ประธาน APHR ร้องไทยระงับการส่งตัวผู้ลี้ภัยกัมพูชากลับไปเผชิญอันตราย

ประธานสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHR) เรียกร้องให้รัฐไทยยุติการผลักดันผู้ลี้ภัยทางการเมืองกลับไปเผชิญอันตรายที่ประเทศต้นทาง หลังมีรายงานเจ้าหน้าที่บุกจับกุมและบังคับสึกพระนักเคลื่อนไหวชาวกัมพูชา แม้ได้สถานะ ‘ผู้ลี้ภัย’ จาก UN แล้ว ด้านสถานทูตสวิสเตรียมออกวีซ่าฉุกเฉินให้

ศิริภา อินทวิเชียร ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหายฯ สภาผู้แทนราษฎร (ที่มา เพจเฟซบุ๊ก ศิริภา อินทวิเชียร Siripa Intavichein)

2 ธ.ค. 64 สำนักข่าว มติชน และ The Reporters รายงานวันนี้ (2 ธ.ค.) ศิริภา อินทวิเชียร ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหายฯ สภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวถึงกรณี เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 64 เวลา 19.00 น. ที่วัดแพรกษา จ.สมุทรปราการ เจ้าหน้าที่รัฐบุกจับและบังคับสึก ‘พระบอรบอท’ นักกิจกรรมการเมืองชาวกัมพูชา ซึ่งลี้ภัยและมาบวชเป็นพระสงฆ์ในไทย ข้อหาลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย แม้ว่าพระรูปดังกล่าวได้รับสถานะผู้ลี้ภัยของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)

ปัจจุบัน พระรูปดังกล่าวถูกควบคุมตัวอยู่ในสถานกักกันบุคคลต่างชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) สวนพลู และรอผลักดันกลับประเทศต้นทาง 

ศิริภา กล่าวว่า หลังทราบเรื่องดังกล่าวมีการประสานงานไปยังองค์กรภาคประชาชน Human Rights Watch และ UNHCR เพื่อขอเอกสารยืนยันว่าพระสงฆ์รูปดังกล่าวเป็นผู้ลี้ภัยอย่างถูกต้อง จากนั้น UNHCR ได้ส่งเอกสารยืนยันมาให้ จึงนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตม.สวนพลู

ศิริภา กล่าวต่อว่า เนื่องด้วยบุคคลดังกล่าวได้รับสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง การจะส่งผู้ลี้ภ้ยทางการเมืองกลับไปยังประเทศต้นทาง ต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียดอ่อน เพราะสามารถเชื่อได้ว่าบุคคลที่ถูกผลักดันดลับ อาจตกอยู่ในอันตราย ถูกกระทำทรมาน หรืออาจถูกบังคับสูญหายได้ และหลังจากยื่นเอกสารเรียบร้อยแล้วเมื่อเช้านี้ จึงได้รับการประสานงานกลับจาก Human Rights Watch ว่า ทางสถานเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย อาสาออกวีซ่าฉุกเฉินให้กับบุคคลดังกล่าว เพื่อให้เดินทางออกไปยังประเทศที่สาม คือ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ศิริภา เปิดเผยว่า การเข้าจับกุมในครั้งนี้ไม่ใช่การเข้าจับกุมครั้งแรก ในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทางการไทยส่งตัวผู้ลี้ภัยทางการเมืองกลับกัมพูชาไปแล้วกว่า 3 ราย ซึ่งบุคคลผู้ลี้ภัยเหล่านี้เป็นบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองจากสหประชาชาติ (UN) การเข้าจับกุมบุคคลเหล่านี้และส่งตัวกลับประเทศ จึงเชื่อได้ว่าบุคคลเหล่านี้อาจตกไปอยู่ในสถานการณ์อันตรายอาจถูกทรมานและทำให้สูญหายได้ เนื่องจากเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง

การกระทำดังกล่าวขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนทั้งสิ้นทั้งปวง ทั้งยังขัดต่อข้อตกลงระหว่างประเทศหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นอนุสัญญา ICCPR หรือ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมที่ย่ำยีศักดิ์ศรี อีกทั้งยังขัดต่อมาตรา 12 ของร่าง พ.ร.บ.การป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้สูญหาย ซึ่งเสนอโดยคณะรัฐมนตรี ที่ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐขับไล่ส่งกลับหรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะเกิดอันตราย จะถูกกระทำทรมาน หรือถูกทำให้สูญหาย 

ศิริภา ย้ำว่า รัฐจำเป็นต้องแสดงความจริงใจต่ออนุสัญญา ร่างกฎหมาย ประกาศของครม. หลายๆ ฉบับที่ผ่านมา ด้วยการอ้างว่าการจับตัวผู้ลี้ภัยเพราะไม่ทราบว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ลี้ภัย หรืออ้างว่าการจับกุม เป็นการสุ่มเข้าไปจับกุม และขอให้รัฐทบทวนรายชื่อทั้งหมดที่ได้รับมาเพื่อเข้าจับกุมและส่งตัวกลับไปประเทศกัมพูชา ควบคู่กับรายชื่อของผู้ลี้ภัยขอบ UNHCR เพื่อปฏิบัติอย่างถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยชน ไม่ส่งบุคคลที่อาจตกอยู่ในอันตรายกลับไปยังประเทศเหล่านั้น 

เบื้องต้น นำเสนอเรื่องนี้ไปที่คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ และจะทำหนังสือให้เป็นลายลักษณ์อักษรส่งไปยังคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ คณะกรรมาธิการตำรวจ และคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายฯ เพื่อพิจารณาและดำเนินการต่อไป 

ด้าน ชาร์ลส ซานติอาโก ประธานสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน หรือ APHR และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของมาเลเซีย กล่าวถึงกรณีนี้ด้วยว่า การกระทำของรัฐไทยในการจับกุม พระบอรบอท ถือเป็นการกระทำที่อุกอาจ รัฐบาลไทยต้องยุติการจับกุมและส่งกลับผู้ที่ต้องการการคุ้มครองภายในดินแดนไทย ไทยต้องเคารพหลักการจารีตประเพณีระหว่างประเทศไม่ผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไปเผชิญอันตราย หรือ Non-Refoulement โดยเฉพาะกรณีบุคคลที่เป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน และได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR แล้ว 

ชาร์ลส ซานติอาโก ประธาน APHR และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาเลเซีย (ที่มา เพจเฟซบุ๊ก Charles Santiago)

ซานติอาโก เรียกร้องให้ไทยระงับการส่งตัวพระบอรบอท กลับประเทศต้นทาง ขณะเดียวกันแม้ว่าไทยไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย แต่ไทยยังต้องปฏิบัติตามหลักการไม่ผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไปเผชิญอันตรายที่ประเทศต้นทางตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน ดังนั้น การส่งตัวพระบอรบอทออกนอกประเทศถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และการส่งบุคคลดังกล่าวกลับประเทศกัมพูชา จะทำให้เขาเสี่ยงถูกประหัตประหารและทรมาน เพียงแค่แสดงความเห็นของเขา นอกจากนี้ ซานติอาโก กล่าวด้วยว่า สิ่งที่รัฐไทยกระทำต่อพระบอรบอทนั้น ถือเป็นการกระทำที่ไร้เกียรติ และตัวเขาเองก็ตกใจกับเรื่องนี้มาก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท