‘ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ’ นั่งประท้วงทวงสัญญา 1 ปี ประยุทธ์ หยุด ‘นิคมอุตสาหกรรมจะนะ' เพื่อกลับไปทำให้ถูกต้อง

'ไครียะห์ ลูกสาวแห่งท้องทะเลจะนะ' นั่งหน้าทำเนียบฯ วันที่ 4 ประท้วงทวงสัญญา 1 ปี ประยุทธ์ หยุด ‘นิคมอุตสาหกรรมจะนะ' ชั่วคราว เพื่อกลับไปทำให้ถูกต้อง แต่ที่ผ่านมา ศอ.บต.-หน่วยงานในพื้นที่ยังคงเคลื่อนไหวโครงการต่อ เจ้าตัวเล็งยื่นหนังสือ กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ให้ช่วยลงพื้นที่ตรวจสอบ

2 ธ.ค. 2564 ที่บริเวณด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล ไครียะห์ ระหมันยะ เยาวชนอายุ 19 ปี จากกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น เจ้าของฉายาลูกสาวแห่งท้องทะเล มานั่งหน้าทำเนียบรัฐบาลเป็นวันที่ 4 เพื่อทวงสัญญาเมื่อ 1 ปีที่แล้วซึ่งรัฐบาลเคยให้ไว้ว่าจะหยุดโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา เอาไว้ชั่วคราว เนื่องจากมีการดำเนินโครงการที่บิดเบี้ยว ไม่เป็นไปตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และไม่เป็นที่ยอมรับของคนในพื้นที่ด้วย 

ภาพ ไครียะห์ ขณะนั่งประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาล

โดยเมื่อปีที่แล้วระหว่างวันที่ 10-15 ธ.ค. 2563 เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นมีการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณายกเลิกโครงการเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา ซึ่งมีการทำสัญญาบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างเครื่อข่ายจะนะรักษ์ถิ่นกับรัฐบาลโดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ปัญหาแก้ไขปัญหาขบวนการประชาชนที่เป็นธรรมหรือ P-Move ซึ่งได้ยอมรับข้อเสนอของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นไว้ รายละเอียดและใจความสำคัญของข้อตกลงดั่งกล่าวนั้นระบุไว้ด้วยกัน 3 ข้อ

1. รัฐบาลจะตรวจสอบการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนใต้หรือศอ.บต.

2. รัฐบาลจะจัดให้มีการศึกษาในเชิงยุทธ์ศาสตร์หรือ (SEA) แบบมีส่วนร่วมโดยจะต้องออกแบบคณะศึกษาให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

3. ระหว่างนี้จะยุติการดำเนินการทุกอย่างในโครงการนี้เอาไว้ก่อนจนกล่าวกระบวนการในข้อ 1 และข้อ 2 จะแล้วเสร็จ 

หลังจากได้มีการทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นกับรัฐบาล ด้วยระยะเวลาที่ผ่านมาเกือบ 1 ปี รัฐบาลยังไม่มีท่าทีว่าจะดำเนินการทำตามข้อตกลงที่สัญญาไว้ อีกทั้งอาจจะมีการจัดเวทีรับฟังความเห็นต่อกรณีนิคมอุตสาหกรรมจะนะในเร็วๆ นี้ เพื่อดำเนินการจัดทำกระบวนการปรับเปลี่ยนผังเมืองในพื้นที่ โดยปรับเปลี่ยนจากพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่สำหรับการเกษตรและพื้นที่อนุรักษ์ป่าไม้เปลี่ยนไปเป็นพื้นที่สีม่วงหรือพื้นที่สำหรับการทำอุตสาหกรรม  ซึ่งไครียะห์มองว่าผิดกับสัญญาที่เคยให้ไว้ จึงเดินทางมาหน้าทำเนียบเพื่อทวงสัญญาดังกล่าว 

“เหตุผลที่หนูมาวันนี้ก็เพราะว่าในพื้นที่จะมีการจัดทำเวทีรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนิคมอุตสาหกรรมซึ่งมันไม่สอดคล้องกับ MOU ที่เคยให้ไว้กับเราที่ต้องยุติโครงการหรือการดำเนินการทั้งหมดแล้วมาทำ SEA การศึกษาในเชิงยุทธศาสตร์ ถามว่าในพื้นที่ตอนนี้มีเวทีรับฟังความเห็นนั้นมีขึ้นเพื่อที่จะพยายามผลักดันโครงการนิคมอุตสาหกรรม หนูก็เลยจำเป็นต้องมาถามว่า MOU ที่เคยทำกับพี่น้องประชาชนในปีก่อนนั้นมันหายไปไหน อีกอย่างที่หนูสงสัยก็คือโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะนี้สร้างโดยบริษัทเอกชน TPIPP และ IRPC และที่สำคัญคือมีหน่วยงาน ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเป็นองค์กรที่อำนวยและผลักดันให้เกิดโครงการนิคมอุตสาหกรรมนี้ขึ้น ซึ่งทำไมไม่อำนวยให้ประชาชนในฐานะเจ้าของพื้นที่จริงๆ อีกทั้ง ศอ.บต นั้นเป็นองค์กรที่มีขึ้นเพื่อช่วยเหลือประชาชนแต่กลับกันกลับไม่ได้ช่วยอะไรเราเลย” ไครียะห์ กล่าว

ไครียะห์ ยืนยันว่า จะอยู่ต่อจนกว่าจะได้คำตอบเป็นเรื่องเป็นราวจนกว่าจะได้ดำเนินการอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งวันนี้เจ้าหน้าที่ของทำเนียบเองก็พยายามที่จะแอ็คชั่น แต่ถ้าในความรู้สึกตนมันยังตอบโจทย์ หนังสือที่ให้มามันคือหนังสือขอความคืบหน้าที่ส่งไปให้ทาง ศอ.บต. ซึ่ง MOU ที่ทำร่วมกันนั้นไม่เกิน 6 เดือน แต่นี้มันเลยมา 365 วัน นับเป็น 1 ปี เต็มๆ มันทำงานล้าช้าถึงขนาดนั้นเลยหรือไม่ หรือว่าแค่อยากจะซื้อและยื้อเวลาไว้เฉยๆ

"คิดว่า MOU ที่ได้ทำร่วมกันระหว่างกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นกับรัฐบาลเมื่อ 1 ปีที่แล้วนั้นน่าจะเป็นที่เข้าใจร่วมกันระหว่างทั้งสองฝ่าย หากจะพัฒนาจะนะจริงๆ เรายุติทั้งหมดหรือกระบวนการทั้งหมดและมาร่วมนับ 1 กันร่วมกันใหม่ว่าจะนะนั้นมีศักยภาพหรือทรัพยากรในพื้นที่มากน้อยเพียงใดและจะพัฒนาสิ่งที่มีอยู่แล้วอย่างไร การพัฒนาในความเข้าใจของหนูก็คือการรักษาสิ่งที่มีอยู่และต่อยอดสิ่งเหล่านั้นให้สามารถไปต่อได้และพัฒนาให้ดีขึ้น แต่หนูไม่เข้าใจว่ารัฐบาลจะพัฒนาบ้านเกิดหนูอย่างไร การพัฒนาของรัฐบาลคือการนำเอาสิ่งที่มีอยู่ ทรัพยากร อากาศ ทะเล สิ่งเหล่านั้นออกไปทั้งหมดและนำเอานิคมอุตสาหกรรมเข้ามาแทนที่ ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมก็ไม่สามารถที่จะวัดได้เลยว่าความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่จะดีขึ้นหรืออาจจะทำให้แย่ลง ซึ่งตัวอย่างก็มีอยู่ให้เห็นเยอะมากว่าการพัฒนาในรูปแบบนิคมอุตสาหกรรมจะนะนั้นมันล้าหลังไปแล้วหรือเปล่า หนูอยากให้รัฐบาลทบทวนการพัฒนาของคุณใหม่” ไครียะห์ กล่าว 

ไครียะห์ เล่าต่อว่าตอนนี้ในพื้นที่ก็มีการเคลื่อนไหวยื่นหนังสือให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาว่าขอให้ยุติเวทีรับฟังความเห็นที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ไปก่อน เนื่องด้วยสถานการณ์หลายๆ อย่างที่เป็นเงื่อนไขที่บ่งชี้ว่าในเวลานี้ไม่ควรที่จะคิดริเริ่มทำเวทีรับฟังความเห็นในพื้นที่เวลานี้ ซึ่งถ้าหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นหรือหากยังไม่มีคำตอบให้ประชาชนได้รับรู้ก็อาจจะมีพี่น้องตามมาสมทบเพิ่มขึ้นเพราะคงไม่มีใครทนเห็นตนนั้งอยู่คนเดียวแบบนี้ได้ตลอด อาจจะมากันเยอะกว่ารอบที่แล้วแน่ๆ รอบที่พวกเรามาเพื่อมาส่งจดหมายถึงประยุทธ์กันครั้งก่อน หากยังไม่ได้คำตอบที่เราต้องการหรือหากรัฐบาลยังคงมองไม่เห็นหัวประชาชน 

“ในปัจจุบันรัฐมีแผนที่จะมีการพัฒนาทั้งในแบบอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ทั้งหัวรถจักร รวมทั้งโครงการแลนด์บริดจ์ที่เชื่อมต่อระหว่างทะเลอ่าวไทยกับทะเลอันดามันจากจังหวัดสงขลาสู่จังหวัดสตูล ระยะทาง 142 กิโลเมตร หนูอยากให้เราลองคิดว่าความเป็นอยู่และวิถีชีวิตชาวบ้านจะเป็นอย่างไร หนูย้ำว่าถ้าหากรัฐบาลรับผิดชอบชีวิตของประชาชนไม่ได้ หนูอยากให้ประชาชนในพื้นที่สามารถที่จะออกแบบชีวิตของเขาได้ด้วยตนเอง พื้นที่ของเขาบ้านของเขาเรารู้ดีที่สุด ไม่ใช่ใครที่ไหนหรือคนนอกที่จะมาพัฒนาแทนซึ่งมันไม่ตอบโจทย์ ซึ่งในอดีตประชาชนชาวจะนะก็ยืนด้วยลำแข้งของตัวเองมานานมากนับตั้งแต่เรือประมงพาณิชย์เข้ามาในทะเลจนทำให้เป็นทะเลร้างแต่ในที่สุดทะเลก็เริ่มกลับมาฟื้นฟูด้วยคนในพื้นที่เองจนทะเลกลับมามีความอุดมสมบูณร์อีกครั้ง ตอนนั้นชาวบ้านก็ได้เรียนรู้ถึงความสูญเสีย สูญเสียถึงอาชีพ สูญเสียถึงวิถีชีวิต พอได้เรียนรู้ถึงความเจ็บปวดในครั้งนั้นจึงให้คิดว่าหากเกิดขึ้นกับลูกหลานของหนูและของพี่น้องชาวจะนะอีก หนูก็คงเสียใจที่ต้องปล่อยให้ชะตากรรมแบบนั้นตกไปยังพวกเขา” ไครียะห์ กล่าว

The Reporters รายงาน 16.30 ณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.จังหวัดสงขลา พรรคภูมิใจไทย ได้เดินทางมาเยี่ยมไครียะห์หน้าทำเนียบรัฐบาล ณัฐฎ์ชนน กล่าวว่า วันนี้มาเยี่ยมไครียะห์ ในฐานะที่เป็นคนสงขลาเดียวกัน ส่วนการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เป็นคนละเรื่องกัน แต่ต้องการมาดูแลเยาวชนที่มาจากบ้านเดียวกันว่า นอนที่ไหน เป็นยังไง อาหารเป็นอย่างไร มีที่ละหมาดหรือเปล่า มาให้กำลังใจในฐานะคนบ้านเดียวกัน พร้อมนำอาหารฮาลาลและเงินจำนวนหนึ่งมามอบให้ด้วย

ไครียะห์ กล่าวก่อนที่จะยุติกิจกรรมในวันนี้ว่าจะยังคงนั่งหน้าทำเนียบอยู่ทุกๆ วันเวลาเดิม 16.00 เย็น และยังไม่มีกำหนดกลับจนว่าจะได้คำตอบจากรัฐบาลตามที่พี่น้องประชาชนต้องการเพื่อที่จะสามารถรับรู้ความเป็นจริงที่ว่ารัฐบาลเคยสัญญาไว้นั้นคำสัญญาเหล่านั้นยังคงเป็นจริงอีกหรือไม่ และตนก็ต้องการกลับไปเรียนหนังสือเพราะตอนนี้ทางมหาวิทยาลัยก็เปิดภาคเรียนแล้วกลัวว่าจะเรียนไปทันเพื่อนๆ อยากกลับไปใช้ชีวิตเหมือนปกติ

'ก้าวไกล' ให้กำลังใจ

ขณะที่ทีมสื่อสื่อพรรคก้าวไกล รายงานด้วยว่า ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ส.ส.พรรคก้าวไกล เดินทางมาให้กำลังใจ ไครียะห์ โดย ประเสริฐพงษ์ บอกว่า ตนเองและเพื่อน ส.ส.พรรคก้าวไกล อยากมาให้กำลังใจ เพราะสิ่งที่ไครียะห์ทำเป็นการปกป้องบ้านเกิด ป้องป้องทรัพยากรในท้องถิ่นของตัวเอง ซึ่งเมื่อ 1 ปีที่แล้วพี่น้องชาว อ.จะนะ จ.สงขลา ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ได้มาปักหลักประท้วงที่หน้าทำเนียบรัฐบาล และต่อมา รัฐบาลได้สัญญาว่าจะระงับโครงการดังกล่าวไว้ก่อน 6 เดือน เพื่อไปดำเนินการตามกระบวนการต่างๆ ให้ถูกต้อง หากแต่ว่าในความเป็นจริงแล้ว ยังมีหน่วยงานในพื้นที่อย่าง ศอ.บต.มีความเคลื่อนไหวเรื่องโครงการนี้ตลอดเรื่อยมา ไม่ได้หยุด ยังมีการจัดทำเวทีที่ไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับเขตอุตสาหกรรมพิเศษจะนะ พวกเขาเอาเฉพาะคนที่เห็นด้วยกับส่วนราชการเท่านั้นเข้าร่วม คือ พูดง่ายๆ ว่าหน่วยงานในพื้นที่ยังขัดคำสั่งของระดับประเทศ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ถามว่าใครใหญ่กว่าใครก็ไม่รู้

"เรื่องนี้จะก่อให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่ในพื้นที่ ทำให้ภาคประชาชนไม่พอใจเป็นอย่างมาก สำหรับการมาทวงถามสัญญาที่รัฐบาลเคยให้ไว้ รัฐบาลเคยบอกว่าถ้าจะมาก็มาคนเดียว ซึ่งนี่ไครียะห์เขามาคนเดียวแล้ว แต่ทว่าก็ไม่ได้หมายความว่าประชาชนในพื้นที่จะไม่มาสมทบนะถ้ารัฐบาลเบี้ยว ไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ ทุกคนพร้อมเดินทางมาทวงสัญญารัฐบาล อย่างไรก็ตาม พรุ่งนี้ทราบว่าไครียะห์จะไปยื่นหนังสือต่อ ประธานกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่ ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.พรรคก้าวไกลเป็นประธาน เพื่อให้ กมธ.ชุดดังกล่าวเข้าพื้นที่ไปตรวจสอบการจัดเวทีต่างๆ ของ ศอ.บต. แหละหน่วยงานในพื้นที่ที่ยังมีความเคลื่อนไหว้ให้โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะยังคงดำเนินต่อไป" ประเสริฐพงษ์ กล่าว

อนึ่ง ฉายา’ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ’ นั้นมาจากพื้นเพเดิมของไครียะห์ฺที่เป็นลูกหลานของชาวประมงในพื้นที่จะนะ จังหวัดชายแดนใต้หรือปาตานี และเติบโตมากับวิถีชีวิตที่มีความผูกพันธ์กับหาดสวงกง ซึ่งเมื่อตนได้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องบ้านเกิดของตัวเองจากการพัฒนาและการสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่พวกเขามองว่าไม่ตอบโจทย์บริบทสังคมและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่จะนะ จึงได้มีคนเรียกขานตนว่าเป็น ’ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ’

สำหรับ มูฮัมหมัดอานัส หลงเดวา ผู้เขียนรายงานชิ้นนี้ เป็นนักศึกษาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.อ. ปัตตานี ปัจจุบันร่วมฝึกงานกับกองบรรณาธิการประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท