รายงานล่าสุดของยูนิเซฟชี้โควิด-19 ทำเด็กทั่วโลกเผชิญวิกฤตการศึกษาและปัญหาด้านสิทธิ

รายงานใหม่ของยูนิเซฟซึ่งเผยแพร่วันนี้ ระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเด็กๆ อย่างรุนแรงและกลายเป็นวิกฤตที่หนักหนาสาหัสที่สุดในประวัติศาสตร์ 75 ปีของยูนิเซฟ พบแรงงานเด็กเพิ่มขึ้น การแต่งงานในเด็กเพิ่มขึ้น และมีเด็กกว่า 1,800 ล้านคนที่ต้องอยู่อาศัยในประเทศที่บริการคุ้มครองเด็กขาดช่วง

9 ธ.ค. 2564 รายงาน Preventing a lost decade: Urgent action to reverse the devastating impact of COVID-19 on children and young people ชี้ว่า โควิด-19 กลายเป็นอุปสรรคฉุดรั้งความก้าวหน้าในหลายด้านที่สะสมมาหลายทศวรรษ ไม่ว่าจะเป็นด้านความยากจน สุขภาพ การเข้าถึงการศึกษา โภชนาการ การคุ้มครองเด็ก และสุขภาพจิตของเด็ก โดยผลกระทบจากโควิด-19 ที่แผ่วงกว้างและฝังรากลึกลงยิ่งทวีความยากจนและความเหลื่อมล้ำ และส่งผลกระทบต่อสิทธิเด็กอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

เฮนเรียตต้า โฟร์ ผู้อำนวยการบริหาร องค์การยูนิเซฟ กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ยูนิเซฟถือกำเนิดมา ยูนิเซฟได้ช่วยปูรากฐานให้เด็กหลายล้านคนทั่วโลกมีชีวิตความเป็นอยู่ที่มั่นคงแข็งแรงและปลอดภัย แต่ความก้าวหน้าต่างๆ ที่เกิดขึ้นกำลังถูกฉุดรั้งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งได้กลายเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ 75 ปีของยูนิเซฟ จำนวนเด็กที่ต้องประสบปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความหิวโหย การออกจากโรงเรียน การถูกทำร้าย ความยากจน หรือการถูกบังคับให้แต่งงานก่อนวัยอันควรกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ตัวเลขของเด็กที่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล วัคซีน อาหารที่มีประโยชน์ และบริการที่จำเป็นกลับลดลง ในเวลาเพียงหนึ่งปีที่เราควรจะก้าวไปข้างหน้า แต่เรากลับต้องถอยหลัง”

รายงานระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้จำนวนเด็กที่ตกอยู่ในความยากจนหลายมิติเพิ่มขึ้นกว่า 100 ล้านคนทั่วโลก หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปี 2562 นับตั้งแต่กลางเดือน มี.ค. 2563 ทุกวินาทีมีเด็ก 1.8 คนต้องเข้าสู่ภาวะความยากจน ทั้งหมดนี้ต้องใช้เวลาอีกยาวนานในการทำให้สถานการณ์กลับสู่สภาพเดิม แม้ในกรณีที่ดีที่สุด อาจจะต้องใช้เวลาถึง 7-8 ปีที่จะลดอัตราความยากจนให้กลับสู่สภาพเดิมก่อนการแพร่ระบาด

เด็กๆ ที่ประสบภัยจากสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังรับขนมปังในแคมป์ผู้อพยพแห่งหนึ่งในกรุงโรม (UN Archives)
 

นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า จำนวนเด็กที่ต้องอยู่ในครอบครัวยากจนเพิ่มขึ้นอีก 60 ล้านคนทั่วโลกเมื่อเทียบกับก่อนการแพร่ระบาด นอกจากนี้ ในปี 2563 มีเด็กกว่า 23 ล้านคนทั่วโลกที่ไม่ได้รับวัคซีนพื้นฐาน เพิ่มขึ้นจากเพียง 4 ล้านคนปี 2562 ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่สูงสุดในรอบ 11 ปี

ก่อนการแพร่ระบาด มีเด็กประมาณ 1,000 ล้านคนทั่วโลกที่เผชิญกับความขาดแคลนอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การเข้าไม่ถึงการศึกษา บริการสุขภาพ ที่อยู่อาศัย โภชนาการ สุขาภิบาลและน้ำ ปัจจุบันตัวเลขนี้กำลังเพิ่มขึ้นเนื่องจากการฟื้นฟูที่ไม่เท่าเทียม ซึ่งส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กที่มีฐานะร่ำรวยและยากจนรุนแรงขึ้น โดยเด็กกลุ่มชายขอบหรือกลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบหนักที่สุด

  • ในช่วงแพร่ระบาดรุนแรง เด็กกว่า 1,600 ล้านคนไม่ได้ไปโรงเรียน โดยโรงเรียนร้อยละ 80 ทั่วโลกต้องปิดในปีแรกของการแพร่ระบาด
  • เด็กอายุระหว่าง 10-19 ปีทั่วโลกกว่าร้อยละ 13 ต้องเผชิญปัญหาสุขภาพจิต ในเดือน ต.ค. 2563 บริการด้านสุขภาพจิตถูกปิดชั่วคราวไปถึงร้อยละ 93 ทั่วโลกสืบเนื่องจากการแพร่ระบาด
  • ก่อนสิ้นทศวรรษนี้ คาดว่ามีเด็กที่ต้องแต่งงานในวัยเด็กเพิ่มขึ้นอีก 10 ล้านคน ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
  • จำนวนแรงงานเด็กเพิ่มสูงขึ้นเป็น 160 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 8.4 ล้านคนภายในระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา และภายในสิ้นปี 2565 คาดว่าจะมีเด็กอีก 9 ล้านคนที่เสี่ยงต่อการถูกใช้แรงงาน เนื่องจากอัตราความยากจนที่เพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาด
  • ในช่วงแพร่ระบาดรุนแรง เด็ก 1,800 ล้านคนอาศัยอยู่ใน 104 ประเทศที่บริการคุ้มครองเด็กหยุดชะงักลง
  • เด็ก 50 ล้านคนต้องเผชิญกับภาวะผอมแห้ง ซึ่งเป็นภาวะขาดสารอาหารที่เป็นอันตรายถึงชีวิต และอาจเพิ่มขึ้นอีก 9 ล้านคนภายในปี 2565 เนื่องจากการแพร่ระบาดได้ส่งผลกระทบต่ออาหาร บริการด้านโภชนาการ และการเลี้ยงดู

ในประเทศไทย กลุ่มเปราะบางและเด็กๆ กำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรง การสำรวจออนไลน์เมื่อปีที่แล้วโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ยูนิเซฟ และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พบว่า ครอบครัวที่มีเด็กเล็กมักเผชิญกับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแต่รายได้กลับลดลง ในขณะที่รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยปี 2563 โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า เด็กมีแนวโน้มที่จะตกอยู่ในภาวะความยากจนมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ โดยอัตราความยากจนในเด็กอายุ 0-5 ปี, 6-14 ปี และ 15-17 ปี อยู่ที่ร้อยละ 8.6, 11.1 และ 9.2 ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่ร้อยละ 6.8

คลังภาพยูนิเซฟ ประเทศไทยในอดีต
 

ในขณะเดียวกัน มาตรการปิดโรงเรียนกำลังส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ของเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กและเด็กที่เปราะบาง การสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2563 พบว่า ครอบครัวเกือบครึ่งหนึ่งในประเทศไทยไม่พร้อมที่จะให้ลูกเรียนออนไลน์, ร้อยละ 51 ไม่มีคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก หรือแท็บเบล็ตที่บ้าน และอีกร้อยละ 26 ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตหรืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ต้องใช้สำหรับเรียนออนไลน์ ในขณะที่อีกร้อยละ 40 บอกว่าไม่มีเวลาคอยช่วยลูกให้เรียนออนไลน์ได้ นอกจากนี้ การสำรวจของยูนิเซฟยังพบอีกว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เด็กและเยาวชนมากกว่า 7 ใน 10 คน มีความเครียด วิตกกังวลและเบื่อหน่าย โดยส่วนใหญ่กังวลเรื่องฐานะการเงินของครอบครัว การเรียนและอนาคตการจ้างงาน

ตั้งแต่ก่อนการแพร่ระบาด เด็กๆ ในประเทศไทยก็เผชิญกับความท้าทายหลายด้าน รายงานสถานการณ์เด็กและสตรีปี 2562 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและยูนิเซฟพบว่ามีเด็กที่กำลังเรียนชั้น ป.2 และ ป.3 ร้อยละ 43 ที่ขาดทักษะการอ่านขั้นพื้นฐาน และเกือบครึ่งขาดทักษะการคำนวณขั้นพื้นฐาน ในขณะที่อัตราเด็กวัยมัธยมปลายที่ไม่เข้าเรียนสูงถึงร้อยละ 18

“ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากโควิด-19 สามารถส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็กในระยะยาว และบั่นทอนความก้าวหน้าของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ประเทศไทยได้สะสมมาหลายทศวรรษ” คยองซัน คิม ผู้อำนวยการ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าว

ยูนิเซฟจัดส่งสิ่งของเพื่อสุขอนามัย ของเล่น และการเรียนรู้
เพื่อช่วยเหลือเด็กๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในประเทศไทย
 

“เราต้องป้องกันไม่ให้ความก้าวหน้านั้นสูญเปล่า นั่นหมายถึง เด็กจะต้องเป็นศูนย์กลางของการฟื้นฟูวิกฤตโควิด-19 เราต้องเสริมสร้างระบบสุขภาพ การศึกษา และการคุ้มครองทางสังคมให้แข็งแกร่ง เพื่อสร้างหลักประกันสำหรับอนาคตของเด็กทุกคนและป้องกันวิกฤตต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ เราต้องสนับสนุนเด็กและเยาวชนให้มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 และให้พวกเขามีส่วนร่วมในการออกแบบและตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ที่กระทบพวกเขา”

“ยูนิเซฟมุ่งมั่นทำงานเพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ของเด็กๆ ในประเทศไทยมานานกว่า 7 ทศวรรษ และเราจะไม่หยุดนิ่ง โควิด-19 แสดงให้เห็นชัดแล้วว่า สำหรับเด็กที่เปราะบางอีกหลายล้านคน 'ความปกติ' ที่ผ่านมายังไม่ดีพอ ภารกิจเพื่อเด็กทุกคนของยูนิเซฟยังคงเดินหน้าต่อ เพราะวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าต้องเริ่มต้นจากวันนี้ วันที่เด็กทุกคนจะอยู่รอด เติบโตและก้าวหน้า โดยทุกเสียงของเด็กๆ จะถูกรับฟัง มีคุณค่า และพวกเขาจะได้รับการหล่อหลอมให้ก้าวไปเป็นผู้นําของวันพรุ่งนี้”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท