Skip to main content
sharethis

โครงการประเมินความเสี่ยง "การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และสังหารหมู่" เลื่อนอันดับประเทศไทยจาก 42 มาเป็น 19 ระบุมีความเสี่ยงมากขึ้นจากการจำกัดการเดินทางของผู้คน อ้างใช้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน "ร้ายแรง" ในการปราบปรามขบวนการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ส่วนอันดับ 1 คือปากีสถาน หลังกลุ่ม Tehrik-e-Taliban และไอซิสก่อเหตุหลายครั้ง รวมทั้งรัฐบาลปากีสถานที่ปราบผู้เห็นต่างอย่างรุนแรง

โครงการเออร์ลีวอร์นนิงเป็นโครงการที่พัฒนาโดยพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของสหรัฐฯ และวิทยาลัยดาร์ทมัธ ใช้ในการช่วยเหลือผู้กำหนดนโยบายสหรัฐฯ ในการประเมินว่ารัฐหรือประเทศไหนที่มีโอกาสเกิดเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มากที่สุด พวกเขาอาศัยตัวชี้วัดคือสัญญาณเตือนและพฤติกรรมของมนุษย์ในการประเมินเพื่อดำเนินการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น

โดยจากรายงานของปี 2564 เออร์ลีวอร์นนิงประเมินว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดการสังหารหมู่ โดยมีอันดับเพิ่มขึ้นจากเดิม 23 อันดับ โดยล่าสุด รายงานระบุว่าไทยอยู่ในอันดับที่ 19 จากทั้งหมด 162 อันดับ นับว่าอยู่ใน 30 อันดับแรกที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น

รายงานระบุว่า "จากโมเดลทางสถิติของพวกเราประเมินได้ว่ามีโอกาสร้อยละ 4.5 หรือประมาณ 1 ใน 22 ที่จะเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งใหม่ขึ้นในประเทศไทยในช่วงปี 2564 หรือ 2565"

โดยที่โครงการนี้อาศัยพิจารณาปัจจัยต่างๆ อย่างเรื่องการลิดรอนเสรีภาพ, ประวัติศาสตร์ที่เคยมีการสังหารหมู่เกิดขึ้นมาก่อน, การที่ไทยมีความขัดแย้งทางกำลังทหารเช่นกรณีความขัดแย้งระหว่างกองทัพกับกองกำลังติดอาวุธในภาคใต้ที่มีการสูญเสียเลือดเนื้อ

แต่การเปลี่ยนแปลงของอันดับในครั้งนี้ทางโครงการระบุว่าส่วนใหญ่แล้วมาจากการจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงเมื่อเดือนตุลาคม 2563 เพื่อโต้ตอบการประท้วงที่ส่วนใหญ่นำโดยนักเรียนนักศึกษา ผู้ประท้วงในตอนนั้นเรียกร้องให้มีการเลิกคุกคามนักกิจกรรม ให้มีการยุบสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

เรื่องที่ไทยขึ้นจากเดิมอันดับ 42 ในปี 2563-2564 มาสู่อันดับที่ 19 นั้นยังทำให้เออร์ลีวอร์นนิงจัดให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องความเสี่ยงมากอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับประเทศอื่นๆ นั้น ปากีสถานถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 1 ของ ประเทศที่เสี่ยงจะเกิดการสังหารหมู่มากที่สุด จากกรณีที่กลุ่มตาลีบันในปากีสถานที่เรียกตัวเองว่า Tehrik-e-Taliban หรือ TTP ที่ประกาศว่าตนก่อเหตุก่อการร้ายไปทั้งหมด 26 ครั้งในเดือน กรกฎาคม 2564 นอกจากนี้ยังมีกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ เช่นไอซิสอยู่ในประเทศของพวกเขาด้วย ตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึงกันยายนปีนี้กลุ่มก่อการร้ายได้สังหารคนไปแล้ว 470 ราย เป็นพลเรือน 171 ราย นอกจากนี้พรรครัฐบาลเองก็ทำการจับกุมผู้วิพากษ์วิจารณ์และมีกรณีที่กองทัพรัฐบาลอุ้มหายผู้คน

อันดับที่ 2 ที่เสี่ยงต่อเหตุการณ์สังหารหมู่คืออินเดีย จากการที่รัฐบาลชาตินิยมฮินดูของอินเดียมีการกีดกันเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบต่อชาวมุสลิม มีกรณีข้อพิพาทเขตแดนในพื้นที่ที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่มากในแคว้นจัมมูและแคชเมียร์ และถึงแม้ว่าในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้รัฐบาลจะยกเลิกการสั่งปิดอินเทอร์เน็ต 4G ที่กระทำต่อเนื่องมาเป็นเวลา 18 เดือนแล้ว แต่ก็ยังคงมีมาตรการคุมเข้มไม่ให้มีผู้ตอ่ต้านรัฐบาล จากกรณีการปราบปรามและความรุนแรงต่อชาวมุสลิมเหล่านี้ทำให้อินเดียถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 2

ประเทศอัฟกานิสถานที่เพิ่งจะถูกยึดอำนาจโดยกลุ่มตาลีบันเมื่อกลางปีที่ผ่านมาอยู่ในอันดับที่ 4 เออร์ลีวอร์นนิงระบุว่าการยึดอำนาจที่เกิดขึ้นเพิ่มความเสี่ยงให้กับคนกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือชนกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติหรือทางศาสนา โดยกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเผชิญอาชญากรรมต่อมนุษยชาติหรือกระทั่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มากที่สุดคือกลุ่มมุสลิมนิกายชีอะฮ์ที่มักจะเป็นชนชาติพันธุ์ฮาซาราจากการที่กลุ่มตาลีบันและกลุ่มหัวรุนแรงสายนิกายซุนนีอื่นๆ มีการล่าสังหารกลุ่มชาวฮาซารามานานแล้วและก่อเหตุกระทั่งในปัจจุบัน นอกจากนี้กลุ่มตาลีบันยังเคยใช้กำลังต่อผู้ประท้วงพลเรือนและแต่งตั้งกลุ่มหัวแข็งขึ้นเป็นผู้นำระดับสูงทำให้มีความเสี่ยงเหล่านี้มากขึ้น

อย่างไรก็ตามในการประเมินครั้งนี้ จีนและพม่าอยู่ในอันดับที่ "น่าแปลกใจ" สำหรับเออร์ลีวอร์นนิง โดยที่พม่าอยู่ในอันดับที่ 17 ลงมาจากอันดับที่ 10 ถึงแม้ว่าจะเพิ่งมีการรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และมีการปราบปรามสังหารประชาชนไปมากกว่า 1,000 คน รวมถึงมีการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติและอาชญากรรมสงครามอย่างเห็นได้ชัดเจน แต่สาเหตุที่ในปีนี้พวกเขาประเมินโอกาสที่จะเกิดเหตุสังหารหมู่ต่ำลงเป็นเพราะว่าตามสถิติแล้วมีโอกาสน้อยครั้งที่จะมีการสังหารหมู่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน

จีนอยู่ในอันดับที่ 26 ซึ่งยังอยู่ในข่าย "ความเสี่ยงสูง" ติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปีแล้ว แต่ก็มีคนมองว่าอันดับต่ำเกินคาด จากที่ทางการสหรัฐฯ เคยประเมินเรื่องความเป็นไปได้ในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในจีนเอาไว้ รวมถึงอาชญากรรมต่อมนุษยชาติโดยทางการจีนไม่ว่าจะเป็น การบังคับทำหมัน, การทารุณกรรม, ความรุนแรงทางเพศ และการบังคับใช้แรงงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้กระทำต่อชาวอุยกูร์และชาวมุสลิมเชื้อสายเติร์กอื่นๆ รวมถึงยังมีความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะคุมขังชนกลุ่มน้อยในซินเจียงเอาไว้มากถึงเกือบ 3 ล้านคนซึ่งนับว่าเป็นการคุมขังกลุ่มคนตามเชื้อชาติหรือศาสนาที่มีจำนวนสูงสุดนับตั้งแต่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยนาซี แต่อย่างไรก็ตามจนถึงตอนนี้ยังไม่มีเหตุสังหารหมู่เกิดขึ้น

เรียบเรียงจาก

Countries at Risk for Mass Killing 2021–22: Early Warning Project Statistical Risk Assessment Results, Early Warning Project, 29-11-2021

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Genocide_prevention

https://earlywarningproject.ushmm.org/about

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net