเป็นแรงงานที่มีฝีมือ เป็นช่างเชื่อม มีรายได้สูงมากต่อเดือน เมื่ออาศัยอยู่ที่ไทยก็มีงาน มีรายได้ เพียงแต่ว่าการไปทำงานที่แอฟริกามีรายได้สูงกว่า

ที่มา: ข่าวช่อง 7HD, 2/11/2564

รัฐบาลเดินหน้าจัดตั้งกองทุนคุ้มครองแรงงานนอกระบบ เพิ่มสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน ม.40

1 ธ.ค. 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่าจากการที่รัฐบาลได้มีมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลได้เร่งให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 มาตรา 40 ที่ได้รับผลกระทบใน 9 ประเภทกิจการ ครอบคลุมพื้นที่ สีแดงเข้ม 29 จังหวัด

โดยได้เริ่มทยอยโอนเงินเยียวยาเข้าบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับบัตรประชาชนของผู้ประกันตน ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2564 เป็นต้นมา ซึ่งปัจจุบัน การจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ประกันตน มาตรา 33, 39 และ 40 สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จ่ายไปแล้วเป็นเงิน 100,807,738,500 บาท ครอบคลุม นายจ้างจำนวน 176,769 แห่ง และผู้ประกันตนรวมทั้งสิน 12,096,818 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564)

รองโฆษกฯ ยังเผยต่อว่า สำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบ ซึ่งสถิติปี 2563 ประเทศไทยมีแรงงานนอกระบบจำนวน 20.4 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 53.8 ของผู้มีงานทำทั้งหมด 37.9 ล้านคน อยู่ในภาคเกษตรกรรมมากที่สุด ร้อยละ 55.6 รองลงมาคือ ภาคการค้าและบริการ ร้อยละ 34.1 และภาคการผลิต ร้อยละ 10.3 รัฐบาลมีนโยบายดูแลเพื่อให้เข้าถึงสิทธิประโยชน์ในการประกอบอาชีพและหลักประกันทางสังคมให้ครอบคลุม

เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ เช่น การรณรงค์ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ การช่วยเหลือกลุ่มแรงงานนอกระบบหรือองค์กรแรงงานนอกระบบ

รวมถึงการให้แรงงานนอกระบบสามารถกู้ยืมเงินจากกองทุนทั้งแบบรายบุคคลและรายกลุ่ม เพื่อเป็นทุนประกอบอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิต และมีหลักประกันทางสังคมสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ เช่น ประกันทรัพย์สิน ประกันชีวิต ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์นอกเหนือจากที่ผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้รับจากกองทุนประกันสังคม สำหรับแหล่งรายได้ของกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบมาจาก เช่น ค่าสมาชิกรายปีคนละ 360 บาท ทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ครั้งเดียววงเงิน 100 ล้านบาท และเงินดอกผลของกองทุน

“รัฐบาลให้ความสำคัญกับการดูแลแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ สำหรับผู้มีอาชีพอิสระ ขอเชิญชวนให้มาสมัครเป็นสมาชิกประกันสังคม มาตรา 40 เพราะจะได้รับความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ประกันสังคม กรณี เช่น ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยทุพพลภาพ ตาย และขณะนี้ รัฐบาลได้ขยาย อายุผู้ประกันตน มาตรา 40 เป็น 65 ปี ทั้งนี้ในระยะต่อไป เมื่อกองทุนฯได้จัดตั้งเป็นที่เรียบร้อย ก็จะเป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตน เพิ่มโอกาสการเข้าถึงเงินทุนประกอบอาชีพ และความมั่นคงในการประกอบอาชีพ” นางสาวรัชดา กล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 1/12/2564

นักกิจกรรมด้านแรงงานร้องเรียน กสม. เหตุโดนดำเนิดคดีหลังนำคนงานถูกเลิกจ้างไปร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล

30 พ.ย. 2564 ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ชั้น 6 อาคารบี ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ นางจิตรณวัชรี พะนัด ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย พร้อมพวกซึ่งเป็นอดีตพนักงานจากบริษัทผู้ผลิตชุดชั้นในยี่ห้อดัง ส่งออกเอเชีย ยุโรป อเมริกา เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยมี น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นผู้รับเรื่อง กรณีแรงงานของโรงงานดังกล่าวถูกดำเนินคดีภายหลังไปร่วมชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยจากการที่เจ้าของโรงงานลอยแพลูกจ้างเลิกกิจการ บริเวณหน้าทำเนียบ เมื่อวันที่ 19 ต.ค.

โดยในวันที่ไปชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ที่ถนนพิษณุโลก ผู้ชุมนุมต่อแถวยาวไปถึงบริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ จนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องปิดการจราจร 1 ช่องจราจร เพื่อเรียกร้องให้ รัฐบาลและกระทรวงแรงงาน นำงบกลาง มาจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย ให้กับผู้ใช้แรงงานกว่า 1,300 คน จำนวน 242 ล้านบาท ทางกลุ่มผู้ชุมนุมได้นำชุดชั้นในทั้งยกทรง กางเกงใน หลากสีผูกเชือกขึงเป็นราวตากผ้าโชว์ที่บริเวณหน้ารั้วทำเนียบรัฐบาลเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความเดือดร้อน และใช้รถกระบะติดเครื่องขยายเสียงปราศรัยส่งเสียงดัง โดยหันลำโพงเข้ามาทางทำเนียบรัฐบาล รบกวนการประชุม ครม. ตลอดเวลา ขู่ว่าหากไม่ได้รับการเจรจาจนได้ข้อยุติ จะปีนรั้วทำเนียบรัฐบาล เหมือนกับที่เคยปีนรั้วกระทรวงแรงงานมาแล้ว

ต่อมาวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา เวลา 11.00 น. คนงานที่เป็นนักกิจกรรมด้านแรงงาน 6 คน เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก สน.นางเลิ้งฐาน"ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 50 คนในพื้นที่ที่มีประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตามความในมาตรา 9"พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยฯ โดยผู้ถูกกล่าวหา ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เมื่อ 16 พ.ย. 2564

การมาร้องเรียนของลูกจ้างหญิงในวันดังกล่าวได้สวมใส่หน้ากากอนามัยกันทุกคนการชุมนุมเป็นการร้องเรียนจากการถูกละเมิดสิทธิแรงงานของนายจ้างและการชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลไม่ใช่สถานที่แออัดเป็นสถานที่โล่งโปร่งไม่มีสิ่งบดบังอากาศถ่ายเทสะดวกตลอดเวลานี่ได้ไปสถานที่แออัดอันจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคได้แต่อย่างใดและไม่ปรากฏว่าการชุมนุมที่มีผู้ที่เต็มหรือมีเหตุสงสัยว่าเป็นโควิด ทั้งในช่วงเกิดเหตุคดีนี้พื้นที่หน้าทำเนียบรัฐบาลไม่พบผู้ติดเชื้อต่อเนื่องกันมานานกว่าหกเดือนแล้วการชุมนุมเป็นไปโดยสงบเรียบร้อยดังนั้นการดำเนินคดีของพนักงานตำรวจต่อผู้ชุมนุมที่เดือดร้อนในวันที่ 19 ต.ค.จึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นการใช้พอแล้วก็ฉุกเฉินมาตรา 9 เพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพการเสนอข้อร้องทุกข์และการชุมนุมโดยสงบเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพและเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ซึ่งสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ เห็นว่าการแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน การที่ลูกจ้างถูกนายจ้างเลิกจ้างได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสอยู่แล้วและได้ยื่นหนังสือต่อรัฐบาลหลายครั้งเพื่อช่วยเหลือแต่ไม่ได้รับการดูแลและแก้ไขอย่างจริงจัง ข้อเรียกร้องไม่มีความคืบหน้าใดๆ แม้เวลาผ่านมามากกว่า 8 เดือนแล้วก็ตาม เมื่อลูกจ้างไปติดตามข้อเรียกร้องเจ้าหน้าที่ตำรวจกลับแจ้งข้อกล่าวหาลูกจ้างอีก

ด้าน น.ส.ศยามล กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พยามยามประสานการทำงานด้วยการติดต่อไปที่กระทรวงแรงงาน และติดต่อพนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.นางเลิ้ง ที่ทำคดีนี้ ซึ่งจะส่งสำนวนให้อัยการ พิจารณาในวันที่ 8 ธ.ค. ทางตำรวจพนักงานสอบสวนแจ้งว่า ต้องทำตามหน้าที่ แนะนำว่าให้ติดต่อ ผกก.สน.นางเลิ้งที่จะมารับตำแหน่งวันพรุ่งนี้ก่อนจะรับปากผู้ร้องว่าวันรุ่งขึ้นจะประสานให้อีกครั้ง

ที่มา: สยามรัฐ, 30/11/2564

เครือข่ายแรงงานฯ ยื่นเรียกร้อง 5 ข้อ ลดค่าครองชีพประชาชน หั่นภาษีน้ำมัน 6 บาท ลดภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือ 5% เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ

30 พ.ย. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์ กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี มายื่นข้อเรียกร้องแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล

โดยทางเครือข่ายฯได้ยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อต่อรัฐบาล ผ่านเจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาล ดังนี้ 1.ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) เหลือ 5 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้สินค้าอุปโภคบริโภคและภาคบริการมีราคาถูกลง เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและลดภาวะเงินเฟ้อ รักษากำลังซื้อของประชาชน รวมทั้งยกเลิกภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เพื่อให้คนไทยได้ใช้น้ำมันทุกชนิดราคาถูกอีกลิตรละ 6 บาท เป็นการลดต้นทุนการผลิต การขนส่ง ทุกภาคส่วนให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิงของประเทศมีการฟื้นตัว

2.เพิ่มเงินยังชีพผู้สูงอายุและคนพิการทุกคน เป็นเดือนละ 3,000 บาท เพื่อสร้างหลักประกันการคำรงชีพของคนชรา อายุ 60 ปีขึ้นไปและคนพิการกลุ่มเปราะบางให้สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าและชุมชน อันเป็นรากฐานความมั่นคงทางสังคมต่อไป 3.ลดค่าบำรุงการศึกษาหรือค่าเทอมและค่าใช้จ่ายการศึกษาของนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นประถม มัธยม มหาวิทยาลัย 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 3 ปี (2565-2567) เพื่อลดการะค่ใช้จ่ายของครัวเรือน พร้อมทั้งบรรจุครูอัตราจ้างและพนักงานสัญญาจ้างในระบบการศึกษาให้เป็นข้าราชการประจำ

4.เพิ่มเงินอุดหนุนเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 12 ปีทุกคน เดือนละ 1,200 บาท ถ้วนหน้าเพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กเล็ก และ 5.ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสาธารณะ (BTS/MRT) ครึ่งราคา ระบบขนส่งมวลชนพึงเป็นกิจการที่รัฐต้องดูแลประชาชน ไม่ใช่เพื่อผลกำไรและต้องควบคุมค่าไฟฟ้า แก๊สหุงต้มครัวเรือน น้ำประป ไม่ให้มีราคาสูงเกินไปจนสร้างความเดือคร้อนให้กับประชาชน

น.ส.ธนพร วิจันทร์ แกนนำเครือข่ายแรงงานฯ กล่าวถึงการทำงานของนายกฯว่า บริหารงานผิดพลาด โดยเฉพาะช่วงเวลาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กลุ่มแรงงาน ต้องตกงานกันเป็นจำนวนมาก ทั้งยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือให้กับกลุ่มคนเหล่านั้นอย่างที่ควรจะเป็น จึงออกมาตอกย้ำให้รัฐบาลเห็นถึงความสำคัญของกลุ่มคนดังกล่าวเพื่อลดความเดือดร้อนให้กับประชาชน

ที่มา: ข่าวสด, 30/11/2564

รมว.แรงงาน สั่งจับตาข้อพิพาทแรงงานช่วงสิ้นปี ส่งเจ้าหน้าที่ไกล่เกลี่ยก่อนยื่นขอขึ้นเงินเดือน เงินโบนัส สวัสดิการ เฝ้าระวังกิจการและพื้นที่กลุ่มเสี่ยง โดยยึดหลักสุจริตใจเจรจาด้วยเหตุผล

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ช่วงใกล้สิ้นปี 2564 นี้ ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างของสถานประกอบกิจการหลาย ๆ แห่ง ใกล้จะสิ้นสุดลงตามระยะเวลาที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกัน จึงมีการแจ้งข้อเรียกร้องเพื่อปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิม ซึ่งสถานประกอบกิจการจำนวนมากโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและบริการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ทำให้สูญเสียรายได้จากการดำเนินธุรกิจ เมื่อมีการแจ้งเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง มีการเรียกร้องขอขึ้นเงินเดือน เงินโบนัสและสวัสดิการต่าง ๆ อาจไม่เป็นที่พอใจต่อทั้งสองฝ่ายและเกิดเป็นข้อพิพาทแรงงานได้ เรื่องดังกล่าวอยู่ในความห่วงใยของรัฐบาล โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลด้านนโยบายของกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้กระทรวงแรงงาน ทำความเข้าใจกับนายจ้าง และลูกจ้าง ให้ยึดหลักความเป็นจริงของผลประกอบการของแต่ละสถานประกอบกิจการ มาเป็นองค์ประกอบพื้นฐานในการพิจารณาปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง จึงได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปทำความเข้าใจและช่วยไกล่เกลี่ยให้ได้ข้อยุติในสถานประกอบกิจการก่อนที่จะมีการแจ้งข้อเรียกร้องเพื่อปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิม เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาข้อพิพาทแรงงานที่อาจเกิดขึ้นได้

ด้านนายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้จับตาเฝ้าระวังปัญหาข้อพิพาทแรงงานดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานประกอบกิจการประเภทผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ประกอบยานยนต์และเครื่องยนต์ สถานประกอบกิจการประเภทโรงแรมและการท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังได้เฝ้าระวังในเขตพื้นที่ ระยอง ชลบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา กรุงเทพมหานคร ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยาและปทุมธานี เนื่องจากพบว่ามีข้อเรียกร้องมากตามลำดับในช่วงปลายปี หากพบว่ามีสัญญาณที่อาจก่อให้เกิดข้อพิพาทแรงงานก็จะเร่งส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปทำความเข้าใจและช่วยไกล่เกลี่ยให้ได้ข้อยุติในพื้นที่โดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาข้อพิพาทแรงงาน ทั้งนี้ ขอฝากเตือนนายจ้าง ลูกจ้างให้เจรจากันด้วยเหตุผล ยึดหลักแรงงานสัมพันธ์แบบหุ้นส่วน นายจ้างควรชี้แจงข้อเท็จจริงถึงผลประกอบกิจการที่ผ่านมา เพื่อทำความเข้าใจกับลูกจ้างอย่างตรงไปตรงมาโดยยึดหลักสุจริตใจ และขอให้ทั้งสองฝ่ายคำนึงถึงสิทธิ หน้าที่ภายใต้กรอบของกฎหมายและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

ที่มา: สยามรัฐ, 30/11/2564

สหภาพแรงงานธนาคารและสถาบันการเงินยื่นหนังสือถึงผู้ว่าการแบงก์ชาติขอหารือประเด็นพนักงานแบงก์ถูกบังคับขายประกัน

จากกรณีที่มีอดีตพนักงานธนาคารแห่งหนึ่ง ได้โพสต์ลงโซเชียลมีเดียว่า ถูกธนาคารบังคับให้ขายประกัน จนทนไม่ไหวและลาออกไปในที่สุด ซึ่งในภายหลังได้มีพนักงานธนาคารอีกหลายราย จากหลายธนาคาร ได้ระบุแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า ถูกบังคับขายประกันเช่นเดียวกัน และเกิดขึ้นมานาน ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น

ล่าสุดวันที่ 29 พ.ย. 2564 เครือข่ายสหภาพแรงงานธนาคารและสถาบันการเงิน หรือ Bank and Financial Union Network (BFUN) นำโดยนายองอาจ เชนช่วยญาติ ประธานเครือข่ายสหภาพฯ ได้เดินทางยื่นหนังสือถึง นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องขอเข้าพบเพื่อหารือประเด็นการบังคับขายประกันของธนาคาร และหารือแนวทางแก้ไข ซึ่ง ธปท.ได้มีตัวแทนมารับหนังสือ และรับไปดำเนินการต่อ

โดยระบุข้อความในหนังสือว่า จากเหตุการณ์ที่มีอดีตพนักงานธนาคาร ได้มีการโพสต์ข้อความลงโซเชียลมีเดีย ประเด็นที่มีการกดดันให้ขายประกันชีวิตจนส่งผลทำให้พนักงานต้องซื้อประกันเอง เพื่อให้มีผลงานจนเป็นสาเหตุที่ทำให้พนักงานนั้น ตัดสินใจลาออกจากการเป็นพนักงานธนาคาร (มีมานานแล้ว) และเป็นข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบได้จากทุกธนาคาร ทั้งธนาคารรัฐวิสาหกิจและธนาคารภาคเอกชน

เครือข่ายสหภาพแรงงานธนาคารและสถาบันการเงินรู้สึกวิตกเป็นอย่างมากในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งเครือข่ายฯ ได้เคยยื่นหนังสือถึงธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องคัดค้านการให้พนักงานธนาคารพาณิชย์ขายผลิตภัณฑ์เสริมต่างๆ ซึ่งรวมถึงการขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ควบคุมการนำเสนอขายประกันชีวิต ผ่านพนักงานธนาคารที่ไม่มีใบอนุญาต อันมีผลกระทบโดยตรงเกี่ยวกับการกดดัน การกำหนดเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลงาน การกำหนดเป็นเคพีไอ (KPIs) ที่ไม่เป็นธรรม

ซึ่งในปัจจุบันมีเพียงเรื่องการกำหนดเงื่อนไขใน Market Conduct แต่ก็ยังมีการใช้เทคนิคการกำหนดเป้าหมายแบบบังคับ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากพนักงานทุกธนาคาร

ประเด็นที่อยากให้ดำเนินการช่วยเหลือและแก้ไข เช่น ขอให้ดำเนินการตรวจสอบในแต่ละธนาคาร ห้ามมิให้มีการกำหนด KPIs ของผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตเป็น Performance หลัก เนื่องจากพนักงานไม่ได้มีสิทธิและหน้าที่ในการนำเสนอขายผลิตภัณฑ์ทุกคน (เสนอขายได้เฉพาะที่มีใบอนุญาต) และไม่ควรนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมากำหนดเป็น KPIs ซึ่งส่วนใหญ่มักจะใช้หลักเกณฑ์การขาย 70% งานบริการ 30% ซึ่งไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง และเป็นเงื่อนไขการกดดันพนักงานในที่สุด เป็นต้น

ที่มา: เดลินิวส์, 29/11/2564

รมว.แรงงาน รับข้อเสนอให้เงินเยียวยานักดนตรีอิสระ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประชุมร่วมกับเครือข่ายนักร้อง นักแสดง นักดนตรี และผู้ประกอบการสถานบันเทิงคลับ ผับ บาร์ ได้ข้อสรุปเบื้องต้นให้สมาคมรวบรวมรายชื่อ สรุปจำนวน ส่งให้แรงงานจังหวัดเพื่อกำหนดกรอบวงเงินเยียวยา ซึ่งจะช่วยทั้งกลุ่มศิลปินผู้ที่อยู่ในธุรกิจบันเทิงที่ยังถูกสั่งปิด และกลุ่มศิลปินอิสระที่อยู่นอกระบบ โดยจะนัดประชุมเพื่อตีกรอบให้เงินเยียวยาอีกครั้ง 3 ธ.ค.นี้ เบื้องต้นคาดว่ามีประมาณหลักแสนคน

ด้านนายธเนส สุขวัฒน์ ตัวแทนนักดนตรีอิสระและผู้จัดคอนเสิร์ตเปิดเผยว่าจะเร่งให้สมาชิกที่อยู่นอกระบบมาเข้าระบบประกันสังคมตามมาตรา 40 เพื่อให้ได้ความช่วยเหลือ และขอให้เสนอ ศบค.ให้สถานบันเทิงเปิดได้แบบมีเงื่อนไข เพื่อให้พนักงานส่วนอื่นๆ ยังมีงานทำ

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 29/11/2564

เตือนนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวตามมติ ครม. 28 ก.ย. 2564 ยื่นขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวภายใน 7 วัน หลังบันทึกข้อมูลคนต่างด้าว

28 พ.ย. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึง มติ ครม.เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2564 ที่เห็นชอบให้กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานดำเนินการตรวจสถานที่ก่อสร้าง สถานประกอบการ โรงงาน และสถานที่ทำงาน เพื่อให้คำแนะนำการปฏิบัติตนตามมาตรการทางสาธารณสุขแก่นายจ้างและแรงงานต่างด้าว เริ่มวันที่ 1 พ.ย. 2564 เป็นระยะเวลา 30 วัน เก็บตกแรงงาน 3 สัญชาติ ที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

หากตรวจพบแรงงานข้ามชาติทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต จะทำแบบบันทึกข้อมูล และให้นายจ้างมาดำเนินการยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว เพื่อให้แรงงานข้ามชาติเข้าสู่กระบวนการจ้างงานถูกต้องตามกฎหมายประเทศไทย

นายสุชาติกล่าวว่า เรื่องการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติให้เป็นระบบ และมีฐานข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน เป็นเรื่องที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงานให้ความสำคัญมาโดยตลอด

“ตั้งแต่วันที่ 1-26 พ.ย. 2564 เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสถานประกอบการและบันทึกข้อมูลคนต่างด้าวแล้ว 157,887 ราย นายจ้างมาดำเนินการยื่นคำขออนุญาตทำงาน จำนวน 51,697 ราย คิดเป็นร้อยละ 32.74 ซึ่งตามมติ ครม.วันที่ 28 ก.ย. 2564 กำหนดอย่างชัดเจนให้นายจ้างหรือสถานประกอบการที่ได้รับแบบบันทึกข้อมูลคนต่างด้าวจากเจ้าหน้าที่แล้วดำเนินการยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว ภายใน 7 วัน มิฉะนั้นจะกลายเป็นคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน ซึ่งมีโทษทั้งนายจ้าง และลูกจ้างแรงงานข้ามชาติ”

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า เจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานจะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจสถานประกอบฯ จนถึงวันที่ 30 พ.ย. 2564 ตามระยะเวลา 30 วันที่ได้กำหนดไว้ในมติ ครม.วันที่ 28 ก.ย. 2564

ขอย้ำให้นายจ้างดำเนินการยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว (แบบ บต.50) พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง ณ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานประกอบการภายใน 7 วัน หากไม่ดำเนินการภายในกำหนดจะทำให้แรงงานข้ามชาติมีสถานะเป็นแรงงานผิดกฎหมาย

ซึ่งนายจ้างที่รับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานจะมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาทต่อคนต่างด้าวหนึ่งคน หากทำผิดซ้ำมีโทษถึงจำคุก และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานอีก 3 ปี ส่วนคนต่างด้าวที่ลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งตัวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และไม่สามารถขอรับใบอนุญาตทำงานได้จนกว่าจะพ้นโทษมาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี

“สำหรับแรงงานข้ามชาติที่ได้รับใบอนุญาตทำงานจากกรมการจัดหางานแล้ว ให้ตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนหรือซื้อประกันสุขภาพตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หรือซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันภัย ดำเนินการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) ณ กองบังคับการตรวจคนเข้าเมืองที่ 1 ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัด หรือสถานที่อื่นที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกำหนด ภายใน 31 มี.ค. 2565

ยื่นขอตรวจลงตราวีซ่า ณ กองบังคับการตรวจคนเข้าเมืองที่ 1 ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัด หรือสถานที่อื่นที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกำหนด ภายใน 1 ส.ค. 2565 และจัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรชมพู) ณ สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร ศูนย์บริหารการทะเบียนภาคสาขาจังหวัดหรือสถานที่อื่นที่กรมการปกครองกำหนด”

ทั้งนี้ นายจ้าง/สถานประกอบการ หรือคนต่างด้าวต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด ที่เป็นที่ตั้งของสถานประกอบการ หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694 ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และแนะนำวิธีการดำเนินการ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 28/11/2564

ก.แรงงานรวมหลักฐานจับนายหน้าเถื่อน หลอกคนไทยทำงานบ่อนกัมพูชา

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้พบสาย หรือนายหน้าเถื่อนหลอกคนไทยทำงานบ่อนปอยเปต ประเทศกัมพูชาจำนวนมาก ซึ่งข้อมูลจากคนหางานไทยที่ถูกหลอกลวงและได้รับการช่วยเหลือกลับประเทศ พบว่าสาย/นายหน้าเถื่อนจะชักชวนไปทำงานในบ่อนการพนัน หรือทำงานในเว็บพนันออนไลน์ โดยอ้างว่ามีรายได้ดี แต่เมื่อเดินทางไปถึงกลับให้ทำงานไม่ตรงตามข้อตกลง ถูกกักขัง และบังคับให้ทำงาน ซึ่งหากไม่ยอมทำงานหรือไม่สามารถทำงานได้จะถูกทำร้ายร่างกาย

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน กำชับให้กระทรวงแรงงานบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสาย/นายหน้าเถื่อนกลุ่มดังกล่าว ซึ่งผมได้สั่งการกรมการจัดหางานให้ขยายผลข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานจากคนหางานชาวไทยที่ถูกหลอกทำงานกัมพูชา เพื่อดำเนินคดีกับสาย/นายหน้าเถื่อน หากพบว่าฝ่าฝืนพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในส่วนคนหางานที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ไม่ว่าประเทศใดหากไม่อยากเป็นเหยื่อ อย่าหลงเชื่อการโฆษณาชักชวนทางสื่อออนไลน์ หรือสาย/นายหน้าเถื่อนโดยง่าย ให้ตรวจสอบข้อมูลกับกรมการจัดหางานก่อนว่ามีงานจริงหรือไม่” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ขอให้คนหางานพิจารณาให้ดี เพราะทันทีที่ตัดสินใจไปทำงานต่างประเทศด้วยวิธีลักลอบเป็นแรงงานผิดกฎหมายจะมีความเสี่ยงหลายด้าน ไม่ว่าจะเสี่ยงโดนนายหน้าหลอกไปลอยแพ เสี่ยงโดนล่อลวงไปเป็นแรงงานทาส/ค้ามนุษย์ และตกเป็นเป้าของอาชญากรรมอื่น ๆ ได้ง่าย

เนื่องจากไม่สามารถสื่อสารเพื่อขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ในต่างประเทศ หรือกังวลว่าจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายคนเข้าเมืองของประเทศนั้น ๆ นอกจากนี้ยังต้องอยู่อย่างหลบซ่อน ไม่ได้รับสวัสดิการและการรักษาพยาบาลที่ควรได้รับ รวมถึงเสี่ยงโดนคนไทยด้วยกันที่ลักลอบทำงานผิดกฎหมายอยู่ก่อนแล้วหลอกลวงด้วย

“สำหรับผู้ที่มีพฤติกรรมโฆษณาชักชวนคนหางานไปทำงานต่างประเทศ ขอให้ทราบว่า การโฆษณาการจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางาน จะมีความผิด ดังนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ โดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจำคุก 3-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 – 25 พฤศจิกายน 2564) มีการดำเนินคดีสาย/นายหน้าเถื่อนแล้ว 4 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย จำนวน 467,000 บาท”

นายไพโรจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า หากคนหางานต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศสามารถขอรับคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 และตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/ipd ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทฯ ที่ได้รับอนุญาต จำนวน 124 บริษัท ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 85 บริษัท และอยู่ในจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ 39 บริษัท

หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 27/11/2564

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท