Skip to main content
sharethis

แรงงานข้ามชาติและผู้ไร้สัญชาติ ยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยกรณีโครงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 “มาตรา 33 เรารักกัน” ที่เสนอโดยกระทรวงแรงงานว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะเงื่อนไขโครงการเป็นการกระทำที่เป็นการจำแนก กีดกัน และเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจขัดต่อมาตรา 4 และมาตรา 27 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560

9 ธ.ค. 2564 วันนี้ (9 ธ.ค. 2564) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) และตัวแทนแรงงานที่ไม่มีสัญชาติไทย ได้ยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณี "การไม่ได้รับการเยียวยาโครงการ ม.33 เรารักกัน" ของผู้ประตนที่ไม่มีสัญชาติไทย หลังจากเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2564 ตัวแทนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติและแรงงานไร้สัญชาติ ได้ส่งหนังสือร้องเรียนถึงผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ตรวจสอบและมีข้อเสนอต่อกระทรวงแรงงานและกระทรวงการคลัง เพื่อยกเลิกการกำหนดคุณสมบัติให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย เพื่อให้ผู้ร้องเรียนและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ไม่มีสัญชาติไทย เข้าถึงสิทธิในการได้รับเงินชดเชยเยียวยาตามโครงการ ม.33 เรารักกัน และโครงการอื่นของรัฐในอนาคตเพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างเสมอภาคเท่าเทียมและเป็นธรรม รวมทั้งขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ว่าการกำหนดเงื่อนไขของโครงการเป็นการกระทำที่เป็นการจำแนก กีดกัน และเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมขัดต่อมาตรา 4 และมาตรา 27 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หรือไม่  

ต่อมา เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2564  ตัวแทนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติและแรงงานไร้สัญชาติ ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดินว่าการกำหนดเงื่อนไขการเยียวยาในโครงการ “ม.33 เรารักกัน”  ให้เฉพาะแก่ผู้ประกันตนซึ่งมีสัญชาติไทยเท่านั้นไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ และไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2560 มาตรา 4 และมาตรา 27 เพราะบทบัญญัติห้ามมิให้เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติเท่านั้น มิได้หมายความรวมถึงสัญชาติ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://hrdfoundation.org/?p=2642)

ตัวแทนแรงงานข้ามชาติและผู้ไม่มีสัญชาติไทยไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและมีข้อเสนอแนะถึงกระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลังและคณะรัฐมนตรีว่า โครงการ “ม.33 เรารักกัน” ที่ให้สิทธิเฉพาะผู้ประกันกันตนที่มีสัญชาติเท่านั้น เป็นการขัดต่อมาตรา 4 และมาตรา 27 แห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทยหรือไม่

ปสุตา ชื้นขจร ทนายความมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เห็นว่า การยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้นับว่าเป็นการใช้กลไกทางกระบวนการยุติธรรมขั้นสุดท้ายที่มีอยู่ เพื่อหาแนวทางการคุ้มครองทางกฎหมายและสิทธิมนุษยชนของประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่านโยบายในการเยียวยาต่อผู้ได้รับผลกระทบช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของกระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลังนั้น เป็นไปในลักษณะที่เลือกปฏิบัติหรือไม่ นางสาวปสุติเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญควรรับคำฟ้องของประชาชนและพิจารณาคำฟ้องภายใต้หลักการของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ในทุกรูปแบบ (International Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination - CERD) ซึ่งเป็นกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่รัฐไทยลงนามเป็นรัฐภาคี และรัฐบาลไทยแสดงเจตจำนงในการส่งเสริมและสนับสนุนความเคารพและนับถือในสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทั้งมวล โดยไม่มีการจำแนกความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนา 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net