Skip to main content
sharethis

วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีถูกกำหนดให้เป็น “วันพ่อแห่งชาติ” เนื่องจากตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ร.9) และในขณะเดียวกัน วันที่ 5 ธันวาคมก็ถูกกำหนดให้เป็น “วันชาติ” ของประเทศไทยมาตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. 2503 ในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งก่อการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2500

ทั้งนี้ การรัฐประหารครั้งนั้นถือเป็นครั้งแรกที่ ร.9 มีพระบรมราชโองการให้ประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ โดยไม่ได้เป็นพระบรมราชโองการผ่านผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ก่อนหน้าที่รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์จะประกาศให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันชาติ” ประเทศไทยหรือประเทศสยามในขณะนั้นได้ยึดถือเอาวันที่ 24 มิถุนายนของทุกปีเป็น “วันชาติ” ซึ่งตรงกับวันที่คณะราษฎรทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 18 ก.ค. 2481 กำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายนของทุกปีเป็น “วันชาติ”

จอมพลสฤษดิ์ระบุในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องการเปลี่ยนแปลงวันชาติว่า “ตามที่ได้กำหนดให้มีการเฉลิมฉลองวันชาติไทยในวันที่ 24 มิถุนายนนั้น ได้ปรากฎภายหลังว่ามีข้อที่ไม่เหมาะสมหลายประการ” แต่ไม่ได้ระบุว่าข้อที่ไม่เหมาะสมนั้นมีอะไรบ้าง แต่ในประกาศระบุว่า “ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติโดยทั่วไปนั้น ได้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติ เช่น ประเทศอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ค สวีเด็น ญี่ปุ่น ฯลฯ เป็นต้น” คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของจอมพลสฤดิ์จึงได้มีมติเปลี่ยนวันชาติมาเป็นวันที่ 5 ธันวาคม และได้มีการยึดถือวันดังกล่าวเป็นวันชาติแต่นั้นมา

ด้วยเหตุนี้ ประชาไทจึงพาไปสำรวจว่า “วันชาติ” ของแต่ละประเทศ โดยส่วนใหญ่แล้วยึดถือเอาวันที่มีความสำคัญใดเป็น “วันชาติ” แล้วประเทศที่มีกษัตริย์เป็นประมุขประเทศใดบ้างที่มี “วันชาติ” ตรงกับวันพระราชสมภพของกษัตริย์

 

สหราชอาณาอาจักร (UK) และเดนมาร์กไม่มี “วันชาติ”

เนื่องจากสหราชอาณาจักรประกอบไปด้วย 4 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ จึงไม่มีการกำหนด “วันชาติ” ร่วมกันอย่างเป็นทางการ และใน 4 ประเทศนี้ก็ไม่มีการกำหนด “วันชาติ” ของตนเองอย่างเป็นทางการ แต่ประชาชนมักยึดถือเอาวันสำคัญทางศาสนาเป็นการเฉลิมฉลองหลัก โดยในอังกฤษยึดวันเซนต์จอร์จ ซึ่งตรงกับวันที่ 23 เมษายนของทุกปีเป็นวันชาติในทางปฏิบัติ เวลส์เลือกวันเซนต์เดวิดซึ่งตรงกับวันที่ 1 มีนาคม ส่วนไอร์แลนด์เหนือใช้วันที่ 17 มีนาคม ซึ่งเป็นวันเซนต์แพตทริกเป็นวันชาติ ขณะที่สกอตแลนด์เลือกเอาวันเซนต์แอนดรูว์ ซึ่งตรงกับวันที่ 30 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นการเฉลิมฉลอง

แม้ประเทศอังกฤษจะมีการเฉลิมฉลองวันพระราชสมภพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทุกปีในช่วงวันเสาร์ที่สองของเดือนมิถุนายน แต่ไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการที่ระบุว่าวันดังกล่าวคือ “วันชาติ” อีกทั้งวันที่มีการเฉลิมฉลองดังกล่าว แท้จริงแล้วไม่ใช่วันพระราชสมภพที่แท้จริงของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 หรือกษัตริย์องค์ก่อนหน้า แต่เป็นวันขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าจอร์จที่ 2 ซึ่งในรัชสมัยของพระองค์ถือว่าสหราชอาณาจักรเริ่มเข้าสู่ยุคกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ เพราะผู้มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินคือ ‘เซอร์ โรเบิร์ต วอลโพล’ ที่ถือเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกแห่งสหราชอาณาจักร

ส่วนเดนมาร์กนั้นเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ไม่มีการกำหนด “วันชาติ” อย่างเป็นทางการ แต่ชาวเดนมาร์กมักยึดถือวันรัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงกับวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันชาติในทางปฏิบัติ เพราะวันดังกล่าวมีความสำคัญ คือ เป็นการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ค.ศ.1849 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ประกาศให้สถาบันกษัตริย์เดนมาร์กลงมาอยู่ใต้กฎหมายเดียวกันกับประชาชน จึงเป็นหมุดหมายการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญของเดนมาร์กได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมอีกหนึ่งครั้งและประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในวันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ.1953 ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับที่ใช้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ประเทศ(อดีต)อาณานิคมส่วนใหญ่ใช้วันประกาศอิสรภาพ เป็น “วันชาติ”

หนังสือพิมพ์ The Washington Post ของสหรัฐอเมริการวบรวมข้อมูล “วันชาติ” ทั่วโลกมาประมวลและพบว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลกกำหนดให้ “วันชาติ” ของตนตรงกับวันประกาศอิสรภาพ วันปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือวันก่อตั้งประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาที่กำหนดให้วันที่ 4 กรกฎาคมของทุกปีเป็น “วันชาติ” เพราะเป็นวันที่อาณานิคมทั้ง 13 แห่งของอังกฤษในทวีปอเมริกาเหนือประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นต่อราชอาณาจักรอังกฤษ และภายหลังได้ก่อตั้งเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นรัฐเอกราช เช่นเดียวกับหลายประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ที่มักใช้วันประกาศอิสรภาพหรือวันที่ได้รับเอกราชจากอังกฤษมาเป็นหมุดมายของการสร้างชาติ อาทิ พม่า ปากีสถาน มัลดีฟส์ จาไมกา รวมถึงบาร์เบโดส ที่เพิ่งถอดถอนกษัตริย์อังกฤษออกจากการเป็นประมุขของประเทศ และแต่งตั้งประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประมุขแทน ก็เลือกใช้วันที่ 30 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันชาติ เพราะตรงกับวันที่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ

ส่วนประเทศอดีตอาณานิคมของอังกฤษที่ไม่ได้ใช้วันประกาศอิสรภาพหรือวันที่ได้รับเอกราชเป็น “วันชาติ” นั้นก็มีอยู่บ้าง เช่น อินเดีย ที่กำหนดให้วันชาติตรงกับวันที่ 26 มกราคมของทุกปีเพราะเป็นวันที่ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐ ส่วนวันประกาศอิสรภาพของอินเดียซึ่งตรงกับวันที่ 15 สิงหาคมของทุกปีก็ถือเป็นวันสำคัญแยกไปอีกวัน ด้านแคนาดา ประกาศให้วันที่ 1 กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันชาติ เพราะตรงกับวันที่จักรวรรดิอังกฤษออกพระราชบัญญัติรวม 4 แคว้นในทวีปอเมริกาเหนือภายใต้อาณัติของจักรวรรดิอังกฤษ ให้เป็นอาณานิคมใหญ่เพียงแห่งเดียว และเรียกชื่อว่สมาพันธรัฐแคนาดา ซึ่งวันดังกล่าวเป็นคนละวันกับที่แคนาดาได้รับเอกราชจากอังกฤษ

แม้แต่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศเครือจักรภพและอดีตอาณานิคมเก่าของอังกฤษ ก็ไม่ได้ยึดวันที่ได้รับเอกราชเป็นวันชาติ โดยออสเตรเลียเลือกวันที่ 26 มกราคมของทุกปีเป็นวันชาติ เพราะตรงกับวันที่กองเรือใหญ่จากยุโรปคณะแรกเดินทางมาถึงท่าเรือพอร์ตแจ็กสันใน ค.ศ.1788  ซึ่งปัจจุบันคือนครซิดนีย์ ส่วนนิวซีแลนด์กำหนดให้วันที่ 6 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันชาติ เพราะตรงกับวันลงนามสนธิสัญญาไวทางิ (Treaty of Waitagi) ใน ค.ศ.1840 ระหว่างผู้แทนจักรวรรดิอังกฤษและหัวหน้าชนพื้นเมืองเผ่าเมารี

การเลือกใช้วันประกาศอิสรภาพหรือวันที่ได้รับเอกราชจากประเทศอาณานิคมเป็น “วันชาติ” ไม่ได้มีแค่อดีตประเทศที่อยู่ใต้อาณัติของอังกฤษเท่านั้น แต่ยังรวมถึงหลายประเทศที่เป็นอดีตอาณานิคมของฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปน ออสเตรีย รัสเซีย หรือชาติมหาอำนาจตะวันตกอื่นๆ ซึ่งมักกำหนดให้ “วันชาติ” คือวันที่คนในชาติได้รับอำนาจอธิปไตยกลับมาคืนมาจากประเทศเจ้าอาณานิคม

หลายประเทศปักหมุด “วันชาติ” ให้ตรงกับวันปฏิวัติ วันรวมชาติ หรือวันก่อตั้งประเทศ

หากย้อนดูประวัติศาสตร์โลกและเทียบเคียงกับข้อมูลเรื่องวันชาติของ The Washington Post แล้วจะพบว่าอีกหนึ่งวันสำคัญที่มักได้รับเลือกให้เป็น “วันชาติ” ของแต่ละประเทศนั้น ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง วันรวมชาติ หรือวันลงนามกฎหมายก่อตั้งประเทศ เช่น ประเทศรัสเซียในปัจจุบัน กำหนดให้วันที่ 12 มิถุนายนของทุกปีเป็น “วันชาติ” เพราะตรงกับวันลงนามประกาศก่อตั้งสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซียใน ค.ศ.1990 แต่รัฐบาลรัสเซียเพิ่งจะประกาศให้วันดังกล่าวเป็น “วันชาติ” ในปี 1992 ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย และเป็นจุดกำเนิดของสมาพันธรัฐรัสเซียในปัจจุบัน

ขณะที่ประเทศเยอรมนี กำหนดให้วันที่ 3 ตุลาคมของทุกปีเป็น “วันชาติ” เพราะวันที่ 3 ต.ค. 1990 เป็นวันที่เยอรมนีตะวันตกและเยอรมนีตะวันออกรวมชาติกันได้สำเร็จ หลังเกิดเหตุการณ์กำแพงเบอร์ลินล่มสลายในปีก่อนหน้า

ส่วนประเทศฝรั่งเศสก็กำหนดให้วัน 14 กรกฎาคมของทุกปีเป็น “วันชาติ” ซึ่งวันดังกล่าวตรงกับวันระเบิดคุกบัสตีย์ ใน ค.ศ.1789 ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวสัญลักษณ์ของการลุกฮือต่อต้านระบอบกษัตริย์และชนชั้นนำจนนำมาสู่การปฏิวัติฝรั่งเศสล้มราชวงศ์บูร์บงในที่สุด ด้านประเทศอียิปต์ ก็เลือกใช้วันที่ 23 กรกฎาคมของทุกปีเป็น “วันชาติ” เพราะตรงกับวันปฏิวัติอียิปต์ในปี 1952 ซึ่งเป็นจุดจบของราชวงศ์มูฮัมหมัดอาลีแห่งอียิปต์ โดยผู้นำการปฏิวัติครั้งนั้นคือโมฮัมเม็ด นาจีบ ซึ่งต่อมาได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของอีปยิปต์ และกาเมล อับเดล นัสเซอร์ นายพลอียิปต์ผู้นำการต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมในโลกอาหรับ ซึ่งเขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 2 ของอียิปต์ในเวลาต่อมา ทั้งนี้ แม้ว่านาจีบและนัสเซอร์จะเป็นหนึ่งในนักปฏิวัติแห่งโลกอาหรับ แต่ทั้ง 2 คนก็ได้ชื่อว่าเป็นจอมเผด็จการที่ปกครองอียิปต์โดยยึดหลักอำนาจนิยม

อีกหนึ่งชาติที่ยึดสัญลักษณ์แห่งการปฏิวัติเป็น “วันชาติ” คือไต้หวัน โดยรัฐบาลไต้หวันกำหนดให้วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปีเป็น “วันชาติ” เพราะวันดังกล่าวเป็นวันเริ่มต้นของเหตุการณ์การก่อการกำเริบอู่ชาง (Wuchang Uprising) ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นการปฏิวัติซินไฮ่ หรือการปฏิวัติล้มล้างราชวงศ์ชิงใน ค.ศ.1911 ซึ่งมีพรรคก๊กมินตั๋ง นำโดยซุนยัดเซ็น เป็นผู้นำการปฏิวัติ ส่วนจีนเลือกใช้วันที่ 1 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันชาติ เพราะตรงกับวันประกาศก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนใน ค.ศ.1949 โดยพรรคคอมนิวนิสต์จีน ซึ่งมีเหมาเจ๋อตุงเป็นผู้นำ เช่นเดียวกับเกาหลีเหนือและ สปป.ลาว ที่เลือกใช้วันก่อตั้งประเทศเป็นวันชาติ โดยเกาหลีเหนือประกาศให้วันที่ 9 กันยายนของทุกปีซึ่งตรงกับวันก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีในปี 1948 เป็นวันชาติ ขณะที่ สปป.ลาวกำหนดให้วันที่ 2 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันชาติ เพราะตรงกับการประกาศก่อตั้งประเทศในปี 1975

ขณะที่ประเทศแอฟริกาใต้ประกาศให้วันที่ 27 เมษายนของทุกปีเป็นวันชาติ เพราะวันดังกล่าวตรงกับวันเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งแรกในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1994 โดย ‘เนลสัน แมนเดลลา’ ชนะการเลือกตั้งครั้งนั้นและได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกแห่งประเทศแอฟริกาใต้อย่างเป็นทางการ และเป็นการสิ้นสุดยุคถือผิว (Aparthied) หรือการแบ่งแยกการปกครองโดยสีผิวในประเทศแอฟริกาใต้อย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ วันชาติของประเทศแอฟริกาใต้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันแห่งอิสรภาพ” (Freedom Day)

ประเทศที่(เคย)มีกษัตริย์ แต่ “วันชาติ” อาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับราชวงศ์ก็ย่อมได้

ประเทศที่มีกษัตริย์เป็นประมุขในระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญหรือมีกษัตริย์เป็นผู้ปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หลายประเทศมักกำหนดให้วันพระราชสมภพของกษัตริย์ วันขึ้นครองราชย์ หรือวันที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์ เป็นวันชาติ เช่น เนเธอร์แลนด์ ซึ่งปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เลือกใช้วันพระราชสมภพของกษัตริย์เป็นวันชาติ หากมีการเปลี่ยนรัชสมัย วันชาติก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย โดยวันชาติในปัจจุบันของเนเธอร์แลนด์คือวันที่ 27 เมษายน ซึ่งตรงกับวันพระราชสมภพของสมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์ กษัตริย์องค์ปัจจุบัน แต่ก่อนหน้านี้ ในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ พระมารดาของกษัตริย์องค์ปัจจุบัน ทรงเลือกใช้วันขึ้นครองราชย์ซึ่งตรงกับวันที่ 30 เมษายนของทุกปีเป็นวันชาติ

ด้านเบลเยียม อีกหนึ่งประเทศในยุโรปที่มีการปกครองระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ กำหนดให้วันที่ 21 กรกฎาคมของที่ปีเป็นวันชาติ ซึ่งตรงกับวันขึ้นครองราชย์ในปี 1831 ของพระเจ้าเลออปอลที่ 1 กษัตริย์องค์แรกแห่งเบลเยียม เช่นเดียวกับประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกกลางที่ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็มีการกำหนดให้วันขึ้นครองราชย์หรือวันพระราชสมภพของกษัตริย์เป็นวันชาติ อาทิ ซาอุดีอาระเบียที่กำหนดให้วันชาติตรงกับวันที่ 23 กันยายนของทุกปี ซึ่งตรงกับวันรวมราชอาณาจักรฮิญาซและนัจญด์เป็นหนึ่งเดียวและก่อตั้งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียขึ้นใน ค.ศ.1932 รวมถึงภูฎานที่กำหนดให้วันชาติตรงกับวันขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระราชาธิบดีอุกเยน วังชุก กษัตริย์องค์แรกของภูฎานจากราชวงศ์วังชุก ซึ่งตรงกับวันที่ 17 ธันวาคมของทุกปี

อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แต่ไม่ได้เลือกวันที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์หรือราชวงศ์เป็นวันชาติ คือ บรูไน โดยเลือกใช้วันที่ 23 กุมภาพันธุ์ ซึ่งตรงกับวันที่ได้รับเอกราชจากอังกฤษเป็นวันชาติแทน ส่วนมาเลเซียซึ่งปกครองระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญก็ประกาศให้วันที่ 31 สิงหาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันที่สหพันธรัฐมาลายาได้รับเอกราชจากอังกฤษ ก่อนจะก่อตั้งประเทศมาเลเซียขึ้นมาในภายหลัง เช่นเดียวกับกัมพูชาที่เลือกใช้วันได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส (9 กันยายน) เป็นวันชาติ ซึ่งไม่ได้มีความยึดโยงกับวันสำคัญของราชวงศ์โดยตรงแต่อย่างใด

อีกหนึ่งประเทศที่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างสเปนก็ไม่ได้เลือกใช้วันสำคัญของราชวงศ์เป็นวันชาติเช่นเดียวกัน โดยวันชาติของสเปนคือวันที่ 12 ตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักเดินเรือชาวอิตาลียุคกลาง ซึ่งทำงานให้กับราชสำนักสเปน ค้นพบทวีปอเมริกาใน ค.ศ.1492 นอกจากนี้ ชาวสเปนยังถือว่าวันที่ 12 ตุลาคมเป็นวันแห่งมรดกวัฒนธรรมสเปน เพราะการค้นพบโลกใหม่ของโคลัมบัสถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเผยแพร่วัฒนธรรมและภาษาสเปนไปทั่วโลก รวมถึงเป็นจุดกำเนิดยุคล่าอาณานิคม ทั้งนี้ การประกาศให้วันที่ 12 ตุลาคมเป็นวันชาติสเปนนั้น เพิ่งเกิดขึ้นใน ค.ศ.1987 ในสมัยที่เฟลิเป กอนซาเลซ จากพรรคแรงงานสังคมนิยมสเปน (PSOE) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและมีสมเด็จพระราชาธิบดีฆวน การ์ลอสที่ 1 อดีตกษัตริย์สเปน ซึ่งปัจจุบันลี้ภัยอยู่ต่างประเทศเพราะคดีอื้อฉาวทางการเงิน

ส่วนประเทศนอร์เวย์ซึ่งมีกษัตริย์เป็นประมุขของประเทศก็ไม่ได้ยึดวันสำคัญของราชวงศ์เป็นวันชาติ แต่เลือกใช้วันรัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงกับวันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี เพื่อรำลึกถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกและฉบับปัจจุบัน ที่ประกาศให้นอร์เวย์เป็นประเทศเอกราชและปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในปี 1814 หลังสิ้นสุดสงครามนโปเลียนและการล่มสลายของราชอาณาจักรเดนมาร์ก-นอร์เวย์ ขณะที่สวีเดน ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์อ้างถึงในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องการเปลี่ยนแปลงวันชาตินั้น เพิ่งมีการประกาศให้วันที่ 6 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันชาติอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ.2548 หรือ 16 ปีที่แล้ว โดยให้ยึดถือวันดังกล่าวเป็นวันธงชาติและวันรำลึกถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกใน ค.ศ.1809 ที่แบ่งแยกการบริหารประเทศและอำนาจของกษัตริย์ออกจากกัน โดยรัฐบาลสวีเดนเลือกใช้วันที่ 6 มิถุนายนเพราะเป็นวันที่พระเจ้ากุสตาฟที่ 1 กษัตริย์สวีเดนยุคใหม่ขึ้นครองราชย์ใน ค.ศ.1496 ซึ่งเป็นการเลือกขึ้นมาภายหลัง โดยรัฐบาลสวีเดนเห็นตรงกันว่ารัชสมัยของพระเจ้ากุสตาฟที่ 1 ตรงกับการสิ้นสุดสหภาพคาลมาร์ ทำให้ราชสำนักสวีเดนในขณะนั้นมีอำนาจในการปกครองตนเอง ไม่ขึ้นตรงกับราชสำนักเดนมาร์กและนอร์เวย์อีกต่อไป

ส่วนญี่ปุ่น ซึ่งปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้นกำหนดให้วันที่ 11 กุมภาพันธ์เป็นวันชาติ โดยชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าวันดังกล่าวคือวันขึ้นครองราชย์ของ ‘จิมมุ’ จักรพรรดิในตำนานองค์แรกเมื่อ 660 ปีก่อนคริสตกาล และเรียกว่า “วันก่อตั้งชาติ” เช่นเดียวกับสาธารณรัฐเกาหลีหรือเกาหลีใต้ ที่เลือกใช้วันก่อตั้งอาณาจักรโชซ็อนโบราณหรืออาณาจักรโกโชซ็อนเมื่อ 2,333 ปีก่อนคริสตศักราชเป็นวันชาติ โดยเรียกว่า ‘วันแกช็อนจอล’ ซึ่งหมายถึงวันก่อตั้งชาติ ตรงกับวันที่ 3 ตุลาคมของทุกปี อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลเกาหลีใต้จะกำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันชาติ แต่ชาวเกาหลีใต้มักให้ความสำคัญกับวันที่ 1 มีนาคม ซึ่งเป็นประกาศอิสรภาพจากจักรวรรดิญี่ปุ่น และถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันชาติอย่างไม่เป็นทางการ

แปลและเรียบเรียงจาก:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net