Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การเมืองการปกครอง

เพื่อจะควบคุมธรรมชาติที่ชั่วของคน จึงต้องเปิดให้คนดีมีอำนาจ และเพื่อให้การควบคุมได้ผล อำนาจที่คนดีมีจึงต้องเป็นอำนาจสูงสุด ไร้ขีดจำกัด ตรวจสอบไม่ได้ และต้านทานหรือถ่วงดุลไม่ได้

แม้ฟังดูดี แต่ทฤษฎีนี้ปฏิบัติจริงไม่ได้ เพราะอำนาจนั้นมีที่มาหลายทาง แต่หนึ่งทางที่ขาดไม่ได้เลยแม้ในซ่องโจรก็คือการยอมรับ โดยเฉพาะการยอมรับของคนที่มีอำนาจในทางต่างๆ เช่นอำนาจทางเศรษฐกิจ, อำนาจทางการเมือง หรืออำนาจทางวัฒนธรรม พูดอีกอย่างหนึ่งคือชนชั้นนำ ซึ่งย่อมกระจายอยู่ในคนหลายกลุ่ม ดังนั้น อำนาจสูงสุดจึงไม่อาจกระจุกอยู่ที่คนๆ เดียวได้

สูงสุดในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติเป็นอำนาจเครือข่ายซึ่งต้องใช้ร่วมกันเสมอ ดังนั้นถ้าจะสรุปประวัติศาสตร์การเมืองไทยให้สั้นที่สุด ก็คือการต่อสู้แข่งขันกันของกลุ่มเครือข่ายการเมืองต่างๆ นั่นเอง

ยิ่งในสมัยโบราณ ปราศจากเทคโนโลยีที่เป็นเครื่องมือแห่งอำนาจที่มีประสิทธิภาพ การยอมรับของเครือข่ายยิ่งจำเป็น เช่นเมื่อพิษณุโลก, นครราชสีมา, หรือนครศรีธรรมราช แข็งเมือง ถึงกษัตริย์อยุธยาจะปราบปรามได้ในที่สุด แต่ก็ต้องเกณฑ์ทัพ เกณฑ์เสบียงอาหาร และสรรพกำลังด้านต่างๆ เพื่อใช้ในการปราบปราม หากสามหัวเมืองเอกนั้นแข็งเมืองบ่อยๆ กำลังที่อยุธยาจะเรียกเกณฑ์ก็ย่อมลดลง เกิดความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า จนในที่สุดอาจเกิดกบฏเล็กกบฏน้อยจนเป็นจลาจลไปทั่วเขตเมืองชั้นใน อยุธยาเองนั่นแหละที่อาจตกเป็นเมืองออกของสามหัวเมืองใหญ่นั้น

ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงอำนาจภายในซึ่งต้องแบ่งปันกันระหว่างเครือข่ายการเมืองหลากหลายชนิด เช่น จะเก็บภาษีหรือเกณฑ์แรงงานอย่างไร ก็ต้องอาศัยผู้มีอำนาจในท้องถิ่นเป็นผู้ทำให้ ใครจะทำฟรีล่ะครับ ก็ต้องชักหัวคิวบ้างเป็นธรรมดา แม้ว่าการฉ้อราษฎร์บังหลวงในหมู่บุคลากรของรัฐ จะเป็นสิ่งที่ถูกประณามหยามเหยียดหรือห้ามปรามอย่างไร แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของระบบปกครอง หรือเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างอำนาจที่ทุกฝ่ายยอมรับอย่างไม่ออกหน้าทั้งสิ้น

สาระสำคัญของระบบปกครองไทยคือการแบ่งปันจัดสรรผลประโยชน์กันในหมู่ชนชั้นนำระดับต่างๆ นับตั้งแต่ระดับท้องถิ่นขึ้นมาจนถึงระดับราชอาณาจักร แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นระบบปกครองของนายทาสนะครับ เพราะถึงอย่างไรต่างก็ตระหนักดีว่าราษฎรคือแหล่งที่มาของผลประโยชน์ นอกจากนี้ยังมีการคานอำนาจระหว่างชนชั้นนำด้วยกันเอง และก็ต้องยอมรับว่ามีอุดมการณ์ทางศาสนาที่คอยกำกับอยู่โดยอ้อมด้วย

(โดยอ้อม เพราะคนกลุ่มหนึ่งอาจอ้างอุดมการณ์นี้เพื่อแย่งอำนาจและผลประโยชน์จากกลุ่มอื่นได้ อย่างเดียวกับอุดมการณ์จงรักภักดีในปัจจุบันนี้แหละครับ)

ระบบการเมืองไทยเปลี่ยนไปอย่างมโหฬารพอสมควร เมื่อสถาบันกษัตริย์สามารถผูกขาด, กำกับ หรือควบคุมเทคโนโลยีแห่งอำนาจซึ่งมาจากตะวันตกได้แต่ฝ่ายเดียว เพื่อให้เข้าใจตรงนี้ได้ชัดขึ้น ขอยกตัวอย่างรถไฟ ในหลายประเทศ รถไฟไม่ได้เป็นการลงทุนของรัฐส่วนกลางเพียงฝ่ายเดียว แต่มีทุนระดับต่างๆ หรือรัฐท้องถิ่นเข้ามาลงทุนร่วมด้วย ดังนั้น หากรถไฟจะเพิ่มอำนาจทางการเมือง ก็เพิ่มให้แก่คนหลากหลายกลุ่ม คิดในทำนองนี้กับเทคโนโลยีอื่นๆ โดยเฉพาะการสื่อสาร เช่น โทรเลข, ไปรษณีย์, การศึกษามวลชน, กองทัพประจำการ, วิทยุ ฯลฯ ก็จะเห็นได้ว่าอำนาจของสถาบันกษัตริย์จะเพิ่มขึ้นโดยเปรียบเทียบกับสมัยก่อนการปฏิรูปมากขนาดไหน

กลายเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่แท้จริง ทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย

แม้กระนั้น พระบรมราโชบายของ ร.5 คือ ในการเปลี่ยนระบบปกครอง ต้องระมัดระวังมิให้เกิดเหตุวุ่นวายจลาจลขึ้นภายใน อันจะเป็นเหตุให้มหาอำนาจตะวันตกแทรกแซงการเมืองโดยตรงได้ (ดังกรณีวิกฤตการณ์วังหน้าในต้นรัชกาล) จึงทรงเปิดช่องในระบบใหม่ให้กลืนกลุ่มชนชั้นนำเดิมเข้ามาร่วมอยู่ในระบบปกครองด้วย เป็นการเปลี่ยนระบบโดยไม่ต้องเปลี่ยนหน้าของคนถืออำนาจ เพียงแต่ว่าอำนาจของคนหน้าเดิมเหล่านั้น ไม่ถึงกับเป็นอิสระมากเหมือนก่อนเท่านั้น

แต่สภาพเช่นนี้ดำรงอยู่ได้ในรัชกาลเดียว หลังจากนั้น เครือข่ายอำนาจก็เริ่มจะมีความประสงค์ของตนเองอย่างเป็นอิสระมากขึ้น (อันเป็นปรากฏการณ์ปรกติที่เกิดภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ทั่วไป เช่น การแข่งขันกันระหว่างกองทัพบกและกองทัพเรือในญี่ปุ่นก่อนสงคราม ระหว่างนายทหารในกองทัพพม่าภายใต้เนวิน และ ฯลฯ) นี่เป็นความแตกร้าวของชนชั้นนำที่เป็นฉากหลังของการปฏิวัติ 2475

แต่การปฏิวัติก็ไม่ทำให้กลุ่มชนชั้นนำกลับไปประสานประโยชน์กันได้ดีเหมือนในสมัย ร.5 ด้วยเหตุผลหลายอย่าง คณะราษฎรประสบความล้มเหลวที่จะจัดตั้งองค์กรมวลชนของตนเองขึ้น เพื่อต่อรองกับชนชั้นนำกลุ่มต่าง อย่างได้ผล แม้แต่พรรคการเมืองที่เกิดขึ้นก็เป็นการรวมกลุ่มของชนชั้นนำบางกลุ่ม เพื่อสนับสนุนบุคคลในรัฐสภามากกว่าสนับสนุนอุดมการณ์ทางการเมืองหรือนโยบายสาธารณะอันใดอันหนึ่ง

ความไม่ประสานกันนี้ส่งผลมาถึงคนชั้นกลาง ซึ่งขณะนั้นส่วนใหญ่คือข้าราชการในกรมกองต่างๆ และทำให้ระบบราชการค่อนข้างแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ที่เห็นได้ชัดคือระหว่างกองทัพบก-เรือ-ตำรวจ แต่ที่เห็นไม่ชัดเช่นนั้น ก็อาจกล่าวได้ว่ารวมไปถึงราชการทั้งระบบ, ทุนธนาคารซึ่งเพิ่งเริ่มก่อตัวและสมัครอยู่ในอุปถัมภ์ของนักการเมือง-ข้าราชการต่างกลุ่มกัน เช่นเดียวกับพ่อค้ารายใหญ่

อย่างไรก็ตาม หลังการยึดอำนาจของกองทัพใน 2500 โดยความร่วมมือกับสถาบันพระมหากษัตริย์และความช่วยเหลือขนานใหญ่ของสหรัฐ ผู้นำกองทัพได้ทำให้ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชนชั้นนำกลับคืนมาใหม่ เพราะกลุ่มชนชั้นนำอื่นที่ไม่ได้ร่วมอยู่ในพันธมิตรนี้ถูกขจัดออกไปโดยสิ้นเชิง

แม้การพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งทำให้เกิดชนชั้นนำใหม่ๆ ที่มีความหลากหลายมากขึ้น ก็ไม่ทำให้เกิดการติดขัดในการประสานประโยชน์ระหว่างกัน โดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นพลังสำคัญในการเชื่อมโยงประโยชน์ของชนชั้นนำหลากหลายกลุ่มเหล่านี้ให้สอดประสานกันได้ แม้มีจุดสะดุดอยู่บ้าง เช่น 14 ตุลา และ 6 ตุลา แต่อาศัยพระราชบารมีส่วนพระองค์ สถานะเดิมทางการเมืองก็ยังดำรงอยู่ต่อไป

นับจาก 2500 มาจนถึงยุคโชติช่วงชัชวาล กลายเป็นยุคสมัยของเสถียรภาพทางการเมืองในจินตนาการของชนชั้นนำ ทั้งเพราะฐานะเศรษฐกิจของประเทศที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และทั้งเพราะระบบการเมืองที่มั่นคง จึงกลายเป็นยุคสมัยแห่งอุดมคติ ทั้งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ต่างเป็นวีรบุรุษที่มีอนุสรณ์สถานและอนุสาวรีย์มากกว่าผู้บริหารประเทศคนใด

แต่พลังและความสามารถในการกลืนเอาคนหน้าใหม่เข้าไปในกลุ่มชนชั้นนำลดลงไปอย่างมากหลังยุคโชติช่วงชัชวาล เพราะคนชั้นกลางที่เกิดใหม่ในช่วงนี้ มีจำนวนมหาศาล ในขณะที่ต่างมีหนทางทำมาหากินที่เป็นอิสระจากรัฐมากบ้างน้อยบ้างทั้งสิ้น การต่อสู้ในเหตุการณ์พฤษภาเลือด 2532 เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ยุคสมัยอุดมคติเช่นนั้นได้ยุติลงแล้ว และหากจะผนวกกลืนคนชั้นกลางกลุ่มใหม่เหล่านี้เข้ามาในระบบ ก็หมายความว่าต้องเปิดกว้างให้การเมืองประชาธิปไตยมีความหมายในเชิงปฏิบัติจริงมากขึ้น

รัฐธรรมนูญ 2540 คือการทดลองเปิดระบบให้แก่คนชั้นกลางหน้าใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม แต่โดยไม่เจตนา มันเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมให้แก่คนชั้นกลางระดับล่างจำนวนมหาศาลในเมืองและชนบทด้วยเช่นกัน คนกลุ่มนี้ไม่น่าไว้วางใจ เพราะผ่านการกล่อมเกลาให้เซื่องด้วยระบบการศึกษามาไม่มาก

ในที่สุดการทดลองก็ต้องระงับลง

อย่างไรก็ตาม จนถึงวันนี้ การเมืองประชาธิปไตยในเชิงปฏิบัติยังเป็นโจทย์ที่ขบไม่แตกของชนชั้นนำไทย ประชาธิปไตยแค่ไหน จึงจะรักษาโครงสร้างอำนาจแบบเดิมไว้ได้ โดยเฉพาะการขยายตัวของชนชั้นกลางระดับล่างเป็นปัญหาอย่างยิ่ง แม้มีรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เพิ่มการกำกับของชนชั้นนำให้สูงขึ้น ก็ไม่อาจหยุดยั้งการเมืองมวลชนที่มีฐานอันแข็งแกร่งอยู่ที่คนชั้นกลางระดับล่าง ซึ่งเป็นอิสระจากการกำกับของชนชั้นนำ

ผลคือการยึดอำนาจโดยตรงหรือซ่อนรูป แล้วใช้ความรุนแรงถึงเลือดถึงเนื้อปราบปรามผู้ต่อต้านอย่างรุนแรง จะก้าวเข้าสู่ระบอบใหม่ให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ก็ก้าวไม่ได้ จะอยู่ในระบอบเดิมก็รู้ว่าต้องใช้ความรุนแรงและความไม่ชอบธรรมต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด ในที่สุดก็ตกอยู่ในจุดอันตราย แต่ก้าวออกไปก็ไม่ได้ ติดตังอยู่กับความรุนแรงและความไม่ชอบธรรมอย่างไร้อนาคต

เพราะตอบโจทย์ทางการเมืองไม่ได้ ในขณะที่มีสำนึกเต็มเปี่ยมว่าสังคมไทยกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ด้วยพลังของโลกาภิวัตน์ในทุกมิติ จึงทำให้ชนชั้นนำไทยหันมาตอกย้ำอุดมการณ์ “ราชาชาติ” (ด้วยความเข้าใจผิดว่าจะแทนที่สำนึก “ประชาชาติ” ที่กำลังเติบโตได้)

 ลัทธิ “ราชาชาติ” นิยม เคยถูกใช้อย่างได้ผลในช่วงที่จำเป็นต้องต่อสู้กับกองกำลังของ พคท. มันช่วยผดุงระบอบเผด็จการทหารไว้ให้มั่นคง ช่วยดึงดูดความช่วยเหลือทางด้านการทหารจากสหรัฐ และในแง่สุดท้าย โดยผ่านโครงการพระราชดำริ “ราชาชาติ” ก็เป็นทางเลือกที่เหมาะสมแก่คนไทยกว่าลัทธิคอมมิวนิสต์ หรือสังคมนิยม หรือแม้แต่เสรีประชาธิปไตย

สถาบัน “ชาติ, ศาสน์, กษัตริย์” เป็นเหตุผลหลักในการสถาปนาสถาบันและกระบวนการไม่ประชาธิปไตย หรือข้อยกเว้นสำหรับประชาธิปไตยไทยตลอดมา… ในรัฐธรรมนูญ, ในการบริหาร, ในการควบคุมสื่อ, ในกระบวนการยุติธรรม ฯลฯ

ที่น่าสนใจก็คือ ในช่วงตั้งแต่หลัง 6 ตุลาเป็นต้นมา มีการจัดองค์กรของการเคลื่อนไหวที่เรียกกันกว้างๆ ว่า “ประชาสังคม” อย่างมากในสังคมไทย ไม่เฉพาะแต่ด้านประเด็นทางสังคมบางเรื่องเท่านั้น แต่รวมไปถึงบางส่วนขององค์กรศาสนา, องค์กรแรงงาน, องค์กรวิชาชีพ, นักวิชาการ ฯลฯ จะโดยมีหรือไม่มีสำนึกก็ตาม การทำงานขององค์กรภาคประชาสังคมย่อมไม่สอดคล้องกับสังคมในจินตกรรมของลัทธิราชาชาตินิยมเป็นธรรมดา ในสมัยหนึ่งเคยมีความพยายามจะปลูกฝังแนวคิดในหมู่เยาวชนในสถานศึกษาด้วยว่า องค์กรประชาสังคมประเภทนี้ โดยเฉพาะเอนจีโอคือพวกที่รับเงินต่างชาติมา “ป่วนเมือง”

แต่ราชาชาติก็ไม่สามารถหยุดยั้งการเติบโตของความเคลื่อนไหวประชาสังคมในลักษณะนี้ได้ ชนชั้นปกครองไทยจึงหันมาเน้นวัฒนธรรมและความเป็นไทย เพื่อทำให้ราชาชาติกลายเป็นส่วนหนึ่งที่แยกออกไม่ได้จากอัตลักษณ์ไทย ผ้าไทย, ชุดไทย, โขนละคร, ลิเก, สถาปัตยกรรมไทย, ภาษาไทย ฯลฯ ได้รับการยกย่องเชิดชูอย่างสูงส่ง และพยายามส่งต่อไปยังคนรุ่นใหม่ผ่านระบบการศึกษา

ลองเปรียบเทียบกับ “วัฒนธรรมไทย” ซึ่งรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในระหว่าง 2481-2487 สนับสนุนเชิงบังคับ ฝ่ายหนึ่งมองไปข้างหน้า อีกฝ่ายมองไปข้างหลัง ฝ่ายหนึ่งตั้งอยู่บนแนวคิดเรื่องประชาชาติ ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งตั้งอยู่บนแนวคิดราชาชาติ

“ความเป็นไทย” ด้านที่ไม่ใช่วัตถุธรรมซึ่งถูกเน้นในระบบการศึกษาอย่างมากคือ แบบปฏิบัติในอุดมคติที่คนไทยพึงมีในความสัมพันธ์เชิงช่วงชั้น ตลอดจนช่วงชั้นในอุดมคติของสังคมไทยโบราณ เช่นการประกวดมารยาทในรูปแบบต่างๆ, คะแนนความประพฤติ, พระบรมฉายาลักษณ์และการแสดงความเคารพ, หลักสูตรประวัติศาสตร์ที่เนื้อหาสาระกลายเป็นพระราชพงศาวดาร ฯลฯ

ทั้งหมดนี้กระทำกันในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างไพศาลของชีวิตคนไทย จึงกลายเป็นการปลูกฝังอุดมคติที่ไม่สอดคล้องกับชีวิตจริง สร้างความเจ็บปวดขมขื่นให้แก่ผู้อยู่ในวัยเรียน จนรู้สึกโกรธอย่างแรงข้างใน และระบายออกมาในรูปต่างๆ ของการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบัน

 อุดมคติของระบอบราชาชาติสูญเสียพลังในการสยบผู้คนไปมาก ผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ ไม่ได้เห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านั้นอีกแล้ว ถ้าพระพุทธเจ้าถูกเสนอในรูปอุลตร้าแมน พระพุทธคุณไม่ได้คุ้มครองบุคคลด้วยสำนึกของความไม่ยึดมั่นถือมั่น ดังที่แสดงออกในประเพณีประติมากรรมโบราณอีกแล้ว แต่พระพุทธคุณมีฤทธานุภาพทางกายภาพโดยตรงที่จะคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม (ซึ่งที่จริงก็ไม่ใช่ความคิดที่ผิดแปลกอะไรไปกว่าพระเครื่อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่เด่นชัดมากในพุทธศาสนาไทยมาแต่โบราณ) และในอุดมคติใหม่พระมหากษัตริย์ดำรงตำแหน่งประมุขประเทศเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่ผู้ปกครองซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบของประชาชน

ในขณะเดียวกัน โอกาสของระบอบราชาชาติที่จะพลิกเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตอย่างรวดเร็วกำลังหมดไป จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้เงินในกระเป๋ามาทดแทนความไม่พอใจและความโกรธ

ทางออกที่จะรักษาระบอบราชาชาติไว้อย่างมั่นคงเหลืออยู่ทางเดียว คือการปราบปรามอย่างเด็ดขาดรุนแรง เป็นวิธีที่ต้องใช้ในทุกทางด้วย ไม่ว่าด้วยรถฉีดน้ำผสมสารเคมี, คฝ.ที่ปฏิบัติการเหมือนกองทัพยึดครอง, คำพิพากษา, คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยที่ไม่ตั้งอยู่บนหลักนิติธรรม และการซ้อมทรมานหรือการอุ้มหายเป็นที่สุด

ผมไม่คิดว่าทางออกนี้เป็นทางตันเสมอไป แต่มีราคาที่ต้องจ่ายสูงมาก ทั้งแก่สังคมโดยรวมและแก่ชนชั้นปกครองเอง ผมประเมินไม่ถูกว่าชนชั้นปกครองของระบอบราชาชาติพร้อมจะจ่าย หรือมีสมรรถภาพที่จะจ่าย หรือไม่

(ยังมีต่อ)

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_487011

นิธิ เอียวศรีวงศ์: วัฒนธรรมเผด็จการไทย (1)
นิธิ เอียวศรีวงศ์: วัฒนธรรมเผด็จการไทย (2)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net