สุรพศ ทวีศักดิ์: ปรัชญากับ ‘การแบน’ ของคนรุ่นใหม่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดกระแสคนรุ่นใหม่ “แบนลูกหนัง” ศีตลา วงษ์กระจ่าง ที่กำลังเตรียมเดบิวต์เป็น 1 ในไอดอลวงเกิร์ลกรุ๊ปน้องใหม่ของเกาหลี วง H1-KEY (ฮายคีย์) จากค่าย GLG (Grandline Group) มีกำหนดเดบิวต์ใน 5 มกราคม 2565 ด้วยเหตุผลว่า เธอเป็นลูกสาวของศรัณยู วงษ์กระจ่าง อดีตแกนนำ พธม. และ กปปส.ที่มีส่วนสนับสนุนรัฐประหาร 2549 และรัฐประหาร 2557 อีกทั้งมีการนำภาพเธอร่วมชุมนุมกับ กปปส. มาแชร์ในโลกโซเชียลด้วย และสื่อเกาหลีก็มีการนำเสนอข่าวกระแสการแบนด้วยเหตุผลดังกล่าว

กรณีนี้เราเรียนรู้ได้หลายแง่ ความคิดทางปรัชญาจะช่วยให้เราเข้าใจเหตุผลในมุมกว้างและลึกมากขึ้น บทความนี้จะลองชวนคิดสอง สาม ประเด็น

ประเด็นแรก ทำไมจึงไม่ควรสนับสนุนรัฐประหาร

การทำรัฐประหารซ้ำซาก เป็นวิถีทางได้มาและรักษาอำนาจการปกครองแบบเผด็จการไทยๆ อาจเรียกได้ว่าเป็นการใช้อำนาจแบบทรราชย์ ตามมุมมองของจอห์น ล็อก ในหนังสือ “ความเรียงที่สองว่าด้วยการปกครอง” (สมบัติ จันทรวงศ์ แปล) หน้า 155 ล็อกนิยามว่า “ทรราชย์คือการใช้อำนาจที่เกินเลยสิทธิ ซึ่งไม่มีใครมีสิทธิทำได้” 

ชัดเจนอยู่แล้วว่า หลักการประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย ไม่เคยระบุ “สิทธิในการทำรัฐประหาร” (และการเซ็นต์รับรองรัฐประหาร) ไว้เลย ตรงกันข้ามเลยคือ มีการระบุไว้ชัดในมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 ที่ถือกันว่าเป็นรัฐธรรมที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่งของไทยว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้” ดังนั้น การทำรัฐประหารและการเซ็นต์รับรองรัฐประหาร จึงเป็นการใช้อำนาจเกินเลยสิทธิตามนิยามของล็อก และเป็นการใช้อำนาจที่ขัดรัฐธรรมนูญ (ที่ถูกฉีกทิ้งไปโดยรัฐประหาร 2549)

จากมุมมองของล็อก รัฐประหารถือเป็นการใช้อำนาจเกินเลยสิทธิ เพราะเป็นการใช้กองกำลังทำลายหลักสิทธิและเสรีภาพทางการเมือง หลักอำนาจอธิปไตย และความยินยอมของประชาชน ดังนั้น เมื่อรัฐประหารล้มล้างสิทธิและเสรีภาพ และอำนาจอธิปไตยของประชาชนเป็นสิ่งที่ผิด “สิทธิในการสนับสนุนรัฐประหาร” จึงไม่ถูกยืนยัน 

นอกจากล็อกจะไม่ยืนยันว่า เราควรมีสิทธิในการสนับสนุนรัฐประหารแล้ว เขายังยืนยันว่า หากเมื่อใดเผด็จการทรราชใช้กองกำลังล้มล้างสิทธิตามธรรมชาติของประชาชน ย่อมเป็นสิทธิชอบธรรมของประชาชน ที่จะต่อต้าน หรือล้มล้างอำนาจเผด็จการทรราชนั้นเสีย

ตามรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 63 “บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้” ความหมายตรงไปตรงมาตามมาตรานี้คือ เราไม่มีสิทธิและเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งย่อมหมายความด้วยว่า เราไม่มีสิทธิและเสรีภาพสนับสนุนการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยด้วย อุปมาเหมือนการข่มขืนและฆ่า ไม่มีใครมีสิทธิและเสรีภาพจะทำได้ และจึงไม่มีใครมีสิทธิและเสรีภาพจะสนับสนุนการข่มขืนและฆ่าได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ความจริงของการเมืองบ้านเรา กลับตรงข้ามทั้งหลักการเสรีนิยมแบบล็อก และบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญของเราเอง นั่นคือ การทำรัฐประหารไม่เคยถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่กลับตัดสินว่าการปราศรัยปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย 

นอกจากนี้ ยังมีบางคนบางกลุ่มยืนยันด้วยว่า “การสนับสนุนรัฐประหาร/เผด็จการเป็นสิทธิ” แต่ตามหลักเสรีนิยมถือว่า การล้มล้างเผด็จการทรราชย์เป็นสิทธิของประชาชน ในวัฒนธรรมการต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพ และความยุติธรรมในสังคมเสรีประชาธิปไตยก็ถือว่า การต่อต้านกฎหมายที่อยุติธรรม หรือกฎหมายที่ขัดหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็น “หน้าที่” ของประชาชน ดังวาทกรรมปลุกเร้ามโนธรรมสำนึกของประชาชนที่ว่า “เมื่อความอยุติธรรมกลายเป็นกฎหมาย การต่อต้านจึงต้องเป็นหน้าที่” แต่ในบ้านเรา ประชาชนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านกฎหมายอยุติธรรม ที่ขัดหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่นรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจเผด็จการ และกฎหมายอาญา มาตรา 112 กลับถูกจับติดคุกจำนวนมาก

ดังนั้น กลุ่มอำนาจที่ทำรัฐประหาร จึงเป็นพวกทรราชตามนิยามของล็อก เพราะพวกเขาคือพวกล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยตัวจริง การสนับสนุนรัฐประหารจึงเป็นการสนับสนุนการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย การล้มล้างอำนาจอธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน จึงไม่อาจกล่าวอ้างได้อย่างสมเหตุสมผลว่า การสนับสนุนรัฐประหาร/เผด็จการทรราชเป็น “สิทธิ” อันชอบธรรม หรือสิทธิที่พึงกระทำ

เมื่อเป็นเช่นนี้ การแบนผู้สนับสนุนรัฐประหาร อันเป็นการแสดงออกที่มุ่งสื่อความหมายสำคัญว่า เป็นการต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นการสนับสนุนรัฐประหาร หรือสนับสนุนระบบเผด็จการทรทราชย์ จึงเป็นสิทธิและเสรีภาพอันชอบธรรมของประชาชนตามหลักการเสรีนิยม และตามรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาธิปไตย 2540 

ประเด็นที่สอง ปัญหาการใช้เสรีภาพเพื่อที่จะไม่มีเสรีภาพ

ใน “ความเรียงว่าด้วยเสรีภาพ” (On Liberty) ของจอห์น สจ๊วต มิลล์ ยืนยันหลักการแห่งเสรีภาพว่า ปัจเจกบุคคลคือ “องค์อธิปัตย์” ผู้มีสิทธิเหนือชีวิต ร่างกาย และจิตใจของตนเอง ดังนั้น เราในฐานะปัจเจกบุคคลจึงเป็นเจ้าของเสรีภาพ และสามารถใช้เสรีภาพในการทำตามเจตจำนงและความต้องการใดๆ ของตนเองได้อย่างเต็มที่ ตราบที่ไม่ไปทำอันตรายต่อคนอื่น รัฐหรือสังคมจะมีสิทธิยับยั้งการใช้เสรีภาพของเราได้ด้วยเหตุผลเพียงประการเดียวเท่านั้นคือ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับคนอื่น

เป็นไปได้ไหมว่า บางคนอาจมีความต้องการ หรือพึงพอใจ กระทั่งมีความสุขที่จะสมัครใจเป็นทาสของนายทาส ตามข้อเท็จจริงแล้วก็น่าจะมีคนเช่นนี้อยู่จริง เพราะในสังคมศักดินาน่าจะมีการประกอบสร้างสำนึกที่ว่า “เป็นบุญวาสนาของบ่าว ที่มีนายดีมีเมตตาธรรม” ดังที่เราเห็นในละครย้อนยุคว่ามีทาสผู้มีความสุขกับการอุทิศตนรับใช้นายทาสที่เขาจงรักภักดี 

แต่มิลล์เห็นว่าปัจเจกบุคคล “ไม่ควรใช้เสรีภาพเพื่อที่จะไม่มีเสรีภาพ” เช่น การใช้เสรีภาพเลือกที่จะขายตัวเองเป็นทาส เพราะผลของมันคือเขาสูญเสียเสรีภาพ สำหรับมิลล์ เราควรใช้เสรีภาพอย่างสอดคล้องกับการคงอยู่ของเสรีภาพ เพราะเสรีภาพคือเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้ของการเติบโตและความสุขของปัจเจกบุคคล และการมีเสรีภาพยังจำเป็นต่อความก้าวหน้าของมนุษยชาติ โดยนัยนี้ เราจึงเข้าใจได้ว่า ทำไมสังคมอารยะจึงต้องปฏิเสธการค้าทาส ด้วยเหตุผลว่ามันผิดศีลธรรมและกฎหมาย

เมื่อเราไม่ควรใช้ “เสรีภาพของปัจเจกบุคคล” (individual freedom) เพื่อที่จะไม่มีเสรีภาพของปัจเจกบุคคล เช่น การใช้เสรีภาพขายตัวเองเป็นทาส ทำให้เราไม่มีเสรีภาพในการใช้ชีวิตส่วนตัวอีกต่อไป แล้วเราควรใช้ “เสรีภาพทางการเมือง” (political freedom) เพื่อที่จะไม่มีเสรีภาพทางการเมืองหรือไม่ เช่น ใช้เสรีภาพในการพูด การแสดงออก การชุมนุมสนับสนุนรัฐประหาร การเรียกร้องให้ใช้กฎหมายเผด็จการล่าแม่มดคนคิดต่างทางการเมืองเป็นต้น ที่ส่งผลให้สูญเสียเสรีภาพทางการเมือง 

ตามข้อเท็จจริงในบ้านเราคือ การใช้เสรีภาพทางการเมืองสนับสนุนรัฐประหาร หากเป็นการพูด การแสดงออก การชุมนุมอย่างสันติก็ไม่มีผลกระทบใดๆ ต่ออิสรภาพของผู้ใช้เสรีภาพนี้ ยกเว้นการยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสถานที่ราชการ ยึดสนามบิน ปิดสนามเลือกตั้งเป็นต้น (แต่กระนั้นก็ตาม หากเปรียบเทียบผลกระทบที่แกนนำ พธม., กปปส.ได้รับ กับแกนนำเสื้อแดงและคนรุ่นใหม่ได้รับ ก็ต่างกันราวฟ้ากับเหว) แต่ผลกระทบต่อสังคมส่วนรวมนั้นมากเกินประเมินได้ เพราะรัฐประหารไม่ใช่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ หากไม่มีมวลชนสนับสนุน แต่รัฐประหารที่เกิดจากมวลชนสนับสนุนก็ส่งผลให้การเมืองของประเทศถอยหลังลงเหวมาถึงทุกวันนี้ 

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาว่า เราจะอ้างเรื่องการใช้เสรีภาพทางการเมืองสนับสนุนรัฐประหารที่ส่งผลเสียหายต่อสังคมส่วนรวม เพื่อ “แบนลูกหนัง” ได้อย่างมีเหตุผลหรือไม่ 

มองจากทัศนะของมิลล์ การใช้เสรีภาพทางการเมืองเพื่อที่จะไม่มีเสรีภาพทางการเมืองอีกต่อไปย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ (ชุมนุมสร้างเงื่อนไขไปสู่ รปห.คือการใช้เสรีภาพทางการเมือง การเกิด รปห.=สิ้นสุดการมีเสรีภาพทางการเมือง ถ้าแกนนำและผู้ชุมนุมยืนยันว่าไม่ต้องการให้เกิดรัฐประหารเพื่อยุติเสรีภาพทางการเมือง แต่เราก็ไม่เคยเห็นพวกเขาออกมาต่อต้านเผด็จการทรราชที่ได้อำนาจมาโดยรัฐประหาร จึงจะตีความว่า “พวกเขาไม่ได้สนับสนุนรัฐประหาร/เผด็จการเลย” ไม่ได้) ดังนั้น ประชาชนย่อมมีสิทธิต่อต้านการสนับสนุนรัฐประหารได้ การแบนทางทวิตเตอร์หรือสื่อโซเชียลเป็นสันติวิธีอย่างหนึ่งที่ต้องการสื่อสารต่อสังคมว่า คนรุ่นใหม่เริ่ม “ปักธง” ต่อต้านการสนับสนุนรัฐประหาร/เผด็การทุกรูปแบบ จึงย่อมไม่ขัดหลักเสรีภาพในการพูด การแสดงออก หากไม่มีการทำอันตรายต่อคนอื่น เช่น ไม่ไปใช้กำลังบีบบังคับต้นสังกัดของลูกหนังให้ปลดเธอจากโอกาสในการเดบิวต์ที่จะมีขึ้น เหมือนที่พวกล่าแม่มดใช้กำลังบังคับคนคิดต่าง ตามภาพข้างล่าง

ประชาทัณฑ์คนงานวัยรุ่นชลบุรี ถูกกล่าวหาว่าโพสต์หมิ่นฯ
ที่มา https://prachatai.com/journal/2016/10/68417

กรณีนี้เราได้เรียนรู้หลักเสรีภาพตามความคิดของมิลล์ว่า การใช้ “เสรีภาพทางการเมือง” ไม่อาจถูกลดทอนให้มีค่าเท่ากับการใช้ “เสรีภาพปัจเจกบุคคล” ได้ จริงที่ว่าการใช้เสรีภาพทางการเมืองเกิดจากเจตจำนงของเราแต่ละคน และแต่ละคนย่อมรับผิดชอบต่อผลตามมา แต่การใช้เสรีภาพทางการเมืองเป็นเรื่องสาธารณะ และมีผลกระทบต่อสาธาระหรือสังคมส่วนรวมในระดับที่แน่นอน ผลกระทบนี้จึงเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนได้รับเหมือนกัน และต่างมีส่วนรับผิดชอบร่วมกัน 

เช่น ธนาธร, ปิยบุตร (เป็นต้น) ใช้เสรีภาพทางการเมืองก่อตั้งพรรคการเมือง เสนอนโยบาย และความคิดเห็นต่างๆ ต่อสาธารณะ ตัวเขาเองคือผู้รับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดกับตน ขณะเดียวกันนโยบายและความคิดที่พวกเขาเสนอ ย่อมมีผลกระทบต่อสาธารณะ หรือสังคมส่วนรวม เช่นเดียวกับอานนท์ นำภา ใช้เสรีภาพทางการเมือง “เริ่ม” ปราศรัยสาธารณะเกี่ยวกับประเด็นปัญหาสถาบันกษัตริย์และขับเคลื่อนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เขาได้รับผลกระทบที่เกิดกับตัวเอง ขณะเดียวกันก็ช่วยให้สังคมตาสว่างและกล้าพูดความจริงมากขึ้น มีความหวัง และมองเห็นแนวทางสันติในการสร้างประชาธิปไตยชัดเจนขึ้น (หากไม่มืดบอดถึงที่สุดจริงๆ หรือแกล้งหลับ) 

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผลกระทบเชิงปัจเจก เช่น การต้องคดีต่างๆ ของธนาธร, ปิยบุตร, การติดคุกของอานนท์และฝ่ายประชาธิปไตยอีกหลายคน จึงไม่มีความหมายเป็นเพียง “เรื่องส่วนตัว” เท่านั้น เพราะพวกเขาเหล่านั้นสู้เพื่อส่วนรวม จึงมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่เห็นด้วยกับพวกเขา และลุกขึ้นมาต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับพวกเขา รวมทั้งต่อสู้ด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้อำนาจรัฐคืนสิทธิและเสรีภาพของแก่พวกเขา ด้วยตระหนักว่าสิทธิและเสรีภาพของนักต่อสู้เหล่านั้นที่สูญเสียไป ย่อมเท่ากับสิทธิและเสรีภาพของทุกคนสูญเสียไป เพราะไม่มีใครจะมีสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองได้จริง หากมีใครแม้เพียงหนึ่งหรือสองคนถูกอำนาจเผด็จการละเมิดสิทธิและเสรีภาพทางการเมือง

หรือในด้านตรงกันข้าม การใช้เสรีภาพทางการเมืองในทางสนับสนุนรัฐประหารของ พธม. และ กปปส. ก็ส่งผลกระทบให้สังคมถอยหลังย้อนยุคมาถึงวันนี้ โดยเฉพาะผลกระทบต่อฝ่ายที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ที่มีทั้งถูกอุ้มหายอุ้มฆ่า โดนคดี 112 มากเป็นประวัติการณ์ แม้แต่เยาวชนอายุ 14, 15 ปีก็โดนคดี 112 หลายคนติดคุก ไม่ได้สิทธิประกันตัว หลายคนลี้ภัยในต่างประเทศ ไม่รู้ว่าจะได้กลับบ้านเกิดเมื่อใด ครอบครัว ญาติมิตรของพวกเขาต่างร่วมแบกรับ เยาวชนรุ่นใหม่หลายคนถูกไล่ออกจากบ้าน เพราะมาชุมนุมต้านเผด็จการที่มาจากการสนับสนุนรัฐประหาร คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าพวกเขาถูกปล้นอนาคต สิ้นหวังกับสังคมที่ถอยหลังเสมือนถูกบังคับให้กลับไปอยู้ใต้อำนาจแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ 

ดังนั้น การแบนผู้สนับสนุนรัฐประหาร จึงเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ หากเปรียบเทียบกับอีกฝ่ายที่ตั้งกลุ่มล่าแม่มดแจ้งคดี 112 เอาผิดฝ่ายประชาธิปไตย ย่อมต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะการแบนไม่ได้ทำให้ใครต้องติดคุก และไม่ใช่การบีบบังคับให้ต้นสังกัดของผู้ถูกแบนต้องทำตามข้อเรียกร้องของฝ่ายที่แบน

พูดในทางจิตวิทยาการเมือง ถ้าการแบนฝ่ายสนับสนุนรัฐประหารก็ทำไม่ได้เลย แล้วจะให้ฝ่ายประชาธิปไตยรับมือกับความอยุติธรรมและความเจ็บปวดซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างไร จากการที่พวกเขาถูกปล้นอำนาจอธิปไตย เพื่อนร่วมอุดมการณ์ถูกอุ้มหาย อุ้มฆ่า ถูกฝ่ายตรงข้ามจัดตั้งกลุ่มล่าแม่มดแจ้งข้อหา 112, กฎหมายความมั่นคง, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จำนวนมาก แกนนำติดคุกโดยไม่ได้สิทธิประกันตัว เสียโอกาสในการเรียน ตกงาน เสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากที่ครอบครัวและญาติมิตรของพวกเขาต้องร่วมแบกรับ ผู้ที่ต้องลี้ภัยการเมืองอีกจำนวนมาก ก็ไม่ทราบชะตากรรมว่าจะได้กลับมาตายที่บ้านเกิดหรือไม่ จะให้พวกเขาเหล่านี้ทำอย่างไรหรือ ถ้าแม้แต่การแบนผู้สนับสนุนรัฐประหารก็ทำไม่ได้

  
ประเด็นสุดท้าย เหตุผลสาธารณะของการแบน

หากมองตามทัศนะของจอห์น รอลส์ ในงานชื่อ “เสรีนิยมทางการเมือง” (Political Liberalism) การใช้เสรีภาพทางการเมือง ย่อมเชื่อมโยงกับ “เหตุผลสาธารณะ” (public reason) หมายถึง การใช้เหตุผลที่สอดคล้องกับ “หลักความยุติธรรม” ทางสังคมและการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นหลักการที่ยืนยันว่า เราทุกคนคือ “พลเมืองเสรีและเสมอภาค” (free and equal citizens) ผู้เป็นเจ้าของเสรีภาพพื้นฐานด้านต่างๆ คือ เสรีภาพปัจเจกบุคคล และเสรีภาพทางการเมือง ดังนั้น การใช้เหตุผลสาธารณะ จึงต้องสอดคล้องกับการคงอยู่ของเสรีภาพพื้นฐานนี้ และจึงอ้างการสนับสนุนรัฐประหารที่เป็นการล้มล้างเสรีภาพทางการเมืองไม่ได้ 

ตัวอย่างเช่น แม้ฝ่ายสนับสนุนรัฐประหารจะอ้างเรื่อง “ปราบโกง” รอลส์ก็ย่อมจะเห็นด้วยว่าการโกงเป็นสิ่งที่ผิด สมควรปราบให้หมดไป แต่การปราบโกงต้องกระทำตามกระบวนการทางการเมืองและทางกฎหมายตามหลักนิติรัฐ (rule of law) ในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ไม่มีความชอบธรรมใดๆ ที่จะกระทำได้ด้วยการสนับสนุนรัฐประหารล้มล้างเสรีภาพทางการเมือง และระบอบประชาธิปไตย เพื่อปราบโกง ดังนั้น การอ้างเรื่องปราบโกงเพื่อใช้เสรีภาพทางการเมืองชุมนุมสนับสนุนรัฐประหาร จึงไม่อาจนับเป็นเหตุผลสาธารณะได้ เพราะขัดหลักความยุติธรรมทางสังคมและการเมืองในระบอบประชาธิปไตย 

พูดอีกอย่าง เมื่องมองจากความคิดเสรีนิยมแบบรอลส์ การใช้เสรีภาพทางการเมืองชุมนุมสนับสนุนรัฐประหาร ย่อมเป็นการสนับสนุนการทำลายหลักความยุติธรรมทางสังคมและการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง แต่การที่คนรุ่นใหม่อ้างเหตุผลว่า เพื่อปฏิเสธและต่อต้านการสนับสนุนรัฐประหาร จึงแบนผู้สนับสนุนรัฐประหาร เหตุผลนี้ย่อมเป็นเหตุผลสาธารณะได้ เพราะเป็นเหตุผลที่สอดคล้องกับการปกป้องหลักความยุติธรรมทางสังคมและการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม มีบางคนวิจารณ์ว่า “การแบนลูกหนัง เป็นวัฒนธรรมล้าหลัง เป็นศาลเตี้ย” แต่เมื่อมองในมุมทางวัฒนธรรมอย่างตรงไปตรงมา เราพบว่าตั้งแต่ยุค 2490 เป็นต้นมา มีขบวนการประอบสร้างวัฒนธรรมสนับสนุนเผด็จการอำนาจนิยมอย่างต่อเนื่อง ผ่านสถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา ระบบราชการ สื่อมวชน องค์กรที่ผู้มีอำนาจรัฐจัดตั้งอย่างเป็นทางการ เช่นลูกเสือชาวบ้าน และองค์กรที่ไม่เป็นทางการอื่นๆ เพื่อต่อต้านมวลชนฝ่ายประชาธิปไตย รวมทั้งการแสดงกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มุ่งส่งเสริมความเป็นไทยภายใต้อุดมการณ์ราชาตินิยม ขณะเดียวกันวัฒนธรรมต่อต้านเผด็จการ และต่อต้านการสนับสนุนเผด็จการ ก็ก่อตัวในรูปบทกวี วรรณกรรม เพลงเพื่อชีวิตในยุคก่อน เรื่อยมาถึงหมอลำ เพลงลูกทุ่งในม็อบเสื้อแดง จนถึงเพลงร็อค ฮิปฮอป เช่น เพลง “ประเทศกูมี” และอื่นๆ กระทั่งเกิดกระแสการแบนผู้สนับสนุนรัฐประหารในวัฒนธรรมการเมืองบนโลกโซเชียลปัจจุบัน

ภาพข้างล่าง เป็นเพียงบางตัวอย่างในอีกมากตัวอย่างนับไม่ถ้วน ที่ชี้ให้เห็นว่า “ตัวตนทางวัฒนธรรม” (cultural identity) ของเราถูกประกอบสร้างผ่านระบบการศึกษาของรัฐมาอย่างไร

ส่วนที่ว่าการแบนเป็น “ศาลเตี้ย” หรือไม่ ก็ต้องถามว่า การแบนที่เป็นการแสดงออกถึงการปฏิเสธและต่อต้านการสนับสนุนรัฐประหาร ถือเป็น “สิทธิ” ได้หรือไม่ 

ตอบแบบล็อก ย่อมเป็นสิทธิได้ เพราะสอดคล้องกับการปกป้องสิทธิตามธรรมชาติ ตอบแบบมิลล์ ย่อมเป็นสิทธิได้ เพราะไม่ทำอันตรายต่อคนอื่น และยังสอดคล้องกับการคงอยู่ของเสรีภาพปัจเจกบุคคลและเสรีภาพทางการเมือง และตอบแบบรอลส์ ย่อมเป็นสิทธิได้แน่นอน เพราะสอดคล้องกับหลักความยุติธรรมทางสังคมและการเมืองในระบอบประชาธิปไตย 

สำหรับคนที่มองว่าการแบนเป็นศาลเตี้ย ก็น่าถามว่า พวกเขานำเรื่องการแบนเพื่อปฏิเสธและต่อต้านการสนับสนุนรัฐประหารไป “เปรียบเทียบอย่างสมเหตุสมผล” กับกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การปราศรัยปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้เป็นประชาธิปไตยเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย และกรณีที่ศาลจำคุก “นักโทษทางความคิด” ที่สู้เพื่อประชาธิปไตยด้วยมาตรา 112 โดยไม่ให้สิทธิประกันตัวได้อย่างไร เพราะตามข้อเท็จจริงแล้ว การแบนไม่มีอำนาจบังคับใดๆ ที่ทำให้ผู้ถูกแบนสูญเสียเสรีภาพของปัจเจกบุคคล และเสรีภาพทางการเมืองได้จริงเหมือนอำนาจศาล

ในทางกลับกัน การสนับสนุนรัฐประหาร/เผด็จการทรราช ไม่ว่าจะมองแบบล็อก, แบบมิลล์ และแบบรอลส์ หรือแม้แต่มองตามกรอบรัฐธรรมนูญ 2540 ตามที่ยกตัวอย่างแต่ต้น ย่อมไม่อาจถือว่าเป็น “สิทธิ” อันชอบธรรมได้เลย 
 

ที่มาภาพปก:  https://www.brighttv.co.th/entertain/korea/sitala-korea-netizen-feedback

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท