‘ทุน วัง คลัง (ศักดิ) นา’ เมื่อชนชั้นนำไทยสร้างและปกป้องความเหลื่อมล้ำ

อภิชาต สถิตนิรามัย หนึ่งในผู้เขียน ‘ทุน วัง คลัง (ศักดิ) นาฯ’ บอกว่า ในด้านหนึ่งนี่คือหนังสือว่าด้วยประวัติศาสตร์ความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยที่เริ่มต้นจากสนธิสัญญาเบาว์ริงต่อเนื่องถึงการปฏิรูปการปกครอง กลายเป็นมรดกความเหลื่อมล้ำที่ตกทอดถึงปัจจุบัน และชนชั้นนำไทยยังคงพยายามรักษามันเอาไว้ผ่านการรัฐประหาร

  • สนธิสัญญาเบาว์ริงทำให้สยามปรับตัวเข้ากับระบบทุนนิยมสมัยใหม่ ผ่านการรวมศูนย์อำนาจ การสร้างระบบราชการและระบบการศึกษา ซึ่งช่วยให้ชนชั้นนำสร้างความมั่งคั่งได้มากกว่าระบอบแบบโบราณ
  • พ.ร.บ.ออกโฉนดที่ดิน ร.ศ.120 เพิ่มความมั่นคงในการถือครองที่ดินของชนชั้นนำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ถูกใช้เพื่อสะสมความมั่งคั่งและเกิดเป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นนำกับคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคม
  • การศึกษาสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นไม่มีความเท่าเทียม งบประมาณต่ำ และกระจุกตัวอยู่ในโรงเรียนของชนชั้นนำ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างข้าราชการหรือชนชั้นนำใหม่เพื่อตอบสนองการรวมศูนย์อำนาจ
  • การต่อสู้ทางการเมืองระหว่างชนชั้นนำเดิมกับคณะราษฎรตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองถึงรัฐประหาร 2500 นอกจากความขัดแย้งด้านอำนาจแล้ว ยังเป็นความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ชนชั้นนำต้องการรักษาความเหลื่อมล้ำเอาไว้
  • รัฐประหาร 2549 และรัฐประหาร 2557 คือการตอกย้ำชัยชนะของชนชั้นนำไทยในการรักษาความเหลื่อมล้ำให้ดำรงอยู่

ในตำราประวัติศาสตร์แบบทางการของไทย สยามถูกบังคับให้ลงนามสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษ

ในตำราประวัติศาสตร์แบบทางการของไทย การปฏิรูปการปกครอง การสร้างระบบราชการ ระบบการศึกษา สมัยรัชกาลที่ 5 คือความพยายามปกป้องประเทศจากต่างชาติ

ไม่ผิด แต่เป็นความจริงเพียงส่วนเดียว เพราะใช่ว่าชนชั้นนำไทย ณ เวลานั้นทั้งหมดจะคัดค้านการลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริง ใช่ว่าการปฏิรูปต่างๆ ไม่ได้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นนำ และนี่เป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวเข้าสู่ทุนนิยมโลกของสยาม รวมถึงจุดเริ่มต้นของการสะสมความมั่งคั่งของชนชั้นนำไทยที่นำมาสู่ความเหลื่อมล้ำมหาศาลในปัจจุบัน

อภิชาต สถิตนิรามัย

อภิชาต สถิตนิรามัย จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้เขียนหนังสือ ‘ทุน วัง คลัง (ศักดิ)นา: สมรภูมิเศรษฐกิจการเมืองไทยกับประชาธิปไตยที่ไม่ลงหลักปักฐาน’ สนทนากับ ‘ประชาไท’ พินิจแรงจูงใจทางเศรษฐกิจของชนชั้นนำไทยในเวลานั้นที่อาจไม่สวยงามอย่างที่เราคิด

เขาบอกว่า หนังสือเล่มนี้สามารถเรียกได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย อันเกิดจากการทำงานของกลไกเศรษฐกิจและสถาบันทางการเมืองที่ปฏิสัมพันธ์กัน

สนธิสัญญาเบาว์ริงเปลี่ยนสยามสู่ระบบทุนนิยมสมัยใหม่

กลับไปที่ปี พ.ศ.2398 ปีที่สยามลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริงกับจักรวรรดิอังกฤษ ซึ่งโดยสาระสำคัญก็คือการเปิดการค้าเสรีระหว่างไทยกับตลาดโลก ผลตามมาคือทำให้ไทยเข้าสู่ตลาดโลกสมัยใหม่เป็นครั้งแรก

คำว่า ‘สมัยใหม่’ มีความหมาย 2 ความหมายคือโลกได้เข้าสู่สมัยใหม่เมื่ออังกฤษปฏิวัติอุตสาหกรรมสำเร็จและเป็นจุดสูงสุดของระบบอาณานิคม อีกความหมายหนึ่ง ต่อเนื่องถึงรัชกาลที่ 5 สยามได้เปลี่ยนกติกาของระบบเศรษฐกิจและระบบการเมืองทำให้เศรษฐกิจสยามเข้าสู่ระบบทุนนิยมสมัยใหม่ตามไปด้วย

แล้วมันต่างจากการกติกาทางเศรษฐกิจก่อนหน้านี้อย่างไร? อภิชาต อธิบายว่า

“การค้าก่อนสนธิสัญญาเบาว์ริงเป็นการค้าที่มีการผูกขาด สินค้าไม่ได้มาจากการใช้อำนาจทางตลาด แต่ใช้อำนาจการเมืองซึ่งก็คือการบังคับไพร่ให้ไปหาสินค้า ไปเก็บของป่ามาจ่ายส่วยให้รัฐ แล้วพระคลังสินค้าก็นำไปขายต่อให้กับต่างประเทศและเอากำไร ตัวสินค้าไม่ต้องจ่ายต้นทุน แต่พอหลังสนธิสัญญาเบาว์ริงเราก็เลิกระบบไพร่ สินค้าทุกชนิดที่จะส่งออกต้องผ่านตลาดและในเชิงกติกาก็กลายเป็นระบบทุนนิยม”

ที่ดินและแรงงานอิสระ

ทั้งนี้เกณฑ์ที่อภิชาตใช้วัดว่าเป็นระบบทุนนิยมคือการให้กรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งเดิมทีมีเฉพาะสิทธิการใช้ หมายความว่าเมื่อใดที่ผู้ใช้ละทิ้งที่ดิน ที่ดินก็จะกลับเป็นของรัฐและสามารถนำไปให้คนอื่นใช้ต่อได้ ภายหลังการลงนามสนธิสัญญาเบาว์ริงต่อมา 70 ปี การส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นเป็น 15 เท่า ข้าวกลายเป็นสินค้าที่สร้างรายได้อย่างงดงาม ที่ดินจึงกลายเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญขึ้นมาทันที

พ.ร.บ.ออกโฉนดที่ดิน ร.ศ.120 หรือ พ.ศ.2444 ที่ออกในช่วงรัชกาลที่ 5 ได้นำระบบเอกสารสิทธิ์มาใช้ ซึ่งก็คือการรับรองกรรมสิทธิ์ในที่ดินของเอกชนนั่นเอง หลังจากนี้แม้ที่ดินจะถูกทิ้งให้รกร้าง เอกสารสิทธิ์ก็ยังคงรับรองความเป็นเจ้าของ

“ถ้าคุณไม่มีระบบนี้ระบบทุนนิยมเกิดไม่ได้” อภิชาต กล่าว

ส่วนเกณฑ์ที่ 2 คือการมี Free Labor หรือแรงงานอิสระจากการปลดปล่อยประชากรจากการเป็นไพร่และทาส แล้วรัฐก็ไปเก็บภาษีรัชชูปการแทน แรงงานอิสระกลายเป็นปัจจัยการผลิต เป็นเจ้าของแรงงานของตนเอง

ปกหนังสือ (อ่านรายละเอียดที่ matichonbook.com)

เพราะชนชั้นนำสร้างความมั่งคั่งจากทุนนิยมได้มากกว่า

“สุดท้ายแล้วมันสร้างความมั่งคั่งให้กับชนชั้นนำได้มากกว่าระบอบโบราณ ส่วนเกินที่ชนชั้นนำจะเก็บส่วนเกินทางเศรษฐกิจจากชนชั้นล่างได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับสองตัวแปร ตัวแปรที่ 1 คือขนาดของส่วนเกินโดยรวมหรือความสามารถในการผลิตส่วนเกินของทั้งระบบว่ามีมากหรือน้อย ถ้าคุณผลิตส่วนเกินได้เยอะ เช่น เพิ่มที่นา เพิ่มคน คุณก็ปลูกข้าวมากกว่าส่วนที่กินได้เพิ่มขึ้นขนาดของส่วนที่เกินความจำเป็นในการเลี้ยงชีพของทุกคนก็เยอะ ก็ส่งออกข้าวได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ชนชั้นปกครองจะได้ไปจากคนอื่นก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการผลิตว่ามีมากหรือน้อย

“ตัวแปรที่ 2 คืออัตราการสกัดส่วนเกิน ภาษีคือเครื่องมือในการสกัดส่วนเกิน ในอดีตเครื่องมือในการสกัดส่วนเกินก็คือแรงงานฟรี สินค้าฟรี ตอนหลังก็คือภาษี ภาษีที่นาคุณทำนาคุณต้องจ่ายภาษีที่นา ไม่ได้เรียกเก็บจากเจ้าของนา แต่เก็บจากผู้เช่า ใครที่ทำนาต้องจ่ายค่านา สอง ภาษีอื่นๆ ภาษีความเป็นไพร่ก็คือภาษีรัชชูปการ ซึ่งในทางปฏิบัติเมื่อเศรษฐกิจมันโตขึ้นจากการค้ากับตลาดโลกขนาดส่วนเกินก็ใหญ่ขึ้น ภาษีก็เก็บได้มากขึ้น”

ขณะที่การปฏิรูปการปกครองโดยรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางและสถาบันกษัตริย์ แปรเปลี่ยนประเทศราชให้กลายเป็นจังหวัดก็ทำให้เก็บภาษีได้มากขึ้น

“การรวมศูนย์อำนาจการปกครองผ่านการสร้างระบบราชการสมัยใหม่ ก็สร้างกลไกการเก็บภาษีใหม่ขึ้นมาเก็บได้ทั่วถึงมากขึ้น มันทำให้รัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการสกัดส่วนเกิน ทำให้ชนชั้นนำร่ำรวยขึ้น เป็นที่มาของความเหลื่อมล้ำสมัยใหม่ ก่อนที่ความเหลื่อมล้ำของเราจะกระโดดอีกรอบหนึ่งในยุคสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่”

‘กรรมสิทธิ์ที่ดิน’ เครื่องมือสร้างความมั่งคั่งของชนชั้นนำ

กลับมาที่เรื่องที่ดิน หนึ่งในการสะสมความมั่งคั่งคือการครอบครองสินทรัพย์ และที่ดินคือสินทรัพย์ที่ ณ เวลาที่มีการออกกฎหมายออกโฉนดที่ดิน ชนชั้นนำไทยก็ได้กลายเป็นเจ้าที่ดินขนาดใหญ่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว การออกกฎหมายก็เพื่อรองรับสิทธิ์ในความเป็นเจ้าของที่ดินของชนชั้นนำ ทั้งยังทำให้ที่ดินมีราคาสูงขึ้นเพราะสิทธิในที่ดินมีความมั่นคงขึ้น ดังนั้น ความร่ำรวยของชนชั้นนำจึงเพิ่มขึ้นจากการยึดครองที่ดินและออกเอกสารสิทธิ์มารองรับ

“ที่ดินมายังไง โครงการรังสิต การขุดคลองรังสิตมันเปลี่ยนป่าละเมาะให้เป็นทุ่งข้าวโดยใช้เครื่องจักรขุดคลอง ตั้งเป็นบริษัท ขุดคลองแลคูนาสยาม ซึ่งเป็นบริษัทของชนชั้นนำไทยตระกูลสนิทวงศ์ รัฐให้สัมปทานขุดคลองกับบริษัทนี้แต่เพียงผู้เดียวประมาณ 10 ปี เป็นสัญญาผูกขาด เมื่อขุดคลองเสร็จก็จะได้ที่ดินสองฝั่งคลองก็เอาไปขายต่อ ชนชั้นสูงต่างๆ ก็ไปซื้อที่ดินเพื่อให้ชาวนาเช่า คลองรังสิตก็คือเมกะ โปรเจกต์ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยุคแรกของชนชั้นนำไทย”

ไม่ใช่เฉพาะแค่ที่ดินสำหรับทำนา ราคาที่ดินในกรุงเทพฯ ก็ถีบตัวสูงขึ้นตามการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต้องการพื้นที่พาณิชย์มารองรับ การตัดถนนกว่าร้อยสายในยุครัชกาลที่ 5 ในกรุงเทพฯ แม้จะได้ประโยชน์ด้านการคมนาคม แต่วัตถุประสงค์หลักคือการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้วยการสร้างตึกแถวให้เช่า

“ถนนทรงวาดทั้งเส้น ถนนเยาวราชทั้งหมด ที่ดินตรงนี้ก็ตกทอดมายังสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 5 ผมลองประเมินขนาดที่ดินที่สำนักงานทรัพย์สินฯ ถือครองอยู่ซึ่งในตอนนั้นก็คือกรมพระคลังข้างที่ มูลค่าทรัพย์สินมีประมาณ 3-4 เท่าของบประมาณแผ่นดินในปีสุดท้ายของรัชกาลที่ 5  ซึ่ง 90 เปอร์เซ็นต์เป็นที่ดิน”

การศึกษาเพื่อสร้างชนชั้นนำใหม่ ไม่ใช่เพื่อความเท่าเทียม

นอกจากการสะสมที่ดินของชนชั้นนำแล้ว การศึกษาที่สร้างขึ้นเพื่อผลิตคนเข้าสู่ระบบราชการก็ยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางโอกาส

อภิชาต อธิบายว่าระบบราชการต้องการคนรู้หนังสือ คนที่มีความรู้แบบสมัยใหม่ ซึ่งแต่ก่อนจุดนี้ไม่ใช่ความสามารถที่เหล่าขุนนางจำเป็นต้องมี โรงเรียนและการศึกษาสมัยใหม่จึงเกิดขึ้นเพื่อการณ์นี้ เพื่อสร้างชนชั้นนำรุ่นใหม่ เปลี่ยนลูกขุนนางเป็นข้าราชการ มันจึงเป็นการศึกษาที่ไม่มีความเท่าเทียมมาตั้งแต่ต้น

“งบประมาณโดยรวมให้น้อยอยู่แล้ว 2-3 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีเท่านั้นและ 2-3 เปอร์เซ็นต์นี้ส่วนใหญ่ถูกใช้ไปในการสร้างชนชั้นนำรุ่นใหม่ เช่น โรงเรียนสวนกุหลาบ ตอนเริ่มต้นโรงเรียนสวนกุหลาบเป็นลูกชนชั้นสูงเข้ามาเรียน เมื่อระบบราชการขยายตัวเร็วจบออกไปก็มีงานทำมั่นคงหมดทุกคน ลูกพ่อค้าหรือไพร่สามัญชนที่มีฐานะก็อยากส่งลูกเข้าเรียน คนกลุ่มนี้มีจำนวนมากกว่าก็สามารถเข้าเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบได้มากกว่าชนชั้นสูง เมื่อสามัญชนหลุดเข้าไปเยอะกรมพระยาดำรงจึงขึ้นค่าเทอมเพื่อจะกีดกันสามัญชนออกไปแต่ไม่สำเร็จ

“ประเด็นคือการศึกษานอกจากงบประมาณน้อยแล้วยังไม่เท่าเทียม งบประมาณส่วนใหญ่รวมศูนย์อยู่ในกรุงเทพฯ ในโรงเรียนของลูกหลานชนชั้นนำไม่กี่แห่งซึ่งเป็นการศึกษาคุณภาพสูง บางโรงเรียนสอนด้วยภาษาฝรั่งเอาครูฝรั่งมาสอน ไม่นับการส่งลูกไปเรียนต่อเมืองนอกของชนชั้นนำตั้งแต่เด็กๆ ถ้าคุณจบการศึกษาในยุคนั้น คุณเข้าสู่ระบบราชการได้แล้วคุณก็มีชีวิตที่ดีได้ทันทีเลย โอกาสจึงไม่เท่าเทียมกัน นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางด้านโอกาส”

ขณะเดียวกันวัตถุประสงค์ของ Mass Education ก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อให้คนเข้าสู่ระบบสมัยใหม่ แต่ต้องการให้รู้หนังสือพออ่านออกเขียนได้เท่านั้น เนื่องจากวัตถุประสงค์ก็เพื่อปลูกฝังความรักชาติ เปลี่ยนประชากรของประเทศราชทั้งหลายให้หันมารักส่วนกลาง

“ความเหลื่อมล้ำทางด้านสาธารณสุขก็เหมือนกัน ก็คือไม่มีระบบสาธารณสุขเลย ยิ่งหนักกว่าการศึกษาอีกเพราะว่ารัฐไม่ยอมรับว่าการสาธารณสุขเป็นหน้าที่ของรัฐ การมีโรงพยาบาลยุคแรกๆ เกิดจากความต้องการทำบุญสุนทาน ดังนั้น เมื่อ 2475 เกิดขึ้นยกเว้นในกรุงเทพฯ แล้วในต่างจังหวัดไม่มีโรงพยาบาลสมัยใหม่ที่ Functional เลย”

ภาพประชาชนออกมาถ่ายรูปกับรถถังหลังรัฐประหาร 19 ก.ย.49

รัฐประหาร 2549-ปัจจุบัน ตอกย้ำชัยชนะของชนชั้นนำในการปกป้องความเหลื่อมล้ำ

สิ่งที่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 พยายามทำก็คือลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการศึกษาซึ่งกลายเป็น 1 ในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร มีการทุ่มงบประมาณเพื่อขยายโรงเรียน รวมถึงการสร้างโรงพยาบาลประจำจังหวัด ซึ่งเมื่อเกิดรัฐประหารปี 2500 ทุกจังหวัดในประเทศไทยก็มีโรงพยาบาลประจำจังหวัด แม้คนที่เข้าถึงบริการจะเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรทั้งหมด แต่ก็ถือเป็นการวางกระดูกสันหลังที่สำคัญของการแพทย์สมัยใหม่

“หลัก 6 ประการนำไปสู่เค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ข้อเสนอที่ Radical ที่สุดของเค้าโครงเศรษฐกิจก็คือบังคับซื้อที่ดินของทุกคนโดยรัฐจ่ายเป็นพันธบัตร ในความหมายของพวกเจ้าที่ดินและชนชั้นสูงนี่ก็คือการถูกยึดที่ดิน ก็เลยรับไม่ได้ เกิดแรงต่อต้านมหาศาล หลังเค้าโครงเศรษฐกิจออกมาพระยามโนปกรณ์ฯ ก็ทำรัฐประหารครั้งแรกโดยการปิดสภา นี่คือการโต้กลับของฝ่ายที่ต่อต้านระบอบใหม่ จากนั้นก็เกิดการรัฐประหารครั้งที่ 2 โดยพระยาพหลฯ เพื่อปกป้องการปฏิวัติ 2475 จากนั้นก็ตามด้วยกบฏบวรเดชภายในเวลาไม่กี่เดือนที่เกิดการตอบโต้กันไปมา

“ผมตีความว่าซีรีส์ความขัดแย้งทางการเมืองนี้อาจจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือพวกชนชั้นนำเดิมกับชนชั้นนำใหม่นำโดยพวก 2475 สู้กันไปมาจนฝ่าย 2475 พ่ายแพ้โดยสิ้นเชิงจากการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปี 2500 ซึ่งความขัดแย้งทางการเมืองเหล่านี้เป็นที่รู้กันดี แต่ส่วนใหญ่จะพูดถึงสาเหตุความขัดแย้งทางการเมือง ประเด็นของหนังสือเล่มนี้คือการบอกว่านั่นก็ถูก แต่ On The Top มันมีความขัดแย้งทางเศรษฐกิจด้วยเป็นแรงจูงใจของการตอบโต้ทางการเมืองโดยเฉพาะจากฝ่ายชนชั้นนำเก่า ผมถือว่าเป็นการตีความการเมืองหลัง 2475 ใหม่คือเพิ่มอีกแง่มุมหนึ่ง”

อภิชาต กล่าวว่า มันคือการปกป้องความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมให้คงอยู่ต่อไปโดยชนชั้นนำเก่า

และการรัฐประหาร 2549 รัฐประหาร 2557 ต่อเนื่องถึงสถานการณ์ปัจจุบัน ก็คือการตอกย้ำชัยชนะหลังการรัฐประหาร 2500 ของชนชั้นนำไทยให้มากขึ้นไปอีก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท