Skip to main content
sharethis

หลังจากตำรวจชุดควบคุมฝูงชนเข้าจับกุม “จะนะรักษ์ถิ่น” 37 คน เมื่อคืนวานนี้ วันนี้ตำรวจให้ปล่อยตัวทั้งหมดโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกัน แต่ตั้งเงื่อนไขห้ามชุมนุมอีก องค์กรต่างๆ ออกแถลงการณ์ค้านการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิประชาชน

7 ธ.ค.2564 มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) ที่ให้ความช่วยเหลือทางคดีแก่กลุ่มชาวบ้านเครือข่าย “จะนะรักษ์ถิ่น” รายงานทางทวิตเตอร์ว่า ชาวบ้านทั้ง 37 คนที่ถูกตำรวจชุดควบคุมฝูงชนเข้าสลายการชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่กลางดึกคืนวานนี้และจับกุมไปควบคุมไว้ที่กองบังคับการปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ต่อมาได้รับการปล่อยตัวทั้งหมดแล้วในเวลา 14.05 น.

ภาพชาวบ้านที่ถูกคุมตัวใน บก.ปส. ภาพจาก EnLaw

EnLaw ระบุอีกว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปล่อยตัวทั้งหมดโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัว แต่ได้ตั้งเงื่อนไขห้ามชุมนุมหรือจัดกิจกรรมในลักษณะที่ถูกจับกุมอีก

นอกจากนั้นรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลที่เข้าไปติดตามการจับกุมที่ บก.ปส.ตั้งแต่เมื่อคืนวานได้โพสต์รูปภาพเอกสารบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาของผู้ที่ถูกจับกุมว่ามี ข้อหา ร่วมกันชุมนุมที่เสี่ยงแพร่กระจายโรค และกีดขวางการจราจร ตามพ.ร.บ.จราจรฯ

กรณีนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อเวลาประมาณ 21.20 น. วันที่ 6 ธ.ค. ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนเข้าสลายการชุมนุมของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จ.สงขลา ที่เพิ่งมาปักหลักชุมนุมในช่วงบ่ายเพื่อทวงสัญญาจากรัฐบาล เนื่องจากหลังรัฐบาลไม่ทำตามสัญญา MOU ว่าจะยุติโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะแล้วทำประเมินสิ่งแวดล้อมก่อนซึ่งลงนามกันไปเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2563 แต่กลับเดินหน้าโครงการ และเดินหน้าจัดทำผังใหม่โดยไม่ทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA)

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานยอดผู้ที่ถูกตำรวจจับกุมจากเหตุการณ์ดังกล่าวมีทั้งหมด 37 คน เป็นหญิง 31 คนและชาย 6 คน

ชาวบ้านที่มาให้กำลังใจผู้ที่จับกุม ภาพจาก EnLaw

หลายองค์กรออกแถลงการณ์คัดค้านการสลายการชุมนุม

ภายหลังเหตุการณ์วันนี้หลายองค์กรต่างออกแถลงการณ์ต่อการสลายการชุมนุมดังกล่าวทั้ง

ประมาณ 14.30 น. วันนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กสม.ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุม “จะนะรักษ์ถิ่น” และเรียกร้องให้รัฐบาลรับฟังเสียงของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

“กสม. เห็นว่าเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ได้รับการรับรองตามกติการะหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งรัฐมีหน้าที่ต้องเคารพและคุ้มครองให้ประชาชนสามารถใช้เสรีภาพดังกล่าวได้ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย กสม. จึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อการเข้าควบคุมตัวผู้ชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น” กสม.ระบุไว้ในแถลงการณ์

นอกจากนั้น กสม.ยังมีข้อเรียกร้องอีก 3 ข้อต่อรัฐบาลด้วยคือ ปล่อยตัวผู้ชุมนุม เร่งรับฟังความเห็นของประชาชนตามกระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างเปิดเผยและจริงใจ

ในแถลงการณ์ยังมีข้อเรียกร้องว่าให้รัฐอำนวยความสะดวกและเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนและผู้สังเกตการณ์ได้ทำหน้าที่รายงานสถานการณ์และข้อเท็จจริงอย่างเสรีโดยไม่สร้างอุปสรรคหรือคุกคามการปฏิบัติหน้าที่

สื่อเพื่อประชาธิปไตยฯ แถลงโต้ 6 องค์กรสื่อไม่ได้ตกลงกับ บช.น.ให้ ตร.มาปิดกั้นทำข่าว

ทั้งนี้ข้อเรียกร้องดังกล่าวสืบเนื่องจากมีการรายงานข่าวในหลายสื่อว่าตำรวจได้ขัดขวางการทำงานของสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ด้วย ซึ่งในประเด็นนี้ทาง “สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย" หรือ DemAll ได้ออกแถลงการณ์ประณามและชี้แจงในประเด็นที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าได้มีการทำข้อตกลงกันไว้เรื่องการทำข่าวในพื้นที่ของนักข่าว 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ซึ่งทาง DemAll ระบุว่าได้ตรวจสอบกับตัวแทนองค์กรวิชาชีพแล้วว่าไม่ได้มีการตกลงกันดังที่เจ้าหน้าที่กล่าวอ้าง

นอกจากนั้นยังมีเครือข่ายองค์กรนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัยร่วม 30 องค์กร ออกแถลงการณ์ประณามการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมของจะนะรักษ์ถิ่นที่เป็นไปโดยสงบสันติและการจับกุมยังเป็นไปโดยไม่ชอบธรรมทั้งที่ชาวบ้านมีสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีสิทธิที่จะรักษาผลประโยชน์และปกป้องท้องถิ่นของตนอีกด้วย

เครือข่ายองค์กรนักศึกษายังระบุข้อเรียกร้องให้ปล่อยตัวชาวบ้านโดยจะต้องไม่ดำเนินคดีใดๆ นอกจากนั้นรัฐบาลต้องสอนงข้อเรียกร้องของชาวบ้านโดยเร็ว อีกทั้งต้องมีการสอบสวนและลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการจับกุมโดยใช้ความรุนแรง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net