Skip to main content
sharethis

‘จะนะรักษ์ถิ่น’ ร้อง กมธ. กฎหมายฯ จี้สอบสลายชุมนุมและดำเนินคดี 37 ชาวบ้านจะนะ พร้อมขอสอบละเมิดสิทธิมนุษยชนในโครงการนิคมอุตสาหกรรม ยันปักหลักสู้ พร้อมเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ด้าน ‘สิระ’ รับเรื่อง วอนรัฐบาลอย่าเอาผิดชาวบ้าน

8 ธ.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (8 ธ.ค. 2564) ไครียะห์ ระหมันยะ ตัวแทนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เข้ายื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ณ รัฐสภา ขอให้ตรวจสอบการสลายการชุมนุมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีนิคมอุตสาหกรรมจะนะ หลังรัฐเมินบันทึกข้อตกลง (MOU) เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2563 และเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นในยามวิกาลเมื่อคืนวันที่ 6 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยมี สิระ เจนจาคะ ประธานคณะกรรมาธิการ รังสิมันต์ โรม โฆษกคณะกรรมาธิการ และอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ กรรมาธิการ เป็นผู้แทนรับหนังสือ โดยมีข้อเรียกร้อง 2 ข้อ ได้แก่

  1. ขอให้ตรวจสอบการสลายการชุมนุมในยามวิกาลพร้อมกับการแจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้านทั้ง 37 รายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถือเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและเกินกว่าเหตุหรือไม่
  2. ขอให้ตรวจสอบกระบวนการดำเนินงานในโครงการอุตสาหกรรมจะนะว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ด้วยเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบกับชาวบ้านจำนวนมาก รัฐบาลจึงควรให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมในโครงการทั้งหมดทุกขั้นตอน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชนในพื้นที่

‘รังสิมันต์’ ผิดหวังรัฐสลายการชุมนุม ‘สิระ’ วอนรัฐบาลอย่าเอาผิดชาวบ้าน

รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล และโฆษกคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน แสดงความผิดหวังต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุมและการดำเนินคดีชาวบ้านจะนะ 37 คน โดยกล่าวว่า หลังจากที่มีความผิดพลาดที่ไม่น่าเกิดขึ้น ณ ขณะที่สลายการชุมนุม กมธ. หวังว่าชาวบ้านที่ถูกควบคุมตัวจะไม่ถูกดำเนินคดี อาจมีการคุยกันแล้วนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในระยะยาว แต่น่าเสียดายว่าพี่น้องไม่ได้รับสิ่งนั้นและต้องถูกดำเนินคดี ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านมีภาระทางคดี ต้องเดินทางไกลมาขึ้นโรงขึ้นศาล

“เข้าใจว่าที่ผ่านมาไม่มีความต่อเนื่องในการแก้ปัญหา แต่เราสามารถสร้างกระบวนการพูดคุยกันเพื่อหาทางออกได้ แต่กระบวนการพูดคุยไม่ได้เกิดขึ้นก็เกิดการสลายการชุมนุมเสียแล้ว ผมขอเรียนกับพี่น้องทุกคนว่าเรามีความจริงจัง และเราไม่อยากจะเห็นการสลายการชุมนุมแบบนั้นเกิดขึ้น เรารู้สึกเสียใจที่มีการสลายการชุมนุมแบบนั้น” รังสิมันต์กล่าว

นอกจากนั้น รังสิมันต์ยังย้ำว่า กมธ. เห็นตรงกันว่าไม่สามารถปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจตามอำเภอใจในการสร้างความรุนแรงกับประชาชน การรวมตัวของประชาชนไม่มีความรุนแรงอะไรเลย ขณะที่การสลายการชุมนุมก็ยังมีอยู่ ในเมื่อการควบคุมการชุมนุมไม่เป็นเหตุเป็นผล กมธ. ก็มีความจำเป็นต้องทำหน้าที่ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ในอนาคตอีก

ด้าน สิระ เจนจาคะ ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า  เรื่องนี้ต้องมีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่ามีเหตุอันควรอย่างไรจึงต้องสลายการชุมนุมและดำเนินคดี การที่ผู้เดือดร้อนมาหน้าทำเนียบรัฐบาล เหตุผลของการต้องสลายหรือไม่สลายคือมีเสียงปรบมือหรือเชียร์รัฐบาลเท่านั้นหรือถึงจะเป็นการชุมนุมถูกกฎหมาย และตั้งแต่เปลี่ยนผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็น พลตำรวจโทสำราญ นวลมา ก็รู้สึกว่าการดำเนินการจะเด็ดขาดมากกว่าคนที่แล้ว พร้อมเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้ไม่เอาผิดชาวบ้าน

“เรื่องเร่งด่วน การโดนคดีจำนวนมาก เรียกร้องไปยังรัฐบาลได้ไหมครับว่าอย่าเอาผิดเขาเลย เขาไม่มีเรื่องผลประโยชน์ทางการเมือง ไม่มีฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล เขามาถามสิทธิ ถามสิ่งที่เขาได้รับสัญญาจากรัฐบาลไว้ ไปดูเจตนาเขาว่าบริสุทธิ์ คดีอาญามันขึ้นอยู่กับเจตนาด้วย ไม่ใช่แค่ตัวกฎหมายอย่างเดียว ผมขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลว่าอย่าเอาผิดเขาเลย” สิระกล่าว

ส่วนกรณีตรวจสอบโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ สิระกล่าวว่า กมธ. จะลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบกระบวนการทำประชาพิจารณ์ว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือกระทบสิทธิชุมชนหรือไม่ ย้ำว่า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ที่ได้รับการมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการจัดเวทีประชาพิจารณ์นั้นต้องฟังเสียงผู้คัดค้านโครงการ เพราะขณะนี้ประชาชนไม่เชื่อมั่นในการทำงานของรัฐ

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามถึงกรณีปรากฏข่าว นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนโครงการนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าว รวมทั้งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้รวบรวมโฉนดให้กับนายทุน สิระกล่าวว่า “ไม่ไว้หน้า จัดให้ มีข้อมูลแล้ว เดี๋ยวจัดให้”

กมธ. ตำรวจ รับลูก จี้ตำรวจ-ฝ่ายข่าวรับผิดชอบ

ณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ โฆษกคณะกรรมาธิการการตำรวจ แจงชาวจะนะ 37 คน ถูกตั้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 14 ฝ่าฝืน พ.ร.บ.จราจร ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน และฝ่าฝืน พ.ร.บ.ทางหลวง ซึ่งได้มีการพิมพ์ลายนิ้วมือและแจ้งข้อกล่าวหาไปแล้ว ขณะนี้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักทรัพย์ แต่มีเงื่อนไขการปล่อยตัวคือไม่กระทำผิดซ้ำข้อหาเดิม ซึ่งวันพฤหัสบดีนี้จะมีการประชุมและมีมติว่าจะเรียกใครมาชี้แจง

“ใครเป็นคนรับผิดชอบ กองบัญชาการตำรวจนครบาล หรือหน่วยงานตรงนั้น ใครตัดสินใจใช้กำลังในการควบคุมตัวและพาพี่น้องชาวจะนะไปที่กองบัญชาการปราบปรามยาเสพติด และวิธีการแจ้งข้อกล่าวหาถูกหรือเปล่า และที่สำคัญคือใครเป็นผู้รายงานสถานการณ์ให้ท่านนายกรัฐมนตรีว่ามีกลุ่มสร้างความรุนแรงอยู่ในม็อบ นี่เป็นจุดชี้ขาดในการใช้กำลัง ฉะนั้นตำรวจ ฝ่ายข่าวที่แจ้งไปต้องมาชี้แจง กมธ. ว่าเหตุดลใจใดที่เป็นหลักฐานในการรายงานนายกรัฐมนตรีแบบนี้ ถ้าไม่มีกลุ่มต่างๆ ที่ใช้กำลังแฝงอยู่ ใครจะรับผิดชอบ ผมฟังนายกรัฐมนตรีแถลงเมื่อวานไม่สบายใจ ต้องไปเสาะหาข้อเท็จจริงให้เป็นที่กระจ่าง” โฆษก กมธ. ตำรวจกล่าว

‘ลูกสาวทะเลจะนะ’ ยันปักหลักสู้ พร้อมเอาชีวิตเป็นเดิมพัน

ก่อนการสลายการชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ที่ผ่านมา ณ ทำเนียบรัฐบาล ไครียะห์ ระหมันยา ตัวแทนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ได้แถลง 3 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ภายหลังเวลาเกือบ 1 ปีของการทำ MOU กับรัฐบาลการแก้ไขปัญหาไม่คืบ โดยมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

  1. รัฐบาลต้องตั้งกลไกตรวจสอบความผิดปกติของโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะใหม่โดยจะต้องตรวจสอบ ในทุกมิติ อย่างเช่น เรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมประชาชน เรื่องการใช้แผนปฏิบัติการโครงการเดินสํารวจ ออกโฉนดที่ดินและรังวัดรูปแปลงโฉนดที่ดินให้เป็นมาตรฐานเดียวกันอันมิชอบ และการใช้งบประมาณของ ศอ.บต. ในโครงการนี้ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ซึ่งกลไกนี้จะต้องเป็นกลาง เชื่อถือได้ และมีส่วนร่วมของ ประชาชน เมื่อแล้วเสร็จจะต้องแจ้งผลการตรวจสอบให้ประชาชนรับทราบอย่างเป็นทางการด้วย
  2. รัฐบาลต้องจัดการศึกษาโครงการในเชิงยุทธศาสตร์หรือSEA.แบบมีส่วนร่วมและต้องดำเนินการโดย นักวิชาการที่เป็นกลางและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ซึ่งคณะศึกษานี้ต้องไม่อยู่ภายใต้การกำกับของ ศอ.บต.
  3. ระหว่างนี้ รัฐบาลต้องสั่งให้ยุติการดำเนินการทุกอย่างในโครงการนี้ไว้ก่อน จนกว่าการดำเนินการตามข้อ 1 และ ข้อ 2 จะแล้วเสร็จ

หลังยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน วันนี้ ไครียะห์ ระหมันยา ตัวแทนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เปิดใจกับผู้สื่อข่าวว่า กมธ. น่าจะดำเนินการให้ถึงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้เองชาวบ้านรู้สึกมีความหวังขึ้นมาในระดับหนึ่ง มีกำลังใจมากขึ้น มีแรงผลักดันขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ตนไม่รู้ว่าจะไว้ใจใครได้แค่ไหน ถ้า กมธ. ยื่นมือเข้ามาช่วยเราจะยินดีมาก แต่จริงๆ ก็เป็นหน้าที่ของเขาที่ต้องดูแลเราอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นยืนยันจะยังไม่กลับบ้าน จนกว่าจะบรรลุข้อเรียกร้องทั้งหมด โดยไครียะห์กล่าวว่า อยากจะรวมตัวกลุ่มคนที่รัฐบาลได้ทิ้งสัญญาเอาไว้ ซึ่งเป็นความรู้สึกเจ็บปวดเดียวกันกับทุกเครือข่ายภาคประชาชน

“ทุกย่างก้าวของหนูที่อยู่ในกรุงเทพฯ หนูคิดถึงแต่สัญญานี้ ช่วงโควิดหนูทำอะไรไม่ได้เลย เขาลักไก่มาเรื่อยๆ มติ ครม. เมื่อวานเขาจะให้มีสร้างผังเมือง แล้วเขายังมาสลายการชุมนุมอีก ตอนนี้หนูเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ต่อให้สลายการชุมนุม กระสุนยาง กระสุนจริง หนูไม่ถอยแล้วตอนนี้ ที่เรามาเราตัดสินใจแล้วว่าครั้งนี้ถ้าไม่ได้อะไรกลับไปเราก็ไม่กลับ เราจะใช้ชีวิตเป็นเดิมพัน” ไครียะห์ย้ำ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net