กสม. แนะ รบ. แก้ร่าง พ.ร.บ.NGO สนับสนุนการทำงานมากกว่าควบคุม หวั่นกระทบเสรีภาพ

กสม. แนะรัฐบาลสนับสนุนการดำเนินงานของเอ็นจีโอมากกว่าเน้นควบคุมตรวจสอบ เพื่อมิให้กระทบเสรีภาพในการรวมตัวกันเพื่อดำเนินกิจกรรมสาธารณประโยชน์ และความร่วมมือในการพัฒนาประเทศ พร้อมเผยภารกิจด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิร่วมกับมหาวิทยาลัย 12 แห่งทั่วประเทศ

9 ธ.ค. 2564 วันนี้ (9 ธ.ค. 2564) เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยวสันต์ ภัยหลีกลี้ และศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 11/2564 โดยมีวาระสำคัญ 2 เรื่อง ได้แก่ การเสนอข้อแนะนำแก่รัฐบาลเรื่องร่าง พ.ร.บเอ็นจีโอ และภารกิจส่งเสริมคุ้มครองสิทธิร่วมกับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ

 

ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564 อนุมัติหลักการของร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน หรือ ร่าง พ.ร.บเอ็นจีโอ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ เพื่อให้มีกฎหมายกลางในการกำกับการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง เปิดเผย โปร่งใส ซึ่งต่อมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้พิจารณาคำร้องที่ 99/2564 ลงวันที่ 12 ก.ค. 2564 เรื่อง เสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นสมาคม กรณีกล่าวอ้างว่าการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวไม่สอดคล้องกับขั้นตอนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562 ทั้งมีเนื้อหาจำกัดเสรีภาพในการดำเนินงานขององค์กรเอกชน กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 33/2564 (8) เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2564 เห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นประเด็นเกี่ยวกับเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหกรณ์ สหภาพ องค์กร ชุมชน หรือหมู่คณะอื่น ความเสมอภาคและการไม่เลือกปฏิบัติ สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย เสรีภาพในความเป็นอยู่ส่วนตัว และเสรีภาพในการติดต่อสื่อสาร ซึ่งได้รับการรับรองและคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงมีมติให้ศึกษาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน กรณีร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. ...

ในการนี้ กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริง บทบัญญัติของกฎหมาย มาตรฐานสิทธิมนุษยชน เอกสาร และความเห็นจากหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่าการดำเนินมาตรการของรัฐต่อองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯ ควรเน้นที่การส่งเสริมสนับสนุนและการพัฒนามากกว่าการควบคุมกำกับ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหกรณ์ สหภาพ องค์กร ชุมชน หรือหมู่คณะอื่น รวมทั้งสิทธิของบุคคลและชุมชนในการดำเนินการและการมีส่วนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและรัฐ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 42 และมาตรา 43 และมาตรา 78 ประกอบมาตรา 257 (3) ที่กำหนดให้รัฐควรส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งสอดคล้องกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม และสิทธิในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารงานของรัฐ ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

ด้วยเหตุดังกล่าว กสม. ในคราวประชุม กสม. ด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 49/2564 (24) เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2564 จึงมีมติเห็นชอบข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กรณีร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปได้ดังนี้

  1. ควรส่งเสริมสนับสนุนหลักการที่มุ่งเน้นให้เกิดการรวมกลุ่มของประชาชนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจกรรมสาธารณประโยชน์ ช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับโอกาส ความเสมอภาค ความเป็นธรรม มีคุณภาพชีวิตที่ดี และพัฒนาสังคมให้ยั่งยืน ตลอดทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายสาธารณะ การเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาประเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และการส่งเสริมความเข้มแข็งให้องค์กรภาคประชาสังคม โดยดำเนินการให้เป็นไปตามสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 42 มาตรา 43 มาตรา 78 และมาตรา 257 (3) ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติเป้าหมายที่ 17
  2. ควรทบทวนหลักการและเหตุผลที่มุ่งเน้นการควบคุมตรวจสอบและจำกัดเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม ซึ่งกระทบต่อการตัดสินใจโดยอิสระและการดำเนินกิจกรรมที่ไม่แสวงหารายได้ ทั้งนี้ การดำเนินกิจกรรมที่ไม่แสวงหารายได้ฯ ต้องไม่ถูกบังคับให้จดแจ้งหรือจดทะเบียน และการไม่จดแจ้งนั้นจะต้องไม่นำมาเป็นเหตุของการเพิกถอนองค์กรหรือดำเนินคดีอาญา แต่จะเป็นเพียงเหตุที่มีผลต่อการได้รับหรือไม่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากรัฐตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น
  3. ควรกำหนดความหมายคำว่า “องค์กรไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน” และขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายแก่องค์กรดังกล่าวให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้กระทบต่อเสรีภาพในการรวมตัวกัน และไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจกรรมขององค์กรที่ไม่มุ่งแสวงหารายได้ฯ ซึ่งมีรูปแบบที่หลากหลาย
  4. ควรพิจารณาตรวจสอบกฎหมายหรือระเบียบที่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการควบคุมกำกับดูแลและตรวจสอบองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนและไม่สร้างภาระเกินจำเป็น รวมทั้งควรกำหนดหลักเกณฑ์ในการใช้ดุลพินิจไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน โดยไม่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจตามอำเภอใจหรือเลือกปฏิบัติ
  5. ควรยกเลิกบทบัญญัติที่กำหนดโทษทางอาญากรณีการไม่จดแจ้งหรือไม่จดทะเบียนที่อาศัยเพียงการไม่จดแจ้งหรือไม่จดทะเบียนมาเป็นเหตุให้ต้องรับโทษทางอาญา ทั้งนี้ กรณีที่กฎหมายบัญญัติกำหนดให้เป็นความผิดและมีโทษทางอาญา ควรต้องบัญญัติให้เห็นถึงการกระทำที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทบต่อสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่นประกอบด้วย และพึงกำหนดโทษทางอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรงเท่านั้น
  6. ควรควบคุมกำกับดูแลองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกันที่มีความเสี่ยงที่จะสร้างผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือการกระทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะเจาะจงไม่ใช้การเหมารวม และควรกำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้กระทบต่อองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯ องค์กรอื่น ซึ่งมีเจตนาที่ดีและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง

กสม. จับมือสถาบันอุดมศึกษาในภูมิภาค ขับเคลื่อนภารกิจด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิฯ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จึงได้ร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาในทุกภูมิภาคจัดตั้งศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค ขึ้นมารวม 12 แห่ง เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ ส่งเสริมให้ประชาชนได้รับความรู้ ความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน และได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างทั่วถึง โดยเมื่อวันที่ 2-3 ธ.ค. 2564 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ปรีดา คงแป้น, ผศ.สุชาติ เศรษฐมาลินี, ศยามล ไกยูรวงศ์, ปิติกาญจน์ สิทธิเดช และวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ประชุมหารือเกี่ยวกับการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนภารกิจด้านส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน ภายใต้ศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค ร่วมกับเจ้าหน้าที่และคณาจารย์จากศูนย์ศึกษาและประสานงานฯ ทั้ง 12 แห่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับทราบสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ วางกรอบการดำเนินงาน ตลอดจนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานระหว่างศูนย์ศึกษาและประสานงานฯ ในแต่ละภูมิภาค

จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสำรวจสถานการณ์แต่ละภูมิภาคในเบื้องต้น พบว่า สถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคส่วนใหญ่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิชุมชนในการมีส่วนร่วมใช้และจัดการฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การขาดการมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ข้อพิพาทกรณีที่อาศัยที่ทำกินของประชาชนทับซ้อนที่ดินของรัฐ ปัญหาการไร้สิทธิและสถานะทางทะเบียน สิทธิในกระบวนการยุติธรรมจากการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง และสิทธิแรงงาน

“นโยบายหลักประการหนึ่งในการทำงานของ กสม. ชุดปัจจุบัน คือ มุ่งเน้นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้วยความรวดเร็วและเป็นธรรม เพื่อให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิฯ และได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที ดังนั้น การดำเนินงานในระดับภูมิภาคจึงเป็นภารกิจสำคัญภารกิจหนึ่งที่ กสม. มุ่งขับเคลื่อนให้เกิดการทำงานร่วมกันกับภาคีเครือข่ายทั้งสถาบันการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อให้สามารถตอบโจทย์การส่งเสริมความรู้และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิได้อย่างรวดเร็ว และสอดคล้องกับบริบทปัญหาของแต่ละภูมิภาคซึ่งแตกต่างกัน” วสันต์ กล่าว

สำหรับศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค 12 แห่ง ซึ่งร่วมขับเคลื่อนงานกับ กสม. มีที่ตั้ง ณ สถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ดังนี้ 1) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จังหวัดปัตตานี 2) มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น 3) มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี 4) มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี 5) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 6) มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี 7) มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี 8 ) มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 9) มหาวิทยาลัยพะเยา จังหวัดพะเยา 10) มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต 11) มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี และ 12) มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จังหวัดยะลา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท