พบ 'คนทำงานถือวีซ่าชั่วคราว' ในออสเตรเลีย มักถูกเอาเปรียบและยากที่จะได้สถานะผู้อยู่อาศัยถาวร

'ออสเตรเลีย' อีกหนึ่งประเทศในฝันของชาวต่างชาติ แต่จากรายงานของศูนย์แรงงานข้ามชาติ (Migrant Workers Centre) ที่สำรวจผู้ถือวีซ่าชั่วคราว 734 คน พบถูกเอาเปรียบทั้งถูกนายจ้างเบี้ยวค่าแรง ถูกแสวงหาผลประโยชน์ และยากที่จะได้สถานะผู้อยู่อาศัยถาวร


'ออสเตรเลีย' อีกหนึ่งประเทศในฝันของชาวต่างชาติ แต่มีผลการศึกษาระบุว่าคนทำงานถือวีซ่าชั่วคราวมักถูกเอาเปรียบและยากที่จะได้สถานะผู้อยู่อาศัยถาวร | ที่มาภาพ: Migrant Workers Centre

  • จากการสำรวจคนทำงานผู้ถือวีซ่าชั่วคราว 734 คน ในออสเตรเลีย พบว่า 1 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสำรวจมีประสบการณ์เผชิญกับการถูกกดขี่และเอารัดเอาเปรียบในการทำงานในรูปแบบต่างๆ โดยร้อยละ 65 เคยถูกนายจ้างเบี้ยวจ่ายค่าแรง
  • ในจำนวนของผู้ที่ถูกนายจ้างเบี้ยวจ่ายค่าแรงนี้กว่า ร้อยละ 91 เดินทางเข้ามายังออสเตรเลียด้วยวีซ่าที่ไม่มีโอกาสที่จะได้เป็นผู้อยู่อาศัยถาวร
  • ผู้ถือวีซ่าชั่วคราวประเภทที่มีโอกาสได้สถานะผู้อยู่อาศัยถาวรนั้น ใช้เวลาเฉลี่ย 5.1 ปี ก่อนจะได้สถานะผู้อยู่อาศัยถาวร ส่วนผู้ใช้เวลารอนานที่สุดต้องรอคอยเป็นระยะเวลาถึง 13 ปี
  • องค์กรแรงงานเสนอให้ยกเครื่องระบบวีซ่า เพื่อให้ชีวิตของคนทำงานไม่ได้อยู่แค่ในมือของนายจ้าง และผู้ย้ายถิ่นระยะยาวทุกคนควรมีโอกาสที่จะมีถิ่นที่อยู่ถาวรอยู่ในออสเตรเลีย

'ออสเตรเลีย' อีกหนึ่งประเทศในฝันของชาวต่างชาติที่หวังจะเข้ามาทำงานในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก แต่จากผลการศึกษาล่าสุดกลับแสดงให้เห็นถึงสิ่งเลวร้ายที่ซ่อนไว้ โดยเฉพาะประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงานในหมู่คนทำงานที่ถือวีซ่าชั่วคราว

จากรายงาน Lives In Limbo: The Experiences Of Migrant Workers Navigating Australia’s Unsettling Migration System โดยศูนย์แรงงานข้ามชาติ (Migrant Workers Centre) ที่ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นคนทำงานถือวีซ่าชั่วคราว 734 คน ในจำนวนนี้เป็นการสัมภาษณ์เชิงลึก 57 คน ในช่วงกลางปี 2564 ที่ผ่านมา โดยผู้ถือวีซ่าชั่วคราวในการศึกษานี้ได้แก่ 1. วีซ่าครอบครัว (Family sponsored) 2. วีซ่าโครงการแลกเปลี่ยนเยาวชน (Working Holiday) 3. วีซ่านักเรียน (Student) 4. วีซ่าประเภททักษะที่ได้รับการเสนอชื่อ (State/Territory nominated) 5. วีซ่าทำงานหลังเรียนจบ (Graduate) 6. วีซ่านายจ้างเป็นผู้สนับสนุน (Employer sponsored) และ 7.วีซ่าอื่น ๆ ที่มีสิทธิทำงาน (Other visas with work rights)

ผลสำรวจพบว่า 1 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสำรวจมีประสบการณ์เผชิญกับการถูกกดขี่และเอารัดเอาเปรียบในการทำงานในรูปแบบต่าง ๆ โดยร้อยละ 65 เคยถูก 'นายจ้างเบี้ยวจ่ายค่าแรง' หรือการ 'ขโมยค่าจ้าง' (wage theft) หนำซ้ำในจำนวนของผู้ที่ถูกนายจ้างเบี้ยวจ่ายค่าแรงนี้กว่า ร้อยละ 91 เดินทางเข้ามายังออสเตรเลียด้วยวีซ่าที่ไม่มีโอกาสที่จะได้เป็นผู้อยู่อาศัยถาวร

ส่วนผู้ถือวีซ่าชั่วคราวประเภทที่มีโอกาสได้สถานะผู้อยู่อาศัยถาวรนั้นใช้เวลาเฉลี่ย 5.1 ปี ก่อนจะได้สถานะผู้อยู่อาศัยถาวร ส่วนผู้ใช้เวลารอนานที่สุด ต้องรอคอยเป็นระยะเวลาถึง 13 ปี เลยทีเดียว

รายงานยังชี้ถึงช่องโหว่ในโครงการวีซ่า เช่น วีซ่านายจ้างเป็นผู้สนับสนุน มักจะส่งผลให้ลูกจ้างมีความเสี่ยงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้านายและตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงเรื่องวีซ่า ในด้านความเครียดคนทำงานที่ถือวีซ่าชั่วคราว พบว่าผู้ตอบแบบสิบถามที่ถือวีซ่านายจ้างเป็นผู้สนับสนุนมีความเครียดสูงสุดด้วยเช่นกัน ส่วนผู้ถือวีซ่าครอบครัวนั้นมีความเครียดน้อยที่สุด

เสียงจากคนทำงานที่ถือวีซ่าชั่วคราว

สื่อ SBS ได้สัมภาษณ์คนทำงานที่ถือวีซ่าชั่วคราวเพิ่มเติม ดังนี้

ฮวน (ชื่อสมมติเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ให้ข้อมูล) กล่าวว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะพบหนทางสู่การเป็นผู้อยู่อาศัยถาวร เมื่อฮวนและภรรยาของเขาเดินทางมายังออสเตรเลียในปี 2008 ครอบครัวของเขาที่ประเทศบ้านเกิดได้กู้เงินเพื่อช่วยให้เขาและภรรยาการเดินทางมาศึกษาต่อในออสเตรเลีย

เขาใช้วิธียืดเวลาการอาศัยอยู่ในออสเตรเลียด้วยการต่อวีซ่านักเรียนหลายต่อหลายครั้ง และได้งานทำหลังเรียนจบได้ประกาศนียบัตร 2 ใบ ประกาศนียบัตรระดับอนุปริญญา 2 ใบ และประกาศนียบัตรขั้นสูง 2 ใบในด้านการทำอาหารและการบริหารธุรกิจ

ฮวนจ่ายเงินให้กับตัวแทนดำเนินการด้านวีซ่าหลายพันดอลลาร์เพื่อให้สมัครงานให้ นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการยื่นขอวีซ่า

ระหว่างที่ฮวนกำลังรอการอนุมัติวีซ่า นายจ้างขอให้เขาจ่ายเงินให้ 35,000 ดอลลาร์เพื่อแลกกับการเป็นสปอนเซอร์วีซ่า

ฮวนไม่รับข้อเสนอดังกล่าว และในขณะที่เขาถือบริดจิงวีซ่าอยู่ เขาก็พบนายจ้างอีกคนหนึ่งที่เสนอจะสปอนเซอร์วีซ่าให้เขาไปทำงานเป็นเชฟที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในพื้นที่ส่วนภูมิภาค

แต่นายจ้างคนใหม่ไม่จ่ายเงินค่าจ้างให้ฮวน และบอกให้เขารอจนกว่าเขาจะได้รับอนุมัติวีซ่าก่อน แต่เมื่อได้รับวีซ่า เจ้านายของฮวนกลับไม่จ่ายค่าจ้างตามที่ได้สัญญาไว้และเลิกจ้างฮวน ส่งผลให้วีซ่าของเขาถูกยกเลิก

ฮวนได้รับความช่วยเหลือจากทนายความมืออาชีพที่ให้บริการฟรีผ่านศูนย์ลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นฐาน (Migrant Workers Centre) และในที่สุดศาลก็มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างที่ค้างชำระทั้งหมดให้ฮวน

แต่หนึ่งปีผ่านไปฮวนยังคงรอให้นายจ้างปฏิบัติตามคำสั่งศาล

โทนี (ชื่อสมมติเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ให้ข้อมูล) ช่างเชื่อมที่ผ่านการรับรองคุณวุฒิ ซึ่งได้รับการสปอนเซอร์วีซ่าชั่วคราวสำหรับแรงงานทักษะในสาขาที่ขาดแคลน

แม้ว่าเขาจะทำงานหนัก แต่ดูเหมือนว่านายจ้างของเขาไม่เคยพอใจ และมอบหมายงานให้เขามากขึ้น ทำให้เขามีเวลาน้อยมากในการรับประทานอาหารกลางวันหรือแม้แต่พักห้องน้ำ รายงานดังกล่าวระบุ

โทนีมักรู้สึกว่าเขาคนเดียวทำงานเหมือนลูกจ้างสองคน และแทบไม่มีเวลาดูแลลูกทารกแรกเกิดของเขาเลย เพราะโดยเฉลี่ยเขาทำงานมากกว่า 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ รวมถึงกะช่วงสุดสัปดาห์ด้วย

อยู่มาวันหนึ่ง เขาได้ยินเพื่อนร่วมงานชาวออสเตรเลียพูดถึงอัตราค่าล่วงเวลา (overtime) และค่าจ้างเพิ่มพิเศษสำหรับการทำงานนอกเวลาปกติ (penalty rates) และพากันสงสัยว่านายจ้างมีเงินจ่ายสำหรับการทำงานในวันหยุดสุดสัปดาห์และการทำงานล่วงเวลาให้แก่โทนีและคนงานคนอื่นๆ ที่ถือวีซ่าชั่วคราวได้อย่างไร

ตอนนั้นเองที่โทนีตระหนักว่านายจ้างได้จ่ายเงินให้เขาและเพื่อนร่วมงานที่เป็นลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นฐานต่ำกว่าที่พวกเขาพึงได้รับ

ต้องปกป้องสิทธิคนทำงานที่ถือวีซ่าชั่วคราว


ในรายงานฉบับนี้ได้เสนอให้การคุ้มครองสิทธิในสถานที่ทำงานแก่แรงงานข้ามชาติและให้โอกาสในเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรในออสเตรเลีย | ที่มาภาพ: Migrant Workers Centre

จากการสำรวจครั้งนี้ยังพบว่าคนทำงานที่ถือวีซ่าชั่วคราว ไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลขั้นพื้นฐานในระบบแรงงานสัมพันธ์ของออสเตรเลียรวมซึ่งทั้งประเด็นสิทธิแรงงาน โดยกว่าร้อยละ 35 จากที่ตอบแบบสอบถาม ไม่ทราบถึงการคุ้มครองแรงงานขั้นพื้นฐานรวมทั้งสิทธิในการเจรจาต่อรอง 

ทั้งนี้ข้อเสนอในการแก้ปัญหาละเมิดสิทธิแรงงานในงานฉบับนี้ ได้ระบุไว้ดังนี้ 1. เพิ่มสัดส่วนการออกวีซ่าผู้อยู่อาศัยถาวร 2. ให้ข้อมูระยะเวลาสูงสุดในการรอดำเนินการวีซ่า 3. ให้คุณค่ากับผลงานของแรงงานข้ามชาติที่มีต่อสังคมออสเตรเลีย 4. มีการติดตามประเมินผลโครงการวีซ่านายจ้างเป็นผู้สนับสนุนอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการแสวงประโยชน์จากคนทำงาน 5. เปิดรับงานแรงงานข้ามชาติโดยโครงการวีซ่าประเภททักษะที่ได้รับการเสนอชื่อ เพื่อให้โอกาสในเป็นผู้อยู่อาศัยถาวร

6. ให้ความช่วยเหลือในการตั้งถิ่นฐานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น 7. ให้การคุ้มครองสิทธิในสถานที่ทำงานแก่แรงงานข้ามชาติและให้โอกาสในเป็นผู้อยู่อาศัยถาวร 8. ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิแรงงานในออสเตรเลียแก่คนทำงานที่ถือวีซ่าชั่วคราว 9. ปรับปรุงการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม การเยียวยาแก่ผู้ถูกละเมิดสิทธิแรงงาน และ 10. ปกป้องผู้แจ้งเบาะแสการเอาเปรียบแรงงานข้ามชาติ

แมตต์ คันเคิล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของศูนย์แรงงานข้ามชาติ ระบุว่าจะต้องมีการปรับปรุงระบบวีซ่าของออสเตรเลียเพื่อเพิ่มสัดส่วนการออกวีซ่าผู้อยู่อาศัยถาวรให้มากขึ้น

"รัฐบาลคาดหวังให้ผู้ย้ายถิ่นที่มีการศึกษาสูง ทุ่มเทอย่างเต็มที่ในการสร้างชีวิตในออสเตรเลีย เสียสละเวลาการทำงานที่สำคัญในชีวิตให้กับประเทศนี้ ในขณะเดียวกันกลับไม่ส่งเสริมให้พวกเขาได้วีซ่าผู้อยู่อาศัยถาวร" เขากล่าว

คนทำงานที่ถือวีซ่าชั่วคราวประสบกับการถูกเอารัดเอาเปรียบจากการทำงาน เนื่องจากระบบวีซ่าของเราได้สร้างอุปสรรคในการรายงานการกระทำผิดของนายจ้าง

คันเคิลกล่าวว่าคนทำงานเหล่านี้สละชีวิตหลายปีเพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจของออสเตรเลีย สร้างมิตรภาพและครอบครัวในชุมชนของพวกเขา และด้วยเหตุนี้พวกเขาควรได้รับรางวัล

"เราต้องยกเครื่องระบบวีซ่า เพื่อให้ชีวิตของคนทำงานไม่ได้อยู่แค่ในมือของนายจ้าง และผู้ย้ายถิ่นระยะยาวทุกคนควรมีโอกาสที่จะมีถิ่นที่อยู่ถาวรอยู่ที่นี่" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของศูนย์แรงงานข้ามชาติ กล่าว.

ที่มาเรียบเรียงจาก
https://www.migrantworkers.org.au/livesinlimbo
Lives In Limbo: The Experiences Of Migrant Workers Navigating Australia’s Unsettling Migration System (Migrant Workers Centre, 2021)
Australia has become a ‘guest worker state’ exploiting temporary visa holders, report reveals (Cait Kelly, 1 December 2021)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท