Skip to main content
sharethis

คนเดือนตุลา-พฤษภา35 ผสานเสียง ครป.-สสส.-องค์กรกลาง-ร่วมให้กำลังใจแอมเนสตี้ฯ ทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชนจากการคุกคามของรัฐ ปลุกประชาชนถือเป็นภาระขับไล่รัฐบาลประยุทธ์ หยุดกล่าวหารับเงินต่างชาติเพราะรัฐบาลก็รับ

8 ธ.ค. 2564 วันนี้ (8 ธ.ค. 2564) สภาที่ 3 ร่วมกับคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) จัดเวทีภาคประชาชน เนื่องในวันรัฐธรรมนูญและวันสิทธิมนุษยชนสากล 10 ธันวาคม เรื่อง “บทบาทแอมเนสตี้และองค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย กับการขับเคลื่อนเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน” (ในรัฐบาลประยุทธ์) ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน

'องค์กรกลาง' ชี้! กล่าวหาแอมเนสตี้รับเงินต่างชาติ เป็นการหมิ่นประมาทและนำเข้าข้อมูลเท็จ

ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ เลขาธิการองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-Net) ระบุว่า รัฐบาลไทยเริ่มใช้กลไกที่บิดเบือนกฎหมายมาคุกคามปิดกั้นการทำงานหรือตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐขององค์กรภาคประชาสังคม ขณะที่แอมเนสตี้ ก่อตั้งมาแล้ว 60 ปี จนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เกิดจากผู้คนทั่วโลกที่รักในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ว่าทุกคนจะต้องอยู่อย่างเท่าเทียมกัน จึงร่วมกันบริจาคเพื่อก่อตั้งเป็น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และได้เคยยื่นมือเข้าช่วยไทยกรณี 6 ตุลา 19 ที่รัฐไทยจับกุมคุมขังและกวาดล้างผู้เห็นต่างซึ่งช่วงนั้นสังคมไทยแตกแยกอยู่ด้วยความสงบสุขร่วมกันไม่ได้ แอมเนสตี้จึงกดดันด้วยการเปิดเผยข้อมูล นำความจริงไปตีแผ่ จนรัฐบาลไทยช่วงนั้นเปลี่ยนนโยบาย  ชี้ชัดว่าไม่มีประเทศใดอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้และไม่ใช่การแทรกแซงจากต่างประเทศ แต่เป็นการช่วยเหลือในเชิงประชาคมโลกเพื่อสันติภาพและการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขของคนทั่วทั้งโลก

ลัดดาวัลย์ มองว่า การที่รัฐไทยพยายามสร้างกระแสต่อต้านแอมเนสตี้ว่าเป็นของต่างชาตินั้นเป็นการบิดเบือนความจริง เพื่อควบคุมการแสดงออกของผู้คน นอกเหนือจากการจับกุมคุมขังและใช้กฎหมายปิดปากประชาชนที่ชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมืองที่ผ่านมา พร้อมยืนยันว่า แอมเนสตี้ เพียงตีแผ่เรื่องราวและตรวจสอบว่า รัฐต่างๆ รวมถึงรัฐไทยมีการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมตามมาตรฐานสากลหรือไม่เท่านั้น การกดดันเป็นการร่วมกันเขียนจดหมายจากสมาชิกทั่วโลกหรือออกแถลงการณ์รวมถึงนำเสนอข้อมูล จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยหยุดคุกคามการแสดงออกของประชาชนและหยุดละเมิดสิทธิมนุษย์ชนรวมถึงหยุดกดดันและทำความเข้าใจการทำงานของภาคประชาสังคมอย่างแอมเนสตี้ ให้ถูกต้อง

ลัดดาวัลย์ กล่าวว่า รัฐไทยต้องทบทวนนโยบายที่จะกดทับการแสดงออกของประชาชนและประชาสังคม เพราะจะไม่เป็นผลดีต่อรัฐไทย  พร้อมย้ำว่า ภาครัฐไม่สามารถทำทุกอย่างได้เอง ถ้าอยากพัฒนาต้องเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วม ซึ่งภาคประชาสังคมจะช่วยเติมซ่องว่างของรัฐในการพัฒนา จึงต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐกับประชาสังคม และขอให้เลิกพูดว่าองค์กรภาคประชาชนรับเงินต่างประเทศเพราะเป็นเรื่องที่เชยมากเมื่อเปรียบเทียบกันภาครับเงินจากต่างชาติมากกว่าหลายเท่า แล้วทำไมต้องยึดมั่นคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาคมโลก 

พร้อมย้ำถึง พันธกิจพันธกิจของแอมเนสตี้ ที่ย้ำกันเคารพสิทธิซึ่งกันและกันและเคารพสิทธิ์ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งทุกคนต้องยึดถือ เพื่อบรรลุพันธกิจ ต้องมีการวิจัยและป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง แล้วต้องคัดค้านการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ผังการจำคุกกักขังจำกัดอิสรภาพที่มีสาเหตุมาจากความเชื่อการเมืองและศาสนาหรือเชื้อชาติเผ่าพันธุ์และเพศ ไม่เคยใช้วิธีการต่อสู้ที่รุนแรงแต่อย่างใด หรือเพียงนักโทษทางความคิด อำนาจที่จะรณรงค์ให้มีการปลดปล่อยนักโทษทางความคิด,คัดค้านโทษประหารชีวิตและการทารุณกรรมต่างๆด้วย เป็นกรอบกติกาและการทำงานเป็นไปตามหลักการสากลที่ประเทศไทยให้การยอมรับแล้วด้วย

ดังนั้น การสร้างกระแสต่อต้านแอมเนสตี้ ลูกค้าต่างๆที่เป็นการหมิ่นประมาทอย่างร้ายแรงด้วย และอยากให้ผู้มีอำนาจพึงสำเนียกไว้ด้วยว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่เป็นการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ

'สุธรรม' จี้รัฐบาลหยุดคุกคามและปิดกั้นประชาชน ปลุกประชาชนถือเป็นภาระขับไล่รัฐบาล

สุธรรม แสงประทุม อดีตนักโทษคดี 6 ตุลา 2519 และรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย ได้เล่าถึงการกดดันของนานาชาติจนทำให้รัฐบาลหลังยุค 6 ตุลา 2519 ซึ่งเป็นรัฐบาลขวาจัด ถูกยึดอำนาจ รัฐไทยต้องเปลี่ยนนโยบายและแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงกฎหมายเกี่ยวกับศาลทหารต่างๆ ก่อนนำสู่การนิรโทษกรรมให้กับนิสิตนักศึกษาและประชาชนที่เข้าจับอาวุธร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยต่อสู้กับอำนาจรัฐ

ขณะที่ปัจจุบันมีการคุกคามและปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน ลักษณะคล้าย 45 ปีก่อน จึงเป็นทั้งความเศร้าต่อการกระทำของผู้มีอำนาจและเป็นความหวังที่เห็นพลังการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวและประชาชน พร้อมกล่าวทีเล่นทีจริงว่า หากรัฐบาลประยุทธ์จะขับไล่ออกจากประเทศไทยก็ควรจะไล่ UN หรือสถานทูตต่างประเทศไปด้วย เพราะมีการตรวจสอบรัฐบาลเข้มข้นกว่าแอมเนสตี้มาก

สุธรรม เรียกร้องให้ประชาชนต้องร่วมกันตระหนักรู้ปัญหาบ้านเมือง อะไรที่ไม่ชอบมาพากลต้องถือเป็นภาระ ช่วยกันผลักดันทุกวิธี ถ้ามีคนต่อสู้ก็ออกมาให้กำลังใจ มีคนถูกจับกุม ก็ควรมีส่วนร่วมในการเรียกร้องการปล่อยตัวหรือสิทธิประกันตัว ซึ่งจะเป็นกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ และวาระนี้นอกจากจะต้องช่วยกันให้กำลังใจแอมเนสตี้แล้ว ยังต้องขับไล่รัฐบาลประยุทธ์ไปพร้อมกันด้วย

วันนี้ประเทศไทยกลับไปเป็นประเทศ ที่บาดลึกแตกแยกแตกร้าวเกินกว่าที่จะเยียวยา  คนที่นำความแตกแยกมาสู่สังคมไทย คือคนซึ่งดำรงตำแหน่งที่เรียกว่านายกรัฐมนตรี ไม่เพียงแต่ทำลายหลักการทางมนุษยชน สิทธิมนุษยชนแต่ทำลายหลักบุคลิกภาพของผู้นำด้วย ว่าคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีปกติการพูดจาปราศรัยต้องเป็นแบบอย่างได้ อย่างน้อยควรดูแล้วชื่นใจ แต่ตนดูแล้วเศร้าใจทุกข์ใจ

สสส.จี้รัฐสร้างความโปร่งใส แอมเนสตี้ช่วยเหลือเด็กราษฎรเพราะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน

สมศรี หาญอนันทสุข กรรมการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) กล่าวว่า อยากตั้งคำถามมากว่า ทำไมเราตรวจสอบรัฐไม่ได้เลยอันนั้นอันนี้ก็เป็นความลับ บอกไม่ได้ใครมีความโปร่งใสมากกว่ากัน  มีคนบอกว่าการชุมนุมของแอมเนสตี้ล่าสุด มีลักษณะไปช่วยเหลือเด็กที่ใช้ความรุนแรง บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ก็อยากจะให้แยกแยะว่าเด็กคนนั้นเป็นกลุ่มเดียวกันหรือไม่

“ที่ผ่านมาเห็นว่าแอมเนสตี้มีการเคลื่อนไหวกับทุกรัฐบาล ไม่ได้เทคไซด์อะไรเลยแต่เป็นการรณรงค์ที่จะต้องเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเขียนจดหมาย , ออกไปยื่นหนังสือหรือล็อบบี้รัฐมนตรีในส่วนของรัฐบาลก็ตาม และในเรื่องที่กล่าวหาว่าองค์กรสิทธิมนุษย์ แอมเนสตี้ประเทศไทยและทั่วโลก เวลาทำงานจะเลือกข้างหรือเลือกปฏิบัติ  อยากบอกว่าความจริงแล้วการทำงาน ขององค์กรสิทธิมนุษยชน ถ้าทำทุกเรื่องเราก็ควรจะไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่รัฐ ในการดูแลความปลอดภัยของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐแต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลทหาร  ตำรวจในการที่จะดูแล หากมีปัญหาระหว่างเอกชนกับเอกชนก็ต้องเป็นหน้าที่ของตำรวจทหาร   แต่ถ้ารัฐมีปัญหากับประชาชนเอง แทนที่จะทำหน้าที่เป็นกรรมการ ลงมามีปัญหาเองตรงนี้แอมเนสตี้หรือองค์กรสิทธิมนุษยชน อีกหลายองค์กรก็ต้องออกมาพูด เพราะท่านไม่ปฏิบัติหน้าที่  ซึ่งจะเห็นว่ามีแอมเนสตี้ทั่วโลกได้มีการเรียกร้องรัฐของเขาเองอยู่เรื่อยๆ” 

‘อดุลย์’ ไม่เคยเห็นรัฐบาลไหนทำลายความยุติธรรมเท่ารัฐบาลประยุทธ์ บริหารล้มเหลวไม่เป็นท่า

อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวว่า ตนไม่เคยเห็นรัฐบาลไหน ที่ทำลายความยุติธรรมเท่ารัฐบาลชุดปัจจุบัน ไม่เคยมีรัฐบาลไหนที่คอรัปชั่นในประวัติศาสตร์ มากที่สุดเท่ารัฐบาลชุดนี้ เป็นสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจพังยับเยิน ไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ นอกจากการกู้และแจกเงิ นแต่ไม่เคยทำให้ประชาชนยืนบนลำแข้งของตัวเองได้ คือการบริหารงานที่ล้มเหลวที่สุดในประวัติศาสตร์จากทุกรัฐบาลที่เคยมีมา และยังมีการทุจริตวัคซีนหากินกับความตายของคน

“แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลไม่ใช่มูลนิธิ ท่านจะใช้อำนาจกฎหมายและตรวจสอบได้อย่างไร ไม่เคยรับเงินจากรัฐบาลไหนเลย ไม่เช่นนั้นองค์กรสหประชาชาติจะยกย่องให้รับรางวัลโนเบลในปี 2520 ได้อย่างไร  เพราะฉะนั้นขอให้อย่าบิดเบือนความจริง อยากบอกทุกฝ่ายว่าแอมเนสตี้เป็นองค์กร ที่เคยช่วยเหลือประเทศไทย ไม่ได้คุกคามความมั่นคงของชาติ ไม่ได้คุกคามความมั่นคงของไทย แต่นำสิ่งที่ความมั่นคงของไทยกระทำเลวร้ายทั้งหมดมาตีแผ่ให้ประชาชนได้ทราบ” อดุลย์ กล่าว

อดุลย์ กล่าวว่า วันที่ 17 พ.ค. 2565 เป็นวันครบรอบเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 30 ปี จะมีการจัดงานในโอกาสรำลึก 30 ปี เหตุการณ์พฤษภาทมิฬเวลาผ่านไป 30 ปีเร็วมาก เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ตนสูญเสียลูกชายไป และมีหลายครอบครัวที่ประสบแบบเดียวกัน ตอนนั้นคนหนึ่งที่อุ้มชูเราก็ คือคุณแดเนียล เกรซ เพราะได้ช่วยเหลือครอบครัวของญาติที่เสียชีวิต ล้วนแล้วแต่เป็นชาวบ้านธรรมดา ทั้งนี้เหตุการณ์การชุมนุมปี 53 และต่อมามีการชุมนุมของคนเสื้อเหลือง แอมเนสตี้ได้ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำรัฐบาลที่ปราบปรามประชาชนที่ถูกกระทำ และออกแถลงการณ์ประณามไปทั่วโลก จึงทำให้สถานการณ์ไม่บานปลายไปมากกว่านี้  แต่วันนี้ท่านออกมาร่วมผสมโรงว่า อยากจะไล่แอมเนสตี้ออกไป ตนฟังแล้วทำไมถึงได้บิดเบือนไปเช่นนี้

‘เลขา ครป.’ ชี้ ถ้าองค์กรสิทธิมนุษยชนทำงานหนักขึ้น ก็เพราะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากรัฐมากขึ้น

เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตบ (ครป.) กล่าวว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เริ่มเป็นที่รู้จักของคนไทยช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หลังการรณรงค์ประสบความสำเร็จในการรณรงค์ปล่อยนักโทษทางการเมือง โดยนักศึกษาคดี 6 ตุลา 18 คน ถูกจองจำโดยไม่มีการตั้งข้อหา จนถูกฟ้องฐานก่อกบฏ ก่อจลาจล ร่วมกันกระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ และบางคนถูตั้งข้อหามาตรา 112 และกฎหมายนี้ถูกแก้ไขเพิ่มโทษจากเดิมไม่เกิน 7 ปี เป็นจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี หลังจากนั้น ส่วนผู้ก่ออาชญากรรมโดยรัฐยังไม่มีผู้ก่อการคนใดถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม  

แต่หลังจากนั้นแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้รณรงค์ให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวผู้ต้องหาทางการเมืองโดยมีจดหมายนับแสนฉบับถูกส่งมาจากทั่วโลกมาถึงรัฐบาล จนกระทั่งมีการเร่งผ่านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ กรณี 6 ตุลาอย่างรวดเร็วจในวันที่ 16 ก.ย. 2521 จำเลยในคดีถูกปล่อยตัวและถอนข้อหาทั้งหมดที่ไม่เป็นธรรม

นอกจากนั้นหลังการรัฐประหาร รสช.ในปี 2534 และเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ก็มีบทบาทอย่างมากในการรณรงค์ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง โดยเฉพาะแกนนำนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ถูกจับขังจากการชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร 

ปัจจุบันมีความพยายามในการปิดกั้นองค์กรสิทธิมนุษยชนในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล โดยการผลักดันให้ยุบองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ทั้งที่ปิดกั้นการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนจะทำให้ประเทศเสียหายความน่าเชื่อถืออย่างร้ายแรงในสายตาประชาคมโลก ที่กระทรวงการต่างประเทศไปให้คำมั่นกับสากลในการประชุม UPR ตนตั้งข้อสังเกตุว่า ทำไมกระแสการเรียกร้องขับไล่แอมเนสตี้จึงเกิดขึ้นในยุครัฐบาลประยุทธ์ คำถามคือเขาอยู่มาหลายสิบปีแล้วทำไมพึ่งจะมีปัญหาในรัฐบาลนี้ เพราะเขาออกมาตรวจสอบรัฐบาลใช่หรือไม่ ซึ่งรัฐบาลประชาธิปไตยต้องตรวจสอบได้ มีความโปร่งใสและธรรมาภิบาล แต่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จะออกกฎหมายปิดปากประชาชน ออกกฎหมายจำกัดข้อมูลข่าวสาร และใช้กฎหมายเป็นเครื่องมืออำนาจนิยมคุกคามประชาชนผู้เห็นต่าง ที่เป็นบทบาทของรัฐบาลทรราชย์

"น่าเสียดายที่รัฐบาลไทยไม่ทำงานบูรณาการไปในทิศทางเดียวกัน สิทธิมนุษยชนต่างๆ บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศ การแสดงออกภายในย่อมส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย การทำงานที่มีประสิทธิภาพขององค์กรประชาธิปไตยและองค์กรสิทธิมนุษยชนจะยิ่งตอกย้ำว่าประเทศไทยเปิดกว้างและรับรองสิทธิเสรีภาพดังกล่าว ไหนว่าต้องการเปิดประเทศ การที่นายกฯ ไฟเขียวสั่งการให้ปิดแอมเนสตี้และสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการรับรองจากสหประชาชาติในยุคพล.อ.ประยุทธ์จะเป็นจุดจบรัฐบาล กระแสนี้จะนำพาประเทศล่มจม เราจะปิดประเทศ ปิดกั้นสิทธิมนุษยชนไม่ได้ ทุกคนต้องได้รับการตรวจสอบ ประเทศไทยถึงจะเปลี่ยนผ่านได้อย่างสันติ และหาหนทางปรองดองกัน ไม่เช่นนั้นจะสะสมความขัดแย้งและหลีกเลี่ยงความรุนแรงไม่ได้ คนไทยคงไม่ต้องการสงครามกลางเมืองเหมือนในอดีตหรือกลายเป็นเหมือนพม่าแล้ว" เมธา กล่าว

เมธา เห็นว่า ปัจจุบันกระแสการเรียกร้องให้ยุบแอมเนสตี้ ราวกับการวกกลับมาของ 6 ตุลาคม 2519 ในฐานะรัฐอาชญากรรมกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งคาดว่าการรณรงค์ของแอมเนสตี้นั้นแหลมคมและมีผลสะเทือนอย่างยิ่งในระดับระหว่างประเทศ เนื่องจากสถานการณ์การละเมิดสิทธิที่สูงมากขึ้นและอาจนำไปสู่ความรุนแรงและอาชญากรรมโดยรัฐได้อีกเหมือนเมื่อ 45 ปีก่อน รัฐบาลอาจกลัวกระแสที่ผู้มีอำนาจตกเป็นจำเลยในคดีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง เพราะนอกจากการพิทักษ์โครงสร้างรัฐไทยแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและนโยบายต่างประเทศ ล้วนเป็นตัวกำหนดนโยบายความมั่นคงภายในของรัฐบาล

ประเทศไทยเป็นพันธกรณีระหว่างประเทศ ในกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนทั้งสิ้น 7 ฉบับ นอกจากนั้นภายหลังปี 2541 องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ยังได้มีมติให้มี “ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบของบุคคล กลุ่ม และหน่วยงานในสังคม เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล” หรือ “ปฏิญญาว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” (The Declaration on Human Rights Defenders) ขึ้นอีกอันหนึ่ง และมีการตรวจสอบสถานการณ์การละเมิดนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างเข้มข้นจนอดีตนายกรัฐมนตรีของไทยเคยสบถ "ยูเอ็นไม่ใช่พ่อ" มาแล้ว และมาถึงปัจจุบันนี้มีนักสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่ถูกลอบสังหารไปแล้วอย่างน้อย 58 คน และยังมีคดีคงค้างในด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมากภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ ที่กลัวการตรวจสอบจากองค์กรระหว่างประเทศ

รัฐบาลมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้แก่ประชาชน แต่กลับละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชนเสียเอง ขณะที่องค์กรสิทธิมนุษญชนพยายามตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐกลับคุกคามปิดกั้นการตรวจสอบและขับไล่ไม่ให้มีการตรวจสอบขึ้นโดยอ้างว่าองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ เป็นภัยต่อความมั่นคง ขณะที่ประเด็นสิทธิมนุษยชนมีอยู่ในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย มีสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรรมาธิการสิทธิ สภาผู้แทนราษฎร มีการเรียนการสอนสิทธิมนุษยชนศึกษาในมหาวิทยาลัยและหลักสูตรเฉพาะในการอบรมของอัยการและศาล

"แต่อุดมการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีเรื่องสิทธิมนุษยชนเลย หรือ ร.ร.นายร้อย จปร. ที่เขาเรียนจบมาไม่มีหลักสูตรสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ นอกจากเรียนรู้ระบบการบังคับบัญชาและชั้นยศ รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์จึงไม่เข้าใจและเคารพสิทธิมนุษยชน" เมธา กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net