กสม. ร่วมสถาบันสิทธิฯ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปิดตัวแนวปฏิบัติว่าด้วยการป้องกันการทรมาน

กสม. ร่วมด้วยสถาบันสิทธิฯ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEANF) เปิดตัวแนวปฏิบัติว่าด้วยการป้องกันการซ้อมทรมานระดับภูมิภาค จัดทำข้อเสนอแนะการปฏิรูปเรือนจำ-ราชทัณฑ์ถึงรัฐบาลในเอเชียอาคเนย์ เพื่อให้สอดรับกับหลักสิทธิมนุษยชน 

ศยามล ไกรยูรวงศ์ (ซ้าย) และวสันต์ ภัยหลีกลี้ (ขวา) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. แถลงข่าวครั้งที่ 10/2564

3 ธ.ค. 64 ผู้สื่อข่าวได้รายงานเมื่อ 2 ธ.ค. 64 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 10 ระบุ กสม.ไทย ร่วมกับสถาบันมนุษยชนแห่งชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEANF) เปิดตัวแนวปฏิบัติว่าด้วยการป้องกันการทรมานระดับภูมิภาค ผลักดันการปฏิรูปเรือนจำและระบบราชทัณฑ์ให้สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชน 

เมื่อ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา พรประไพ กาญจนรินทร์ ประธาน กสม. ผศ.สุชาติ เศรษฐมาลินี ปิติกาญจน์ สิทธิเดช และนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ สมาชิก กสม. เข้าร่วมการประชุมประจำปีครั้งที่ 18 ของกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia National Human Rights Institutions Forum - SEANF) ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของอินโดนีเซีย (Komnas HAM) มาเลเซีย (SUHAKAM) เมียนมา (MNHRC) ฟิลิปปินส์ (CHRP) และผู้ตรวจการแผ่นดินของติมอร์-เลสเต (PDHJ) 

ในการนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันเปิดตัว “แนวปฏิบัติของ SEANF ว่าด้วยการป้องกันการทรมาน” (South East Asia National Human Rights Institutions Forum’s Guidelines on Torture Prevention) อย่างเป็นทางการ โดยแนวปฏิบัติดังกล่าวเป็นเอกสารที่รวบรวมและเสนอแนวทางการป้องกันการทรมานเพื่อให้สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้ในการแก้ไขปัญหาการทรมานที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ โดยมีสาระสำคัญ เช่น สถานการณ์การป้องกันการทรมานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้อแนะนำการปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเรื่องการป้องกันการทรมานและความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ แนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจต่อสาธารณะในเรื่องการป้องกันการทรมาน การปกป้องบุคคลที่อยู่ในสถานการณ์เสี่ยงต่อการถูกทรมาน เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือ และการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment-CAT) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม โดยประเด็นการป้องกันการทรมาน เป็นหนึ่งในสี่ประเด็นสำคัญหลักที่ SEANF จะขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ของ SEANF พ.ศ. 2565-2569

ก่อนหน้านี้ กสม. ได้มีข้อเสนออย่างต่อเนื่องให้รัฐบาลเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 64 ประธาน กสม. แจ้งข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัติฯ ไปยังประธานรัฐสภา ทั้งในส่วนหลักการสำคัญของกฎหมาย เช่น การเป็นสิทธิเด็ดขาดที่ไม่อาจละเมิดได้และไม่ควรมีอายุความ การดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ การดำเนินคดีในชั้นศาล และการกำหนดให้มีคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายด้วย 

นอกจากการประชุมประจำปีของ SEANF เมื่อวันที่ 29-30 พ.ย. 64 ประธาน กสม. และปิติกาญจน์ สิทธิเดช สมาชิก กสม. เข้าร่วมการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการปฏิรูปเรือนจำ (Regional Conference on Prison Reform) ร่วมกับสมาชิก SEANF ผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ทั้งจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม และองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยได้มีการหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความท้าทายด้านสิทธิมนุษยชนในระบบราชทัณฑ์ และการสนับสนุนวาระว่าด้วยการปฏิรูปเรือนจำในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ที่กำลังประสบข้อท้าทายต่างๆ ร่วมกัน โดยเฉพาะปัญหาเชิงระบบของงานราชทัณฑ์ ซึ่งหลังจากนี้ SEANF จะได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายหรือข้อหารือส่งไปยังรัฐบาลของแต่ละประเทศหรือเสนอในกรอบความร่วมมือของอาเซียนเพื่อให้มีการปฏิรูประบบราชทัณฑ์และกระบวนการยุติธรรมที่สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลต่อไป 

“ประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังสูงสุดในอาเซียน และเป็นอันดับที่ 6 ของโลก ประสบปัญหาสถานที่ควบคุมไม่เพียงพอและได้สัดส่วนกับจำนวนผู้ต้องขัง ซึ่งนำไปสู่ปัญหาความแออัดอันเสี่ยงต่อการได้รับและแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และปัญหาผู้ต้องขังได้รับการปฏิบัติดูแลตามสิทธิขั้นพื้นฐานและมาตรฐานสากลอย่างไม่ทั่วถึง การปฏิรูปเรือนจำและระบบราชทัณฑ์ รวมทั้งสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เช่น การใช้มาตรการทางเลือกอื่นในการลงโทษแทนการคุมขัง การทบทวนกฎหมายที่มีโทษทางอาญาโดยไม่จำเป็น การป้องกันการทรมาน จึงเป็นนโยบายสำคัญที่ กสม. ให้ความสำคัญและเร่งขับเคลื่อนทั้งในระดับชาติและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” สมาชิก กสม. กล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท